ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Horus (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 69: บรรทัด 69:
[[หมวดหมู่:กฎหมายไทย]]
[[หมวดหมู่:กฎหมายไทย]]
[[หมวดหมู่:การเมืองไทย]]
[[หมวดหมู่:การเมืองไทย]]
[[หมวดหมู่:กฎหมายในปี ค.ศ. 2017]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:42, 25 มีนาคม 2561

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ตราสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ผู้ลงนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
วันลงนาม30 กันยายน 2560
ผู้ลงนามรับรองพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
วันลงนามรับรอง30 กันยายน 2560
วันประกาศ7 ตุลาคม 2560
วันเริ่มใช้8 ตุลาคม 2560
ท้องที่ใช้ไทย ทั่วประเทศไทย
การยกร่างในชั้นสภาล่าง
วาระที่หนึ่ง21 เมษายน 2560
คำสำคัญ
พรรคการเมือง
เว็บไซต์
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายไทย ประเภทพระราชบัญญัติ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ตราขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 และมีผลใช้บังคับในวันถัดมา

การร่าง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีความสำคัญต่อวันเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งถัดไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ[1]

วันที่ 9 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดแถลงงานเปิดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ โดยแถลงว่า กรธ. อยากให้เห็นมาตราว่าด้วยกิจกรรมของพรรคการเมือง 4 ข้อที่กำหนด ได้แก่ การมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง ทุนประเดิมพรรคการเมือง การมีสมาชิกถึงเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลาต่าง ๆ และกลไกการบริหารพรรคการเมืองตามที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนด[2] สำหรับความกังวลเรื่องพรรคการเมืองขนาดเล็ก อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. มองว่า การจะส่งผู้สมัครหรือนำแนวคิดทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีกำลังหรือองคาพยพที่ใหญ่พอสมควร กรธ. ต้องการให้พรรคเล็กทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดทางการเมืองชวนพรรคชวนพวกมาร่วมอุดมการณ์ทำงานด้วยความคิด ไม่ใช่รอให้คนเข้ามาร่วมเอง[2]

พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มองพรรคการเมืองเป็นอาชญากร เพราะหากกระทำผิดจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย เช่น การจำกัดคนที่จะมาเป็นสมาชิกพรรค การก่อตั้งพรรคการเมืองที่ทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงสมาชิกพรรคจะต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองจะไปดูแลให้สมาชิกพรรคอยู่ในระเบียบวินัยได้ทั้งหมด ฝ่ายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิธีปฏิบัติที่ได้ระบุไว้ถือเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติและต้องใช้เวลา เช่น เรื่องการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วโดยขอเก็บค่าสมาชิก 20 บาทต่อคนต่อปี จากสมาชิกที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน แต่พรรคกลับได้รับค่าบำรุงจากสมาชิกพรรคไม่ถึง 10,000 คน[3]

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคร่วมจ่ายทุนประเดิม และให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปีเพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง เพื่อป้องกันการเกิด "พรรคนอมินี" ซึ่งเป็นเหตุของคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 พรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันจะถูกยุบพรรค และพรรคการเมืองใดที่นำมวลชนไปชุมนุมข้างถนนอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองซึ่งมีโทษยุบพรรค[1]

นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่จะใช้ แหล่งทุน ความคุ้มค่า และความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามว่า "จะทำให้กกต. กลายเป็นผู้เห็นชอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่"[1]

นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทของ กกต. ให้สามารถขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดูเส้นทางการเงินของผู้ที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ และนำหลักฐานนั้นไปดำเนินคดีกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ รวมถึงสามารถขอความคุ้มครองพยานจากคดีการเลือกตั้งได้[1]

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่มีการบังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม 72 พรรคไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่[1]

นักการเมืองคัดค้านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าวเพราะมองว่าเป็น "แผนทำลายพรรค" คือ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ[1]

เนื้อหา

มาตรา 92 หาก กกต. มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองล้มลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้อำนาจมานอกวิธีการตามรัฐธรรมนูญ หรือให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้[4]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ยังกำหนดให้มีระบบคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น คือ ให้สมาชิกพรรคการเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ลงคะแนนเลือกตัวแทนที่พรรคการเมืองสรรหาสำหรับแต่ละจังหวัดแล้วให้ผู้สมัครคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมือง โดยมีบทลงโทษจำคุกและปรับสำหรับผู้ที่กระทำผิดในเรื่องการจูงใจให้หรือไม่ให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัคร รับสินบน หรือให้คนนอกเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือลงคะแนน[5]

อ้างอิง