ผลต่างระหว่างรุ่นของ "มหาวิทยาลัยขอนแก่น"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
บรรทัด 620: บรรทัด 620:


== ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีที่มีชื่อเสียง ==
== ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีที่มีชื่อเสียง ==
ดูเพิ่ม [[รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น]]
ดูเพิ่ม[[รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น]]
===นักการเมือง===
===นักการเมือง===
* [[สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์]] : [[ประธานรัฐสภาไทย]]และประธาน[[สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร]]คนที่ 25 ของประเทศไทย, อดีตรัฐมนตรี
* [[สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์]] : [[ประธานรัฐสภาไทย]]และประธาน[[สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร]]คนที่ 25 ของประเทศไทย, อดีตรัฐมนตรี

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:12, 21 ธันวาคม 2556

มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตราประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อย่อมข. / KKU
คติพจน์วิทยา จริยา ปัญญา
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา25 มกราคม พ.ศ. 2509
อธิการบดีรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย
นายกสภาฯดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ที่ตั้ง
เว็บไซต์www.kku.ac.th

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีอัตราการสอบแข่งขันเข้าเรียนมากที่สุดในภูมิภาค มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเก้ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นและสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีต่อการพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้ พระองค์เสด็จฯมาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509[1] ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีอธิการบดีดำรงตำแหน่งมาแล้ว 16 คน (ดำรงตำแหน่งอธิการบดี 9 คน ผู้รักษาการแทนฯ 7 คน) อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย

ส่วนการจัดการเรียนการสอนนั้นครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศทางด้านการเรียนการสอน และดีเยี่ยมทางด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 317 หลักสูตร แบ่งได้เป็นหลักสูตรระดับปริญญาเอก 59 หลักสูตร ปริญญาโท 129 หลักสูตร ปริญญาตรี 105 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 24 หลักสูตร โดยสัดส่วนสาขาวิชาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีกับระดับบัณฑิตศึกษา เท่ากับ 3.0 : 7.0 และเป็นหลักสูตรนานาชาติ/ภาษาอังกฤษ ร้อยละ 11.21[2] มีนักศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมแล้วประมาณ 40,000 คน และมีบุคลากรสายวิชาการ 2,075 คน มีตำแหน่งทางวิชาการ ระดับศาสตราจารย์ 32 คน รองศาสตราจารย์ 508 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 619 คน และอาจารย์ 916 คน[3]

ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจากทุกวิทยาเขต

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในปี พ.ศ. 2484 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายและโครงการที่จะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ส่วนภูมิภาค สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามเอเชียบูรพา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงทำให้การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยุติลงในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทบทวนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนี้อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 จึงได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ขึ้น ที่จังหวัดขอนแก่น เสนอชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า "สถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น" และเสนอชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Khon Kaen Institute of Technology" มีชื่อย่อว่า K.I.T. หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อสถาบันนี้เป็น "มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มีชื่อย่อว่า "North-East University หรือ N.E.U" เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีหน่วยราชการใด ที่จะรับผิดชอบการดำเนินการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการหาสถานที่ จัดร่างหลักสูตร ตลอดจนการติดต่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศ [4]

ในปี พ.ศ. 2506 คณะอนุกรรมการได้ตกลงเลือกบ้านสีฐานเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยในเนื้อที่ ประมาณ 5,500 ไร่ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 4 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ได้มีการลงรกฐานก่อสร้างอาคาร "คณะวิทยาศาสตร์ - อักษรศาสตร์"[5] สำนักงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ได้รับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรุ่นแรก ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2507[6] จำนวนทั้งสิ้น 107 คน โดยแยกเป็นนักศึกษาเกษตรศาสตร์ 49 คน และวิศวกรรมศาสตร์ 58 คนโดยฝากเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)

คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น "มหาวิทยาลัยขอนแก่น"[1] ตามชื่อเมืองที่ตั้ง และได้โอนกิจการจากสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี พ.ศ. 2508 ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2509 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็น วันสถาปนามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย จอมพล ถนอม กิตติขจร และนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะนั้น ได้ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และพิจารณาแต่งตั้งให้:

  1. ฯพณฯ พจน์ สารสิน เป็นอธิการบดี
  2. ศาสตรจารย์ พิมล กลกิจ เป็นรองอธิการบดี ผู้รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ และผู้รักษาการคณบดีเกษตรศาสตร์
  3. ศาสตราจารย์ ดร. วิทยา เพียรวิจิตร เป็นผู้รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์[7]

และในปีเดียวกันนี้ ได้ย้ายนักศึกษาที่ฝากเรียนไว้ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในสถานที่ปัจจุบัน ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ[8]

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

ตราประจำมหาวิทยาลัย

ไฟล์:Emblem of KKU.png
ตราประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ลักษณะตราสัญลักษณ์เป็นตามแนวคิดของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ซึ่งให้นายพินิจ สุวรรณะบุณย์ เป็นผู้ยกร่าง ในชั้นแรกนั้นเป็นรูปพระธาตุพนม ทั้งสองข้างมีลายช่อกนกเปลวลอย ส่วนล่างสุดขององค์พระธาตุเป็นชื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นบนแพรแถบ ต่อมาพระยาอนุมานราชธนได้นำร่างดังกล่าวปรึกษาหาหรือกับผู้ออกแบบและท่านผู้รู้แห่งราชบัณฑิตยสถาน เห็นสมควรให้ปรับปรุงแก้ไขลายกนกเป็นรูปเทวดาอัญเชิญมิ่งขวัญสิริมงคลพนมประทานสู่สถาบัน และเปลี่ยนแถบแพรป้ายชื่อเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่บนขอนไม้ พื้นหลังแบ่งเป็น ๓ ช่อง มีความหมายถึง คุณธรรมของนักศึกษา ๓ ประการ ได้แก่

  • วิทยา คือ ความรู้ดี
  • จริยา คือ ความประพฤติดี
  • ปัญญา คือความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี

สาเหตุที่กำหนดให้พระธาตุพนมเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เนื่องจากตระหนักว่าพระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นมิ่งขวัญสิริมงคลอันเป็นที่เคารพบูชาของ ชาวไทย-ลาว ทั้งสองฝั่งโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน ที่จะต้องเป็นศูนย์รวมความคิด สติปัญญาของสังคมและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศาสตราจารย์พิมล กลกิจ ได้เดินทางไปนมัสการพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อทำพิธีขออนุญาตเชิญรูปพระธาตุพนมมาเป็นตราสถาบันอย่างถูกต้องและเป็นทางการแต่เพียงสถาบันเดียว ในปี ๒๕๐๙ นับตั้งแค่นั้นมา ตราพระธาตุพนมก็กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษาแห่งนี้[9]

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย

ไฟล์:San kku .jpg
ฯพณฯ พจน์ สารสิน อธิการบดีคนแรก ทำพิธียกศาลเจ้าพ่อมอดินแดง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2509

เจ้าพ่อมอดินแดง[10]

ผศ.เข้มแข็ง สีตะธนี อาจารย์ผู่ร่วมบุกเบิกมหาวิทยาลัยเล่าถึงตำนานของศาลเจ้าพ่อมอดินแดงว่า " มีชายไทยคนหนึ่ง ชื่อนายเหลา สีแดง ไปขโมยช้างจากบุรีรัมย์ แล้วเจ้าของตามมาทัน มาฆ่าเอาในเขตมหาวิทยาลัย ถูกนำตัวฝังทั้งเป็น จึงกลายเป็นเจ้าพ่อมอดินแดง "

ในระยะแรกๆ นั้น เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คณาจารย์ของเราชุดหนึ่งก็ประสบอุบัติเหตุทางรถเสียชีวิตหลายท่าน คนงานสร้างตึกเคมีก็ไปถูกรถชนตาย นักศึกษาเองก็แตกแยก ยกพวกทำร้ายกัน อะไรต่างๆเหล่านี้ล้วนฉุกให้คิด ก็เลยได้มีการจัดสร้างศาลเจ้าพ่อมอดินแดงขึ้นมา ในสมัยศาสตราจารย์พิมล กลกิจ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล "

โดยทำพิธียกศาลในเดือนมิถุนายน 2509 ศาลเจ้าพ่อมอดินแดงจึงได้เป็นที่เคารพสักการะ และนักศึกษาใหม่ต้องทำพิธีไหว้เจ้าพ่อมอเพื่อฝากตัวเป็นลูกเจ้าพ่อมอดินแดงทุกคน (ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ ผศ.เข้มแข็ง สีตะธนี 21 ตุลาคม 2531 หนังสือครบรอบ 25 มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ปี ๒๕๔๗ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการก่อสร้าง ศาลาธรรมสถาน เจ้าพ่อมอดินแดงขึ้นใหม่โดยนับเนื่องเข้าเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมฉลองในวาระที่มหาวิทยาลัยสถาปนามาครบ 40 ปี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแกนนำในการดำเนินงาน และด้วยสำนึกแห่งกตัญญูกตเวทิตาต่อสถานศึกษา จึงมิได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ สีดินแดง [11]อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย จึงมีการเรียกมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า “ มอดินแดง”

'[10]“มอ” ในความหมายของภาคอีสาน หมายถึงพื้นที่เนินดินสูงที่มีสีแดง ในอดีตมอดินแดงเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้รกทึบ ถึงขนาดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ หน่วยจัดตั้งมหาวิทยาลัย ต้องทำการจัดซื้อเครื่องกลและทำการเปิดป่าเพื่อตัดถนนในมหาวิทยาลัย อีกนัยหนึ่งมอดินแดง ก็คือ สมญานามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่คนรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นมหาวิทยาลัย ที่มีดินสีแดงเป็นส่วนใหญ่

เพลงประจำมหาวิทยาลัย

[10]มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเพลงอยู่หลายเพลง โดยจะกล่าวถึงเพลงสำคัญๆ ดังนี้

1. มาร์ชมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้แต่งคือเอื้อ สุนทรสนาน ขับร้องคนแรกโดยพร พิรุณ[12] เพลงนี้เป็นเพลงที่ใช้ร้องกันประจำในกิจกรรมต่างของของมหาวิทยาลัย

2. จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเพลงมาร์ชอีกเพลงหนึ่งไม่ค่อยจะกล่าวถึงกันก็คือเพลง "มาร์ชกาลพฤกษ์" ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงเพลงแรก ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คำร้อง วรพจน์ ถิระจิตร / ทำนอง แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพลงนี้มีทำนองที่คึกคักเหมาะกับเพลงมาร์ชจริงๆ แต่ไม่ทราบอย่างไรจึงไม่เป็นที่นิยมร้องกันในมหาวิทยาลัยจึงมีน้อยคนนักที่จะรู้จักเพลงนี้ ในปีการศึกษา 2553 ได้บรรจุเพลง มาร์ชกาลพฤกษ์ เป็นเพลงที่ใช้ร้องในประเพณีร้องเพลงประจำสถาบัน (เชียร์กลาง) เป็นครั้งแรก

ไฟล์:Kku.jpg
รั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝั่งบึงสีฐาน

3. เพลงหมู่เฮาซาวมอ เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงเดียวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นเพลงภาษาอิสาน ขับร้องต่อกันมาภายในชมรมนักร้องประสานเสียงซึ่งจะขับร้องเพลงนี้ในคราวนับพระราชทานปริญญาบัตรเท่านั้น เพลงนี้มาเป็นที่รู้จักมากในครั้งที่คณะวิทยาศาสตร์นำเพลงนี้มาใช้ประกวดในกิจกรรมเชียร์ร่วมระหว่างคณะ (โชว์เชียร์) และโชว์น้องใหม่ (2549-2550) เพลงนี้ผู้แต่งคือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วราวุธ สุมาวงศ์ หรือนามปากกา วรา วราเวช ผู้แต่งเพลง เทพธิดาดอย ศาสตราจารย์นายแพทย์ วันชัย วัฒนศัพท์ อธิการบดี สมัยนั้นได้ขอร้อง ให้อาจารย์วราวุธ กรุณาแต่งเพลงที่มีความสนุกสนาน และอาจจะมีลีลาออกทำนองอีสานบางส่วนด้วย อาจารย์ ดร.ยงยุทธ์ ไวคกุลได้นำไปให้นักร้องประสานเสียง ได้ขับรองในงานพระราชทานปริญญาบัตรจนเป็นที่รู้จัก

4. เพลงขวัญแดนเสียงแคน หรือที่รู้จักในนามเพลง "มอดินแดง" เพลงนี้แต่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอัลบัม มหาวิทยาลัยของประชาชน ผู้แต่งใช้นามแฝงคือ สหายดล ดาวตก (ณพดน ทัพผดุง) บรรเลงโดย หน่วยโฆษณาเคลื่อนที่ 66 ของภูพาน เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่ไม่มีบันทึกในประวัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นเล่มใด อาจจะด้วยเนื้อหาที่ความนัยทางการเมือง แต่เป็นเพลงที่นักศึกษาส่วนใหญ่ร้องได้พอๆ กับเพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือมากกว่าเลยทีเดียว

5. เพลงมอดินแดงแห่งความหลัง เพลงนี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งในสองเพลงที่แต่งโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เพลงนี้แต่งโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คำร้อง สุทธิชัย อนัมบุตร /สมศักดิ์ วิรุฬผล ทำนอง สิทธิพร ศรีสง่า ทั้งสามคนกำลังนั่งอยู่ทีเฉลียงหอ 2 (สมัยเป็นหอชาย ปัจจุบันเป็นหอหญิง) ภายหลังจากการสอบ ด้วยความรัก ความผูกพัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี บวกกับ ความเหงา ความมืด ในคืนนั้นจึงถูกกลั่นกรองออกมาเป็นเพลง มอดินแดงแห่งความหลัง ด้วยความที่เป็นเพลงที่เศร้าและมีเนื้อหาที่ซึ้ง จึงเป็นเพลงที่มักจะใช้เป็นเพลงปิดกิจกรรมเชียร์กลาง

นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นๆที่นักศึกษานิยมขับร้องในโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมเชียร์กลาง กิจกรรมอำลาสถาบัน คือ เพลงขวัญมอดินแดง กาลพฤกษ์ร้างใบ มอดินแดงแห่งความหลัง ลาก่อนขอนแก่น รักแรกที่ขอนแก่น ลาขอนแก่น นภาขอนแก่น รอเธอที่สีฐาน มอดินแดงที่รัก รำวงรื่นเริงสัมพันธ์ เสียงสนครวญ รักแรกที่ขอนแก่น เป็นต้น.

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ไฟล์:กัลปพฤกษ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.jpg
ดอกกาลพฤกษ์ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต้นกาลพฤกษ์[10]

พันธุ์ไม้ Cassia bakeriana Craib วงศ์ Leguminosae ที่เลือกมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า “กาลพฤกษ์” แม้ต่อมาจะมีการเรียกในทางพฤกษศาสตร์และพจนานุกรมว่า “กัลปพฤกษ์” แต่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ยังเรียกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยว่า “กาลพฤกษ์” ด้วยเหตุที่ต้นไม้นี้ในปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อนจะทิ้งใบทั้งต้น ให้ดอกสีชมพูระเรื่อสลับขาวบานสะพรั่ง แลดูสวยงามอ่อนหวานยิ่งนัก ดอกกาลพฤกษ์บานคราใดก็ถึงเวลาสอบไล่ ปิดปลายภาคและจบการศึกษา กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือน ต้นไม้แห่งกาลเวลา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ ได้นำต้น “กาลพฤกษ์” ขึ้นกราบบังคมทูลถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปลูกเมื่อคราวเสด็จทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๐ ที่หน้าคณะเกษตรศาสตร์ และถือเป็นต้นไม้ประจำสถาบันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[13]

ช่วงสอบปลายภาคเรียนที่ ๒ เป็นช่วงที่ดอกกาลพฤกษ์จะออกดอกบานสะพรั่งสวยงามยิ่งนัก แต่นั่นก็หมายถึงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่รุ่นพี่กำลังจะจบการศึกษาต้องออกสู่สังคมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศ และเป็นช่วงที่น้องใหม่กำลังจะเข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นช่วงที่กาลพฤกษ์บาน กาลพฤกษ์จึงเป็นเสมือนสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง

ทำเนียบอธิการบดี

ทำเนียบอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พจน์ สารสิน 14 มิถุนายน 2509 - 9 เมษายน 2512
2. ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ

10 เมษายน 2512 - 2 กันยายน 2512 (รักษาการแทนฯ)
3 กันยายน 2512 - 2 กันยายน 2518

3. นิล มณีโชติ 3 กันยายน - 12 ตุลาคม 2518 (รักษาการแทนฯ)
4. หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ 13 ตุลาคม - 11 ธันวาคม 2518 (รักษาการแทนฯ)
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กวี ทังสุบุตร

12 ธันวาคม 2518 - 4 มิถุนายน 2519 (รักษาการแทนฯ)
12 พฤศจิกายน 2522 - 1 มกราคม 2523

6. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นพดล ทองโสภิต

5 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2519 (รักษาการแทนฯ)
20 กันยายน 2526 - 19 กันยายน 2529
20 กันยายน 2532 - 19 กันยายน 2535

7. ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล 5 กรกฎาคม - 3 พฤศจิกายน 2519 (รักษาการแทนฯ)
8. ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ 4 พฤศจิกายน 2519 - 20 กุมภาพันธ์ 2521 (รักษาการแทนฯ)
9. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน 21 กุมภาพันธ์ - 13 กันยายน 2521 (รักษาการแทนฯ)
10. ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เพียรวิจิตร 14 กันยายน 2521 - 21 ตุลาคม 2522
11. รองศาสตราจารย์ ดร.เทอด เจริญวัฒนา

22 ตุลาคม 2511 - 1 พฤศจิกายน 2522 (รักษาการแทนฯ)
2 มกราคม 2523 - 19 กันยายน 2526 (รักษาการแทนฯ)

12. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมพร โพธินาม 20 กันยายน 2529 - 19 กันยายน 2532
13. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วันชัย วัฒนศัพท์ 20 กันยายน 2535 - 19 กันยายน 2538
14. ศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ 20 กันยายน 2538 - 5 กุมภาพันธ์ 2546
15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชาติ อารีมิตร 20 กันยายน 2541 - 5 กุมภาพันธ์ 2542 (รักษาการแทนฯ)
16. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุมนต์ สกลไชย 6 กุมภาพันธ์ 2546 - 5 กุมภาพันธ์ 2554
17. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย 6 กุมภาพันธ์ 2554 - ปัจจุบัน[14]

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และผู้รักษาการแทนอธิการบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1. จอมพล ถนอม กิตติขจร 25 กุมภาพันธ์ 2509 - 17 พฤศจิกายน 2514
2. ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ 17 พฤศจิกายน 2514 - 18 กันยายน 2515
3. หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ 18 กันยายน 2515 - 18 มิถุนายน 2519
4. พลเอก เนตร เขมะโยธิน 18 มิถุนายน 2519 - 13 มิถุนาน 2520
5. ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ กาญจนประกร 29 มิถุนายน 2520 - 26 กรกฎาคม 2521
6. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน 26 กรกฎาคม 2521 - 25 กรกฎาคม 2527
7. พันเอก อาทร ชนเห็นชอบ 26 กรกฎาคม 2527 - 13 ตุลาคม 2531
8. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (ครั้งที่ 2) 14 ตุลาคม 2531 - 27 พฤศจิกายน 2535
9. พลตำรวจเอก เภา สารสิน 28 พฤศจิกายน 2535 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2556
10. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี 20 มิถุนายน 2556 – ปัจจุบัน[15]

การศึกษา

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย 17 คณะ 4 วิทยาลัย (หน่วยงานเทียบเท่าคณะ) และ 1 วิทยาเขต สามารถอำนวยการสอนได้ 71 หลักสูตร 307 สาขาวิชาดังนี้

ปัจจุบัน ประกอบด้วยส่วนงานทางวิชาการ ที่จัดการเรียนการสอนได้แก่

งานวิจัย

การวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ “มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก” ผนวกกับปณิธานและปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น “ศูนย์รวมทางความคิด เป็นสติปัญญาของสังคม ยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นกลไกในการพัฒนาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการทุกสาขา” จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักบริหารการวิจัย สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง จำนวน 25 ศูนย์วิจัย กลุ่มวิจัย จำนวน 20 กลุ่ม และเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดให้มีการจัดตั้งกองทุนวิจัย 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีกองทุนอื่นๆอีกหลายกองทุน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดตั้งหน่วยงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายหน่วยงาน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและนานาชาติกว่า 160 หน่วยงาน จาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยได้แลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากร เครื่องมือ ห้องทดลอง และองค์ความรู้ต่างๆ

ความโดดเด่นด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความโดดเด่นด้านการวิจัยดังนี้

หน่วยงานด้านการวิจัย

ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง Science & Tech
ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง Health Science
ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง Human & Social


ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2555 มีทั้งสิ้น 1,577 เรื่อง[19]

หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย

ส่วนงานที่มีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งเพื่อเป็นสถาบันวิจัยในศาสตร์สาขาต่างๆ ดังต่อไปนี้

ศูนย์/สถาบัน/สำนัก

หน่วยงานในกำกับ

องค์กรของนักศึกษา

สำนักงานอธิการบดี

ส่วนงานอื่นๆ

  • สำนักบริหารการวิจัย

รวมทั้ง มีสถาบันสมทบอีก 6 แห่ง ได้แก่

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ระดับปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

ป้ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ดูเพิ่มเติม การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ระดับปริญญาโท

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท[20]

  • การสอบคัดเลือก เป็นการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
  • การคัดเลือก เป็นการคัดเลือกครูประจำการที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อน

ระดับปริญญาเอก

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่างๆ โดยการพิจารณาของมหาวิทยาลัย หรือสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้[20]

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

ไฟล์:รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทย์ .jpg
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้เข้าประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี 2549 กล่าวได้อย่างชัดเจนว่า ได้ดำเนินการตามมาตรฐานของ สมศ. ทั้ง 8 มาตรฐาน ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับประเด็นที่คณะผู้ประเมินฯ นำเสนอเป็นข้อสังเกตข้อเสนอแนะในรายละเอียดผลการประเมิน ทั้งในภาพรวมและจำแนกการจำแนกของหน่วยงานในแต่ละเอกสารนั้น หากมหาวิทยาลัยสามารถนำไปวิจัย และสังเคราะห์เพื่อให้เกิดรูปธรรมการดำเนินงานในอนาคตด้วยแล้ว จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเร่งเสริมคุณภาพในการดำเนินงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี เป็นมหาวิทยาลัยที่ "ดีเลิศด้านการสอน ดีเยี่ยมด้านการวิจัย"[21]

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้จัดการประกวดระบบประกันการคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2550 โดยให้สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลมาตรฐานเป็น สื่อกลางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพแก่สถาบันอื่นๆ ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดจำนวน 25 แห่ง โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 20 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นชนะการประกวดสถานศึกษาที่มีระบบ ประกันคุณภาพได้มาตรฐาน ติดอันดับ 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษา 25 แห่งทั่วประเทศ เตรียมรับประกาศเกียรติคุณในงานปีแห่งคุณภาพอุดมศึกษา[22]

อันดับมหาวิทยาลัย

ในปี 2550 ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์จัดอับดับสาขา เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่วิทยาศาสตร์สุขภาพ อยู่ลำดับที่ 273 วิทยาศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 426 และด้านสังคมศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 492 ส่วนในปี 2551 จัดอับดับให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ลำดับที่ 521 ของโลก และอันดับ 21 ของอาเซียน[23]

ส่วนผลการจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยยอดนิยมระดับโลก ประจำปี 2008 ผ่านทางเว็บไซต์ www.4icu.org หรือ 4 International Colleges & Universities (4icu.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดอันดับความนิยมของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยนานาชาติทั่วโลก นั้นปรากฏว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยติดอันดับ 3 แห่งได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ลำดับที่ 112, 160 และ 182 ตามลำดับ[24]

สถานที่ภายในมหาวิทยาลัย

หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ไฟล์:ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก.jpg
ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก (Golden Jubilee Convention Hall)
ไฟล์:อควาเรียมที่วิทยาเขตหนองคาย.jpg
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
  • ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก (Golden Jubilee Convention Hall)
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) (Demonstration School)

อยู่บริเวณริมบึงสีฐานทางเข้าประตู 2 ด้านถนนมะลิวัลย์

  • สถานีกระแสไฟฟ้าย่อย มข. อยู่บริเวณเขตฟาร์ม
  • บริเวณอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร
  • สำนักงานอธิการบดี อาคาร 1 (Office of the President)
    • กองกลาง
    • กองคลัง
    • กองแผนงาน
  • สำนักงานอธิการบดี อาคาร 2 (Office of the President 2) ประกอบด้วย
    • กองการเจ้าหน้าที่
    • กองอาคารและสถานที่
  • อาคารพลศึกษา, สนามกีฬากลาง (Gymnasium)
  • หอพัก 9 หลัง อยู่ใกล้ทางออกประตู 9
  • อาคารแก่นกัลปพฤกษ์, สถานีวิทยุ F.M 103 (Kaen Kalapapluk Building, F.M.103 Radio Station)
  • งานรักษาความปลอดภัย (Security Office)
  • กองกิจการนักศึกษา (Student Affairs Division)
    • โรงอาหาร 2 (Cafeteria 2)
    • สภานักศึกษา (Student Coucils)
    • องค์การนักศึกษา (Student Union)
  • ศูนย์อาหารและบริการ (Cafeteria 1)
  • สมาคมศิษย์เก่า (Alumni Association)
  • อาคารขวัญมอ (Kwunmor Building)
  • คณะสัตวแพทยศาสตร์ (Faculty of Veterinary Medicine)
    • โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ (Veterinary Teaching Hospital)
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) (Demonstration School)

อยู่ใกล้บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดงทางเข้าประตู 1 ถนนมิตรภาพ

  • คณะเกษตรศาสตร์ (Faculty of Agriculture)
  • คณะเทคโนโลยี (Faculty of Technology)
  • สำนักวิทยบริการ (Central Library)
  • คณะวิทยาศาสตร์ (Faculty of Science) ประกอบด้วย
    • สถาบันวิจัยและพัฒนา (Research and Development Institute)
    • สำนักบริหารการวิจัย
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Faculty of Humanities and Social Sciences)
  • อาคารบริการวิชาการ ประกอบด้วย
    • สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ (Bureau Of Academic Administration and Development)
    • ศูนย์บริการวิชาการ (Academic Services Centre)
    • บัณฑิตวิทยาลัย (Graduate School)
  • ศาลาพระราชทานปริญญาบัตร (เดิม)
    • สโมสรอาจารย์-ข้าราชการ (Commencement Pavilion, Faculty Club)
  • ศูนย์คอมพิวเตอร์ (Computer Centre)
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Faculty of Engineering)
  • คณะวิทยาการจัดการ (Faculty of Management Sciences)
    • วิทยาลัยบัณฑิตการจัดการ (MBA)
  • คณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Education)
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Faculty of Architecture)
  • สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

(Institute for Economic Development and Cooperation for the Greater Mekong)

  • อาคาร 25 ปี (25 th aniversary Pavilion)
  • คณะเภสัชศาสตร์ (Faculty of Pharmaceutical Sciences)
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ (Faculty of Public Health)
  • คณะพยาบาลศาสตร์ (Faculty of Nursing)
  • คณะเทคนิคการแพทย์ (Faculty of Associated Medical Sciences)
  • คณะแพทยศาสตร์ (Faculty of Medicine)
    • โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (Srinagarind Hospital)
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ (Faculty of Dentistry)
    • โรงพยาบาลทันตกรรม (Dental Hospital)
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Arts)
  • พิพิธภัณฑ์สัตว์นํ้าสิรินธร มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
  • คณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law)
  • วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (College of Local Administration)

ชีวิตในมหาวิทยาลัย

กิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะจัดในช่วงต้นของการเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา การดำเนินรูปแบบของกิจกรรมมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละสถาบัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีระหว่าง รุ่นพี่ – รุ่นน้อง หรือรุ่นน้อง – รุ่นน้อง ส่งเสริมให้มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน[25]

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นกิจกรรมรับน้องใหม่เป็นกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การกำกับดูแลจากมหาวิทยาลัยโดยฝ่ายพัฒนานักศึกษาให้มีการดำเนินการที่เหมาะสม และเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะให้นักศึกษาได้พัฒนาบุคลิกภาพทั้งอารมณ์ สังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านสติปัญญาด้วย เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพและศักยภาพทั้งด้าน วิทยา ปัญญา จริยา และสามารถนำองค์ความรู้ตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศได้ โดยอาศัยการจัดกิจกรรมเป็นสื่อกลางควบคู่ไปกับการเรียนการสอน รูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่นักศึกษารุ่นพี่จะเป็นผู้จัดขึ้น ตลอดทั้งเป็นผู้ดำเนินการควบคุมกิจกรรม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่ขึ้นมาหลายรูปแบบแต่ที่จะนำเสนอให้ทราบมีดังต่อไปนี้

กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์[26] กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีใจรักในกิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่จากการที่ได้พบและประทับใจในกิจกรรมตอนที่เป็นน้องใหม่ ความอบอุ่นของกิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่ ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่อมาสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆให้กับนักศึกษา หรือนักศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในภาคเรียนต้น หรือที่เรียกว่า “ Freshy ” กลุ่มสัมพันธ์จะประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มนักศึกษาใหม่ที่เข้ามาในปีการศึกษานั้นๆ เป็นกลุ่มคละกันทุกคณะ มีทั้งหมด ๒๕ กลุ่ม โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ A – Z ในที่นี้จะยกเว้นกลุ่ม F เพราะถือว่าชื่อไม่เป็นมงคลสำหรับนักศึกษา ซึ่งเป็นเกรดที่ทุกคนไม่อยากที่จะได้ ในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม ซึ่งผ่านการฝึกซ้อมใช้เวลาในช่วงเวลาเปิดภาคเรียนที่ ๓ หรือที่เรียกกันว่า “ซัมเมอร์” นั่นเอง ตลอดระยะเวลานี้จะเป็นช่วงการฝึกซ้อม การอบรม การใช้กิจกรรมที่เหมาะสม นันทนาการสร้างความบันเทิง การ สร้างความสนุกสนาน การสร้างความเป็นผู้นำ การดูแลน้องอย่างปลอดภัย กิจกรรมสถานการณ์จำลองเพื่อให้แก้ปัญหา การร้องเพลงอย่างถูกต้อง การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเป็นมหาวิทยาลัยโดยไม่แบ่งว่าใครอยู่คณะใด และกิจกรรมเสริมต่างๆมากมาย เพื่อให้พี่เลี้ยงน้องใหม่มีประสบการณ์ที่หลากหลายมาถ่ายทอดให้น้องในกลุ่มของตน การจัดกิจกรรมปีที่ผ่านมานั้นใช้ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม ๓ วันก่อนเปิดภาคการศึกษา ซึ่งเป็นวันที่ พี่เลี้ยงน้องใหม่ เฝ้าคอยอย่างใจจดใจจ่ออยากที่จะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้น้องใหม่ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมที่มีระยะเวลาไม่นานแต่ก็ทำให้พี่เลี้ยงน้องใหม่รักน้องใหม่เหมือนหนึ่งในสายเลือดเดียวกัน ผสานความเป็นหนึ่งแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่อยากได้รูปแบบกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเรา แต่ก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบนี้ได้เป็นมหาวิทยาลัยเดียวในโลก

กิจกรรมวันรวมช่อกาลพฤกษ์และไหว้ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง[27] กิจกรรมวันรวมช่อกาลพฤกษ์และไหว้ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๕เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวโดยนักศึกษาใหม่หรือน้องใหม่ทุกคนนั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ความเป็นสิริมงคลปีที่ผ่านมาจะมีการลอดซุ้มแสดงความเป็นเลือดสีอิฐโดยผ่านดินแดง และสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งยังเป็นการสร้างโอการสให้น้องใหม่ได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสืบทอดวัฒนธรรมอันดีต่อไป กิจกรรมที่ผ่านมานั้นจะใช้ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม ๑ วันโดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือช่วงเช้าเป็นการรวมน้องใหม่ตามกลุ่มต่างๆ และทยอยออกจากโรงยิมเดินออกมา เมื่อถึงสถานที่หมายจะใช้เวลาในการทวนเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สอนโดยพี่เลี้ยงน้องใหม่ตลอดระยะเวลา ๓ วัน ของกลุ่มสัมพันธ์ ในขณะที่รอเพื่อที่จะลอดผ่านขอนแก่นจำลองที่พี่เลี้ยงน้องใหม่ทำขึ้น ก็จะดำเนินกิจกรรมนันทนาการ หรือที่เรียกอย่างติดปากว่า “ สันทนาการ ” นั่นเอง ในวันนี้กิจกรรมต่างๆที่พี่เลี้ยงน้องใหม่เตรียมมาเพื่อให้น้องเล่นระหว่างการรอลอดซุ้มเพื่อจะไปสู่การสักการบูชาศาลเจ้าพ่อมอดินแดงนั้น เป็นกิจกรรมที่สุนกสนานไม่แพ้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เลย และเป็นวันที่น้องใหม่ของแต่ละกลุ่มมากันอย่างมากมาย นับเป็นภาพที่อบอุ่นและน่าภูมิใจอย่างยิ่งที่พี่น้องแห่งทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการรับน้องแบบสร้างสรรค์และดีงามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบัน (เชียร์กลาง) [28] กิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบัน (เชียร์กลาง) วันที่น้องใหม่ทุกคนจะมารวมกันที่สนามกีฬากลาง หรือสนามที่จัดเตรียมไว้เพื่อให้น้องใหม่ทุกคนได้พิสูจน์ความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นของตนเองหลังจากได้ร่วมกิจกรรมการรับน้องอย่างสร้างสรรค์มาอย่างหลากหลาย ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อนการเปิดภาคเรียน กิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคน ในกิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบันนั้นมีนักศึกษาใหม่ พี่ๆนักศึกษารุ่นพี่ และอาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและให้กำลังใจน้องอย่างใกล้ชิด รูปแบบของกิจกรรม คือ การทดสอบการร้องเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้นำเชียร์ที่ได้รับการฝึกซ้อมมาอย่างดีมาให้จังหวะการร้องเพลงแต่ละเพลงและมีประธานเชียร์ที่เป็นนักศึกษารุ่นพี่เป็นผู้พิจารณาการ ร้องเพลงตามจังหวะที่ถูกต้องและให้คำแนะนำและดูแลเรื่องการร้องเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักศึกษาใหม่โดยหัวหน้าผู้นำเชียร์จะเป็นผู้ควบคุมจังหวะการร้องเพลง วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้เพื่อให้น้องใหม่ร้องเพลงสถาบันได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น มีความอดทนเสียสละ เกิดความรักระหว่างน้องใหม่ด้วยกัน น้องใหม่กับรุ่นพี่ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่เกิดการแบ่งแยกคณะ การร่วมกิจกรรมนั้นจะแบ่งน้องใหม่ตามกลุ่มสัมพันธ์ A – Z ยกเว้น F โดยเรียงตามลำดับระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมนั้นจะอยู่ในช่วง ๒ วัน ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. ในวันก่อนเปิดภาคการศึกษาหรือวันแรกเปิดการศึกษาเป็นเพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนของนักศึกษาใหม่

กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่และปลูกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น[29] กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่และปลูกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของไทย และการสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ที่ถือว่าการมาอยู่ที่อยู่ใหม่นั้นสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงเป็นอันดับแรกคือการสร้างกำลังใจและความดีงาม การจัดกิจกรรมของทุกปีนั้นน้องใหม่จะมารวมตัวกันที่บริเวณสนามกีฬากลางตั้งแต่เวลาเช้าตรู่เพื่อมาตักบาตรข้าสารอาหารแห้งตามแต่จิตศรัทธาของผู้ที่มาตักบาตร แต่เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์อนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของไทย นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะเป็นกิจกรรมการปลูกต้นกัลปพฤกษ์ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่นตามพื้นที่บริเวณต่างๆของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นและเป็นการลดสภาวะโลกร้อนได้อีกทาง นับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับการลดสภาวะโลกร้อนมานานแล้ว ระยะเวลาการจัดกิจกรรมนั้นเป็นการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวัน และในวันเดียวกันนี้เองอาจมีการบริจาคโลหิตเพื่อเป็นการกุศลได้อีกทางหนึ่ง นับว่ามาวันนี้แล้วได้ทำความดีหลายๆอย่างเป็นความสุขของการเริ่มต้นการศึกษาในแดนขุมปัญญาของอีสานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว และในบางปีอาจมีกิจกรรมการแข่งกีฬากลุ่มสัมพันธ์เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีอีกทางหนึ่ง

กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่[30] กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่ เป็นกิจกรรมสร้างขวัญกำลังใจที่ดีของน้องใหม่ทุกคนโดยน้องใหม่ทุกคนจะได้เข้าร่วมพิธีที่หอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาอภิเษกมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ คณาจารย์ รุ่นพี่และบุคคลต่าง มีส่วนร่วมในพิธีด้วย การผูกข้อมือนั้นเป็นการแสดงความห่วงใย กำลังใจและความรักที่มีต่อกัน การดำเนินกิจกรรมจะอยู่ในช่วงเสาร์ หรืออาทิตย์ของสัปดาห์แรกในการเปิดภาคเรียน เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและเรียกขวัญกำลังใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน การร่วมกิจกรรมนั้นน้องใหม่จะต้องแต่งกายเป็นชุดเสื้อม่อฮ่อมเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ที่เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน โดยในวันนี้พี่เลี้ยงน้องใหม่ที่ดูแลน้องใหม่มาตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมการรับน้องใหม่นั้นก็จะมาดูแลน้องทุกคนและร่วมร้องเพลงเพื่อสร้างกำลังใจในการเรียนรู้และต่อสู้กับปัญหาชีวิตที่จะเกิดขึ้นในระหว่างความรับผิดชอบที่ตนต้องประสบพบเจอในมหาวิทยาลัย

ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยรวมคือสร้างความเป็นสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่น้องใหม่ ให้น้องใหม่เกิดความรัก ความภูมิใจในสถาบัน เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เน้นความมีระเบียบวินัย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องและเพื่อให้น้องใหม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นอย่างดี

ส่วนการเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะใช้เวลาใกล้เคียงกับการเรียนใน มหาวิทยาลัยอื่น โดยทั่วไปจะใช้เวลา 4 ปีในการเรียน แต่สำหรับคณะศึกษาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะใช้เวลา 5 ปี ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จะใช้เวลา 6 ปี ตลอดระยะเวลาการเรียน มีทั้งการเรียนในคณะของตนเอง และการเรียนวิชานอกคณะได้ พบปะกับบุคคลในคณะอื่น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ไม่ว่าการเข้าชมรมของมหาวิทยาลัย การเข้าชมรมของคณะ การเล่นกีฬา หรือการพบปะกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันที่

หน่วยงานที่ควบคุมดูแล

สโมสรนักศึกษา
ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษาของแต่ละคณะ เช่น สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์, สโมสรนักศึกษาคณะเกษตร, สโมสรนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์, สโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, สโมสรนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น
ชมรมนักศึกษา
เป็นหน่วยงานนักศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของชมรมต่างๆ ได้แก่ ชมรมกอล์ฟ, ชมรมจักรยาน, ชมรมฟุตบอล, ชมรมยูโด, ชมรมบาสเกตบอล, ชมรมพัฒนาอนามัย, ชมรมเศรษฐกิจพอเพียง, ชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทย, ชมรมวิทยุสมัครเล่น, ชมรมยิงปืน, ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล่อมและทรัพยากรธรรมชาติ, ชมรมประสานงานนักศึกษาเพื่อน้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา, ชมรมดาบไทย, ชมรมสมาธิและศีลธรรม, ชมรมพุทธศาสน์และประเพณี, ชมรมหมากกระดาน เป็นต้น

ประเพณีในมหาวิทยาลัย

งานลอยกระทง
งานลอยกระทงจัดขึ้นทุกทุกปีในวันลอยกระทง โดยจัดให้มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และ การแสดงของมหาวิทยาลัยซีหนาน (Southwest University) ประเทศ จีน ที่สวยงามตระการตา ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยการจัดงานประเพณีลอยกระทง นั้น เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้การทำนุบำรุงและการสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
พิธีสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดง
พิธีสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดงจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ พฤศจิกายน ณ มณฑลพิธีศาลเจ้าพ่อมอดินแดง ถือเป็นงานประเพณีที่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงถึงความเคารพบูชา และความศรัทธาของบุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีต่อศาลเจ้าพ่อมอดินแดง การจัดงานได้กำหนดให้มี พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อมอดินแดง การแสดงมหรสพสมโภช เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ ลิเก การแสดงจากชมรมนักศึกษาและการแสดงศิลปินพื้นบ้านอีสาน เป็นต้น

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร

การออกค่าย การออกค่ายอาสาสมัครของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลายองค์การ เช่น ชมรมอาสาพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะได้รับการเสนอชื่อการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องเป็นนิสิตที่ทำกิจกรรมในด้านต่างๆให้ครบหน่วยชั่วโมงกิจกรรม โดยกิจกรรมแต่ละประเภทจะเป็นการพัฒนานิสิตในด้าน จริยธรรมและคุณธรรม วิชาการและทักษะวิชาชีพ สุขภาพ โดยเป็นการพัฒนาตนเองและเป็นการทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ไฟล์:สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จแทนพระองค์.jpg
สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2525

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2511 และได้เสด็จพระราชดำเนินในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเรื่อยมา แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประจำทุกปี[31]

ดังนั้น วันพระราชทานปริญญาบัตรของทุกปี จึงจัดให้อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม ตามอย่างคราวรับพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรก

ในคราวรับพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่ตึกอธิการบดี อาคาร2 ชั้น 2 โดยนักศึกษาจะนั่งรับปริญญากับพระหัตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดซึ่งนับเป็นพระกรุณาเป็นล้นพ้น ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิต ซึ่งเป็นปริญญาใบแรกของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อความเป็นศิริมงคล

ลำดับการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจะเรียงลำดับจากดุษฏีบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง มหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต และบัณฑิตจากคณะต่างๆเรียงตามการสถาปนาคณะดังนี้ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์บูรณาการ และคณะบริหารธุรกิจ

การเดินทาง

ไฟล์:รถขนส่งมวลชนมข..jpg
รถโดยสารฟรีที่ใช้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ไฟล์:Kku shuttlebus.jpg
รถโดยสารฟรีที่ใช้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  1. การเดินทางจากภายนอกเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีรถสองแถวที่วิ่งเข้าไปในมหาวิทยาลัยคือ สาย 8 (สีฟ้า) กับสาย 16 (สีแดง) เส้นทางการเดินรถมาจาก ถ.กลางเมือง (เมืองเก่า) ผ่านแฟรี่พลาซ่า-โซนกลางเมือง (ลงหน้าโรงเรียนกัลยา) -แยกศรีจันทร์-ร.ร.ขอนแก่นวิทย์-ขนส่งปรับอากาศ (ส่วนมากรถมาจาก กทม.และ จังหวัดใหญ่ๆ) -โซนกินข้าวตอนกลางคืน/แหล่งของฝาก-ถ.ประชาสโมสร-สวนรัชดา-บ.ข.ส.-แยกสามเหลี่ยม-ถ.มะลิวัลย์-ห้างเซ็นโทซ่า-ป้าย มข.-หอ.ศิลป์-หอกาญ-คอมแพลค-รพ.ศรีนครินทร์
  2. สำหรับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย นอกจากรถสองแถวแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีระบบขนส่งภายใน แบ่งออกเป็น 4 สาย[32]
    1. สายสีเหลือง เส้นทางเดินรถจาก หอพักนพรัตน์ (หอเก้าหลัง) สนามกีฬากลาง คณะเทคโนโลยี สำนักงานอธิการบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ หอพักคณะพยาบาลศาสตร์ หมู่บ้านศูนย์แพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศูนย์อาหารและบริการ (คอมเพล๊กซ์) สนามกีฬากลาง หอเก้าหลัง รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร
    2. สายสีนํ้าเงิน เส้นทางเดินรถจาก หอพักเก้าหลัง สนามกีฬากลาง คอมเพล๊กซ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ อาคารเวชวิชชาคาร (คณะแพทยศาสตร์) คณะเทคนิคการแพทย์ หมู่บ้านศูนย์แพทย์ สำนักงานอธิการบดี สนามกีฬากลาง หอพักเก้าหลัง รวมระยะทาง 6.7 กิโลเมตร
    3. สายสีแดง เส้นทางเดินรถจาก หอพักเก้าหลัง หอพักสวัสดิการนักศึกษา (หอแปดหลัง) สนามกีฬากลาง คอมเพล๊กซ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาคารขวัญมอ คณะสัตวแพทยศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง คณะศึกษาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ อาคารเวชวิชชาคาร (คณะแพทยศาสตร์) คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ หอพักนักศึกษาแพทย์ คณะเทคโนโลยี สนามกีฬากลาง หอพักสวัสดิการนักศึกษา หอพักเก้าหลัง รวมระยะทาง 7.09 กิโลเมตร
    4. สายสีส้ม เส้นทางเดินรถจากคณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หอพักนักศึกษาแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ อาคารเวชวิชชาคาร (คณะแพทยศาสตร์) คณะเภสัชศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศูนย์อาหารและบริการ (คอมเพล๊กซ์) คณะเกษตรศาสตร์

โดยทุกสายยกเว้นสายสีส้ม รถเริ่มออกจุดแรกที่บริเวณ รอยต่อระหว่างหอพักเก้าหลังและแปดหลัง ดังนั้นผู้ที่ขึ้นรถที่หอพักเก้าหลัง จึงต้องมาเปลี่ยนรถที่จุดดังกล่าว ส่วนสายสีส้ม มีจุดเริ่มต้นเดินรถ บริเวณคณะเกษตรศาสตร์ ด้านตรงข้ามกับยิมเนเซี่ยม โดยทุกสายรถจะออกทุก ๆ 5 นาที แต่ปรับการออกรถให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารด้วย

ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีที่มีชื่อเสียง

ดูเพิ่มรายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

นักการเมือง

ข้าราชการ

นักวิทยาศาสตร์/นักวิชาการ

นักธุรกิจ

นักร้อง/นักแสดง/พิธีกร

นักเขียน/นักแต่งเพลง

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 พระราชบัญญัติโอนกิจการการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงานสภาการศีกษาแห่งชาติ ไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๐๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่๘๓, ตอนที่ ๘ ก ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙, หน้า ๗๙
  2. หลักสูตรการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
  3. สารสนเทศ 2555 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนกิจการการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ....
  5. ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, "สารจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น", 30 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น : มหาวิทยาลัย, 2537, หน้า 3
  6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะเกษตรศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 63
  7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  8. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๐๘
  9. หนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พุทธศักราช 2552 : ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดน่ครพนม 25 ตุลาคม 2552
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 MEMOIR Khonkaen University (หนังสือรับน้องรุ่นที่ 39),2545
  11. ราชกิจจานุเบกศา เล่มที่ ๘๔, ตอน ๑๑๗ ก ฉบับพิเศษ, ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า 7
  12. เพลงประจำมหาวิทยาลัย
  13. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครบรอบ 10 ปี. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2517
  14. อธิการบดี มข.รับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยขอนแก่น, เล่ม ๑๓๐ ,ตอนพิเศษ ๗๕ ง, ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๖, หน้า ๖
  16. รายงานการประชุมคณบดี ครั้งที่ 8/2555 , http://home.kku.ac.th/meeting/Document2/dean8_55.pdf], หน้า 12
  17. รายงานการประชุมคณบดี ครั้งที่ 8/2555 , http://home.kku.ac.th/meeting/Document2/dean8_55.pdf], หน้า 12
  18. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๔๐ วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนกนครราชสีมา สรรพสิทธิประสงค์ สุรินทร์ อุดรธานี และวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จำนวน ๕ แห่ง, เล่ม ๑๑๔, ตอน ๗๖ ก, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๑
  19. ฐานข้อมูล Scopus สืบค้นวันที่ 7 ธันวาคม 2555
  20. 20.0 20.1 คู่มือนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2555
  21. บทสรุปผู้บริหาร รายงายผลการประเมินคุณภาพภายนอก สถาบันอุดมศึกษา
  22. มข.ชนะการประกวดสถานศึกษาที่มีระบบประกันคุณภาพได้มาตรฐาน ติดอันดับ 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษา
  23. Khon Kaen University
  24. ASTVผู้จัดการออนไลน์, มข. ปลื้ม! เว็บไซต์ ติดอันดับ160 ของโลก อันดับ 24 ของเอเชีย, 13 มกราคม 2552 11:50 น.
  25. สาวสายเดี่ยว. (ม.ป.ป.). รับน้องอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง. ค้นข้อมูล 20 กรกฎาคม 2549,
  26. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  27. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  28. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  29. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  30. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  31. พระบรมราโชวาท ในการพระราชทานประกาศนียบัตรแก่เวชบัณฑิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  32. http://www.news.kku.ac.th/kkunews/index.php?option=com_content&task=view&id=2160&Itemid=5

แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 16°27′42″N 102°49′02″E / 16.4616037°N 102.8173542°E / 16.4616037; 102.8173542