ผลต่างระหว่างรุ่นของ "โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร"

พิกัด: 13°52′37″N 100°35′34″E / 13.877007°N 100.592789°E / 13.877007; 100.592789
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Nonpawit (คุย | ส่วนร่วม)
Nonpawit (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 9: บรรทัด 9:
| motto = '''สร้างเด็กดี มีปัญญา ทรงคุณค่าต่อสังคม''' <br> สุสิกโข ลภเต ปญฺญํ<br><small> (ผู้ศึกษาดี ย่อมมีปัญญา) </small>
| motto = '''สร้างเด็กดี มีปัญญา ทรงคุณค่าต่อสังคม''' <br> สุสิกโข ลภเต ปญฺญํ<br><small> (ผู้ศึกษาดี ย่อมมีปัญญา) </small>
| address = 7 [[ถนนแจ้งวัฒนะ]] [[แขวงอนุสาวรีย์]] [[เขตบางเขน]] [[กรุงเทพมหานคร]] [[รหัสไปรษณีย์ทั่วประเทศไทยเรียงตามจังหวัด|10220]]
| address = 7 [[ถนนแจ้งวัฒนะ]] [[แขวงอนุสาวรีย์]] [[เขตบางเขน]] [[กรุงเทพมหานคร]] [[รหัสไปรษณีย์ทั่วประเทศไทยเรียงตามจังหวัด|10220]]
| en_name = Wat Phrasri Mahadhat Secondary Demonstration School Phranakhon Rajabhat University
| en_name = Wat Phrasri Mahadhat Secondary Demonstration School of Phranakhon Rajabhat University
| abbr = พ.ม. (P.M.)
| abbr = พ.ม. (P.M.)
| type = [[โรงเรียนสาธิต]] (สหศึกษา)
| type = [[โรงเรียนสาธิต]] (สหศึกษา)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:17, 7 พฤศจิกายน 2558

โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
Wat Phrasri Mahadhat Secondary Demonstration School of Phranakhon Rajabhat University
ตราพระพิฆเนศวร
ที่ตั้ง
แผนที่
พิกัด13°52′37″N 100°35′34″E / 13.877007°N 100.592789°E / 13.877007; 100.592789
ข้อมูล
ชื่ออื่นพ.ม. (P.M.)
ประเภทโรงเรียนสาธิต (สหศึกษา)
คำขวัญสร้างเด็กดี มีปัญญา ทรงคุณค่าต่อสังคม
สุสิกโข ลภเต ปญฺญํ
(ผู้ศึกษาดี ย่อมมีปัญญา)
ก่อตั้ง1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496
(โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ)
ผู้ก่อตั้งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส1410051202
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6
จำนวนนักเรียน1,100 คน
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
จีน ภาษาจีน
สี  สีเหลือง
  สีชมพู
เพลงพ.ม.ก้าวไกล
ผู้อำนวยการอาจารย์พีลาภ วงษ์พานิชย์
ต้นไม้ต้นสน
เว็บไซต์www.wpm.ac.th
อาคาร 1

โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นโรงเรียนสาธิตในระดับมัธยมศึกษา ในกำกับของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ ณ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม [1]

โรงเรียนก่อตั้งขึ้นตามดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังจากการสร้างวัดประชาธิปไตย (ปัจจุบันคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาแล้วสิบสองปี ตามแนวคิดในการสร้างโรงเรียนคู่กับวัด เพื่อพัฒนาองค์กรชุมชนตามหลัก "บ-ว-ร" (บ้าน - วัด - โรงเรียน) โดยใช้ที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารส่วนหนึ่ง เป็นที่ตั้งสถานศึกษาจนถึงปัจจุบัน อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับวิทยาลัยการฝึกหัดครู ภายในพื้นที่โรงเรียนมีอาคารเรียนหลัก 3 อาคาร โดยอาคารแรก (อาคารสาธิต 1) สร้างขึ้นพร้อมโรงเรียนในปี พ.ศ. 2496 และนอกจากนี้ยังมี ศูนย์ฝึกกีฬา สำหรับ บาสเกตบอล เทนนิส เปตอง และกีฬาอื่นๆ

ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนคือ พระพิฆเนศ และ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 9 โดยสีประจำโรงเรียนคือ เหลือง-ชมพู และต้นไม้ประจำโรงเรียนคือต้นสน

โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปี พ.ศ. 2550 ได้รับคุณภาพในระดับดีมากใน ด้านผู้เรียน ด้านผู้บริหาร และด้านครู [2]

ประวัติ

ยุคแรก: โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ

ไฟล์:Pm artline1.jpg
ภาพลายเส้น อาคารสาธิต 1

โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ" สร้างขึ้นจากการปรึกษาหารือกันระหว่างจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และพลอากาศเอกหลวงชิด วุฒากาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พร้อมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ขณะที่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก ที่สนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลในการสร้างโรงเรียนคู่กับวัด เพื่อพัฒนาองค์กรชุมชนตามหลัก "บ-ว-ร" หรือ บ้าน - วัด - โรงเรียน โดยมีความประสงค์จะให้เยาวชนที่อยู่ในอำเภอบางเขนได้มีที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาเรียนในจังหวัดพระนคร โดยเริ่มก่อสร้างหลังจากการก่อสร้างวัดประชาธิปไตย หรือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารในปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 12 ปี [3]

โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ เริ่มเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 เป็นโรงเรียนสหศึกษา สังกัดแผนกโรงเรียนส่วนกลาง กองโรงเรียนรัฐบาล กรมวิสามัญศึกษา (ปัจจุบัน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)[4] ในระยะแรกนั้น โรงเรียนเปิดทำการสอนในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน มีอาจารย์สุวรรณ วิณวันก์ เป็นครูใหญ่ท่านแรก มีครูทั้งหมด 5 คน นักเรียน 50 คน และได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น โดยในปีการศึกษา 2503 มีจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 30 ห้อง ครู 46 คน นักเรียน 1,197 คน และมีจำนวนนักเรียนที่จบหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ เป็นรุ่นแรก จำนวน 29 คน ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่ดีมากโรงเรียนหนึ่งในสมัยนั้น[5]

ยุคที่สอง: สาธิตฯ-วิทยาลัยครูพระนคร

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2513 โรงเรียนได้โอนมาเป็นโรงเรียนมัธยมสาธิตของวิทยาลัยครูพระนคร สังกัดกรมการฝึกหัดครู และใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แผนกสาธิตวิทยาลัยครูพระนคร" โดยมีอาจารย์นิรมล ศังขฤกษ์ ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกสาธิตฯ และมี อาจารย์ประเยาว์ ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการหญิงคนแรกของวิทยาลัยครูพระนครอ้างอิงผิดพลาด: พารามิเตอร์ในป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ดำรงตำแหน่งรักษาการอาจารย์ใหญ่ พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญ "พระพิฆเนศ" เป็นตราประจำสถาบัน ในปีการศึกษานั้น ได้เปิดทำการสอนตามปกติ โดยมีชั้นเรียนตั้งแต่ชั้น ม.ศ. 1 ถึง ม.ศ. 5

ในปี พ.ศ. 2517 คุณหญิงพึงใจ สินธุวานนท์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูพระนครในขณะนั้น ได้ปรับปรุงสายงานของวิทยาลัยครูพระนครขึ้นใหม่ โดยให้โรงเรียนสาธิตย้ายไปสังกัดอยู่ในภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะวิชาครุศาสตร์ และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ ฝ่ายสาธิตวิทยาลัยครูพระนคร" หลังจากนั้น อีก 2 ปี โรงเรียนได้แยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระที่ขึ้นตรงต่ออธิการบดีของวิทยาลัยครูพระนคร พร้อมทั้งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ วิทยาลัยครูพระนคร" ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นเป็นโรงเรียนสาธิตฯอย่างเต็มตัว

ยุคที่สาม: สาธิตฯ-สถาบันราชภัฏพระนคร

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538[6]ขึ้นไว้ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 4ก ลงวันที่ 24 มกราคม 2538 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 เป็นเหตุให้วิทยาลัยครูได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นสถาบันราชภัฏ และโรงเรียนซึ่งสังกัดในวิทยาลัยครูพระนคร ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ สถาบันราชภัฏพระนคร" นอกจากนี้ โรงเรียนฯในฐานะหน่วยงานของสถาบันราชภัฏพระนคร จึงได้อัญเชิญ "พระที่นั่งอัฐทิศ" พระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นตราประจำสถาบันนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคปัจจุบัน: สาธิตฯ-มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ขึ้นไว้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 23ก ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547[7] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ด้วยเหตุนี้โรงเรียนฯซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกำกับของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร” ตราบจนถึงปัจจุบัน โดยมีพระธรรมเจติยาจารย์ (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารรูปปัจจุบัน เป็นองค์อุปการีโรงเรียน [1]

อาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในโรงเรียน

อาคารสาธิต 1
อาคารสาธิต 2
สระน้ำโรงเรียน ที่ตั้งศูนย์ศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำและพรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ
ลานโพธิ์

อาคารเรียน

1. อาคารสาธิต 1 (อาคาร 31) หรือ ที่เรียกกันว่า "ตึกเก่า" เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 3 เป็นประธานการจัดสร้างและวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 แล้วจึงลงมือสร้างในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2496 โดยบริษัทบริการส่งเสริมอาชีวศึกษา (บ.ส.อ.) ทำพิธีเปิดโดยพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น 22 ห้องเรียน ภายในอาคารปัจจุบันประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้

  • ห้องเรียนปรับอากาศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 1 - 2
  • ห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์
  • ห้องปฏิบัติการทางภาษา (โครงการ Intensive English Program)
    และชุมนุมภาษาจีน
  • ห้องงานแนะแนว
  • ห้องประกันคุณภาพทางการศึกษา
  • ห้องปฏิบัติการงานฝีมือ
  • ห้องพักอาจารย์พลานามัย
  • ห้องพักอาจารย์ภาษาไทย
  • ห้องพักอาจารย์คณิตศาสตร์
  • ห้องพักอาจารย์วิทยาศาสตร์
  • ห้องพักอาจารย์สังคมศึกษา
  • ห้องสำนักงาน Intensive English Program
  • ห้องประชุมอาจารย์
  • ห้องงานวิชาการ
  • ฝ่ายบริหารจัดการ และ ห้องงานธุรการ
  • ห้องงานสวัสดิการ
  • ห้องพัสดุ
  • ห้องผู้อำนวยการ
  • ห้องโสตทัศนอุปกรณ์ 1
  • ห้องญี่ปุ่นศึกษา
  • ห้องจีนศึกษา

2. อาคารสาธิต 2 (อาคาร 32) เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 18 ห้องเรียน ปรับปรุงอาคารครั้งล่าสุดโดยการซ่อมแซมโครงสร้าง และทาสีอาคารใหม่ ในปีการศึกษา 2551 ประกอบด้วยห้องต่างๆดังนี้

  • ห้องเรียนปรับอากาศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • ห้องสมุด
  • ห้องงานกิจการนักเรียน
  • ห้องพักอาจารย์สังคมศึกษา
  • ห้องกิจกรรม
  • ห้องประชาสัมพันธ์
  • ห้องพักอาจารย์
  • ห้องโสตทัศนอุปกรณ์ 2
  • ห้องปฏิบัติการสังคมศึกษา
  • ห้องศิลปศึกษา

3. อาคารปฏิบัติการ (อาคาร 49) เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2548 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ทำพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551เป็นอาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการในกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ ดังนี้

  • ห้องปฏิบัติการดนตรีสากล 1 - 2
  • ห้องปฏิบัติการดนตรีไทย
  • ห้องปฏิบัติการนาฏศิลป์
  • ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์
  • ห้องปฏิบัติการเคมี
  • ห้องปฏิบัติการชีววิทยา
  • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  • ศูนย์ปฏิบัติการพลศึกษา
  • ห้องปฏิบัติการภาษาต่างประเทศ
  • ห้องพักอาจารย์คอมพิวเตอร์
  • ห้องพักอาจารย์ภาษาต่างประเทศ
  • ห้องพักอาจารย์วิทยาศาสตร์
  • ห้องประชุม ปอง มณีศิลป์
  • ที่ทำการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ
  • ที่ทำการสมาคมผู้ปกครองและครูฯ

นอกจากนี้โรงเรียนยังถูกใช้เป็นฉากในภาพยนตร์ ละคร โฆษณา และรวมถึงมิวสิควีดีโอหลายชิ้น เช่น มอ ๘, แก๊งชะนีกับอีแอบ, เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน ตอน เสียงตามสาย, ภาพยนตร์สั้นโตไปไม่โกง ตอน ผู้ตัดสิน, ละคร เรื่อง คู่กรรม , ละคร เรื่อง ทองเนื้อเก้า , ละครซิทคอม จุดนัดภพ , มิวสิควีดีโอเพลง ยาวนานเพียงใด ของ SIX C.E , มิวสิควีดีโอเพลง เธอยัง ของ โปเตโต้ , มิวสิควีดีโอเพลง แชร์ ของ โปเตโต้ , มิวสิควีดีโอเพลง กรุณาพูดดังๆ ของ ซีต้า ซาไลย์ เป็นต้น

สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ

  • หอประชุมสาธิตราชภัฏพระนคร (อาคาร 39) ก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2545 บรรจุผู้เข้าประชุมได้ประมาณ 1,000 คน
  • ศูนย์ฝึกกีฬามัธยมสาธิตฯ ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2550 เป็นที่ใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล หรือฟุตซอล เป็นต้น
  • ศูนย์ฝึกกีฬาเปตอง ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสาธิต 1 มีอยู่ 2 เลน ใช้สำหรับให้อาจารย์ นักเรียน และผู้สนใจทั่วไปสามารถเล่นกีฬาเปตองได้
  • ศูนย์ฝึกกีฬาเทเบิลเทนนิส ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2550 ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสาธิต 1 มีโต๊ะใช้สำหรับเล่นและฝึกซ้อมกีฬาเทเบิลเทนนิสกว่า 10 โต๊ะ
  • สนามเทนนิส ลานโพธิ์ ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารสาธิต 1 ฝั่งตะวันตก เดิมเป็นที่รกร้าง ก่อนปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีคอร์ดรูปแบบมาตรฐานสำหรับเล่นเทนนิส 1 คอร์ด
  • ศูนย์ศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำและพรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินแผนโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อใช้ในการศึกษาและวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืช ตามโครงการการเรียนรู้แบบบูรณาการ
  • ศูนย์ปฏิบัติงานฝีมือ ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2550 ใช้เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติการทางการงานอาชีพ เช่น งานประดิษฐ์ งานไม้ งานช่าง งานโภชนาการ งานออกแบบ เป็นต้น
  • แปลงเกษตรสาธิต ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2551 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร มีการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก และแปลงผักสวนครัว เป็นต้น
  • บ้านพักนักการ

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

พระที่นั่งอัฐทิศ
ไฟล์:Logo wpm.jpg
ตราประจำสถาบัน : พระพิฆเนศวร

ดูเพิ่ม สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้

ตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันในปัจจุบัน ถือกำหนดเป็น 2 สัญลักษณ์ ได้แก่

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สืบเนื่องมาจากพระองค์ได้พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฏ" ให้เป็นชื่อของวิทยาลัยครูทั่วประเทศ (มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในเวลาต่อมา) พร้อมทั้งพระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้น โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จึงได้ใช้ตราสัญลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนตั้งแต่นั้นมา

ตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงรีสองวงล้อมรอบพระที่นั่งอัฐทิศ ภายในตราประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็นอุหรือเลข ๙ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายในวงรีด้านบนมีท่อนบนจารึกเป็นตัวอักษรภาษาไทยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และท่อนล่างจารึกเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า PHRANAKHON RAJABHAT UNIVERSITY โดยตัวอักษรไทยภายในสัญลักษณ์นั้นใช้อักษรโรมันแบบ Gothic หรือ ตัวอักษรอังกฤษแบบ Old English และอักษรขอม เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบตัวอักษร ให้สามารถแทนค่าความรู้สึกในการสื่อสารร่วมสมัย และแสดงถึงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย[8]

พระพิฆเนศวร (ภาษาสันสกฤต คเณศ ) หรือ พระพิฆเนศ หรือพระวิฆเณศวร หรือพระพิฆเณศ หรือพระคเณศ หรือคณปติ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในเรื่องศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง ลักษณะของพระพิฆเนศวร มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์หน้าซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือตรี พระหัตถ์หลังซ้ายถือบาตร(บ่วง)พาหนะคือหนู ประทับอยู่ภายใต้วงกลมด้านในสีเหลือง วงกลมด้านนอกสีชมพูมีชื่อโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

โรงเรียนได้อัญเชิญตราพระพิฆเนศวร กลับมาเป็นตราประจำสถาบันอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2552 ภายหลังจากวิทยาลัยครูพระนคร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "สถาบันราชภัฏพระนคร" และมีการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2535

ต้นไม้ประจำโรงเรียน

ไฟล์:สนแผง.jpg
ต้นสน ต้นไม้ประจำโรงเรียน

ต้นสน หมายถึง ความเฉียบแหลมทางสติปัญญาของนักเรียนสาธิตฯ ความอ่อนน้อมแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งปวง แม้ในปัจจุบันโรงเรียนจะไม่มีต้นสนแล้ว แต่ยังคงให้เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในวัน "อำลา อาลัย" ยังใช้กิ่งสนผูกกับดินสอมอบให้เป็นของที่ระลึกแก่พี่ๆ ม.6 เพื่อนำดินสอแท่งนั้นไปใช้ในการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และไว้เป็นที่ระลึกถึงความทรงจำดีๆที่เกิดขึ้น ณ "รั้ว พ.ม." แห่งนี้

สีประจำโรงเรียน

  • ██ สีเหลือง หมายถึง คุณธรรม ความดี ศีลธรรมและวัฒนธรรม ซึ่งสีนี้ถือเป็นสีแห่งพระพุทธศาสนา ประกอบกับโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร อันเป็นธรณีสงฆ์
  • ██ สีชมพู หมายถึง ความพึงพอใจ ความรักและการใฝ่หาสิ่งที่รัก

เมื่อรวมความแล้วจะได้ สีเหลือง-ชมพู คือ ความรักในการสร้างคุณงามความดี ความรักในการประพฤติปฏิบัติชอบ ความหมายของสีประจำโรงเรียนถือได้ว่าเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของนักเรียน อันจะนำไปสู่การบรรลุตามจุดประสงค์ของสุภาษิตโรงเรียนที่ว่า "สุสิกฺโข ลภเต ปญฺญํ - ผู้ศึกษาดี ย่อมมีปัญญา" [9]

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน

ลำดับ ชื่อ สกุล ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1 อาจารย์สุวรรณ วิณวันก์ ครูใหญ่ พ.ศ. 2496 – 2506
2 อาจารย์ชุบ กายสิทธิ์ ครูใหญ่ พ.ศ. 2506 – 2507
3 อาจารย์อรุณ ทีปะปาน ครูใหญ่ พ.ศ. 2507 – 2509
4 อาจารย์เฉลิมลักษณ์ บุญเกตุ ครูใหญ่ พ.ศ. 2509 – 2512
5 อาจารย์บังอร คชะสุต อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2512 – 2513
6 อาจารย์ประเยาว์ ศักดิ์ศรี อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2513 – 2517
7 ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2517 – 2519
8 อาจารย์นิรมล ศังขะฤกษ์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2519 – 2521
9 อาจารย์ถนิม สุขพรหม อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2521 – 2523 (วาระที่ 1)
ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2529 – 2530 (วาระที่ 2)
10 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญชัย ศรีไสยเพชร อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2523 – 2525
11 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประทุม แป้นสุวรรณ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2525 – 2529
12 รองศาสตราจารย์ชวนพิศ ทองทวี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2530 – 2532
13 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาถลดา สาลีนุกุล ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2532 – 2536
14 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิพงษ์ ดำรงพร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2536 – 2538
15 รองศาสตราจารย์สมคิด บางโม ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2538 – 2541
16 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พูนเกียรติ ประถมบุตร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2541 – 2548
17 รองศาสตราจารย์ศรีณัฐ (อุไรวรรณ) ไทรชมภู ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2548 – 2549
18 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกษม ช่วยพนัง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2549 – 2552
19 อาจารย์พีลาภ วงษ์พานิชย์ (ฝ่ายวิชาการ)

อาจารย์ปกรชัย เมืองโคตร (ฝ่ายกิจการนักเรียน)
อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ล้ำนาค (ฝ่ายบริหารจัดการ)

ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2552 - 2557
20 อาจารย์พีลาภ วงษ์พานิชย์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน

หลักสูตรที่เปิดสอน

โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นชั้นละ 4 ห้องเรียน และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นละ 3 ห้องเรียน สามารถแบ่งออกได้คือ

  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ทุกห้องเรียนดำเนินการเรียนด้วยหลักสูตรพิเศษ "Intensive English Program" อันเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีความสามารถในภาษาอังกฤษแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษา 5 คาบต่อสัปดาห์ และชั่วโมงภาษาอังกฤษกับครูชาวไทย 1 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมให้มีทักษะความเป็นเลิศในภาษาอังกฤษเพื่อนำใปใช้จริงในอนาคต

  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดสอน 4 แผนการเรียน คือ
    • วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ-คณิตศาสตร์
    • ภาษาอังกฤษ-ภาษาญี่ปุ่น
    • ภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน

ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษา

สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีอยู่ 2 ประเภทคือ

1. ประเภทโควตาพิเศษ คัดเลือกจากนักเรียนโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงของโรงเรียนมัธยมสาธิตฯ (กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี บางส่วน) โรงเรียนละ 2 คน ดำเนินการสอบคัดเลือกด้วยชุดทดสอบทางวิชาการของโรงเรียนฯอีกครั้ง เพื่อให้ได้นักเรียนระบบโควตาพิเศษเพียง 30 คนต่อปีการศึกษา การคัดเลือกประเภทนี้จะรับเฉพาะการเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (โครงการ Intensive English Program) เท่านั้น

โดยการสอบประเภทนี้จะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนธันวาคม และจัดสอบในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปีการศึกษา

2. ประเภทคัดเลือกทั่วไป เป็นการสอบคัดเลือกรูปแบบปกติ ดำเนินการสอบคัดเลือกด้วยชุดทดสอบทางวิชาการของโรงเรียนฯ โดยแบ่งจำนวนการรับนักเรียนดังนี้

  • มัธยมศึกษาปีที่ 1 ดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น(Intensive English Program)ทั้งหมด รับประมาณ 150 คน ต่อปี
  • มัธยมศึกษาปีที่ 4 (แผนการเรียนภาษาอังกฤษ - ภาษาญี่ปุ่น และแผนการเรียนภาษาอังกฤษ - ภาษาจีน) รับประมาณ 5 คน ต่อแผนการเรียน

โดยการสอบประเภทนี้จะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนมกราคม และจัดสอบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปีการศึกษา

ชีวิตในโรงเรียน

โรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆที่พัฒนาทักษะทางวิชาการและกิจกรรมเสริมศักยภาพทั้งในและนอกห้องเรียน ดังต่อไปนี้

ไฟล์:Old-sportday1.jpg
กีฬาคณะสี ปีการศึกษา 2523
กีฬาคณะสีสัมพันธ์

กีฬาคณะสีจะจัดขึ้นในภาคเรียนที่ 2 ประมาณปลายเดือนตุลาคมของทุกปีการศึกษา คณะสีของโรงเรียนเป็นชื่อของพรรณไม้ไทย ใช้วิธีแบ่งนักเรียน มัธยมต้นที่เข้าใหม่ เข้าสู่คณะสีนั้นๆด้วยการจับสลาก โดยจะต้องจับสลากเปลี่ยนคณะสีใหม่อีกครั้งเมื่อขึ้น มัธยมปลาย มีทั้งหมด 4 คณะสี อันประกอบด้วย

  • ██ คณะชัยพฤกษ์ (Chaiyaphruek) สีเขียว
  • ██ คณะพุทธชาด (Bhudhachad) สีแดง
  • ██ คณะราชพฤกษ์ (Rajaphruek) สีเหลือง
  • ██ คณะบัวหลวง (Bualuang) สีชมพู

อันมีบทกลอนที่กล่าวถึง คณะสีทั้งสี่ไว้ว่า

ชัยพฤกษ์กึกก้องต้องตรึงจิต
พุทธชาดวาดชีวิตศิษย์สุขสันต์
ราชพฤกษ์นึกภิรมย์ชมชื่นกัน
บัวหลวงนั้นพลันเรื่อยลั่นกังสดาล
มองสีเขียวเหลียวไปให้ใจชื่น
แดงระรื่นหมื่นรสาซ่าซ่านหวาน
เหลืองเรืองรุ่งจุ่งสรัญทุกวันวาน
ชมพูมาลย์นานหอมพยอมจริง
เรียงพยัญชน์สันสีปรีดามาก
อย่ายุ่งยากบากแยกสรรพ์ศฤง
ทั้งเขียวเหลืองเยื่องแดงชมพูพริง
เปนหนึ่งสิ่งเดียวแดด้วยพ.ม.

ในกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนเกิดความมีส่วนร่วมในการฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ ตลอดจนก่อให้เกิดความสนุกสนานระหว่างกลุ่มเพื่อนฝูง สร้างความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง และส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อพลานามัยที่สมบูรณ์

กิจกรรมชมรมและชุมนุม

กิจกรรมชมรมและชุมนุมต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามความสนใจของตน ภายใต้แนวคิดและเหตุผลเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรู้จัก และพบปะกันมากยิ่งขึ้น โดยภายในโรงเรียนฯ ได้มีการก่อตั้งชุมนุมขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามความสนใจของนักเรียนที่มีหลากหลาย อาทิเช่น ภาษา กีฬา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม คหกรรม คอมพิวเตอร์ ศิลปศึกษา เป็นต้น โดยนักเรียนสามารถเลือกชมรมได้ตามความสนใจของนักเรียน ไม่จำกัดชั้นปี โดยมีชุมนุมให้นักเรียนเลือกมากกว่า 30 ชุมนุม

กิจกรรมรับน้องออก

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีก่อนๆได้ โดยมีการแนะแนวสาขาการเรียนในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตนเองสนใจ เพื่อให้น้องเตรียมพร้อมสู่การสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

กิจกรรมทางศาสนา

โรงเรียนได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลวันสำคัญต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงและศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแห่เทียนพรรษา, กิจกรรมค่ายพุทธบุตร ณ วัดพระศรีมหาธาตุ และกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อนำเงินที่ได้จากการทำบุญมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน

พิธีประดับเข็มพระราชลัญจกร

พิธีประดับเข็มพระราชลัญจกรเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อประดับเข็มให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าปีการศึกษาใหม่ทุกคน ในวันไหว้ครูของโรงเรียน เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้สถาปนานาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" และความภาคภูมิใจในความเป็นนักเรียนสาธิตราชภัฏพระนคร ที่ได้รับการขนานนามว่า "ข้าพระราชลัญจกร ข้าของแผ่นดิน" โดยการติดเข็มพระราชลัญจกรนั้นสำหรับนักเรียนชายจะติดหน้าอกเบื้องซ้ายของเสื้อนักเรียน เหนือชื่อและนามสกุล และนักเรียนหญิงจะติดบนเนคไท

พิธีถวายพวงมาลาและราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

พิธีถวายพวงมาลาและราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 จัดขึ้นในวันปิยมหาราช เพื่อถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ในปี พ.ศ. 2435 อันเป็นฐานรากของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปัจจุบัน โดยโรงเรียนมีความเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมาตลอด โดยพิธีจัดขึ้น ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าสำนักอธิการบดี

วันวิชาการสาธิตราชภัฏพระนคร

เป็นการแสดงผลงานทางวิชาการด้านต่างๆ ของอาจารย์และนักเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนเป็นเวทีกลาง ในการแลกเปลี่ยนทรรศนะ และแสดงความคิดเห็นแนวคิดทางวิชาการต่างๆ โดยให้บุคคลภายในและภายนอกโรงเรียนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสามารถของบุคลากรของโรงเรียน โดยกำหนดวันจัดงานในแต่ละปีไม่ได้กำหนดตายตัว โดยอาจจัดขึ้นในช่วงภาคเรียนที่ 1 หรือ ภาคเรียนที่ 2 ตามโอกาสและความเหมาะสม

วันสถาปนาโรงเรียน

จัดขึ้นทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี มีกิจกรรมบำเพ็ญกุศลทางศาสนา และกิจกรรมมอบรางวัลเกียรติคุณแก่ผู้อุปการะคุณต่อโรงเรียน

วันสายสัมพันธ์ พ.ม.

งานสายสัมพันธ์ พ.ม. เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของศิษย์เก่า พ.ม. ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน อีกทั้งเป็นงานเลี้ยงฉลองสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เหน็ดเหนื่อยจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยลักษณะเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงของนักเรียนและอาจารย์รุ่นปัจจุบัน การบรรเลงดนตรี การมอบรางวัลแก่ศิษย์เก่าดีเด่นที่สร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียง ต่อโรงเรียนและประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและเกมส์ต่างๆที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยงานจะจัดขึ้นราวเดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี ณ สนามฟุตบอลโรงเรียน

ไฟล์:PRASRI.JPG
อัตลักษณ์การแข่งขัน "พระศรีเกมส์"
สาธิตราชภัฏสัมพันธ์

สาธิตราชภัฏสัมพันธ์เป็นการแข่งขันกีฬา การประกวดขบวนพาเหรด กองเชียร์ และผู้นำเชียร์ระหว่างโรงเรียนมัธยมสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีงามทั้ง 9 สถาบันการศึกษา โดยจะจัดขึ้นทุกปีการศึกษาราวเดือนธันวาคมของทุกปี ปัจจุบันจัดการแข่งขันมาแล้ว 22 ครั้ง ซึ่งโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันถึง 3 ครั้ง ได้แก่ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 11 และครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 19 ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า "พระศรีเกมส์" ณ สนามกีฬากองทัพอากาศ (จันทรุเบกษา) และสนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) กรุงเทพมหานคร[10]

การเดินทาง

โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีประตูทางเข้าออก 2 เส้นทาง การเดินทางมายังโรงเรียนสามารถเดินทางมาได้ ดังนี้

1. ประตูถนนแจ้งวัฒนะ (ประตูหลัก) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 52, 59 [11] , 95 ก[12], 150(รถเอกชนร่วมบริการ)[13], 356(รถร่วม), 524(รถเอกชนร่วมบริการ), 554[14] และรถประจำทางสวัสดิการกองทัพอากาศ (ปากเกร็ด - ดอนเมือง - สะพานใหม่)

2. ประตูหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร รถโดยสารประจำทางที่ผ่านถนนพหลโยธิน เขตบางเขน (วัดพระศรีมหาธาตุ)[15] ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 26, 29, 34, 39, 59, 63, 95, 107, 114, 126, 129, 185, 503, 520, 522 และ 543 โดยลงที่ป้ายวัดพระศรีมหาธาตุ ผ่านเข้าไปทางด้านหลังวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อเข้าสู่ประตูด้านหลังที่เชื่อมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (บริเวณหอพักนักศึกษา พระนครนิเวศ)

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ข้อมูลจำเพาะ: คู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2550 หน้า12-13
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ มาตรฐาน
  3. ประวัติและความเป็นมา วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จากเว็บไซต์ watphrasri.org
  4. ประวัติโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หน้า 1 จากเว็บไซต์ โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
  5. โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศณีมหาธาตุฯ,หนังสืออนุสรณ์ พ.ม. 49,โรงพิมพ์ นวกิจ,2551
  6. พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538. (2538, 24 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 112, ตอนที่ 4 ก. หน้า 1.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547,เล่มที่ 121, ตอนพิเศษ 23ก, วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547
  8. สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี
  9. หนังสืออนุสรณ์ พ.ม. 49
  10. สาธิตสัมพันธ์ "พระศรีเกมส์" 6-7 ธันวาคม จาก เด็กดี.คอม
  11. ขสมก. สายรถ 59 จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  12. ขสมก. สายรถ 95 ก จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  13. ขสมก. สายรถ 150 จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  14. ขสมก. สายรถ 554 จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  15. ขสมก. รถประจำทางสายที่ผ่าน "บางเขน (วัดพระศรีมหาธาตุ)" (ข้อมูลคลาดเคลื่อน เนื่องจากแหล่งอ้างอิงไม่มีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล) จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

แหล่งข้อมูลอื่น

13°52′37″N 100°35′34″E / 13.877007°N 100.592789°E / 13.877007; 100.592789{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้