ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ZenithZealotry (คุย | ส่วนร่วม)
→‎รัฐประหาร: ครช ศรช คือบ้าอะไรวะ ดีใจจนพิมพ์ผิดอีกแล้ว
Thmmrth (คุย | ส่วนร่วม)
+ ยุบวุฒิสภา
บรรทัด 27: บรรทัด 27:
| [[รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557|รัฐประหาร]]
| [[รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557|รัฐประหาร]]
| คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
| คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
| การยุบวุฒิสภา
}}
}}
| side1 = {{bulleted list|
| side1 = {{bulleted list|

รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:22, 27 พฤษภาคม 2557

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
การชุมนุมที่ราชดำเนินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556
วันที่31 ตุลาคม 2556 – ปัจจุบัน
สถานที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดของประเทศไทย
สาเหตุ
  • ร่างพระราชบัญญัติซึ่งนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมดของทุกฝ่ายย้อนหลังไปถึงปี 2547[1]
  • อิทธิพลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย
  • การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ 2550 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง[2]
เป้าหมาย
  • การทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับพันตำรวจโท ทักษิณ หมดอำนาจ
  • การตั้งสภาประชาชนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาควบคุมการปฏิรูปการเมือง[3]
วิธีการ
  • การเดินขบวนและชุมนุมประท้วง
  • การยึดสถานที่ราชการ
  • การปิดการจราจรในทางแยกสำคัญในกรุงเทพ[4]
  • การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง
สถานะยังดำเนินอยู่
คู่ขัดแย้ง
ผู้นำ
ความเสียหาย
เสียชีวิต28[5]
บาดเจ็บ827[5] (จนถึง 26 พฤษภาคม 2557)
ถูกจับกุม12[6][7] (จนถึง 12 กุมภาพันธ์ 2557)

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 เป็นวิกฤตการณ์การเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน มีสาเหตุจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และถูกหลายฝ่ายคัดค้าน ฝ่ายหนึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำ และอีกฝ่ายหนึ่งคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคนเสื้อแดงบางส่วน ครั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทว่า การชุมนุมซึ่งนำโดยสุเทพยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการต่อต้านรัฐบาลแทน

อีกเหตุการณ์หนึ่ง รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด[2][8] ประชาธิปัตย์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[9] วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ศาลวินิจฉัยตามนั้น พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยนี้[10] และในวันที่ 8 ธันวาคม 2556 นายกรัฐมนตรีขอถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืนจากพระมหากษัตริย์[11] ขณะที่ นปช. จัดชุมนุมตอบโต้ขึ้นที่ราชมังคลากีฬาสถานตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2556 ระหว่างนั้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมฝ่ายสุเทพเข้ายึดสถานที่ราชการเพื่อบีบให้ปิดทำการ มีเหตุรุนแรงที่สำคัญคือ การปะทะกันบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงตลอดทั้งวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงเช้าวันที่ 1 ธันวาคม มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บ 57 คน[12][13]

การยกระดับการชุมนุมในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจเป็นเวลาสองวัน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและหัวฉีดน้ำ เพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าทำเนียบรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บ 119 คน[14] จนวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ตำรวจจึงเปิดให้ผู้ชุมนุมเข้าไปได้ เพื่อสงบศึกในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จากนั้น ผู้ชุมนุมจึงชุมนุมกันต่อ ครั้นวันที่ 8 ธันวาคม 2556 ส.ส. ประชาธิปัตย์ทั้ง 153 คนลาออก และในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สุเทพและผู้ชุมนุมปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมืองเสียก่อน[15][16]

วันที่ 13 มกราคม 2557 สุเทพนัดชุมนุมปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครเพื่อกดดันรัฐบาล[17][18] นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและอาวุธเป็นระยะ ๆ[19][20][21][22] จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต วันที่ 21 มกราคม 2557 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ[23] วันที่ 26 มกราคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในกรุงเทพมหานครและภาคใต้ ทำให้การเลือกตั้งเสียระบบ[24] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ว่า การเลือกตั้งต้องดำเนินตามกำหนดต่อไป ท้ายที่สุด มีผู้มาเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 46.79[25][26]

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลอาญาออกหมายจับแกนนำการชุมนุม 19 คน ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548[27] วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 สุเทพประกาศยุติการปิดถนนในกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มีนาคม และรวมเวทีการชุมนุมทั้งหมดไปอยู่ที่สวนลุมพินี[28] วันที่ 18 มีนาคม 2557 คณะรัฐมนตรีจึงยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกลับไปใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น[29]

วันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ [30][31] แกนนำผู้ชุมนุมยืนยันว่า จะทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ให้มีผลโมฆะ [32][33] วันที่ 3 เมษายน 2557 ศาลอาญาเพิกถอนหมายจับแกนนำการชุมนุม 19 คน ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว[34]

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี[35]

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึก เริ่มตั้งแต่เวลา 03:00 น.[36] อีกสองวันต่อมา กองทัพรัฐประหารรัฐบาลรักษาการ[37]

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
30 ต.ค. 2556สุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงข่าวจัดการชุมนุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น หลังสภาผู้แทนราษฎรกำหนดการประชุมพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ในวาระที่สาม
31 ต.ค.เริ่มชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน
4 พ.ย.ย้ายการชุมนุมไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
11 พ.ย.สุเทพยกระดับการชุมนุมดำเนินมาตรการ 4 ข้อ, เปิดตัวแกนนำ 9 คน และลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
19-20 พ.ย.นปช. ชุมนุมใหญ่ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ครั้งที่ 1
20 พ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
24-30 พ.ย./
1 ธ.ค.
นปช. ชุมนุมใหญ่ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ครั้งที่ 2
24 พ.ย.การชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณโดยรอบ โดยแกนนำเรียกว่า "วันมวลมหาประชาชน คนไทยใจเกินล้าน"
25 พ.ย.- กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปปิดล้อม 13 สถานที่สำคัญ และสุเทพนำผู้ชุมนุมบุกยึดกระทรวงการคลัง
- นายกรัฐมนตรีแถลงเพิ่มเขตพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ[38]
27 พ.ย.กลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
29 พ.ย.เปิดตัวกลุ่ม กปปส.
30 พ.ย.
/ 1 ธ.ค.
เกิดเหตุจลาจลบริเวณรอบนอกมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้บาดเจ็บ 64 ราย[39]
1-3 ธ.ค.การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บ 221 ราย[40][41][42]
9 ธ.ค.- กลุ่มผู้ชุมนุมคืนพื้นที่กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการฯ และย้ายไปชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง
- นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร โดยจัดการเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
22 ธ.ค.การชุมนุมปิดถนนในกรุงเทพมหานคร 6 จุด เป็นเวลาครึ่งวัน
26 ธ.ค.เกิดเหตุจลาจลที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง มีผู้บาดเจ็บ 160 ราย
13 ม.ค.
2557
การชุมนุมปิดถนนในกรุงเทพมหานคร 9 จุด
15 ม.ค.ประชุมหารือเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งซึ่ง กกต. กปปส. ปชป. สตง. และศาลยุติธรรมไม่เข้าร่วม มติที่ประชุมให้คงวันเลือกตั้งตามเดิม
17 ม.ค.มีผู้ขว้างระเบิดลูกเกลี้ยง[43] ใส่ผู้ชุมนุมที่เดินขบวนถึงถนนบรรทัดทอง บาดเจ็บ 41 ราย[44]
19 ม.ค.มีผู้ขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บาดเจ็บ 29 ราย[45] สาหัส 8 ราย
21 ม.ค.นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี, อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ[46]
24 ม.ค.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าวันเลือกตั้งทั่วไปสามารถเลื่อนได้ และ ครม.กับ กกต. สามารถปรึกษาหารือกัน[47]
26 ม.ค.- วันเลือกตั้งล่วงหน้า, กปปส.ขัดขวางผู้ต้องการใช้สิทธิ
- เกิดเหตุปะทะใกล้ที่เลือกตั้งล่วงหน้า แกนนำ กปท. ถูกยิงเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 12 คน[48]
28 ม.ค.การหารือระหว่างคณะรัฐมนตรีกับ กกต. หาข้อยุติไม่ได้ จึงจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเดิม[49]
1 ก.พ.- กปปส. ปะทะคนเสื้อแดงที่ต้องการนำอุปกรณ์การเลือกตั้งออกมาจากสำนักงานเขตหลักสี่ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกหลักสี่ มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย[50]
2 ก.พ.วันเลือกตั้งทั่วไป
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดินแดงชุมนุมประท้วงกลุ่ม กปปส. ที่ปิดเขตดินแดงจนไม่สามารถเลือกตั้งในพื้นที่ได้ และเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง[51]
5 ก.พ.ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. 19 คน ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน[52]
9 ก.พ.มีผู้ยิงเอ็ม-79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ มีผู้บาดเจ็บ 2 คน[53]
10 ก.พ.สุเทพเดินขบวนเพื่อระดมทุน นำไปให้ กปปส.จ้างทนายความ ช่วยชาวนาดำเนินคดี[54][55]
14 ก.พ.ศรส. ขอพื้นผิวการจราจรคืน ตั้งแต่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงแยกสวนมิสกวัน[56]
-มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ศาลอาญา[57]
17-18 ก.พ.สุเทพนำผู้ชุมนุมบางส่วนไปทำเนียบรัฐบาล (ที่ชุมนุมของ คปท.), คปท.ฉาบปูนปิดประตูทำเนียบรัฐบาลเพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีเข้าทำงาน[58]
18 ก.พ.ตำรวจและผู้ชุมนุมปะทะกันบริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีผู้บาดเจ็บ 71 คน เสียชีวิต 5 คน[59]
23 ก.พ.- มีผู้ยิงเข้าใส่เวที กปปส. ตลาดยิ่งเจริญ จังหวัดตราด มีผู้บาดเจ็บ 41 คน และเสียชีวิต 3 คน[60]
- มีผู้ยิงเอ็ม 79 บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ใกล้ที่ชุมนุม กปปส.แยกราชประสงค์ มีผู้บาดเจ็บ 24 คน และเสียชีวิต 3 คน[61]
28 ก.พ.สุเทพประกาศยุบเวที ย้ายเวทีชุมนุมหลักไปสวนลุมพินี, พระสุวิทย์ ธีรธมฺโมยืนยันไม่ยุบเวทีแจ้งวัฒนะ[62]
7 มี.ค.มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.สวนลุมพินี มีผู้บาดเจ็บ 5 คน[63]
11 มี.ค.มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส. มีผู้บาดเจ็บ 3 คน อาการสาหัส 1 ราย[64]
12 มี.ค.ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีที่มีผู้ร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ[65]
14 มี.ค.ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองไม่ให้เนรเทศสาธิต เซกัล ชาวอินเดีย หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม เป็นการชั่วคราว[66]
21 มี.ค.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเมื่อ 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
7 พ.ค.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพร้อมรัฐมนตรีที่มติย้ายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี[35]
20 พ.ค.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึก
22 พ.ค.กองทัพรัฐประหาร; กปปส., นปช. ยุติการชุมนุม

สาเหตุ

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

วรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักเคลื่อนไหวร่วมกับ นปช. เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระแรกในเดือนสิงหาคม 2556[67] กลุ่มต่อต้านทักษิณที่เรียกว่า "กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ตลอดจนพรรคประชาธิปัตย์ จัดการประท้วงบนท้องถนนก่อนสมัยประชุมรัฐสภา แต่ไม่ได้รับแรงสนับสนุน[68] ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณา 35 คน ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายังสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม คณะกรรมาธิการส่งร่างกฎหมายที่ได้รับการทบทวนแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556[69] ร่างกฎหมายดังกล่าวเปลี่ยนจากเดิมที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุม ไม่รวมถึงแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการ ซึ่งรวมถึงผู้นำรัฐบาลและทหาร เป็น "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ซึ่งรวมการนิรโทษกรรมให้ทั้งแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการด้วย ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมนี้รวมข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ ตลอดจนข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์และสุเทพด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 วุฒิสภาลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ถูกยับยั้งไว้ 180 วัน[70]

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่าด้วยที่มาของวุฒิสภา

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเปลี่ยนรูปแบบของวุฒิสภาจากที่สมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง มาเป็นสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนก่อนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[71][72]

วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕–๑๘/๒๕๕๖

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ทั้งกระบวนการและเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องกระบวนการ ศาลพิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้นมิได้เป็นฉบับเดียวกับที่เสนอแต่แรก แต่ได้นำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่มาพิจารณาในสมัยประชุม ศาลยังพิจารณาว่า การนับระยะเวลาย้อนหลังไปทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียงหนึ่งวันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกเสียงแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เข้าประชุม ในประเด็นเรื่องเนื้อหา ศาลพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเปิดให้ญาติของผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาและจะทำให้วุฒิสภาไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มิได้ห้ามญาติของผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกวุฒิสภาและส่งผลให้สภานิติบัญญัติได้สมญาว่า "สภาผัวเมีย" ศาลยังพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มุ่งตัดอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเปลี่ยนวุฒิสภาเป็นให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำลายระบบสองสภา[73][74]

นันทวัฒน์ บรมานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าบางส่วนของคำวินิจฉัยนี้ มีถ้อยคำที่แสดงถึงความไม่พอใจ ในการดำเนินกิจกรรมของสภาผู้แทนราษฎร[75] ยิ่งไปกว่านั้น ศาลยังเห็นว่า ตนเองมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตามหลักการแยกใช้อำนาจเช่นเดียวกับการตรวจสอบและถ่วงดุล แต่นักวิชาการกฎหมายบางคนแย้งว่า ศาลไม่สามารถแทรกแซงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะสภานิติบัญญัติไม่ได้กำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติ หากเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจ[76][77][78] พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว โดยอ้างว่า ศาลไม่มีอำนาจเหนือกรณีนี้[79]

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนักวิชาการส่วนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญพึงระวังว่า การวินิจฉัยจะล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชวินิจฉัย[80] เป็นผลให้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สมาชิกพรรคเพื่อไทยฟ้องร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำอันเป็นกบฎต่อแผ่นดิน

พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลในกรณีดังกล่าวมาตลอด และยังคงยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืน โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยผ่านเป็นกฎหมาย[81]

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสินเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 308 คนถูกแจ้งข้อหาละเมิดกฎหมายไทย แต่ไม่รวมนักการเมือง 73 คน รวมทั้งยิ่งลักษณ์ อันเนื่องจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหากทั้ง 308 คนนี้ถูก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าผิดจริง ก็อาจส่งผลให้ถูกวุฒิสภาห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาห้าปี[82]

อื่น ๆ

นักวิเคราะห์ชี้ว่าประเด็นการสืบราชสันตติวงศ์เป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งนี้[83][84]

ลำดับเหตุการณ์

การประท้วงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

สถานีรถไฟสามเสน เป็นสถานที่แรกในการชุมนุม เพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน ต่อมาในวันที่ 4 พฤศจิกายน สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศย้ายเวทีการชุมนุม โดยเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่ถนนราชดำเนินแทน พร้อมทั้งยกระดับการชุมนุม[85]

สุเทพนำกลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนขบวนจากสถานีรถไฟสามเสน ในเวลา 10:00 น. ไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประกาศยกระดับ โดยตั้งเวทีปราศรัยถาวร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ถนนราชดำเนินกลาง เป็นสถานที่ในการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จนถึง 12 มกราคม พ.ศ. 2557

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุม โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่ยอมถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ออกจากสภาทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศมาตรการ 4 ข้อดังนี้ หยุดงาน 3 วันคือ วันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน 2556 โดยให้หยุดงานเพื่อออกมาชุมนุม, งดชำระภาษีประจำปี, ประดับธงชาติไทย ที่หน้าบ้านของตนเอง, ถ้าพบเห็นรัฐมนตรีคนใด ให้เป่านกหวีดใส่ และเปิดตัวแกนนำ ทั้งหมด 9 คน ซึ่งประกาศลาออกจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับสุเทพด้วย คือถาวร เสนเนียม, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, อิสสระ สมชัย, วิทยา แก้วภราดัย, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งสุเทพให้เป็นโฆษก, ชุมพล จุลใส, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งสุเทพให้เป็นแกนนำหลัก หากสุเทพไม่สามารถเป็นแกนนำหลักได้[86] โดยสุเทพ พร้อมทั้งแกนนำ 8 คนดังกล่าว เข้ายื่นใบลาออกจากความเป็น ส.ส. ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ในวันต่อมา[87]

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง ให้กลายเป็นการถอนรากถอนโคนสิ่งที่สุเทพและผู้ชุมนุมเรียกว่า ระบอบทักษิณ โดยกล่าวอ้างทั้งสามประการคือ มีการเอื้อประโยชน์แก่สกุลชินวัตรและพวกพ้อง, เป็นบ่อเกิดของเผด็จการรัฐสภาให้เป็นศูนย์รวมอำนาจ และล้มล้างการถ่วงดุลอำนาจเพื่อเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อโค่นล้มให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย พร้อมทั้งออกมาตรการเพิ่มเติมคือ การล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส. ทั้งหมด 310 คน โดยจะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน, ต่อต้านบุคคลในเครือข่าย ด้วยการเป่านกหวีดเมื่อพบเจอ, ต่อต้านสินค้าในเครือข่ายทุกชนิด และขอให้คนไทยทั้งหมดหยุดงานมารวมพลังต่อสู้ให้มากที่สุด จนกว่าจะได้รับชัยชนะ[88]

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการยึดสถานที่ราชการ

ไฟล์:100191b33.jpg
ผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน มีการชุมนุมใหญ่ที่เวทีราชดำเนิน โดยประกาศยกระดับข้อเรียกร้องเป็นการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยใช้ชื่อว่า วันมวลมหาประชาชน คนไทยใจเกินล้าน โดยแกนนำต้องการให้ผู้ชุมนุมมาให้ได้เกิน 1 ล้านคน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งนำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ บุกรุกเข้ายึดบริเวณและอาคารสถานที่ราชการ ของสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน ก่อนจะเคลื่อนการชุมนุม ไปบุกเข้ายึด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ริมถนนแจ้งวัฒนะ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยมอบหมายให้วิทยา แก้วภราดัย เป็นผู้ควบคุมบริเวณดังกล่าวแทน ทั้งนี้ มีการชุมนุมอยู่

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งนำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ บุกรุกเข้ายึดบริเวณและกลุ่มอาคาร ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ โดยตั้งเวทีชุมนุมขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่ภายในกระทรวงการคลัง ก็ยังคงมีกลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่

การจัดตั้ง กปปส.

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศก่อตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาชน ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่นกลุ่มนักวิชาการ นำโดยสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพธรรม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นต้น โดยมีสุเทพเป็นเลขาธิการของกลุ่ม

เหตุจลาจลบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไฟล์:จราจลรามคำแหง.jpg
เหตุจลาจลบริเวณรอบนอกมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดงกรีดรูปพ่อขุนรามคำแหงทำให้นักศึกษาชุมนุมเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 อนิวัฒน์ นาคเป้า รองนายกองค์การนักศึกษา เล่าว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน สร้างความเดือดร้อนแก่พวกตน และมีนักศึกษาถูกคนเสื้อแดงทำร้าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ตำรวจดูแลความปลอดภัย และให้ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับเรื่องร้องเรียน เพราะให้คนเสื้อแดงเช่าสถานที่[89]

ครั้นเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน พันตำรวจเอก สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสติ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง และพันตำรวจเอก ณรงค์ พรหมสวัสดิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เดินทางมายังที่ชุมนุมพร้อมรับปากจะดูแลความปลอดภัยให้ เวลา 16.40 น. นักศึกษานับร้อยคนบริเวณถนนหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ปิดถนนและทำร้ายคนเสื้อแดงที่เดินผ่านหน้าไปเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เวลา 18.00 น. มีรถขนส่งมวลชนกรุงเทพที่คนเสื้อแดงได้ว่าจ้าง โดยใช้เส้นทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัย เมื่อรถคันดังกล่าวมาถึง นักศึกษาชุดเดิมก็กรูเข้าทำร้ายอีก[89]

ตั้งแต่เวลา 20.00 น. คนเสื้อแดงปิดล้อมประตูด้านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างนักศึกษากับตำรวจ โดยมีคนเสื้อแดงแฝงตัวอยู่หลังตำรวจ เหตุดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน โดยนักศึกษามีอาวุธไม้และเสาธงชาติ ส่วนคนเสื้อแดงใช้อาวุธปืน มีด ระเบิดปิงปอง ระเบิดเพลิง และประทัดยักษ์ และคนเสื้อแดงยังมีการวางแผนการปะทะอย่างดี โดยมีชุดยิงแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ และยังมีชุดเก็บปลอกกระสุน ตลอดจนชุดปาระเบิดเพลิง ปิงปองและประทัดยักษ์ เมื่อคนเสื้อแดงยึดพื้นที่หลังประตูมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว คนเสื้อแดงได้เอาไม้ตีรถจักรยานยนต์ของประชาชนในซอยรามคำแหง 24 แยก 14 โดยตำรวจไม่ทำอะไร[89]

คนเสื้อแดงได้ยิงปืนเข้ามาในมหาวิทยาลัยตลอดทั้งคืน โดยมีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจบินวนตลอดคืนพร้อมสาดไฟส่องผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัย แล้วมือปืนก็จะยิงอีกครั้ง กระทั่งบ่ายวันที่ 1 ธันวาคม หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ส่งรถไปรับนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย โดยมีทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์คอยดูแล[89]

การยึดสถานที่ราชการเป็นครั้งที่ 2 และการตัดไฟอาคารกสท บางรัก

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 12:30 น. ผู้ชุมนุม กปปส. บุกรุกเข้าไปยัง บริเวณอาคารของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เขตบางรัก โดยอ้างว่า พนักงาน กสท เป็นผู้เปิดประตูรั้ว ให้เข้าไปเอง และอ้างว่า ไม่ได้เข้าไปในตัวอาคาร แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลของอาคาร กสท เขตบางรัก รีบโทรศัพท์แจ้ง ผู้ใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร ให้เร่งปิดเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ก่อนจะมีการตัดไฟฟ้า

โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า แหล่งไฟฟ้าทั้งสองทาง ของศูนย์ข้อมูล กสท ดับไปทั้งหมด และเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรอง สามารถใช้งานได้ ประมาณหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น และภายหลัง กระแสไฟฟ้าก็หมดลง ส่วนทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทรูออนไลน์ ระบุเช่นเดียวกันว่า เครือข่ายทั้งหมดของ กสท ก็หยุดลงไปพร้อมกัน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า เหตุใดไฟฟ้าจึงดับลง และส่งผลกระทบให้ ระบบเกมออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร กสท เขตบางรัก ต้องขัดข้องไปทั้งหมด รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ต่าง ๆ เกิดขัดข้องไปแทบทั้งหมดอีกด้วย[90]

การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ที่ทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ไฟล์:ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา1.jpg
การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ผู้ชุมนุมเคลื่อนประชิดแนวกั้นตำรวจหลายจุด มุ่งหน้าสู่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และทำเนียบรัฐบาล ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้น 3 จุด คือ บริเวณ แยกกองพลที่ 1 ใกล้กองบัญชาการตำรวจนครบาล วัดเบญจมบพิตร และที่สะพานชมัยมรุเชฐ เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกั้นแท่นแบริเออร์ (Barricade) ขว้างแก๊สน้ำตา และฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม เพื่อตอบโต้ผู้ชุมนุมที่บุกเข้าประชิด และใช้ระเบิดปิงปองปาเข้าใส่แนวปิดกั้น[91][92][93]

ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ตำรวจรื้อถอนสิ่งกีดขวาง แล้วปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อลดความตึงเครียด และนับเป็นการสงบศึกชั่วคราว เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[94] ในวันที่ 5 ธันวาคม 2556 มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง และร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ[95]

การยุบสภาผู้แทนราษฎรและเหตุการณ์สืบเนื่อง

ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:45 น. นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงการณ์ว่า ตนดำเนินการทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร[96] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาในช่วงค่ำวันเดียวกัน โดยคณะรัฐมนตรีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 181 ประกอบมาตรา 180 (2)

วันเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณภายในกระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ประกาศคืนพื้นที่ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำการเคลื่อนขบวน ไปยังทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 08:39 น. แต่ต้องปักหลักชุมนุม บนถนนพิษณุโลก ช่วงหน้าราชตฤณมัยสมาคม บริเวณแยกนางเลิ้ง เนื่องจากไม่สามารถเดินไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัยของ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งเป็นแนวร่วมของ กปปส.

การชุมนุมใหญ่ 5 เวทีกลางกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กลุ่ม กปปส. ตั้งเวทีใหญ่ชุมนุมใน 5 จุดกลางกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกอโศก แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี ทุกเวทีมีการถ่ายทอดสัญญาณจากเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยขบวนของสุเทพ เทือกสุบรรณเริ่มตั้งต้นที่วงเวียนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเดินทางเยือมผู้ชุมนุมในทุกเวที ก่อนที่จะกลับไปปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถูกผู้ชุมนุมเวทีราชดำเนินทำร้ายและเหตุการณ์สืบเนื่อง

กลุ่มผู้ชุมนุมที่ แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556เวลา 16.00 น. ได้เกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ทำร้ายร่างกาย เพ็ญพรรณ แหลมหลวง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย และผู้ช่วยช่างภาพ ขณะกำลังกำลังปฏิบัติหน้าที่ รายงานสถานการณ์การชุมนุม บนรถถ่ายทอดนอกสถานที่ ของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ซึ่งจอดอยู่หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม เพ็ญพรรณระบุว่า ระหว่างที่รายงานข่าว ตนกล่าวถึงบรรยากาศการชุมนุม และภารกิจของแกนนำ กปปส. แต่มิได้พูดถึงจำนวนผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ทว่าเมื่อลงจากรถ ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่ง เข้ามาตะโกนต่อว่าตน รายงานมีผู้ชุมนุม 3 พันคนได้อย่างไร จากนั้นผู้ชุมนุมที่เป็นชายฉกรรจ์ เข้ามาล้อมรถถ่ายทอดนอกสถานที่ไว้ โดยเพ็ญพรรณพยายามขอโทษ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้กล่าวถึงจำนวนผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ฟัง และสาดน้ำเข้าใส่ ทั้งมีชายอีกคนหนึ่ง ชกเข้าที่แขนซ้าย รวมทั้งกระชากแขน ไม่ให้ขึ้นรถออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้ มีการทำร้ายผู้ช่วยช่างภาพ โดยผลักจนล้มและจะกระทืบ แต่มีผู้เข้ามาห้ามปรามไว้ทัน ทั้งนี้ ทีมข่าวพยายามนำรถออกนอกพื้นที่ แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมขว้างขวดน้ำ และทุบรถ

นอกจากนี้ ในช่วงเช้า ทีมข่าวไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานสถานการณ์การชุมนุม อยู่บนหลังคารถถ่ายทอดนอกสถานที่ ซึ่งจอดอยู่บริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากนั้นขณะลงจากรถดังกล่าว มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งเข้ามาล้อม พร้อมทั้งต่อว่า แล้วเป่านกหวีด รวมทั้งพยายามเข้าทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว วารุณี ซื่อสัตย์สกุลชัย แต่ทีมข่าวของช่อง 3 เข้าช่วยป้องกันไว้ทัน อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุทั้งสอง แกนนำ กปปส.ขึ้นปราศรัยบนเวที กำชับห้ามผู้ชุมนุม ขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะสำนักข่าวไหนก็ตาม เนื่องจากเป็นหน้าที่ ในการนำเสนอข่าว ความเคลื่อนไหวของการชุมนุม[97]

เหตุจลาจลที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

ไฟล์:เหตุชุลมุนที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น.JPEG
เหตุจลาจลที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กกต. ได้แจ้งให้ 34 พรรคการเมืองที่ได้เดินทางมายื่นแสดงความจำนงในการสมัครและจับสลากหมายเลขประจำพรรค ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วม คปท. พยายามนำคีมขนาดใหญ่ เข้าตัดเหล็กรั้วประตู 2 และรื้อกำแพงของสนามฯ เพื่อบุกรุกเข้าไปภายใน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสกัดกั้น โดยผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปในกระทรวงแรงงาน เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับสนามฯ เพื่อหาทางเข้าไปด้านใน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนไว้[98]

ต่อมาในช่วงเย็น กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วม คปท. ปิดถนนวิภาวดีรังสิตทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไป หลังจากนั้นมีการลอบยิงที่เวทีหลักสะพานชมัยมรุเชฐ แกนนำ คปท. จึงเรียกเคลื่อนขบวนกลับไปเพื่อความปลอดภัย ถนนวิภาวดีรังสิตจึงเปิดการจราจรตามเดิม ระหว่างนั้น ผู้ชุมนุมบางส่วน วิ่งเข้าจับชายฉกรรจ์ สวมเสื้อคลุมสีดำ ซึ่งกลุ่ม คปท.อ้างว่า ชายคนดังกล่าว ยิงปืนอยู่ที่ฝั่งแฟลต ตรงข้ามกระทรวงแรงงาน[99]

กรณีเรียกร้องให้เลื่อนวันเลือกตั้ง

สืบเนื่องจากที่กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งนำโดยกลุ่ม กปปส. ตั้งเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการ พ้นจากตำแหน่ง จากนั้น กปปส.จะเป็นฝ่ายจัดตั้งสภาประชาชน ขึ้นเพื่อทำการปฏิรูปประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ประกอบกับเหตุจลาจล ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

เมื่อเวลาประมาณ 14:00 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งประกอบด้วย ประธานศุภชัย สมเจริญ, สมชัย ศรีสุทธิยากร, บุญส่ง น้อยโสภณ, ประวิช รัตนเพียร และธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ร่วมกันประชุมเพื่อกำหนดท่าที และแสดงจุดยืน ในรูปของแถลงการณ์ กรณีเหตุปะทะรุนแรง ระหว่างการจับสลากหมายเลขพรรค โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าว แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังขอโทษประชาชน ที่ไม่สามารถทำให้การรับสมัครเลือกตั้ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ โดยระบุให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน จนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกัน โดย กกต.แสดงความพร้อมที่จะเป็นตัวกลางยุติเหตุการณ์ แต่หากรัฐบาลไม่ตอบสนอง กกต.จะดำเนินการใช้สิทธิส่วนของแต่ละบุคคล เพื่อดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสมต่อไป[100]

ทางด้านพรรคเพื่อไทย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค, ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค, โภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรค และพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าว หลังจากเสร็จการประชุมพรรค โดยโภคินกล่าวว่า ขอชื่นชม กกต.ในความตั้งใจดำเนินกระบวนการเลือกตั้ง แม้จะมีอุปสรรคอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ กกต.ออกแถลงการณ์ พรรคเพื่อไทยมีความเห็นร่วมกันว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม ก็มีความขัดแย้งต่าง ๆ เกิดขึ้น ทำให้มีหลายฝ่ายเสนอว่า ความขัดแย้งนี้ น่าจะสามารถแก้ไขได้ ด้วยการเลือกตั้ง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อให้ประชาชนที่ขัดแย้งกัน ไปใช้สิทธิของตน เลือกพรรคที่ตนชอบ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งการกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นวันเลือกตั้ง รัฐบาลก็ปรึกษากับทาง กกต.ชุดที่แล้ว เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไข ที่กฎหมายกำหนดให้จัดการเลือกตั้ง ภายใน 45-60 วันหลังยุบสภา การกำหนดวันเลือกตั้ง ถือเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ โดยจะประกาศเป็นพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งรัฐบาลยังไม่มีสิทธิ ในการเปลี่ยนวันเลือกตั้งอีกด้วย นอกจากนี้ แม้ว่ามาตรา 78 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จะระบุว่า กรณีการลงคะแนนเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งแห่งใด ไม่อาจกระทำได้ ด้วยเหตุจลาจล หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น กกต.ก็สามารถกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ และที่ผ่านมาก็เคยปรากฏเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้ว ส่วนจารุพงศ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย สามารถหาทางออกได้ ด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ กกต.หนักแน่น และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พร้อมพงศ์ กล่าวว่า หาก กกต.เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ก็จะเป็นการเพิ่มปัญหาเข้าไปอีก ไม่ใช่การแก้ปัญหา ขอถามว่าหาก กกต.ยืนยันจะเลื่อนการเลือกตั้ง จะมีความผิดหรือไม่ โภคินชี้แจงเรื่องนี้ว่า อาจมีผู้ไปร้องว่า กกต.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า คงยังไม่ไปถึงขั้นนั้น พร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า กกต.อาจถูกร้องเรียนว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 แล้วตั้งคำถามว่า หาก กกต.ใช้วิธีลาออกทั้ง 5 คนจะเป็นอย่างไร โภคินชี้แจงว่า ตนเห็นว่า กกต.สามารถแก้ไขปัญหาได้[101]

ต่อมาในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 มีการประชุมปรึกษาหารือ และรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ในประเด็นที่ กกต.เห็นว่า การจัดการเลือกตั้งมีผลกระทบ เนื่องจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง พร้อมทั้งเสนอให้นายกรัฐมนตรี กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยในการประชุมนี้ กลุ่มที่มิได้เข้าร่วมคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน (ส่งภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ มาเป็นตัวแทน) กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ที่ประชุมสรุปว่า ควรดำเนินการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมต่อไป[102]

การชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร

กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน 13 มกราคม 2557

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 สุเทพประกาศว่า จะจัดการชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลรักษาการในวันที่ 13 มกราคม โดยจะตั้งเวทีปิดถนนสำคัญต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งมวลชนไปเฝ้าสังเกตการณ์ และปิดล้อมบ้านพักรัฐมนตรี[103] วันต่อมา สุเทพอธิบายการปิดกรุงเทพฯ เพิ่มเติมว่า เพื่อไม่ให้ข้าราชการไปทำงาน รวมถึงจะตัดระบบประปาและไฟฟ้า เฉพาะสถานที่ราชการทุกแห่ง โดยไม่รวมถึงบ้านเรือนของประชาชน และไม่รบกวนการให้บริการ รถโดยสารประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือเมล์ (เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารคลองแสนแสบ) เนื่องจากในทุกถนน จะเว้นช่องทางให้เดินรถเมล์ และรถพยาบาล หรือผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มปฏิบัติการดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 09:00 น.[104] และวันที่ 6 มกราคม สุเทพกล่าวปราศรัยว่า จะยุติเวทีบนถนนราชดำเนิน เพื่อกระจายเวทีออกไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ ทั้งหมด 7 เวทีคือ หน้าศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ กปปส.นนทบุรี, ห้าแยกลาดพร้าว โดยกลุ่มอาจารย์ส่วนหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยรังสิต และกลุ่มอาจารย์ส่วนหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สี่แยกปทุมวัน โดยส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สวนลุมพินี โดยชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, แยกอโศก โดยส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), แยกราชประสงค์ โดยเสรี วงษ์มณฑา และส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง[105]

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม นอกจาก กปปส.จะชุมนุมตามแยกถนน ในกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล กรรมการ กปปส. แถลงที่หน้ากระทรวงพลังงานวันเดียวกันว่า กปท.และเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย ซึ่งเป็นอีกเครือข่ายหนึ่งของ กปปส. นำมวลชนปิดล้อมกระทรวงพลังงาน โดยจะมีการค้างแรมไป จนกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะลาออก พร้อมยื่นข้อเสนอระยะสั้นเฉพาะหน้า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน ลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 95 และ แก๊สโซฮอล์ 91 ลงลิตรละ 5 บาท โดยทันที และให้ชะลอขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน[106] และวันเดียวกัน กองทัพธรรมแบ่งมวลชนจากถนนราชดำเนินนอก เข้าปิดกั้นการจราจรทั้ง 2 ฝั่งบนสะพานพระราม 8 โดยนำรถปราศรัย มาตั้งขวางกลางสะพาน พร้อมกางเต็นท์จับจองพื้นที่[107]

สำหรับกระทรวงคมนาคม ดำเนินการเปิดเว็บไซต์ ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เพื่อรวบรวม บริการขนส่งมวลชน การเดินทาง จุดเชื่อมต่อ เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จุดจอดรถยนต์ เพื่อเดินทางต่อโดยระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนสามารถตรวจสอบ จุดจอดรถ และจุดให้บริการขนส่งสาธารณะ ระหว่างการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส.[108]

จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 มกราคม ตอบโต้สุเทพ โดยนัดชุมนุมคนเสื้อแดง ในวันที่ 13 มกราคม เพื่อเปิดกรุงเทพมหานคร[109] ในวันต่อมา (3 มกราคม) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ แกนนำ นปช. ชี้แจงรายละเอียด การจัดชุมนุมคู่ขนาน กับกลุ่ม กปปส.ภายใต้ชื่องาน "เปิดประเทศ เปิดเจ้าของอำนาจอธิปไตย" โดยจะมีการชุมนุมทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี และ 14 จังหวัดภาคใต้[110] ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม นายแพทย์เหวง โตจิราการ, รองศาสตราจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ, และแนวร่วม นปช.จำนวนมาก พร้อมรถบรรทุกขยายเสียง 3 คัน รถจักรยานยนต์ราว 200 คัน และรถยนต์ชนิดต่าง ๆ อีกกว่า 60 คัน ซึ่งล้วนแต่เปิดไฟหน้ารถ เพื่อรณรงค์ "หยุดรัฐประหาร ต่อต้านกบฎ" คัดค้านการปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส. เคลื่อนขบวนจากหน้าสถานีดาวเทียมไทยคม ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองนนทบุรี ไปตามเส้นทางต่าง ๆ คือสะพานพระนั่งเกล้า ตลาดสด/หอนาฬิกา/ท่าน้ำนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด เมืองทองธานี แล้วกลับมาที่หน้าสถานีดาวเทียมไทยคม นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนขบวนลักษณะเดียวกัน ที่จังหวัดปทุมธานีด้วย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ยืนยันว่า จะลดการเผชิญหน้า ลดความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ[111]

การชุมนุมปิดกั้นหน้าสถานที่ราชการ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557 กลุ่ม กปปส.จังหวัดต่าง ๆ เคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้น หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี[112], นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมเข้าปิดกั้น หรือนำรถปราศรัยเข้าปิดกั้น ศาลากลางบางจังหวัดในภาคใต้ และมีผู้ชุมนุมเข้ายื่นหนังสือ อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดยะลา, จังหวัดชุมพร, จังหวัดสตูล, จังหวัดตรัง, จังหวัดสงขลา, จังหวัดกระบี่ และจังหวัดปัตตานี[113]

ทั้งนี้ กลุ่ม กปปส.ซึ่งชุมนุมอยู่ในกรุงเทพมหานคร เคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้น หน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่สะพานควาย[114], กรมทางหลวง[115], ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร[116], การทางพิเศษแห่งประเทศไทย[117] และโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว[118]

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรชาวนาซึ่งเดือดร้อนจากเหตุไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว เข้าชุมนุมปิดกั้น ศาลากลางจังหวัดพิจิตร[119] และในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ผู้ชุมนุมกลุ่ม คปท.เข้าทำลายป้าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[120]

ความพยายามสังหารผู้นำกลุ่มทางการเมือง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 มีคนร้ายพยายามจะลอบสังหาร ขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ด้วยอาวุธปืน ที่บ้านพักในจังหวัดอุดรธานี[121] ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม ปีเดียวกัน สุทิน ธราทิน หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย กปท. ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณถนนศรีนครินทร์ ใกล้กับวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา กรุงเทพฯ[122]และเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปีเดียวกัน กมล ดวงผาสุก หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีประชาธิปไตย, แกนนำกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ถูกลอบยิงเสียชีวิต ที่ลานจอดรถ หน้าร้านอาหาร ครกไม้ไทยลาว ซอยลาดปลาเค้า 24 เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ[123]

การเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 27 และเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกต่อต้านโดยกลุ่ม กปปส.โดยอ้างว่าต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง[124][16] จึงทำการขัดขวางหน่วยเลือกตั้ง ในบางท้องที่ของกรุงเทพมหานคร และเกือบทั้งหมดของภาคใต้ จนไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้[125][126] ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ได้ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งชดเชย ในเขตที่เลือกตั้งไม่ได้[127] อนึ่ง มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ส่งผู้สมัคร โดยอ้างว่าการเมืองล้มเหลว[128]

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อย่างไม่เป็นทางการ คิดเป็นร้อยละ 45.84[129]

การยึดพื้นที่คืน

ไฟล์:ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ผ่านฟ้า.jpg
การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลาเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการขอพื้นที่ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศคืน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ และเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางตอบโต้ผู้ชุมนุม จากนั้นมีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง และมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ยิงลูกระเบิดชนิด เอ็ม-79 เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย[130] ต่อมาในช่วงบ่าย ผู้บังคับบัญชา สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ถอนกำลังออกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย ส่วนแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม ยังคงตรึงพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศอยู่ต่อไป[131]

การยกเลิกปิดกรุงเทพมหานครและเหตุการณ์ต่อเนื่อง

เย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 สุเทพประกาศว่าจะยุบสถานที่ชุมนุมที่แยกปทุมวัน ราชประสงค์ สีลมและอโศกในวันที่ 2 มีนาคม 2557 และขอโทษแก่ประชาชนผู้ไม่ได้รับความสะดวกจากการยึดกรุงเทพมหานคร กปปส. ย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสวนลุมพินี นับเป็นจุดสิ้นสุดของ "การปิดกรุงเทพมหานคร" และอีกหนึ่งเวทีชุมนุมที่ยังเหลืออยู่ คือ ที่แจ้งวัฒนะ ที่มีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (หลวงปู่พุทธะอิสระ) เป็นแกนนำ ซึ่งประกาศว่าจะไม่รื้อหรือย้ายเวทีไปไหนหลังจากการประกาศของสุเทพ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป ความมุ่งหมายหลักของขบวนการประท้วงจะเป็นการคว่ำบาตรและขัดขวางปฏิบัติการของผลประโยชน์ทางธุรกิจของตระกูลชินวัตร[132]

วันที่ 15 มีนาคม 2557 มีการแต่งตั้งจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นประธาน นปช. คนใหม่แทนธิดา ถาวรเศรษฐ และแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเลขาธิการ บนเวทีชุมนุมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[133][134] ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปรับท่าทีเชิงรุกของคนเสื้อแดง[135][136]

การเลือกตั้งชดเชย

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 มีการจัดประชุมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสมชัย กรรมการการเลือกตั้ง ภายหลังอธิบายว่า หากจะมีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถลงสมัครได้ จำเป็นต้องมีพระราชกฤษฎีกาเป็นลายลักษณ์จากรัฐบาล ที่ประชุมตัดสินอย่างเป็นเอกฉะน์ว่าจำต้องแสวงพระราชกฤษฎีกาจากรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้งเชื่อว่าสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในพื้นที่ห้าจังหวัด ระยอง ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและเพชรบุรีได้ไม่ยาก ศุภชัย สมเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 4–8 มีนาคม การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23 มีนาคม และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 30 มีนาคม[137]

คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเปิดโอกาสแก่พลเมืองที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาล การเลือกตั้งล่วงหน้าจะจัดในวันที่ 20 เมษยน และกำหนดให้วันที่ 27 เมษายนเป็นวันเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กปปส. ไม่เห็นชอบกับวันเลือกตั้งใหม่[138]

ตามวอลสตรีตเจอร์นัล วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวนผู้ประท้วงลดลงเหลือประมาณ 5,000 คน ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เสนอว่าหลังการเลือกตั้งรอบถัดไป รัฐบาลจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใน 18 เดือนเพื่อเปิดกระบวนการเลือกตั้งแบบใหม่ ถ้อยแถลงของร้อยตำรวจเอก เฉลิมมีขึ้นหลังยิ่งลักษณ์โพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊กของเธอซึ่งชี้การเปิดให้นายหน้าบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยระงับความขัดแย้งทางการเมือง[139]

การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เดิมผู้ตรวจการแผ่นดินต้องการให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกเพิกถอน หลังจากกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์วิชากฎหมายสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรยกเลิกการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น ไม่อาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแทน โดยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557[140][141]

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงหกต่อสามว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเลือกตั้งไม่สามารถแล้วเสร็จทั่วประเทศภายในวันดังกล่าวได้ พระราชกฤษฎีกาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ที่กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย[142][143][144]

มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างหนักทั้งจากภาควิชาการและพรรคเพื่อไทย อาทิ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์วิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎร และพระราชกฤษฎีกาก็กำหนดวันเลือกตั้งตามเงื่อนไขดังกล่าว พระราชกฤษฎีกาจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[141] พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเสริมว่า กฎหมายจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะมีบุคคลใดมาทำให้ไม่เกิดผลตามรัฐธรรมนูญ[145] คณิน บุญสุวรรณ อาจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลไร้เหตุผล เพราะพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง[141][146] ส่วนวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะเพราะไม่เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่ศาลไม่พิจารณาว่า เหตุใดจึงไม่สามารถเสร็จสิ้นได้[147]

กานต์ ยืนยง นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า องค์กรอิสระต้องการถอดถอนยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อสร้างช่องว่างแห่งอำนาจ โดยอ้างว่า ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แล้วจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ[144] สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับคำวินิจฉัย แต่สลดใจมาก[148] ขณะที่สดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการแช่แข็งประเทศ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้มากเพื่อ "นำประชาธิปไตยกลับคืนมา"[149]

พรรคเพื่อไทยแสดงความเสียใจต่อคำวินิจฉัย และกล่าวว่า ประเทศได้สูญเสียโอกาสที่จะก้าวเดินต่อไป และศาลได้สร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องเพื่อเปิดให้ล้มการเลือกตั้งทั้งหมดได้ด้วยการสร้างความปั่นป่วนที่หน่วยเลือกตั้งเพียงบางแห่งเท่านั้น[144][150] ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า "เป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปหากใครอยากล้มการเลือกตั้ง ให้หาคนออกมาประท้วงปิดถนนล้อมหน่วยเลือกตั้งไม่ให้มีการสมัครสัก 28 เขต แค่นี้การเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ"[151]

วันที่ 21 มีนาคม 2557 นั้นเอง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งใช้คำขวัญว่า "โปรดเคารพอนาคตของเรา" (Respect My Future) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ประชาธิปไตยได้ตายลงแล้ว[152] ส่วนประชาชนอีกกลุ่มจัดกิจกรรมชื่อ "เคารพเสียงของเรา" (Respect My Vote) ที่หน้าบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่ทำการเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการลาออกเพราะ "ทำลายคุณค่าของเสียงประชาชน"[153] ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคเพื่อไทยแต่งดำเป็นเวลาหกวัน เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ตุลาการหกคนที่ลงมติล้มการเลือกตั้ง[154] และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ร่วมแต่งดำด้วย[155]

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีคำวินิจฉัย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ได้เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับการปรึกษาพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรีและกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเสนอว่าไม่ควรจะเร่งรีบเพราะอาจจะนำไปสู่การโมฆะอีกครั้ง[156]

ทาง กปปส. โดยเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ได้แถลงในวันเดียวกันหลังจากมีคำวินิจฉัยว่า กปปส. ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นว่ารัฐบาลดื้อดึงที่จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่อย่างไรก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส่วนสุเทพนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ ต่อคำวินิจฉัย [157]

อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยินดีกับคำวินิจฉัยนี้[158] และยืนยันว่า จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งต่อไป ๆ อีกจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาประชาชน[32][33]

คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง

วันที่ 30 กันยายน 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปเป็นเลขาธิการฯ แทนถวิล ต่อมาพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พันตำรวจโท ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถวิลร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการย้ายนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมว่า การย้ายนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ดุลยพินิจของการย้ายนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร เพราะไม่ปรากฏว่าถวิลปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือผิดพลาดหรือไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาล ศาลสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิลกลับตำแหน่งเดิมภายในสี่สิบห้าวัน[159] สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศการย้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 30 กันยายน 2554[160]

ต่อมา ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าการย้ายถวิลเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงกิจการปกติของรัฐบาล เอื้อประโยชน์ต่อสกุลชินวัตรหรือพรรคเพื่อไทย รัฐธรรมนูญห้ามมิให้ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือรัฐมนตรี แทรกแซงกับกิจการปกติของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือพรรคการเมือง รวมทั้งการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง ลดตำแหน่งข้าราชการ หรือให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง[161]

วันที่ 3 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญตกลงรับวินิจฉัยคดี และสั่งให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงภายในสิบห้าวัน[161] มีการไต่สวนนัดสุดท้ายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557[162] และมีคำวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้นทันทีคือ 7 พฤษภาคม 2557 ซึ่งชี้ว่านายกรัฐมนตรียังสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เพราะความเป็นรัฐมนตรียังคงมีอยู่ จนกว่ามีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ศาลวินิจฉัยว่าการย้ายถวิล เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี โดยว่า "พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ เป็นลุงของหลานอาของผู้ถูกร้อง ย่อมถือว่าเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพรางหรือแอบแฝง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)[163]"

ศาลมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ศาลยังถอดถอนรัฐมนตรีอื่นอีกเก้าคน ที่ลงมติเห็นชอบการย้ายนี้[164][165] ซึ่งได้แก่ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น, ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น, พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น, ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และพลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น[166]

มีการจัดการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดรอบบริเวณศาล ระหว่างคำแถลงคำวินิจฉัยที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ และตุลาการออกจากศาลทันทีหลังคำแถลง[167] และมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 13 พฤษภาคม 2557[167] โดยศาลดูเหมือนกลับบรรทัดฐานของตนเอง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลยกฟ้องคำร้องคล้ายกันต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอ้างเหตุผลว่า เขาออกจากตำแหน่งเมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎร[168][169] นิวยอร์กไทมส์ยังแสดงความเห็นว่า ศาลบรรลุคำวินิจฉัยด้วย "ความเร็วผิดปกติ" เพราะมีคำวินิจฉัยเพียงหนึ่งวันหลังจากยิ่งลักษณ์ให้การต่อศาล[168] ด้านเดอะวอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า มูลเหตุการถอดถอนยิ่งลักษณ์นั้น "ค่อนข้างคลุมเครือ"[170]

หลังฟังคำวินิจฉัย ยิ่งลักษณ์ออกมาแถลงการณ์ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[170] รัฐมนตรีที่เหลือเลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี[171] ประธาน นปช.อธิบายคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าเป็น "รัฐประหารโดยตุลาการ" และว่าพวกตนจะยังคงนัดหมายชุมนุม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ตามกำหนดเดิม[170]

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลหลังถอดถอนนายกรัฐมนตรี

สุเทพเปิดฉากการประท้วงที่เรียกว่า "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" ด้วยการคุกคามสื่อมวลชน ตั้งแต่หลังเวลา 09.00 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคมเล็กน้อย แกนนำระดับรองนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปประท้วงยังที่ทำการของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อกในส่วนกลาง ได้แก่ ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี และเอ็นบีที แล้วค้างคืนที่นั่นเพื่อให้แน่ใจว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่รายงานข่าวเบี่ยงเบนไปจากที่ กปปส.เห็นชอบ สุเทพอ้างว่า สื่อเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และต้องโน้มน้าวไม่ให้รายงานโฆษณาชวนเชื่อนิยมรัฐบาลอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นการบิดเบือนความจริง และเสริมว่า สุเทพตั้งใจขอความร่วมมือจากช่องโทรทัศน์เหล่านี้ให้แพร่ภาพคำแถลงของตนเมื่อได้ "ชัยชนะ" แล้ว ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ว่า ผู้ชุมนุมกำลังคุกคามสิทธิพื้นฐานของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลโดยปราศจากการแทรกแซง การรณรงค์คุกคามนี้ยังเคยเกิดขึ้นช่วงรณรงค์ปิดกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ด้วย[172] [173][174] [175]

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมอันมีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโมเป็นผู้นำ เดินขบวนไปยังสโมสรตำรวจ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยเกิดความรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ ผู้ประท้วงรื้อรั้วลวดหนาม และเรียกร้องให้ ศอ.รส. ส่งผู้แทนมาเจรจากับพวกตนภายใน 5 นาที หลังเวลาผ่านไปตามคำขาด ผู้ประท้วงก็บุกรุกเข้าไป ทำให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่จนผู้ประท้วงถอย ทำให้มีผู้ชุมนุม 4 คนบาดเจ็บ รวมทั้งพระสุวิทย์ ซึ่งปรากฏข่าวว่าอาพาธ ในวันที่ 10 พฤษภาคม[176]

รัฐประหาร

ไฟล์:Prayuth-Chan-ocha-in-Thai coup d'état-2014-05-22.png
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกในรูปของประกาศกองทัพบก ตั้งแต่เวลา 03:00 นาฬิกา ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หลังประกาศกฎอัยการศึกแล้ว พลเอก ประยุทธ์ สั่งยุบ ศอ.รส. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลรักษาการ แล้วตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยเป็นผู้บังคับบัญชาเอง กอ.รส. มีหน้าที่ "เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว" และได้รับอำนาจให้ "ป้องกันระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ ในทุกท้องที่ของประเทศ" และสามารถเชิญตัวบุคคลมารายงานตัวได้ พลเอก ประยุทธ์ยังสั่งให้กำลังพลตำรวจ กองทัพเรือ กองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหมอยู่ในบังคับของ กอ.รส.[177]

ในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ทุกแห่ง[178] และมีการปิดกั้นถนนสายหลัก[179] เจ้าหน้าที่ยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากผู้ประท้วง กปปส.[180] และยังยึดสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและบางส่วนของประเทศ[181][182] ก่อนปิดบางสถานี รวมทั้งสถานีของ กปปส. และ นปช.[183] ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์สั่งให้สื่อทั้งหมดแทนที่รายการปกติด้ยวรายการของ กอ.รส. ทุกเมื่อตามที่เขาต้องการ[184] และกำหนดการห้ามเผยแพร่สารสนเทศที่อาจกระทบภารกิจของทหาร[185] เขายังสั่งให้หัวหน้าส่วนราชการทุกคนรายงานต่อเขา[186]

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์[187]

รัฐบาลรักษาการแถลงว่า ไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของกองทัพ ทว่า กองทัพแถลงว่าท่าทีดังกล่าวมิใช่รัฐประหาร[188]

ทว่า ในเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ ประกาศผ่านการประกาศทางโทรทัศน์ว่า กองทัพควบคุมประเทศแล้ว[189] เป็นรัฐประหารต่อรัฐบาลรักษาการอย่างเป็นทางการ และมีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองขึ้น หลังรัฐประหารเมื่อเวลา 16:30 น. ผู้ประท้วง กปปส. แสดงความยินดีต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ และรอท่าของแกนนำ แต่ระหว่างที่รอนั้นก็มีประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอนตัวออกจากสถานที่ดังกล่าว จนในที่สุดทั้งกลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. ก็ถอนตัวออกจากพื้นที่ตามคำสั่ง[190]

คสช.จับสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมือง หลังเชิญตัวมายังสโมสรทหารบกที่ถนนวิภาวดีรังสิตแล้วถูกนำตัวไปกักขังที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์[191] ภายหลัง คสช.สั่งห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[192] ทั้งประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง

ปฏิกิริยา

รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้รับผิดชอบ ในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ตามประกาศลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556[193] ออกคำสั่งที่ 404/2556 ลงวันเดียวกัน เพื่อให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. มีภารกิจในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ[194] ต่อมา มีการออกประกาศอีกสองฉบับ เพื่อขยายกำหนดผลบังคับใช้ และขยายเขตพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ฯ ลงวันที่ 18 ตุลาคม[195], วันที่ 25 พฤศจิกายน[196] และวันที่ 25 ธันวาคม[197] รวมถึงออกคำสั่ง กอ.รมน.อีกสองฉบับ เพื่อกำหนดให้ ศอ.รส.ยังคงเป็นศูนย์อำนวยการฯ ต่อไป ลงวันที่ 18 ตุลาคม[198][199], วันที่ 26 พฤศจิกายน[200] วันที่ 26 ธันวาคม[201]

ทั้งนี้ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน มีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ประกาศตนเป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. ก่อนที่ต่อมา เมื่อเวลา 11:30 น. วันที่ 2 ธันวาคม พลตำรวจเอก ประชา กับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าว ใจความสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. เพื่อเป็นผู้ทำความเข้าใจ กับนานาประเทศให้รับทราบ และเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง ตนจึงขอมอบหน้าที่กำกับดูแลงาน ศอ.รส.ให้แก่สุรพงษ์ เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[202]

ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลบังคับใช้ ระหว่างวันที่ 22 มกราคม ถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่มีแนวโน้ม จะรุนแรงยิ่งขึ้นต่อจากนี้ เนื่องจากยังคงมีกลุ่มบุคคล ที่ก่อความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน คำสั่งและหมายของศาล ยุยงให้ประชาชนบุกรุก และยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ตัดน้ำประปาและไฟฟ้า ปิดระบบฐานข้อมูล พยายามจะเข้าควบคุมตัวผู้บริหาร หรือบุคคลสำคัญซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนใช้กำลังขัดขวางการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งกำลังจะจัดให้มีขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 อันกระทบต่ออำนาจอธิปไตย และสิทธิของปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่ม ก่อเหตุร้ายต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหาย และไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน ในสถานการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลยุยงประชาชน ให้ละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้นอย่างยืดเยื้อ เพื่อก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัย ต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สงบ และมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย[46]

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งหน่วยงาน กำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. และมีกรรมการประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[203] ซึ่งแตกต่างจากอดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ตั้งชื่อหน่วยงานกำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 นั้นว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[204]

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการชุมนุม

นกภป.

พลอากาศเอก กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ, นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ พันโท กมล ประจวบเหมาะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงข่าว ถึงสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมทั้งประกาศจัดตั้ง กลุ่มนายทหารตำรวจนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นกภป.) โดยมี พลอากาศเอก กันต์ เป็นประธาน[205]

พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

ตามที่ปรากฏเป็นข่าว พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นอนุวงศ์พระองค์หนึ่ง ที่สนับสนุน กปปส.และการชุมนุม อย่างเปิดเผย[206][207][208]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโพสต์พระฉายาลักษณ์ซึ่งทรงถักเปียด้วยโบสีธงชาติไทยลงในอินสตาแกรม จึงมีผู้ตีความอย่างกว้างขวางว่า เป็นการสนับสนุนการชุมนุม แม้พระองค์จะมิได้ออกพระโอษฐ์ถึงเรื่องดังกล่าว[209] หนังสือพิมพ์ ดิอินดิเพนเดนต์ (The Independent) รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองไทยผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อว่า การแสดงออกของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็น การประกาศสงคราม และเป็นสัญลักษณ์ว่า พระราชวงศ์ไทยสนับสนุนขบวนการต่อต้านนี้อย่างเต็มที่[209] ขณะที่แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ (Andrew MacGregor Marshall) นักวารสารศาสตร์เชิงการเมืองชาวสกอตกล่าวว่า "อภิชนหัวเก่าไม่เคยสนใจประชาธิปไตยอยู่แล้ว พวกเขาเพียงต้องการมั่นใจว่า เมื่อกษัตริย์สวรรคต พวกเขาจะสามารถควบคุมสภานิติบัญญัติไว้ได้"[209]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ, รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล, อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และกลุ่มนักวิชาการ จำนวนกว่า 150 คน ร่วมกันก่อตั้ง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) โดยมีจุดยืนร่วมกันในเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ย­วข้องกับการเมือง และมีข้อเสนอหลัก 3 ข้อดังต่อไปนี้[210]

  1. การก่อตั้งสภาประชาชน ด้วยการอ้างอิงมาตรา 3 ถือว่า ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ไม่สามารถทำได้
  2. ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังยุบสภา ตามมาตรา 7 เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
  3. เสนอการร่วมออกแบบการทำประชามติ ในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม

กลุ่มคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.

ในเครือข่ายสังคม มีการตั้งกลุ่ม "คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส." ในเว็บไซต์ change.org เพื่อรณรงค์ให้สุเทพ ยุติการชุมนุม และเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[211]

พอกันที !ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2557 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จัดโดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที!ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ภายในงานมีกิจกรรมเขียนโพสต์อิต แสดงความในใจ ต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีเวทีเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัย คนละ 5 นาที ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมให้หลายคนให้ความสนใจ จากนั้นมีการแจกเทียนให้ผู้ชุมนุมคนละ 1 เล่ม และร่วมกันแปรอักษรภาพมนุษย์ เป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพ และจุดเทียน พร้อมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ หยุดการณ์ชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง และตะโกนคำว่า พอกันที เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง อยู่นานหลายนาที ก่อนจะแยกย้ายกันจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากที่เห็นภาพภรรยาของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และเห็นการ์ด กปปส.ที่เสียชีวิตในวันต่อมา รู้สึกอัดอั้นตันใจอยู่คนเดียว จึงตั้งแฟนเพจดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอีก โดยเรียกร้องให้มีการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้มีใครแกนนำ ไม่คิดจะยกระดับการชุมนุม โดยเชื่อว่าผู้มาร่วมชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ จะพัฒนาไปเองตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วม ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นทุกวันศุกร์ โดยครั้งแรกคือ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[212]

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

  •  สหรัฐ - แมรี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ขอเรียกร้องทุกฝ่าย งดเว้นความรุนแรง อดทนอดกลั้น และเคารพหลักนิติรัฐ ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ก็แสดงความชื่นชมรัฐบาลที่แสดงความอดกลั้นมาโดยตลอด โดยขณะนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่การทูต กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ประชาธิปไตย และหาทางออกทางการเมือง[214]
  • สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น - ศาสตราจารย์ ดันแคน แมกคาร์โก (Duncan McCargo) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาการเมืองไทยอย่างยาวนาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ โกลบอลสแควร์ (Global Square) วิเคราะห์ถึงผู้ชุมนุมฝ่ายสุเทพ ที่เริ่มรวมตัวกันปิดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากต้องการสถาปนาพวกตนซึ่งเป็นอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ ในเมืองหลวง และเคยเป็นชนชั้นปกครองมากว่า 30 ปี กลับคืนสู่อำนาจ ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า การปฏิรูปประเทศ และกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปในระหว่างปฏิรูป ทั้งพยายามยุแยงให้ฝ่ายทหารปฏิวัติด้วย[215]

การสำรวจความคิดเห็นประชาชน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,975 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม ในหัวข้อ “คนกรุงฯ กับการเข้าร่วม ปิดกรุงเทพฯ” โดยมีข้อคำถามต่าง ๆ ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วม กับการชุมนุมกลุ่ม กปปส. คปท. และ กปท. ของคนกรุงเทพมหานคร พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 71.04 ส่วนอีกร้อยละ 28.96 เคยเข้าร่วม; สำหรับการมีส่วนร่วม ชุมนุมปิดกรุงเทพฯ กับกลุ่ม กปปส. ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 80.10 ส่วนอีกร้อยละ 19.90 ไปเข้าร่วมด้วย[216]

ผลกระทบ

ด้านเศรษฐกิจ

วันที่ 23 ธันวาคม 2556 ค่าเงินบาทไทยลดลงต่ำสุดในรอบสามปีเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง[217][218] ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก ค่าเงินของไทยลดลงร้อยละ 4.6 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักร่วงลงเช่นกัน (ร้อยละ 9.1)[219]

ในด้านการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศรายงานว่ารายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 125 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2555 สมาคมพันธมิตรท่องเที่ยวไทย-จีนทำนายว่า สำหรับไตรมาสแรกของปี 2557 จำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศคาดว่าจะลดลงร้อยละ 60 จาก 900,000 คนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556[220] ซึ่งปีนั้น ชาวจีนเป็นชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด[221]

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2557 วันที่สองของการ "ปิดกรุงเทพฯ" ว่า ธนาคารสาขาต่าง ๆ 135 แห่งได้รับผลกระทบ ธนาคารกล่าวว่า 36 สาขาประกาศปิดเต็มวัน ขณะที่ 99 แห่งประกาศปิดก่อนเวลาทำการปกติ[222]

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการคลังของไทย บลูมเบิร์ก แอล.พี. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงิน 3,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เกือบ 100,000 ล้านบาท) จากตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มการประทว้งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยกำลังได้ประโยชน์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามเงินประมาณ 6,300 ล้านบาทว่าย้ายไปลงทุนในหลักทรัพย์อินโดนีเซียแทน[223][224] วันที่ 23 มกราคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ แถลงว่าจำนวนผู้เดินทางมาประเทศไทยจะลดลงเหลือหนึ่งล้านคนในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรนักท่องเที่ยวปกติของเดือนมกราคม ผู้แทนจากบาร์เคลย์ บริษัทบริการธนาคารและการเงินข้ามชาติของสหราชอาณาจักร กล่าวย้ำประวัติของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและอธิบายต่อว่า "มันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น สิ่งที่กำลังเสียหายคือ การรับรู้ การลงทุนและการท่องเที่ยว ขณะนี้ทั้งหมดสามารถย้อนกลับคืนได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเสียหายบางอย่างจะกลายเป็นถาวร"[223][224]

ตามรายงานสื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ หนึ่งในศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ปริมาณลูกค้าลดลงร้อยละ 20 จากปี 2556 วันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยลดการพยากรณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2557 ลงจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3[225]

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ระบุว่า จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 นับเป็นระดับการเติบโตต่ำสุดของประเทศนับแต่ไตรมาสแรกของปี 2555 ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงว่าค่าเงินบาทอ่อนลงร้อยละ 4 นับแต่เริ่มชุมนุม โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงว่า นโยบายการเงินในวันที่ 17 กุมภาพันธ์เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประเทศแล้ว[226]

ด้านคมนาคม

ไฟล์:People in BTS Asoke 13 January 2014.jpg
ประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

กระทรวงคมนาคมประเมินจากการที่กลุ่มกปปส.ชุมนุมปิดถนน 7 จุด ว่า วันที่ 13 มกราคมประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะลดลงกว่าปกติ โดยทางรถประจำทาง ลดลงร้อยละ 30 ซึ่งสอดคล้องกับผู้ที่ให้บริการรถโดยสารบางส่วน ยอมรับว่ารายได้หายไปกว่าครึ่ง ผู้ใช้บริการสามล้อรับจ้าง หรือ ตุ๊กตุ๊กย่านสะพานควาย คนหนึ่ง กล่าวถึงการเดินทางของประชาชนวันนี้ว่า ส่วนใหญ่จะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประเภท รถไฟฟ้า หรือ รถเมล์ เนื่องจากมีถนนหลายสายที่ไม่สามารถสัญจรได้ ทำให้ไม่ค่อยมีผู้โดยสารมาใช้บริการ เช่นเดียวกับแม่ค้ารายหนึ่งที่ยอมรับว่า มีปัญหาด้านการเดินทางเข้าพื้นที่ย่านอนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นอีกร้านที่เปิดขายอยู่ทุกวันแต่วันนี้ ไม่สามารถขนของเข้าพื้นที่ได้ จึงเปิดขายได้เพียงร้านเดียว

ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ตามเส้นทางต่าง ๆ ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนในภาพรวมลดน้อยลงและมีผลกระทบทั้งการเดินทางในระบบรถส่วนบุคคล และการเดินทางในระบบรถโดยสารสาธารณะภายใต้โครงข่ายของขสมก. ปรับเปลี่ยนเส้นทางหลายจุดโดยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯกระทบการเดินรถของรถโดยสารสาธารณะ 90 สายนอกจากนี้ยังกระทบต่อการเดินทางของประชาชนด้วยระบบขนส่งสาธารณะลดลงกว่าปกติ โดยทางรถประจำทางปกติ 3.1 ล้าน เหลือ 2 ล้านคน ลดลงร้อยละ 30 ดอนเมืองโทล์เวย์ปกติ 80,000 เที่ยว เหลือ 51,000 เที่ยว ลดลงร้อยละ 46 มีเพียงเรือคลองแสนแสบที่เพิ่มขึ้นจากปกติ 47,000 คน เป็น 60,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 เรือด่วนเจ้าพระยาปกติ 35,000 เที่ยว เป็น 50,000 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 40แอร์พอร์ตลิงก์ปกติ 40,000 เที่ยว เป็น 48,000 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 บีทีเอส 700,000 เที่ยว ใกล้เคียงปกติ[227]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "Protests as Thailand senators debate amnesty bill". The Guardian. 11 November 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  2. 2.0 2.1 "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments". BBC News. 20 November 2013. สืบค้นเมื่อ 12 January 2014.
  3. "Thailand: Seven hurt as gunmen fire on Bangkok protest". BBC News. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  4. "Protesters move in early for Bangkok shutdown". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  5. 5.0 5.1 สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่การปะทะจากเหตุชุมนุม, ศูนย์เอราวัณ, 26 พฤษภาคม 2557.
  6. "Clashes and casualties". The Nation. 16 January 2014. สืบค้นเมื่อ 16 January 2014.
  7. ธาริตยันจับจริง สนธิญาณ แกนนำ กปปส. เล็งขอศาสควบคุมตัวต่อ, mthai news, 12 กุมภาพันธ์ 2557
  8. Ungpakorn, Giles. "The 19th August Constitutional Referendum Process is Undemocratic". Prachatai English. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  9. "ศาล รธน. รับคำร้องวิรัตน์วินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญ" (ภาษาThai). Manager. 2013-11-08. สืบค้นเมื่อ 2014-02-05. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  10. เพื่อไทยยันขอถวายคืนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ - เดลินิวส์
  11. http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20131208/548429/นายกฯขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างรธน..html
  12. Wongruang, Piyaporn; Thip-Osod, Manop (1 December 2013). "One killed as 'V-Day' eve violence erupts". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  13. "Updated toll: 4 dead, 57 wounded". Bangkok Post. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  14. "119 injured in Monday's clashes". Bangkok Post. 3 December 2013. สืบค้นเมื่อ 3 December 2013.
  15. "Academics brand people's council 'fascism'". The Bangkok Post. 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  16. 16.0 16.1 "Thailand's anti-democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S." The Washington Post. 15 January 2014. สืบค้นเมื่อ 22 January 2014. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Anti-democracy" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  17. "Protest leader Suthep declares Bangkok seizure after New Year". ASEAN Affairs. TIME International Management Enterprises Co., Ltd. 28 December 2013. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
  18. "Bangkok Shutdown starts early". Bangkok Post. 13 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
  19. "Thai 'red-shirt' leader shot as emergency rule begins". BBC News. 22 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
  20. "First casualty: Shots fired, man down". Bangkok Post. 13 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
  21. More bombings and gunfire rock anti-government protests"]. Thai PBS. 17 January 2014. Retrieved 19 January 2014.
  22. "Another daylight blast wounds 28 ralliers". Bangkok Post. 20 January 2014. Retrieved 20 January 2014.
  23. "Thailand declares Bangkok state of emergency". Al Jazeera. 21 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
  24. "EC cancels many polling units". Bangkok Post. 26 January 2014. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
  25. "Yingluck commits to Feb 2 election". Bangkok Post. 28 January 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
  26. Indo Asian News Service (5 February 2014). "46.79 percent turnout in Thailand election". Yahoo! News. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
  27. "ศาลอนุมัติหมายจับ 19 แกนนำ กปปส.ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขีดเส้นรายงานตัวภายใน 48 ชม" (ภาษาThai). Manager. 2014-02-05. สืบค้นเมื่อ 2014-02-05. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  28. 'สุเทพ'ประกาศยกเลิกชัตดาวน์กทม., คม ชัด ลึก, 25 มีนาคม 2557
  29. ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน, โพสต์ทูเดย์, 18 มีนาคม 2557
  30. "Breaking News: เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ โมฆะ มติศาล รธน. 6 ต่อ 3" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  31. "Constitutional Court nullifies Feb 2 election". The Nation. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  32. 32.0 32.1 "กปปส. ลั่นทำให้การ ลต. ครั้งใหม่เป็นโมฆะเหมือน 2 ก.พ." (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  33. 33.0 33.1 "Thai court rules general election invalid". BBC. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  34. ศาลอาญา เพิกถอนหมายจับ "สุเทพ-18 แกนนำ กปปส.", เนชั่นแชลแนล, 3 เมษายน 2557
  35. 35.0 35.1 ด่วน!! ศาลรธน. วินิจฉัย "ยิ่งลักษณ์" พ้นสถานภาพนายกฯ, สปริงนิวส์, 7 พฤษภาคม 2557
  36. 'ประยุทธ์' ประกาศกฎอัยการศึก มีผลตี 3 ทหารพรึบสถานีโทรทัศน์ ไทยรัฐ
  37. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ npkc
  38. http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5611250020051 นายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ดูแลการชุมนุม], ข่าวสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 25 พฤศจิกายน 2556.
  39. สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ปะทะของกลุ่มชน บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 : ข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เวลา 18:00 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  40. สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยแก๊สน้ำตา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 : ข้อมูลวันที่ 3 ธันวาคม 2556 เวลา 19:00 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  41. สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ปะทะของกลุ่มชน บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 : ข้อมูลวันที่ 6 ธันวาคม 2556 เวลา 08:00 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  42. สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ปะทะของกลุ่มชน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 : ข้อมูลวันที่ 6 ธันวาคม 2556 เวลา 20:00 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  43. ‘อดุลย์′ชี้ระเบิดลูกเกลี้ยงบึ้มบรรทัดทอง ‘จรัมพร′สันนิษฐานของรัสเซีย-จีน รัศมี 15 ม., ข่าวมติชนออนไลน์, 17 มกราคม 2557.
  44. สรุปจำนวนผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ขว้าง วัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิด บริเวณถนนบรรทัดทอง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 : ข้อมูลวันที่ 20 มกราคม 2557 เวลา 12:00 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  45. สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ระเบิด บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2557 : ข้อมูลวันที่ 19 มกราคม 2557 เวลา 22:45 น., ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
  46. 46.0 46.1 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 13 ง, 21 มกราคม 2557, หน้า 1-2.
  47. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000009273
  48. ป่วนกาล่วงหน้า-ซัลโวดับแกนนำ กปท., ไทยรัฐออนไลน์, 27 มกราคม 2557.
  49. ไม่เลื่อนเลือกตั้ง! รบ.ถก กกต.เคาะเดินหน้า 2 ก.พ.ไม่ให้เจ็บ-ตาย ′ศุภชัย′ ยันไม่ลาออก บอกรู้ท่าทีอยู่แล้ว, ข่าวมติชนออนไลน์, 28 มกราคม 2557.
  50. ปะทะที่แยกหลักสี่เจ็บแล้ว6ราย, เดลินิวส์, 1 กุมภาพันธ์ 2557.
  51. กลุ่มกปปส.ปิดเขตดินแดง ชาวบ้านไม่พอใจโดนม็อบปาหินใส่, ข่าวสด, 6 กุมภาพันธ์ 2557.
  52. ด่วน! ศาลอนุมัติหมายจับ 19 แกนนำ กปปส.ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ผู้จัดการออนไลน์, 5 กุมภาพันธ์ 2557.
  53. ยิง M79 เวที กปปส.แจ้งวัฒนะ บาดเจ็บ 2 , TNN24, 9 กุมภาพันธ์ 2557.
  54. สุเทพเปิดเงินช่วยชาวนาได้ 24ล้านแล้ว, ไทยรัฐออนไลน์, 11 กุมภาพันธ์ 2557.
  55. 'สุเทพ'ขนพล!เดินหาทุนช่วย'ชาวนา', คมชัดลึกออนไลน์, 10 กุมภาพันธ์ 2557.
  56. ตร.รุกยึดพื้นที่ทำเนียบ นกเขานกรู้-ชิ่ง, ข่าวสดออนไลน์, 15 กุมภาพันธ์ 2557.
  57. รองผบ.ตร.ตรวจศาลอาญา ดูจุดถูกยิงM79, เนชั่นออนไลน์, 17 กุมภาพันธ์ 2557.
  58. 17ก.พ.'สุเทพ'นำมวลชนปิดล้อมทำเนียบฯ, คม ชัด ลึก, 22 กุมภาพันธ์ 2557
  59. สธ.เผยบาดเจ็บเหตุปะทะรวม 71 ราย เป็น ตร.19 พลเรือน 52 ดับ 5, ข่าวมติชนออนไลน์, 19 กุมภาพันธ์ 2557.
  60. ปาระเบิด-กราดยิง! เวทีกปปส.ตราด ตาย 3, เนชั่นแชนแนล, 23 กุมภาพันธ์ 2557.
  61. สลด! 'น้องเค้ก'เหยื่ออำมหิตบึมราชประสงค์ สิ้นใจแล้ว, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 24 กุมภาพันธ์ 2557.
  62. เพื่อไทยเย้ย กปปส.ย้ายไปสวนลุมฯ
  63. มือมืดถล่ม M79 ใส่เวที กปปส.สวนลุมฯ เจ็บ 5 ราย, ข่าวสปริงนิวส์, 7 มีนาคม 2557.
  64. ยิงระเบิดเวทีสวนลุมฯ เจ็บ 3 สาหัส 1 ราย, เนชั่นแชนแนล, 11 มีนาคม 2557.
  65. ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยปมเลือกตั้งโมฆะ, เนชั่นแชนแนล, 12 มีนาคม 2557.
  66. ศาลแพ่ง สั่งคุ้มครองชั่วคราว "สาธิต เซกัล", เนชั่นแชนแนล, 14 มีนาคม 2557.
  67. Mongkol Bangprapa; Manop Thip Osod; Aekarach Sattaburuth (9 August 2013). "Amnesty bill cruises first reading". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  68. Thitinan Pongsudhirak (9 August 2013). "Street rallies yield to parliamentary process". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  69. Mongkol Bangprapa (18 October 2013). "Amnesty bill revision slammed". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
  70. วุฒิสภามีมติคว่ำร่างนิรโทษกรรม - โพสต์ทูเดย์ ข่าวการเมือง
  71. Thomas Fuller (2013-11-20). "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
  72. "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments". BBC. 2013-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
  73. Warangkana Chomchuen (2013-11-20). "Thai Court Rules Against Constitution Amendment". Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
  74. "Constitutional Court says charter amendments unconstitutional". The Nation. 2013-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
  75. Nantawat Boramanand (2013-12-15). "บ้านเมืองที่ไร้กติกา" (ภาษาThai). Pub-Law. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  76. "ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการป.ป.ช. และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โต้แย้ง" (ภาษาThai). Khaosod. 2013-12-23. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  77. Phinphaka Ngamsom and Bandit Ueawatthananukun (2014-01-09). "วรเจตน์ ภาคีรัตน์: วินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ความน่าเอือมระอาของศาลรัฐธรรมนูญ" (ภาษาThai). Prachatai. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  78. "'เอกชัย' ยัน ศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้ รธน" (ภาษาThai). Bangkok Biz. 2013-11-21. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  79. "312 MPs, senators reject Constitution Court's decision before it's made". Bangkok Post. 19 November 2013. สืบค้นเมื่อ 12 January 2014.
  80. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1385372510&grpid=00&catid=01&subcatid=0100
  81. "นายกฯ ขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างแก้ไขรธนที่มา สว. แล้ว" (ภาษาThai). ThaiPBS. 8 December 2013. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  82. "Thai anti-graft panel to charge hundreds of MPs". Channel NewsAsia. 7 January 2014. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
  83. "Where is Thailand heading after protests". BBC News. 7 March 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014. There is one other crucial element in this bitter conflict, the issue of the royal succession.
  84. "No deal behind Thailand's polls". Asia Times Online. 30 January 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014. The royal establishment's broader unspoken agenda is to ensure that a Thaksin-steered government and legislature is not in power at the time of the royal succession.
  85. “เทือก” ยึดราชดำเนิน!!! ตั้งเวทีแทนสามเสน ขู่รัฐไม่เลิกยกระดับต่อสู้อีก
  86. 'สุเทพ'งัด4มาตรการอารยะขัดขืนสู้รัฐบาล
  87. 'สุเทพ' นำทีม '8 ส.ส.ปชป.' ไหว้แม่พระธรณี-ร.7 ก่อนยื่นใบลาออก กร้าว! ยกระดับการชุมนุมอีกแน่ ไม่หวั่นถูกจับ
  88. สุเทพยกระดับโค่นระบอบทักษิณแล้ว
  89. 89.0 89.1 89.2 89.3 เปิดเบื้องหลังเหตุจลาจล"ม.รามฯ" จากคำบอกเล่านักศึกษาร่วมกิจกรรมต้านพ.ร.บ.นิรโทษ
  90. ม็อบบุกตัดไฟ CAT TOWER บางรักทำให้เว็ปไซต์ล่มจำนวนมาก
  91. http://www.thairath.co.th/content/pol/386474
  92. http://www.thairath.co.th/content/pol/386627
  93. https://www.thairath.co.th/content/pol/386798
  94. "CNN:Tensions Ease in Thailand as Police Remove Barriers". 2013.
  95. "บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น-ร่มเย็นมาช้านาน" พระราชดำรัส "ในหลวง" ทรงขอคนไทยตระหนัก "หน้าที่" เพื่อส่วนรวม, ข่าวมติชนออนไลน์, 5 ธันวาคม 2556.
  96. สื่อนอกตีข่าว รบ.ยิ่งลักษณ์ยุบสภา คืนอำนาจให้ ปชช., 9 ธันวาคม 2556, มติชนออนไลน์.
  97. ม็อบกปปส.พยายามทำร้ายนักข่าวสาวช่อง3-9
  98. เหตุปะทะหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นช่วงเช้า ตร.เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ2ฝ่าย กว่า 98 ราย
  99. คปท.ปิดถนนวิภาวดีรังสิต จี้ ตร.ปล่อยม็อบ - ไทยรัฐ
  100. 5 กกต.ออกแถลงการณ์ เสนอรัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.
  101. เพื่อไทยแถลงจี้ กกต.เดินหน้าเลือกตั้ง
  102. http://news.ch7.com/detail/58315/นายกรัฐมนตรีหารือข้อเสนอ_กกต.html
  103. 'เทือก'นัดระดมพลปิดกรุงเทพ, เดลินิวส์, 3-1-2557
  104. "สุเทพ"ลั่น 13 มค.ปิดถนน กทม.-ตัดน้ำไฟบ้าน รมต., โพสต์ทูเดย์,3-1-2557
  105. 'สุเทพ'เผยตั้ง7เวทีรอบกรุง13ม.ค., คมชัดลึก,6-1-2557
  106. ม็อบลั่นปิด ก.พลังงานยาวจ่อยื่นชะลอขึ้น LPG ทันที-ลดน้ำมันกลุ่มเบนซิน, เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์,13-1-2557
  107. กองทัพธรรมร่วมชัตดาวน์ กทม.ตั้งเวทีปิดสะพานพระราม 8, เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์,13-1-2557
  108. คมนาคม เปิดเว็ปไซด์ ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน รับสถานการณ์ชุมนุม 13 มค., สวพ.91, 12-1-2557
  109. จตุพรแถลงสวน"เทือก"ปิดกรุงเทพ" ประกาศ"เปิดกรุงเทพ"วันที่ 13 ม.ค.บอกเสื้อแดงรอฟังสัญญาณระดมพล, มติชน, 3-1-2557
  110. แดงชวนเดินขบวนทั่วประเทศ ต้านชัตดาวน์!, ไทยรัฐ, 3-1-2557
  111. นปช.นนทบุรี - ปทุมฯ จัดขบวนรณรงค์เลือกตั้ง 2 ก.พ. - ต้านเทือกชัตดาวน์กรุงเทพฯ, ข่าวสด, 12-1-2557
  112. กปปส.นนทบุรี ปราศรัยหน้าศาลากลางนนทบุรี, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
  113. อัปเดตก่อนเลือกล่วงหน้า'กปปส.'ยังปิด14จังหวัดใต้, คมชัดลึกออนไลน์, 25 มกราคม 2557.
  114. ความคืบหน้าปิดล้อมธนาคารออมสิน, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
  115. ผู้ชุมนุมเวทีปทุมวัน เคลื่อนไปกรมทางหลวง, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
  116. กปปส.บุก ธ.ก.ส. ค้านนำเงินฝาก จ่ายจำนำข้าว, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 20 มกราคม 2557.
  117. 'กปปส.ลาดพร้าว' เคลื่อนปิดการทางพิเศษฯ, คมชัดลึกออนไลน์, 20 มกราคม 2557.
  118. กปปส. บุกโรงพิมพ์คุรุสภา ฉีกบัตรเลือกตั้ง, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 19 มกราคม 2557.
  119. ชาวนาพิจิตรปิดศาลากลางจังหวัดแล้ว, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
  120. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000008936
  121. http://www.komchadluek.net/detail/20140122/177336.html
  122. http://www.komchadluek.net/detail/20140127/177652.html
  123. การเมืองฆ่าโหด กวีเสื้อแดง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’, 24 เมษายน 2557, ไทยรัฐออนไลน์.
  124. "Academics brand people's council 'fascism'". The Bangkok Post. 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
  125. กปปส.ขวางเขตดินแดง กระจายหีบ-บัตรเลือกตั้งไม่ได้ ′บางกะปิ′ 25 หน่วยเลือกตั้งเอกชนไม่ให้ใช้พื้นที่, ข่าวประชาชาติธุรกิจ, 2 กุมภาพันธ์ 2557.
  126. เลือกตั้งใต้ป่วน!กปปส.ยังล้อมสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง, โพสต์ทูเดย์, 1 กุมภาพันธ์ 2557.
  127. กกต.ยังไม่ประกาศผลเลือกตั้งรอรวมคะแนนหลัง23ก.พ, โพสต์ทูเดย์, 6 กุมภาพันธ์ 2557.
  128. 'มาร์ค'แจงยิบมติปชป.ไม่ลงเลือกตั้ง เหตุการเมืองล้มเหลว, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 6 กุมภาพันธ์ 2557.
  129. เปิดยอดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง68จังหวัด, โพสต์ทูเดย์, 4 กุมภาพันธ์ 2557.
  130. เหตุปะทะผ่านฟ้า เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 64 คน]
  131. อัปเดต: เหตุปะทะที่ผ่านฟ้า เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 64 ราย
  132. "Bangkok Shutdown shut down". Bangkok Post. 28 February 2014. สืบค้นเมื่อ 4 March 2014.
  133. Coconuts Bangkok (17 March 2014). "AFP: New Thai Red Shirt leader warns of battle ahead". Coconuts Bangkok. Coconuts Media. สืบค้นเมื่อ 17 March 2014.
  134. “ธิดา” ส่งไม้ต่อตั้ง “จตุพร” ขึ้นประธาน นปช.คนใหม่ “ณัฐวุฒิ” เลขาฯ ลั่นพร้อมชุมนุมต่อเนื่องแสดงพลัง, ผู้จัดการออนไลน์, 2 เมษายน 2557
  135. เบื้องหลัง!"จตุพร” ผงาดเบอร์ 1 นปช. กู้ศรัทธา “แดงฮาร์ดคอร์”?, อิศรา, 2 เมษายน 2557
  136. แดงคึกคักหลังนปช.ตั้งตู่เป็นประธาน, โพสต์ทูเดย์, 2 เมษายน 2557
  137. "Election Commission proposes royal decree to declare new polls in 8 provinces". MCOT. 8 February 2014. สืบค้นเมื่อ 8 February 2014.
  138. Nirmal Ghosh (12 February 2014). "Thailand to hold more voting in April". Asia News Network. สืบค้นเมื่อ 12 February 2014.
  139. Warangkana Chomchuen (30 January 2014). "Thai Protesters Warming Up to Disrupt Poll". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 30 January 2014.
  140. "ผู้ตรวจการแผ่นดินชงคำร้อง "กิตติพงศ์" อาจารย์นิติ มธ. ให้ศาล รธน. วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ" (ภาษาThai). Bangkok Biz News. 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  141. 141.0 141.1 141.2 "สับคำวินิจฉัย ตลก. 'โมฆะ' 'นอก รธน.' 'นำสู่ความรุนแรง'" (ภาษาThai). Prachatai. 2014-03-23. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  142. "มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" (ภาษาThai). Manager. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  143. "Court voids Feb 2 general election". Bangkok Post. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  144. 144.0 144.1 144.2 Amy Sawitta Lefevre (2014-03-21). "Thailand in limbo after election annulled; economy suffering". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  145. "อาจารย์จุฬาฯ ท้วงศาล รธน. 2 ก.พ. จะโมฆะ ต้องดู "เนื้อหาสาระ พ.ร.ฎ.ฯ" ไม่ใช่ดู "กระบวนการจัดเลือกตั้ง"" (ภาษาThai). มติชน. 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-22.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  146. "มติศาลรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ" (ภาษาThai). Morning News. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  147. "Independent law academic Verapat says Constitutional Court overrules charter". The Nation. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  148. "เลือกตั้งโมฆะ นักวิชาการชี้ "คำวินิจฉัยนี้เป็นการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ"" (ภาษาThai). Prachatai. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  149. "เสวนาวิชาการฉะ 'องค์กรอิสระ' แช่แข็งประเทศไทย" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  150. "แถลงการณ์เพื่อไทยค้านศาล รธน. เชื่อเกมชิงอำนาจ" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  151. "ชูวิทย์ โพสต์ FB 'ประชาธิปไตย ตายแล้ว'" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  152. "คลุมผ้าดำอนุสาวรีย์ ปชต. หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  153. "ปชช. เรียกร้องขบวนการล้ม ปชต. 'เห็นหัวเราบ้าง'" (ภาษาThai). Voice TV. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  154. "พรรคเพื่อไทยนัดแต่งดำไว้ทุกข์ 6 ตุลาการศาล รธน. เสียงข้างมาก" (ภาษาThai). Manager. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  155. "กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยแต่งดำ-ชูป้ายคัดค้านตัดสินเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" (ภาษาThai). Prachatai. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  156. http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=525134
  157. http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20140321/570374/%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%AA.%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%86%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%95..html
  158. "PDRC cheers after poll is nullified by court". The Nation. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
  159. "ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี ใน 45 วัน" (ภาษาThai). Manager. 2014-03-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  160. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีและเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (นายถวิล เปลี่ยนศรี)" (pdf). Government Gazette (ภาษาThai). Bangkok: Cabinet Secretary. 2014-04-28. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  161. 161.0 161.1 "ศาล รธน. รับคำร้องปูย้ายถวิลผิด ม. 268" (ภาษาThai). Thairath. 2014-04-03. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  162. "ศาล รธน. นัดชี้ชะตาเก้าอี้ปูเที่ยงพรุ่งนี้ คดีย้ายถวิลมิชอบ เจ้าตัวลั่นมีอำนาจทำ" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  163. "เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน. ฟัน 'ปู' โยก 'ถวิล'". Komchadluek. 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)
  164. "อวสาน "ยิ่งลักษณ์"พ่วง รมต. ! "ศาล รธน.ฟันสิ้นสุดความเป็นรมต.ย้าย "ถวิล" มิชอบใช้อำนาจเอื้อ "เพรียวพันธ์"" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  165. "ศาล รธน.เริ่มวินิจฉัยยิ่งลักษณ์ ยันมีอำนาจรับคำร้อง เหตุนายกฯ ยังมีอำนาจ" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  166. "เกาะติดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีสถานภาพรักษาการนายกฯ" (ภาษาThai). Voice TV. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  167. 167.0 167.1 "ศาล รธน. สั่ง ขรก. หยุดงานเพื่อความปลอดภัย" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  168. 168.0 168.1 Thomas Fuller (2014-05-07). "Court Orders Thai Leader Removed From Office". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
  169. "Charter court dismisses draft dodging case against Abhisit". Thai PBS. 2014-02-05. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
  170. 170.0 170.1 170.2 James Hookway and Warangkana Chomchuen (2014-05-07). "Thai Court Removes Yingluck Shinawatra From Office". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
  171. "Yingluck removed, Niwatthamrong acting PM". Bangkok Post. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
  172. "PCAD's 'Final Battle' Kicks-Off With Media Intimidation". Khaosod English. 9 May 2014. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
  173. http://www.nationmultimedia.com/politics/PDRC-launches-all-out-battle-with-six-processions--30233248.html
  174. "Groups slam PDRC media 'bullying'". Bangkokpost. 10 May 2014. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
  175. "Media groups decry PDRC threats". Bangkok Post. 9 May 2014. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
  176. http://www.bangkokpost.com/news/pdrc-protests/409069/luang-pu-buddha-issara-falls-sick-after-police-fired-tear-gas
  177. "กองทัพบกประกาศยุบ ศอ.รส. ตั้ง กอ.รส. ดูแลความสงบ "ประยุทธ์" คุมเอง" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  178. "เอพีเผย ยอดเซลฟีกับสถานการ์ณประกาศกฎอัยการศึกในกรุงเทพฯ พุ่ง" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  179. "เช็คเส้นทางรอบกรุงวันประกาศกฏอัยการศึก" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  180. "ทหารเข้าคุมทำเนียบฯ ห้าม กปปส. ใช้สถานที่" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  181. "ทหารพรึ่บคุมสื่อ" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  182. "ทหารคุมทีวีช่อง 11 เชียงใหม่" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  183. "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 6 ระงับทีวีดาวเทียม 11 ช่องออนแอร์" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  184. "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 1" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  185. "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 3 ห้ามสื่อข่าวกระทบการรักษาความสงบ". Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
  186. "กอ.รส. เชิญหัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารสื่อเข้าพบเพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่สโมสรกองทัพบก" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  187. "กอ.รส. ตั้งคณะทำงานคุมสื่อออนไลน์" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2014-05-21. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  188. "Thailand army declares martial law". BBC. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
  189. "Military 'takes control' in Thailand". BBC. 22 May 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
  190. "Prayuth and military chiefs are controlling state powers" (ภาษาThai). Komchadluek. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  191. "ผบ.ทบ. แถลงยึดอำนาจ" (ภาษาThai). Post Today. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  192. "คสช. ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร-เคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 4 ทุ่มถึงตี 5" (ภาษาThai). Manager. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22. {{cite web}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |trans_title= (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  193. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 132 ง, 9 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2.
  194. คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 404/2556 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 133 ง, 9 ตุลาคม 2556, หน้า 6-7.
  195. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 138 ง, 18 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2.
  196. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 165 ง, 25 พฤศจิกายน 2556, หน้า 1-2.
  197. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 189 ง, 25 ธันวาคม 2556, หน้า 1-2.
  198. คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 505/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 139 ง, 18 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2 พร้อมเอกสารแนบ.
  199. แก้คำผิด คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 190 ง, 26 ธันวาคม 2556, หน้า 108.
  200. คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 516/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 166 ง, 26 พฤศจิกายน 2556, หน้า 66-67 พร้อมเอกสารแนบ.
  201. คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 557/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 193 ง, 26 ธันวาคม 2556, หน้า 6-7 พร้อมเอกสารแนบ.
  202. "สุรพงษ์" คุม "ศอ.รส." แทน"ประชา" ลั่นม็อบกปปส.ทำศก.-ภาพลักษณ์ชาติกระทบ ให้คำมั่นคืนสงบสุขโดยเร็ว, ข่าวมติชนออนไลน์, 2 ธันวาคม 2556.
  203. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 13 ง, 21 มกราคม 2557, หน้า 5-7.
  204. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 1/2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 127 ตอนพิเศษ 45 ง, 7 เมษายน 2553, หน้า 3-6.
  205. นกภป.แถลงหนุนกปปส.ให้ปฏิรูปไม่เอาเลือกตั้ง, ข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 ธันวาคม 2556.
  206. 'ม.จ.จุลเจิม' แถลงค้านนำร่างนิรโทษขึ้นทูลเกล้าฯ, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 3 พฤศจิกายน 2556.
  207. "ท่านใหม่" ให้กำลังใจ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ, โพสต์ทูเดย์, 20 มกราคม 2557.
  208. ภาพ พลตรี ม.จ. จุลเจิม ยุคล และคณะ ถวายเงินให้หลวงปู่พุทธอิสระ บนเวทีแจ้งวัฒนะ, แฟนเพจ เวทีราชดำเนิน ในเฟซบุ๊ก, 4 กุมภาพันธ์ 2557.
  209. 209.0 209.1 209.2 Brian Rex (2014-02-13). "Thai princess uses social media to 'declare war': Photos posted by Princess Chulabhorn Mahidol widely interpreted as a sign of her support for anti-government protesters". Independent. สืบค้นเมื่อ 2014-02-13.
  210. http://www.youtube.com/watch?v=Db6iuFV6AwI[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  211. กลุ่ม "คนกรุงเทพไม่เห็นด้วยกับ กปปส." เปิดล่ารายชื่อผ่านเน็ต จี้หยุดรุนแรง เดินหน้าสู่คูหาเลือกตั้ง, ข่าวสดออนไลน์, 28 ธันวาคม 2556.
  212. กลุ่มเพจพอกันทีฯ จุดเทียนหน้าหอศิลป์ ขอหยุดชุมนุมสู่ความรุนแรง 'เดียร์-เนติวิทย์' ร่วมด้วย
  213. เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องยุติความรุนแรงในไทย ประณามบึ้มเด็กตายหลายราย
  214. สหรัฐฯร้องไทยแก้วิกฤตชัตดาวน์กรุงเทพฯด้วยสันติวิธี, เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์, 14 มกราคม 2557.
  215. Jason Miks (2014-01-14). "What's behind Thai protests?". CNN. สืบค้นเมื่อ 2014-01-14.
  216. นิด้าโพล เผยคน กทม.กว่า 80% เมินร่วมม็อบ กปปส., ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์, 17 มกราคม 2557.
  217. "Baht declines to a three-year low". Bangkok post. 23 December 2013. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
  218. Sjolin, Sara (23 December 2013). "Thai baht drops to three-year low amid protests". Market watch. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
  219. Justina Lee (23 December 2013). "Baht Falls to a Three-Year Low, Stocks Drop on Political Unrest". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
  220. Arno Maierbrugger (7 January 2014). "Thai crisis: Severe impact on economy, bourse". Investvine. Inside Investor. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
  221. "Have you decided where to spend your holiday yet? Don't think much further. Thailand is suitable for all types of travellers with heaps of things to do. Simply check out our Thailand infograph and pack your bag!" (Infographic). AsiaWeb Direct. AsiaWeb Direct. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
  222. "Bangkok Shutdown affects 135 banks". Thai PBS. 14 January 2014. สืบค้นเมื่อ 14 January 2014.
  223. 223.0 223.1 Bloomberg News (29 January 2014). "Investors shifting to neighbours". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
  224. 224.0 224.1 "Thailand's political pain is neighbors' economic gain". Coconuts Bangkok. Coconuts Bangkok. 29 January 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
  225. Tamaki Kyozuka (12 February 2014). "Thai tourism, retailers paying the price for drawn-out unrest". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 12 February 2014.
  226. "Baht drops most in six weeks". Bangkok Post. 18 February 2014. สืบค้นเมื่อ 18 February 2014.
  227. กปปส.ชุมนุมส่งผลกระทบระบบขนส่งสาธารณะ, ข่าวไทยพีบีเอส, 13 มกราคม 2557.

แหล่งข้อมูลอื่น

แหล่งข้อมูลภายใน
แหล่งข้อมูลภายนอก
อ่านเพิ่ม
  • David Marx (9 January 2014). "Thailand's political crisis: The inside story". RT (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Duncan McCargo (27 January 2014). "Thai Takedown: Letter From Bangkok". Foreign Affairs (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Duncan McCargo (18 February 2014). "The Thai Malaise". Foreign Policy (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Florian Decludt (23 June 2011). "Monarchy in spotlight: tensions that threaten new turmoil in Thailand". The Independant (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Michael H. Nelson (4 March 2014). "Protesters in Thailand Try a Civilian Coup D'état". E-International Relations (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Michael J. Montesano (10 February 2014). "What is to Come in Thailand?" (PDF). ISEAS perspective (ภาษาEnglish) (07/2014). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Pavin Chachavalpongpun (27 November 2013). "The current mob leader seeks to divert attention from his own crimes". Asiasentinel (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Shawn W Crispin (30 January 2014). "No deal behind Thailand's polls". Asia Times Online (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Somchai Samizdat (22 february 2014). "The Real Crisis in Thailand is the Coming Royal Succession" (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Steve Fish (31 January 2014). "Whispers from the Throne". Foreign Affairs (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  • Ukrist Pathmanand (28 February 2014). "Thaksin Shinawatra and Thailand's New Conflict". E-International Relations (ภาษาEnglish). {{cite journal}}: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า : |1= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |trans_title= ถูกละเว้น แนะนำ (|trans-title=) (help)CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)