ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นามสกุลพระราชทาน"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Nonthachat (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: การแก้ไขแบบเห็นภาพ แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขจากเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
The Royal Lineage (คุย | ส่วนร่วม)
เพิ่มลิ้งค์เชื่อมไปยังหมวดหมู่ของราชสกุลตระกูล พึ่งบุญ
บรรทัด 260: บรรทัด 260:
|-
|-
| 3
| 3
| พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ
| [[:หมวดหมู่:ราชสกุลพึ่งบุญ|พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ]]
| Phungbun na Krungdeb
| Phungbun na Krungdeb
| [[เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)]]
| [[เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:49, 26 มีนาคม 2561

นามสกุลพระราชทาน เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[1] โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 อย่างไรก็ตาม ได้มีการเลื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ครั้ง เพื่ออำนวยความการสะดวกแก่เจ้าพนักงานซึ่งจะทำทะเบียนและสะดวกแก่ผู้ที่จะเลือกตั้งนามสกุล โดยพระราชบัญญัติได้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458[2][3]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลครั้งแรกเป็นจำนวน 102 นามสกุล เช่น นามสกุล "สุขุม" พระราชทานแก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น), นามสกุล "มาลากุล" พระราชทานแก่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) และ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) และนามสกุล "พึ่งบุญ" พระราชทานแก่ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ)[4] นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6464 นามสกุล แยกเป็น

  • นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล)
  • นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก
  • นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล [5]

รายชื่อนามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ

  • เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นามสกุลเดิมว่า “Falck” คือมุ่งว่า “falk” แปลว่าเหยี่ยว แปลกลับเป็นสันสกฤตว่า “เศ์ยน” แผลงเป็นไทยว่า “เศียน”
  • เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น “หินขาว”)
  • สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย
  • เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ (ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1)
  • บรมนิรัตน์สกุล พระราชทาน ขุนหัสดิณดิลก บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “โบนีฮัสซุล”
  • อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม “อันโตนิโอ”
  • สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “ซีโมเอนส์”
  • เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แซ่แต้
  • อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแพนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม
  • อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ
  • คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ตีเลกี, William Alfred Tilleke) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า“คุณะดิลก”เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า“คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน“Guna Tilleke”)
  • สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิสดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล
  • อินทนูจิตร พระราชทาน พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้ากูยเมืองประทายสมัน เป็นต้นสกุล “อินทนูจิตร” เนื่องด้วยช่วยราชการสงครามกับรัชกาลที่ ๑ และพระราชอนุชาไว้มาก ความดีความชอบครั้งสำคัญ ในสงคราม ๙ ทัพ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงได้รับการปูนบำเหน็จอวยยศเป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ในปีถัดมา และมีการเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันเป็น “เมืองสุรินทร์” เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษแด่ท่าน ซึ่งราชทินนาม ณรงค์ แปลว่าสงคราม จางวางคือข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็กรับใช้เจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือเจ้านายที่ทรงกรม ซึ่งท่านมาจากเมืองสุรินทร์เมืองช้างโดยเชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เป็นพิเศษ

รายชื่อนามสกุลแยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล

  • สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวาณิช, กฤษณวนิช, เตมียาเวส
  • สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, นิตย์อำนวยผล, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน
  • สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร,พงษ์สาริกิจ, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต
  • สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน, พินทุโยธิน, อุตตมะโยธิน, กมลโยธิน,โกษะโยธิน,อัครโยธิน,วัฒนโยธิน,อินทรโยธิน
  • สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลนาวิน, กนกนาวิน, วิเศษนาวิน, โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, อังคะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน, บุญยรัตกลิน
  • สกุลทหารอากาศ มีคำว่า อากาศ หรือ นภา ประกอบในนามสกุล เช่น รณนภากาศ, วุฒากาศ, อากาศไชย
  • สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน
  • ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ
  • นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน
  • กรมพระอัศวราช มีคำว่า อัศวิน ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน
  • สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, พัฒนเวชวงศ์, ตีรแพทย์,ไวทยะชีวิน, มิลินทแพทย์, เวชภูติ ,เวชชาชีวะ
  • โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ, หิรัญโชติ
  • พราหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล , วุฒิพราหมณ์ , รัตนพราหมณ์

รายชื่อสกุลที่ขึ้นต้นด้วย "ณ"

สกุลที่ขึ้นต้นด้วย "ณ" เป็นนามสกุลพระราชทาน โดยพระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่มีนิวาสถานตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นเป็นเวลานานมาก มีผู้คนรู้จัก และนับถือโดยมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า "ณ" นำหน้าสกุลเป็นอันขาด[6]

สกุล ที่ได้รับพระราชทาน [7][8]
สกุล เลขที่ พระราชทาน สืบเชื้อสาย
ณ กาฬสินธุ์ ๑๑๙๐ พระยาไชยสุนทร (ท้าวเก) กรมการพิเศษเมืองกาฬสินธุ์ มณฑลร้อยเอ็ด พระยาไชยสุนทร (เจ้าโสมพะมิตร์) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์องค์แรก จากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ สืบสายทางท้าวอุปฮาด (ท้าวหมาสุ่ย)
ณ จัมปาศักดิ์ ๑๖๑๘ เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบงหรือเจ้าเบงคำ) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย) ซึ่งได้ขอเข้ามารับราชการในเมืองไทย โดยไม่ยอมอยู่ในบังคับของฝรั่งเศส สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) ปฐมกษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ สืบสายทางสมเด็จเจ้ายุติธรรมธร (เจ้าคำสุก) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๑๑
ณ เชียงใหม่ ๑๑๖๑ มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ องค์สุดท้าย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑ และเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่๓
ณ ตะกั่วทุ่ง ๒๒๘๙ อำมาตย์โท หลวงราชภักดี (หร่าย) ยกกระบัตรมณฑลปัตตานี หลานทวด พระยาโลหะภูมิพิสัย ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง
ณ ถลาง ๐๗๔๒ พระยาสุนทราทรธุรกิจ (หมี) กระทรวงมหาดไทย และพระอาณาจักรบริบาล (อ้น) กระทรวงมหาดไทย และพระพิไสยสุนทรการ (แปลง) ฃ้าหลวงตรวจการกรมสรรพากรนอก พระยาถลาง (ฤกษ์)
ณ นคร ๐๑๐๓ นายพลโท พระยาวรเดชศักดาวุธ (แย้ม) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง พระราชธิดาในพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู)
ณ น่าน ๑๑๖๒ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๔ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนครน่าน
ณ บางช้าง ๐๓๖๐ หลวงขจรเนาวรัฐ (หลำ) กระทรวงมหาดไทย กับหลวงพิพิธวรรณการ (ม้วน) ปลัดกรมกองการปกครอง กรมราชเลขานุการ เป็นบิดากับบุตร พระแม่กลอง (สอน) กับเจ้าคุณบางช้าง (แก้ว)
ณ ป้อมเพชร์ ๐๑๕๐ พระยาเพชร์ชฎ พระยาเพชร์ชฎ บรรดาศักดิ์เดิม พระสมุทบุรานุรักษ์ (ฃำ) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ป้อมเพชร กรุงศรีอยุธยา
ณ พัทลุง ๒๒๗๙ รองอำมาตย์เอก หลวงวิบูลย์บุรขันฑ์ (นพ) กรมการพิเศษเมืองพัทลุง พระยาพัทลุง (ขุน) บรรดาศักดิ์เดิม พระยาแก้วเการพพิไชย ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง สมัยกรุงธนบุรี
ณ พิศณุโลก พิเศษ หม่อมคัทริน หม่อมคัทริน พระชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ภายหลังในรัชกาลที่ ๗ พระราชทานนามสกุลเป็น จักรพงศ์
ณ มโนรม ๒๗๗๐ หลวงวินิจสารา (ดวง) นายเวรกรมบัญชาการ กระทรวงนครบาล ผู้ว่าราชการเมืองมโนรม
ณ มหาไชย ๐๐๐๔ พระยาเทพทวาราวดี (สาย) อธิบดีกรมมหาดเล็ก พระยานรนารถภักดี ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ตำบลมหาไชย
ณ ร้อยเอ็จ ๑๑๘๙ พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (ท้าวเหลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองร้อยเอ็ด เพี้ยพระลคร (ท้าวคำ) เชื้อสายพระยาขัติยวงศาพิสุทธิ์ธิบดี (ท้าวทนต์หรือท้าวสุทนมณี) เจ้าเมืองร้อยเอ็จองค์แรก พระโอรสในเจ้าจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (เมืองสุวรรณภูมิ) จากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์
ณ ระนอง ๒๓๔๕ อำมาตย์เอก พระยารัตนเศรษฐี (ยู่หงี) ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ชื่อเดิม ซู้เจียง แซ่คอ (คอซู้เจียง) ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง
ณ ลำปาง ๑๑๖๖ พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (บุญทวงษ์) เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๓ พระเจ้าคำโสม พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๔
ณ ลำพูน ๐๘๖๖ พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (น้อยจักรคำ) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๑๐ องค์สุดท้าย เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๑ และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๓
ณ วิเชียร ๒๘๐๓ พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) จางวางกำกับราชการอำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรบุรี
ณ สงขลา ๐๑๐๘ พระยาพฤกษาภิรมย์ (ฑิตย์) เจ้ากรมสวนหลวง เจ้าพระยาสงขลา (หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ) ชื่อเดิม เหยี่ยง แซ่เหงา เจ้าเมืองสงขลา สมัยกรุงธนบุรี
ณ หนองคาย ๑๑๘๑ พระอนุชาติวุฒาธิคุณ (ท้าวแพ) นายอำเภอเมืองเพ็ญ เมืองอุดรธานี พระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอธรรมา) เจ้าเมืองหนองคายองค์แรก บุตรในเจ้าอุปฮาด (แพง) เมืองยโสธร นัดดาในเจ้าพระวิชัยราชสุริยวงศ์ขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า)เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๓
ณ อุบล ๓๑๒๗ พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ) กรมการพิเศษจังหวัดอุบลราชธานี พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชองค์แรก โอรสในเจ้าพระวรราชปิตา นัดดาในเจ้าพระวรราชภักดี เมืองหนองบัวลำภู (หนองบัวลุ่มภู)
สกุล ที่มีการต่อท้ายนามสกุล
สกุล เลขที่ พระราชทาน สืบเชื้อสาย
พรหมสาขา ณ สกลนคร ๑๓๖๘ อำมาตย์โท พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ผู้ว่าราชการเมืองสกลนคร พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (ท้าวพรหมา) เจ้าผู้ครองเมืองนครพนม สืบสายทางเจ้าอุปฮาดพระนาคี (ท้าวกิ่งหงษา) เมืองมหาชนไชยกองแก้ว
ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ๑๒๑๘ พระเจริญราชเดช (อุ่น) กรมการพิเศษเมืองมหาสารคาม มณฑลร้อยเอ็จ ทวดชื่อราชวงษ์ (หล้า) ปู่ชื่ออุปฮาด (ภู) พระเจริญราชเดชวรเชษฐมหาขัติยพงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรงค์รักษ์ (ท้าวกวด) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์ที่ ๑ บุตรท้าวอุปฮาต (ท้าวสิงห์) นัดดาพระยาขัติยวงศาพิสุทธิบดี (ท้าวสีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็จ
รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ๒๓๒๗ รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี (เดช) กรมการพิเศษเมืองภูเก็ต พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว) บิดาชื่อ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม)ผู้สำเร็จราชการเมืองถลาง
สุนทรกุล ณ ชลบุรี ๔๖๐๓ หม่อมหลวงจาบ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่าเรืองหรือจีนเรือง เดิมเป็นชาวเมืองชลบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านาย
สกุล ที่มีการต่อท้ายนามสกุลที่แยกออกจาก สกุล เดิม
สกุล เลขที่ สกุลใหม่ พระราชทาน
ณ นคร ๐๒๕๓ โกมารกุล ณ นคร พระยาไชยยศสมบัติ (เฉลิม) อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับผู้ที่สืบสกุลจากเจ้าพระยานคร (น้อย) ลงมาทางเจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยเมือง) และพระยาศรีสรราชภักดี (หนูเล็ก)
ณ ถลาง ๓๙๔๕ ประทีป ณ ถลาง หลวงราชอาณัติ (กล่อม) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตะกั่วป่า
ณ พัทลุง ๒๔๒๕ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง มหาดเล็กสำรองสมบุญ ประจำกรมมหาดเล็ก ปู่ชื่อกลิ่น บิดาชื่อชม

นามสกุลจากราชทินนาม

คือ นามสกุลที่ตั้งขึ้นมาโดยมีที่มาจากราชทินนามของขุนนาง ราชทินนาม มีความหมายคือ นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุนหมื่น พัน ทนาย ฯ) ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ

ทั้งนี้ การที่จะใช้ราชทินนามขุนนางเป็นนามสกุลได้ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ขอใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลจึงจะไปแจ้งขอเปลี่ยนนามสกุลได้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามสกุลจากราชทินนาม ตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 ว่า "ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย"

ทันทีที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้นประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ได้มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลในครั้งแรก[9] จำนวน 10 คนดังนี้

  1. จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) ขอใช้นามสกุล พิบูลสงคราม
  2. พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ขอใช้นามสกุล อดุลเดชจรัส
  3. นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ขอใช้นามสกุล ธำรงนาวาสวัสดิ์
  4. พันเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ขอใช้นามสกุล เชวงศักดิ์สงคราม
  5. พลโท หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ขอใช้นามสกุล พรหมโยธี
  6. พลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ขอใช้นามสกุล เวชยันตรังสฤษฏ์
  7. นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ขอใช้นามสกุล บริภัณฑ์ยุทธกิจ
  8. นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ขอใช้นามสกุล เสรีเริงฤทธิ์
  9. หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ขอใช้นามสกุล วิจิตรวาทการ
  10. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป-ระ โปรคุปต์) ขอใช้นามสกุล สมาหาร

การขอพระราชทานใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ข้าราชการเลิกใช้บรรดาศักดิ์ คงเป็นนายเท่าเทียมกันทั้งหมด จึงทำให้บรรดาข้าราชการที่เคยมีบรรดาศักดิ์และเคยรู้จักกันทั่วไปราชทินนามต่างๆ พากันนำราชทินนามมาใช้ร่วมกับนามและนามสกุลเดิม เช่น พระยาภะรตราชา อดีตผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามตามรัฐนิยมว่า หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ภะรตราชา ,พระยาอนุมานราชธน ท่านก็เปลี่ยนมาเป็นนายยง เสฐียรโกเศศ อนุมานราชธน ,สกุลเจ้าเมืองจังหวัดสุรินทร์ ก็สามารถใช้ราชทินนามพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง มาใช้ร่วมกับนามและนามสกุลพระราชทานตาม รัฐนิยมว่า สุรินทร์ภักดี อินทนูจิตร ได้ , ขุนเสลวาปี ขุนนางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มาใช้ราชทินนามร่วมกับนามตาม รัฐนิยม ว่า เสลวาปีนุสรณ์

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 เป็นพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักกราช 2505 โดยในมาตรา 19 บัญญัติว่า "ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามของตน ของผู้บุพการีหรือของผู้สืบสันดานเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ"

รายชื่อนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖

ลำดับ นามสกุล (อักษรไทย) นามสกุล (อักษรโรมัน) พระราชทานแด่ วันที่พระราชทาน หมายเหตุ
1 สุขุม Sukhum เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 * ทรงเขียนให้เอง (สกุลตั้งใหม่)
* เสนาบดีกระทรวงนครบาล
*เดิม พระยาสุขุมนัยวินิต พระอาจารย์ภาษไทยในขณะที่รัชกาลที่ 6 ทรงกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
2 มาลากุล ณ กรุงเทพ Malakul na Krungdeb เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 * ทรงเขียนให้เอง
* เดิม พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงษ์เปีย) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงษ์ปุ้ม) เสนาบดีกระทรวงวัง
* สำหรับบรรดาผู้ที่สืบสกุลจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
3 พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ Phungbun na Krungdeb เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 *ทรงเขียนให้เอง
* เดิม พระยาประสิทธิ์ศุภการ จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรศพ
* สกุลหม่อมไกรสร
4 ณ มหาไชย Na Mahajai พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณ มหาไชย) 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 * ทรงเขียนให้เอง
* เดิม พระยาเทพทวาราวดี (สาย) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
* สำหรับสกุลพระยานรนารถภักดีด้วย ซึ่งมาจากตำบลมหาไชย
* ปัจจุบันยังคงสะกดเป็น "ณ มหาไชย"
5 ไกรฤกษ์ Krairiksh พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 * ทรงเขียนให้เอง
* เดิม อธิบดีกรมชาวที่ และพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ (ลออ) กรรมการศาลฎีกา และสมุหพระนิติศาสตร์
* สำหรับบรรดาผู้ที่สืบสกุลจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์)

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๒๙, ตอน ๐ ก, ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕, หน้า ๒๘๓
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้เลื่อนการใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ก, ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๕๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ การเลื่อนใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ก, ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๔๙๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๖๔๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมราชเลขานุการ เรื่อง พระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ง, ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๓๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานนามสกุลใช้ "ณ" นำหน้านามสกุล, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๙๕
  7. http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3004&stissueid=2591&stcolcatid=2&stauthorid=13
  8. http://www.amed.go.th/AboutUs/palace/nameH.htm
  9. ประกาศกระทรวงมหาไทย เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  • เทพ สุนทรศารทูล. นามสกุลพระราชทาน ในรัชกาลที่6 รัชกาลที่7 รัชกาลที่8 รัชกาลที่9. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2555.

แหล่งข้อมูลอื่น