ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Tkit9s2o (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 6: บรรทัด 6:
| ฐานันดร = พระองค์เจ้า
| ฐานันดร = พระองค์เจ้า
| วันประสูติ = [[27 พฤศจิกายน]] [[พ.ศ. 2453]]
| วันประสูติ = [[27 พฤศจิกายน]] [[พ.ศ. 2453]]
| วันสวรรคต = [[5 กุมภาพันธ์]] [[พ.ศ. 2538]]
| วันสิ้นพระชนม์ = [[5 กุมภาพันธ์]] [[พ.ศ. 2538]]
| พระอิสริยยศ = พระเจ้าวรวงศ์เธอ
| พระอิสริยยศ = พระเจ้าวรวงศ์เธอ
| พระบิดา =
| พระบิดา =

รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:18, 5 กันยายน 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
ประสูติ27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453
สิ้นพระชนม์5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
หม่อม
ราชวงศ์ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์
พระมารดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล

พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือ พระองค์ชายใหญ่ (27 พฤศจิกายน 2453 - 5 กุมภาพันธ์ 2538) เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับละครและภาพยนตร์ รวมทั้งทรงพระนิพนธ์เรื่องและคำร้องเพลงประกอบหลายเรื่อง อีกทั้งโปรดการสะสมโบราณวัตถุด้วย

พระประวัติ

เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระครรโภทรกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีพระอนุชา 2 พระองค์ คือ

ทรงศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ แล้วเสด็จกลับมาทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ทรงรับราชการที่กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในหลายประเทศ โปรดการละครและภาพยนตร์ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง ในด้านดนตรีโปรดนิพนธ์คำร้องเพลงต่าง ๆ หลายเพลง อาทิ เพลงบัวขาว เพลงเรือนแพ เพลงลมหวน อีกทั้งโปรดการสะสมโบราณวัตถุด้วย

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่บ่อยครั้ง คนทั่วไปจึงออกพระนามของพระองค์ว่า เสด็จพระองค์ชายใหญ่

สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 พระชันษา 85 พรรษา

ครอบครัว

ทรงเสกสมรสกับหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล หม่อมบุญล้อม ยุคล ณ อยุธยา หม่อมปริม ยุคล ณ อยุธยา และหม่อมไฉไล ยุคล ณ อยุธยา โดยมีโอรสธิดาดังนี้

หม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล

หม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล เดิม หม่อมหลวงสร้อยระย้า สนิทวงศ์ ธิดา หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ กับนางยี่สุ่น สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (มังกรพันธ์) มีพระโอรสธิดา [1] ได้แก่

หม่อมบุญล้อม ยุคล ณ อยุธยา

มีพระโอรส คือ

  • หม่อมเจ้าภูริพันธุ์ ยุคล หรือ ท่านเป๋อ (7 พ.ย. 2477 - ) เษกสมรสกับ หม่อมนิติมา ยุคล ณ อยุธยา หรือ หม่อมติ๋ม (ยนเปี่ยม)
    • หม่อมราชวงศ์อัครินทร์ ยุคล หรือ ชายบอมบ์ (11 ก.ย. 2509 - ) สมรสกับ นางศยามล ยุคล ณ อยุธยา (กุลพิจิตร)
      • หม่อมหลวงสายสวลี ยุคล หรือ คุณพลอย (13 พ.ย.2539 - )
      • หม่อมหลวงอธิวัตน์ ยุคล หรือ คุณอุ้ม (12 ธ.ค. 2544 - )
      • หม่อมหลวงสิริสวลี ยุคล หรือ คุณเพลิน (1 ส.ค. 2547 - )
    • หม่อมราชวงศ์ทักขิญ ยุคล หรือ ชายปืน (18 มี.ค. 2511 - ) สมรสกับ นางสาวลัญจพร ยุคล ณ อยุธยา (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา)
      • หม่อมหลวงนิภาภิรมย์ ยุคล หรือ คุณนิภา (4 เม.ย. 2556 - )

หม่อมปริม ยุคล ณ อยุธยา (บุนนาค)

ไม่มีพระทายาท

หม่อมไฉไล ยุคล ณ อยุธยา

มีพระโอรสธิดา ได้แก่

  • หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล หรือ ท่านปีใหม่ (1 ม.ค. 2521 - ) เษกสมรสกับ หม่อมอัญวิดา ยุคล ณ อยุธยา (สง่าศิลป์) มีธิดาดังนี้
    • หม่อมราชวงศ์หญิงพริมา ยุคล (คุณหญิงชะพลู)
    • หม่อมราชวงศ์หญิงนภพิมพ์ ยุคล (คุณหญิงกะทิ)
  • ท่านหญิงภาณุมา พิพิธโภคา หรือ ท่านหญิง (20 มิ.ย. 2524 - ) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เพื่อเษกสมรสกับนายเมธ พิพิธโภคา

ละครและภาพยนตร์

ทรงก่อตั้ง บริษัทไทยฟิล์ม ร่วมกับนายพจน์ สารสิน และนายประสาท สุขุม สร้างภาพยนตร์ 35 มม.ขาวดำ ไวด์สกรีน เสียงในฟิล์ม เรื่องแรก ถ่านไฟเก่า ฉายในช่วงปีใหม่ (เม.ย.) พ.ศ. 2481 ตามด้วยเรื่อง แม่สื่อสาว วันเพ็ญ จุดใต้ตำตอ ปิดทองหลังพระ และเรื่องสุดท้าย ลูกทุ่ง (2483) ก่อนยุติบทบาทลงเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนและได้ขายกิจการกับโรงถ่ายให้แก่กองทัพอากาศไปในปีนั้น อย่างไรก็ตามเพลง "บัวขาว" และ "ในฝัน" จากภาพยนตร์เรื่องแรกและอีกหลายเพลงในเรื่องต่อๆมายังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน

เสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงตั้งคณะอัศวินการละคร สัญลักษณ์ "พระอัศวเทพ" ในยุคละครเวทีเฟื่องฟู มีผลงานเด่น ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. 2494 ผู้ชมเรียกร้องให้นำนวนิยายเรื่อง บ้านทรายทอง ที่กำลังดังมากเวลานั้นมาทำเป็นละครเวที ทรงให้ สวลี ผกาพันธ์ และ ฉลอง สิมะเสถียร แสดงนำ ได้รับความสำเร็จอย่างสูง ทั้งได้ทรงพระนิพนธ์คำร้องเพลงเอก ชื่อ หากรู้สักนิด ซึ่งกลายเป็นเพลงอมตะคู่บทประพันธ์ ,มโนราห์ ละครที่มีคำร้องของเพลงเอกงดงามในเชิงวรรณศิลป์อย่างยิ่ง นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธ์ และ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ฯลฯ

ชื่อละครเรื่องหนึ่งคือ บุษบาริมทาง นำแสดงโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เสด็จฯได้ทรงประทานชื่อละครเรื่องนี้แก่คณะผู้บริหารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ตามที่ได้ทูลขอประทานอนุญาตใช้เป็นชื่อภาษาไทยสำหรับภาพยนตร์เพลงยิ่งใหญ่จากฮอลลีวู๊ดเมื่อ พ.ศ. 2507 อีกเรื่องที่มีชื่อเสียงคือ พันท้ายนรสิงห์ ได้ทรงนำบทละครเวทีของอัศวินที่เคยได้รับความนิยมมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัทอัศวินภาพยนตร์ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.สี พากย์สด นำแสดงโดย ชูชัย พระขรรค์ชัย และ สุพรรณ บูรณพิมพ์ กำกับการแสดงโดย ครูมารุต ฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง พ.ศ. 2493 (ฉายซ้ำในปี พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2509) ภายหลังอีกหลายปีได้ขยายภาพและบันทึกเสียงลงฟิล์ม 35 ม.ม.ฉายที่โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ ประตูน้ำ (2518)

อัศวินยังคงสร้างภาพยนตร์เรื่องยาว 16 มม. เช่นเดียวกับค่ายหนังไทยทั่วไปในสภาวะเศรษฐกิจหลังสงครามระยะแรกๆ ขณะนั้น จนถึง นเรศวรมหาราช เป็นเรื่องสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2500

เมื่อบรรยากาศบ้านเมืองเข้าสู่สภาพปกติ จึงเดินหน้าพัฒนางานสร้างระดับมาตรฐานสากลอีกครั้ง ใช้ฟิล์มสี 35 มม.ถ่ายทำในระบบจอโค้งใหม่ล่าสุด "ซีเนมาสโคป " ด้วยกล้องและเลนส์รวมทั้งอุปกรณ์บันทึกเสียงระดับสตูดิโอฮอลลีวู๊ดมูลค่ามหาศาล ซึ่งมีเฉพาะที่อัศวินเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2519 เริ่มจาก เรือนแพ ,จำปูน ,เป็ดน้อย ,ละครเร่ ,เรารักกันไม่ได้ ,น้ำผึ้งขม และ ทะเลฤๅอิ่ม ตามลำดับ (สามเรื่องแรกได้ดาราของชอว์ บราเดอร์ส ร่วมแสดงด้วย) ตามด้วยโครงการสร้างภาพยนตร์อีก 3-4 เรื่องในนามอัศวินอินเตอร์เนชั่นแนล แต่ยกเลิกไป

เรื่องสุดท้าย เงาะป่า ทรงสร้างจากบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในรัชกาลที่ 5 และทรงกำกับการแสดงร่วมกับเปี๊ยก โปสเตอร์ ในนาม อัศวินภาพยนตร์ - ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น พ.ศ. 2523

ทรงได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2540 บุคคลยอดเยี่ยมแห่งวงการภาพยนตร์ไทย (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ สักกะ จารุจินดา)

ผลงานภาพยนตร์

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ใบปิดภาพยนตร์ พันท้ายนรสิงห์ (2493)

ไทยฟิล์ม

ภาพยนตร์ขาวดำ 35 มม.ระบบไวด์สกรีน เทคนิคอคาเดมิค บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ

  • ถ่านไฟเก่า (2481) - สร้างปี 2480 ในนามบริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด เรื่องและกำกับการแสดงโดย ภาณุพันธ์ ถ่ายภาพโดย ประสาท สุขุม บันทึกเสียงโดย ชาญ บุนนาค แสดงโดย เกลียวพันธ์ บุนนาค ทองแท้ สดศรีทอง ตัวแสดงประกอบได้แก่ ไพฑูรย์ และ สุ่น ถ่ายทำที่ จ. สงขลา เป็นเรื่องราวความรักของลูกครึ่งจีนไทยชาวใต้ ที่เกิดความวุ่นวายสุดท้ายต้องสลับคู่กันในวันแต่งงาน มี 2 เพลง คือ ในฝัน และ บัวขาว
  • แม่สื่อสาว (2481) - อำนวยการแสดงและกำกับการแสดงโดย ภาณุพันธ์ เรื่องโดยตะวัน ลัดดาวัลย์ ถ่ายภาพโดย ประสาท สุขุม บันทึกเสียงโดย ชาญ บุนนาค ลำดับภาพโดย ม.ร.ว. อนุศักดิ์ หัสดินทร์ ช่างศิลปโดย เฉลิม พันธุ์นิล นำแสดงโดย ศักดิ์ วีรศร และ โสภา อุณหกะ ร่วมด้วย สอาด บุนนาค ,นิตย์ มหากนก, สายจิตร์ อาจน้อย ฉายเมื่อวันที่ 9 – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2481 มีเพลง ลมหวน และ เพลิน
  • วันเพ็ญ (2482) - สร้างปี พ.ศ. 2482 เรื่องและกำกับการแสดงโดย ภาณุพันธ์ นำแสดงโดย ปริม บุนนาค และ ประดิษฐ์ อุตตะมัง มีเพลงคือ วันเพ็ญ และ ดอกไม้
  • ปิดทองหลังพระ (2482) - ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง อำนวยการสร้าง กำกับการแสดงและประพันธ์เรื่องโดย ภาณุพันธ์ ถ่ายภาพโดย ประสาท สุขุม บันทึกเสียงโดย ชาญ บุนนาค มี 6 เพลง เช่น แรกรัก ,สายสิโหมง และ ฮัชชัชชา ประพันธ์ โดย ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์ นำแสดงโดย ทวี ณ บางช้าง (ทวี มณีสุนทร) และ สุภาพ สง่าเมือง ตัวแสดงประกอบได้แก่ พระยาบำรุงราชบริพาร, ลิขิต สารสนอง, อบ บุญติด, รวมพันธุ์, ศรี กุลศรี, ไพฑูรย์, สุ่น, พนม สุทธาศิริ
  • ลูกทุ่ง (2483) - สร้างปี พ.ศ. 2482 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2483 ที่ ศาลาเฉลิมกรุง สร้างและกำกับโดยทีมงานเดียวกับเรื่องปิดทองหลังพระ นำแสดงโดย โปร่ง แสงโสภณ และ สมพร เฉลิมศรี พร้อมนักแสดงประกอบได้แก่ ละม่อม พุ่มเสนาะ, เสริม ประสพชัย, อบ บุญติด, โต คุ้มสอน และ พรรณี กาญจนันทุ มี 5 เพลง ได้แก่ เงาไม้ แรกรัก ต้อนกระบือ เกี้ยวสาว และ ไม้งาม

อัศวินภาพยนตร์

ภาพยนตร์สีธรรมชาติ 16 มม.พากย์สด

ไฟล์:เรือนแพ(2504).jpg
ใบปิดภาพยนตร์ เรือนแพ รุ่นที่ 2 (2506)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพยนตร์สีธรรมชาติ 35 มม.

  • ถ่านไฟเก่า (2500) - สร้างครั้งที่ 2 นำแสดงโดย สมบัติ คงจำเนียร และ วิไลวรรณ วัฒนพานิช ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2500 ที่ศาลาเฉลิมไทย
  • สองพี่น้อง (2501) - นำเรื่องเดียวกับลูกทุ่ง (2483) มาสร้างใหม่ ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2501 ที่เอ็มไพร์ นำแสดงโดย สถาพร มุกดาประกร, เรณู พิบูลย์ภาณุวัฒน (ภมรมนตรี) , ปิต กำเนิดพลอย, สมจิตร มุกดาประกร, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย และ อบ บุญติด
  • สุดชีวิต (2503) - นำแสดงโดย สุพรรณ บูรณพิมพ์ ,ไชยา สุริยัน , อมรา อัศวนนท์ และ อาคม มกรานนท์ รางวัลพระสุรัสวดี ประจำปี 2503 (ออกแบบและสร้างฉาก)
  • 15 นาทีในอินเดีย (16 มม.) - รางวัลพระสุรัสวดี ประจำปี 2503 (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม บทภาพยนตร์)

ภาพยนตร์สีอัศวินอีสต์แมน 35 มม. ระบบอัศวินซูเปอร์ซีเนสโคป (เสียงพากย์ในฟิล์ม 2504-2523)

  • เรือนแพ / Houseboat (2504) - นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน , มาเรีย จาง, จินฟง และ ส.อาสนจินดา ฉายครั้งแรกในเปี พ.ศ. 2504 และอีกสองครั้ง ที่ศาลาเฉลิมไทย รางวัลพระสุรัสวดี ประจำปี 2505 (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดารานำชาย ดาราประกอบชาย ออกแบบและสร้างฉาก บันทึกเสียง) มีเพลงเก่า คือ บัวขาว วันเพ็ญ เงาไม้ และเพลงใหม่ชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร
  • เป็ดน้อย / The Ducklin' (2511) - นำแสดงโดย สุทิศา พัฒนุช (เรื่องแรก), ไชยา สุริยัน และ จินฟง เรื่องความรักต่างชนชั้นของสาวชนบทกับหนุ่มผู้ดีมีศักดิ์ท่ามกลางความรังเกียจของญาตพี่น้องฝ่ายชาย มีเพลงเก่า คือ ต้อนกระบือ เพลินไพ่ตอง (เพลงดัดแปลงจาก "เพลิน") และเพลงใหม่ เช่น ตะวันรุ่น สามคำจากใจ รักฉันสักนิด ริน ริน ริน และ เป็ด (ทรงเคยทดลองทำเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขาวดำ นำแสดงโดย ทม วิศวชาติ ,บุศรา นฤมิตร และจันตรี สาริกบุตร ก่อนขยายบทสร้างเป็นภาพยนตร์ประกอบเพลงเรื่องนี้)
  • เรารักกันไม่ได้ / Love Without Heart (2513) - เรื่องของคอมมิวนิสต์สาวที่ฝ่าฝืนกฎของลัทธิข้อห้ามมีความรักใคร่ผสมแนวผีปีศาจ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี ,สุทิศา พัฒนุช, เมตตา รุ่งรัตน์ ,วิไลวรรณ วัฒนพานิช , มานพ อัศวเทพ และ สมชาย สามิภักดิ์ เพลงเอกชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง
  • น้ำผึ้งขม/ Bitter Honey (2517) - สร้างจากบทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน เรื่องของชายหนุ่มนักธุรกิจมีความแค้นฝังใจกับแฟนสาวที่ทิ้งเขาไป เมื่อหญิงสาวกลับมาขอความช่วยเหลือจากเขา เขาจึงแก้แค้นด้วยการซื้อตัวลูกสาวของเธอ ก่อนที่ความรักจะหลอมละลายให้ความแค้นในใจเขาดับไป [2] นำแสดงโดย นฤมล นิลวรรณ , สอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ , อมรา อัศวนนท์ , ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์
  • เงาะป่า (2523) - เรื่องสุดท้ายที่ทรงสร้างร่วมกับไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ดัดแปลงจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่องเงาะป่าของ รัชกาลที่ 5 นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์ และ ศศิธร ปิยะกาญจน์ ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประจำปี 2523 (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กำกับการแสดง ดารานำชาย บทภาพยนตร์ ประพันธ์เพลง เพลงและดนตรีประกอบ บันทึกเสียง) และรางวัลพระสุรัสวดี ประจำปี 2524 (ผู้แสดงประกอบชาย ดนตรีประกอบ) ฉายที่พาราเมาท์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  2. http://www.fapot.org/index.php/en/jevents/icalrepeat.detail/2011/07/24/28/62/MmI1NDRhYzZmZDI1YTJjYWMxZjRhNDA1YzlkMDg1ZWY=
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๖๓, ตอน ๑๗ ง, ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๔๒๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐, ตอน ๑๗ ง, ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖, หน้า ๑๐๑๐