ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 3: บรรทัด 3:
| สีพิเศษ = Skyblue
| สีพิเศษ = Skyblue
| image =[[ไฟล์:พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี2.jpg|246px]]
| image =[[ไฟล์:พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี2.jpg|246px]]
| พระนาม = สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี<br>พระอัครราชเทวี
| พระนาม = สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
| พระนามเต็ม =
| พระนามเต็ม =
| วันประสูติ = [[10 พฤษภาคม]] [[พ.ศ. 2404]]
| วันประสูติ = [[10 พฤษภาคม]] [[พ.ศ. 2404]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 01:47, 18 กรกฎาคม 2556

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ไฟล์:พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี2.jpg
พระอัครราชเทวี
ประสูติ10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404
สิ้นพระชนม์9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ราชวงศ์ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาสำลี

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 หรือที่ถวายเรียกกันว่า เสด็จพระนาง เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสกุลบุนนาค เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404) ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี หรือเสด็จอธิบดี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระมเหสีลำดับ ๓ ตำแหน่ง พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5

พระองค์เป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์แรกที่มีพระชนม์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการสถาปนาไว้ในที่ "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา

พระประวัติ

ประสูติ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสกุลบุนนาค เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพ ในฐานะพระราชธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา ทรงพระราชพิธีถวายมหาสมณุตมาภิเษก จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี" พระบรมราชบิดาทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานพระนามเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลไว้ว่า

"ธิดาของเราที่บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี[note 1] จงทรงนามนั้นไว้ มีความสุขเสมอ อนึ่ง จงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีบริวารงดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ"

พระองค์เป็นพระราชธิดา "รุ่นกลาง" เช่นเดียวกันกับ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งต่อมา ได้ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบมา พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในฐานะพระขนิษฐภคินี ทรงเปลี่ยนพระฐานะจาก พระเจ้าลูกเธอ เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พระมเหสีในรัชกาลที่ 5

เมื่อมีพระชนมายุได้ประมาณ 17 พรรษา จากหลักฐานที่ปรากฏพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้น "ลูกหลวง" พระองค์ที่สองที่ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังพระองค์เจ้าสุขุมาลฯมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรในปี 2420 ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) พระองค์แรกที่มีพระชนม์[note 2] พระองค์จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[ต้องการอ้างอิง]

หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี" โดยมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Royal Highness the Princess Consort" (หรือบางครั้งทรงใช้ Her Royal Highness Phra Nang Chao Phra Raj Dhevi)[ต้องการอ้างอิง] และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาลโดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี[ต้องการอ้างอิง]

พระปิตุจฉาในรัชกาลที่ 6 และ 7

พระรูปทรงฉายเมื่อทรงพระเยาว์

เมื่อผลัดแผ่นดิน พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โศกสลด และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหมซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของพระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังทุกประการ และสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาพระองค์เดียวนั้นได้สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 นี้เอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี ซึ่งทรงเป็น "เสด็จอธิบดี" ว่าราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ได้เสด็จออกมาประทับยังวังบางขุนพรหมเพื่อปลอบโยนพระราชหฤทัยพระพี่นางฯในครั้งนั้นด้วย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty Queen Sukumalmarsri, Royal Consort of His Majesty King Chulalongkorn" ทั้งนี้ มิได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศในทางราชการแต่อย่างใด จึงยังทรงดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีจนตลอดรัชกาลที่ 6

มีเกร็ดเล่ากันว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือพระนามโดยย่อว่า สมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 และ 7 นั้น เนื่องจากทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีมาแต่รัชกาลก่อน ทรงครองพระอิสริยยศสูงสุดเหนือบรรดาพระมเหสีทั้งปวง ประกอบกับทรงเป็น "น้องเล็ก" มาก่อนจึงค่อนข้างแต่จะทรงเอาพระราชหฤทัยพระองค์เอง แต่ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีซึ่งทรงครองพระราชอิสริยยศสมเด็จพระอัครมเหสีมาแต่เดิม และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทั้ง 2 พระองค์นั้นในฐานะพระเชษฐภคินี (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ พระบรมราชเทวีนั้น เป็นพระโสทรเชษฐภคินี คือทรงร่วมพระราชบิดา-มารดาเดียวกันกับสมเด็จพระพันปีหลวง ส่วนพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีนั้น เป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระราชบิดา แต่ต่างพระมารดากันกับสมเด็จพระพันปีหลวง) ก็ทรงประทานอภัยให้เสมอ ในปลายรัชกาลที่ 6 ก่อนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จะเสด็จสวรรคตไม่นานนั้น สมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวรสมเด็จพระพันปีหลวง ณ พระราชวังพญาไท อันเป็นพระราชสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวงตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพันปีหลวงนั้นถึงกับทรงลงไปกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทสมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้ว 3 พระองค์พี่น้องก็ทรงกอดกันทรงพระกันแสง จนนางพระกำนัล นางสนองพระโอษฐ์ที่อยู่แถวนั้นต้องร้องไห้ตามๆ กันไป[1]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีมีต่อพระองค์จึงทรงเฉลิมพระนามาภิไธยถวายเป็น "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า" และด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทรงเลื่อนพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี"[2] และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระนามาภิไธยของทั้ง 2 พระองค์เป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty the Queen Aunt" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระอิสริยยศของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมเหสีลำดับสาม จึงมีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 7 นับว่าได้มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์หนึ่งเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระอัครมเหสีอีก 3 พระองค์ในรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากตามลำดับศักดิ์แล้วสมเด็จพระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นตำแหน่งสมเด็จอัครมเหสีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 จึงต้องมาก่อนถึงจะเป็นพระอัครมเหสีเหมือนกันก็ตาม ขณะนั้นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ 7 ยังทรงพระชนม์อยู่ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวีจึงมีพระอิสริยศักดิ์เป็นลำดับสองไปโดยปริยาย กอปรกับเป็นการเลื่อนพระยศในเวลาที่ล่วงมาแล้วถึง 2 รัชกาลอีกประการหนึ่งด้วย พระยศจึงไม่อาจเท่ากับพระอัครมเหสีที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5 ดังเช่นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีได้ (ขณะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระอัครมเหสีทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว)

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ในรัชกาลที่ 7 มิได้เป็นพระปิตุจฉาฯ ในรัชกาลนั้นอีก ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนจึงมีประกาศให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทั้งนี้ ประกาศนี้มิใช่พระบรมราชโองการ และมิใช่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหนังสือ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย เจฟรีย์ ไฟน์สโตน ระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสถาปนาพระนางเจ้าฯ พระองค์นี้เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" หากแต่ในหนังสือ มหามงกุฎบรมราชสันตติวงศ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงวินิจฉัยว่า พระอิสริยยศสุดท้าย คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[ต้องการอ้างอิง]

ดังนั้น การออกพระนามาภิไธยในปัจจุบัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนสมควรออกพระนามาภิไธยโดยระบุรัชกาลให้ชัดแจ้งลงไป กล่าวคือ[ต้องการอ้างอิง]

  • พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 (ทรงดำรงพระยศนี้มาตลอดรัชกาลที่5และรัชกาลที่6)หรือ
  • สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7

แต่ควรออกพระนามว่า สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7 มากกว่า เนื่องจากเป็นพระราชอิสริยยศสุดท้าย และสูงกว่าพระราชอิสริยยศเดิม ดังเช่นที่ ให้ออกพระนาม เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

สิ้นพระชนม์

เหรียญที่ระลึก

ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ประมาณสิบวัน สมเด็จฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานพระพรให้แก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ความตอนหนึ่งว่า

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตอยู่จนได้ถวายพระพรเธอในปีนี้[ต้องการอ้างอิง]

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะ (ปอด) พิการในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม[3] พระชนมายุ 66 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พร้อมด้วยพระนัดดา และพระนัดดาทรงเลี้ยง ทรงหมอบเฝ้าฯ อยู่ข้างพระที่ พระศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย 100 วันเป็นกรณีพิเศษ พระเมรุ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงหนังสือ "สามก๊ก" แจกเป็นของที่ระลึก และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายหน้าพระศพทุกสัตมวาร

งานพระราชทานเพลิงพระศพจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

พระราชกรณียกิจ

ไฟล์:สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี.jpg
ในรัชกาลที่ 7 ทรงรับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และยังทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย เล่ากันว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทรงงานอยู่จนดึก พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็มักจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วย ทรงหมอบเขียนพระบรมราชโองการตามรับสั่งอยู่จนรุ่งเช้า ใกล้ ๆ กันนั้นมีเจ้าจอมก๊กออ ซึ่งเป็นพระญาติในราชนิกุลบุนนาค อยู่งานคอยถวายรับใช้ทั้ง 2 พระองค์[4]

ถึงแม้ว่าพระมเหสีชั้นลูกหลวงอีกสามพระองค์ จะได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปก็ตาม แต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีกลับมิเคยได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเลยจนตลอดรัชกาลที่ 5 (เพิ่งจะได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7 นี้เอง จากนั้นจึงถือว่าทรงดำรงพระยศพระอัครมเหสีพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ด้วย แต่การสถาปนาก็กระทำขึ้นเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วถึง 2 แผ่นดิน) พระฐานะอยู่ในลำดับกลาง ๆ เสมอมา ซึ่งอาจเพราะเหตุนี้ ถึงกับได้มีพระดำรัสว่า "แม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ" (จากพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)[ต้องการอ้างอิง] แม้แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีว่า

"ในรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีอยู่ตลอดรัชกาล โดยเหตุผลอันใดผู้เขียนไม่เคยได้ทราบ มีพระราชโอรส-ธิดาประสูติ 2 พระองค์ การที่ท่านไม่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จฯ นั้นเป็นของแปลก เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง"[5]

หลักฐานแห่งความ โปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นั้น มีปรากฏอยู่เนือง ๆ ดังเช่น พระมเหสีพระองค์นี้ น่าจะทรงเป็น "เมีย" คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชทานให้[6]พระราชนิพนธ์นั้นมีว่า

สุขุมาลโดยชาติเชื้อ เผ่าพันธุ์
กายกอปรวรลักษณ์อัน ละเอียดพร้อม
ไตรทวารประพฤติสรรพ์ สิ่งชอบ ควรแฮ
ละเอียดครบควรนบน้อม ท่านผู้ สุขุมาล

เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี พระมเหสีเทวี พระราชวงศ์ฝ่ายใน รวมถึงสนมกำนัลทั้งปวงจะประทับหรือนั่งเรือพระที่นั่งลำเดียวกับพระมหากษัตริย์มิได้ แต่ในคราวที่เสด็จประพาสบางปะอิน เมื่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงเตรียมการเรือพระที่นั่งเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพอดี พระราชเทวีจึงจำต้องรีบเสด็จออกไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสาร มีรับสั่งให้พระนางเจ้าฯ พระราชเทวีเสด็จกลับมาประทับภายในเรือพระที่นั่งองค์เดียวกัน จัดเป็นครั้งแรกที่มีพระราชวงศ์ฝ่ายในได้ประทับร่วมเรือลำเดียวกับพระมหากษัตริย์[7]

อีกหลักฐานหนึ่งแห่งความไว้วางพระราชหฤทัย ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์กับประเทศฝรั่งเศส (วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรอมพระราชหฤทัยมาก ถึงกับมีพระราชประสงค์จะเสด็จสวรรคต และได้ทรงพระราชนิพนธ์ความในพระราชหฤทัยขึ้นมา และพระราชนิพนธ์นั้นได้ทรงส่งไปพระราชทานเจ้านายเพียง 2 พระองค์เท่านั้น คือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ[8] ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระราชนิพนธ์นั้น โดยพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯได้ทรงพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพถวาย โคลงนั้นมีความว่า

สรวมชีพข้าบาทผู้ ภักดี
พระราชเทวีทรง สฤษฎ์ให้
สุขุมาลมารศรี เสนอยศ นี้นา
ขอกราบทูลท่านไท้ ธิราชเจ้าจอมสยาม
ประชวรหนักอกข้า ทั้งหลาย ยิ่งแล
ทุกทิวาวันบวาย คิดแก้
สิ่งใดซึ่งจักมลาย พระโรค เร็วแฮ
สุดยากเท่าใดแม้ มากม้วยควรแสวง
หนักแรงกายเจ็บเพี้ยง เท่าใด ก็ดี
ยังบหย่อนหฤทัย สักน้อย
แม้พระจะด่วนไกล ข้าบาท ปวงแฮ
อกจะพองหนองย้อย ทั่วหน้าสนมนาง

เมื่อคราวที่สมเด็จพระราชโอรสฯ เสด็จไปทรงศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อไปมาเสมอ มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งที่มีเนื้อความแสดงถึงความที่ทรงเป็น "แม่" อย่างสมบูรณ์อยู่ จึงขออัญเชิญ มา ณ ที่นี้ด้วย

"ในที่สุด โอวาทของแม่ฉบับนี้แม่ขอบอกแก่พ่อผู้เป็นลูกที่รักและที่หวังความสุขของแม่ให้ทราบว่า ตัวแม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ มักจะได้รับความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใดอันจะดับทุกข์ได้ นอกจากลูก เมื่อเวลาที่พ่อยังอยู่กับแม่แต่เล็ก ๆ มา ถึงหากว่าแม่จะมีความทุกข์มาสักเท่าใด ๆ เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกแล้ว ก็อาจจะระงับดับเสียได้ด้วยความรักและความยินดีของแม่ในตัวลูก ก็ในเวลาซึ่งพ่อไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปนี้ พ่อจงรู้เถิดว่า ข่าวความงามความดีของพ่อนั้น และจะเป็นเครื่องดับความทุกข์ของแม่ และอย่าประพฤติชั่วนอกคำสั่งสอนของแม่ จงตั้งหน้าเล่าเรียนให้ได้รับความรู้โดยเร็ว จะได้กลับมาหาแม่โดยไม่นานปี"[ต้องการอ้างอิง]

ในฐานะลูก พี่ และแม่

ไฟล์:เจ้าจอมมารดาสำลีพระราชธิดา.jpg
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่5 (ประทับขวา) ทรงฉายพร้อมกับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา (นั่งกลาง) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดา (ประทับซ้าย) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พระกนิษฐา (ทรงยืน)

ถึงแม้ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงลืมความกตัญญูต่อเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา แม้ว่าท่านจะเป็นสามัญชนก็ตามที พระอิสริยยศที่สูงส่งเป็นถึงพระมเหสี มิได้ทำให้ทรงขาดความเคารพต่อพระมารดาแม้แต่น้อย แม้ว่าเจ้าคุณจอมมารดาจะโมโหดุว่าอย่างไร พระองค์ก็ไม่ทรงตอบโต้ ก่อนหน้าที่จะถึงพิราลัยไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา "เจ้าจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4" ขึ้นเป็น "เจ้าคุณจอมมารดาสำลี" เพราะเหตุที่ เป็นขรัวยายของสมเด็จเจ้าฟ้าโดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการพระราชทานตำแหน่งเจ้าคุณ อย่างเป็นทางการ[note 3][note 4] ครั้นเจ้าคุณจอมมารดาสำลีถึงพิราลัยล่วงไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษถึงกับให้เชิญศพตั้งในท้องสนามหลวงเพื่อที่พระราชเทวีจะได้มิต้องเสด็จไปไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในวันพระราชทานเพลิงศพถึงกับทรงเครื่องขาว และให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นลูกเธอในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมถึงพระราชนัดดาทรงเครื่องขาวด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ถึงแก่พิราลัย ก็มิได้พระราชทานเกียรติยศเช่นนั้น ทำให้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงวางพระองค์ลำบากไม่น้อย ทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม และเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระอัครมเหสีทั้ง 2 พระองค์ถึงกับทรงมีลายพระหัตถ์กราบถวายบังคมทูลลาจะสิ้นพระชนม์ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ก็ทรงพื้นเสีย และไม่รับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อยู่หลายวัน[9]

ในฐานะพระเชษฐภคินี ทรงรักใคร่พระกนิษฐามาก มีรับสั่งย้ำกับพระราชโอรส และพระราชนัดดาเสมอว่า แม่มีลูกสองคน แต่มีน้องเพียงคนเดียว ลูกรักแม่อย่างไรก็ขอให้รักน้าอย่างนั้นด้วย ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาตลอดจนพระราชนัดดาก็ได้ทรงรับสนองพระราชเสาวนีย์ด้วยดี พระราชนัดดานั้นทรงเรียกสมเด็จฯ ว่า "เสด็จย่า" และเรียกเสด็จฯ อธิบดีว่า "เสด็จย่าพระองค์เล็ก"[10]

และในฐานะพระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ถึงสองพระองค์ คงจะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีกว่าพระจริยวัตรของทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นพระราชธิดา และเป็นที่สนิทสิเน่หาของพระบรมราชบิดามาก โดยเป็นพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงถึงกรมหลวง[note 5] โดยมีพระนามกรมคือ ศรีรัตนโกสินทร[note 6] ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั้นก็เป็นพระราชโอรสที่โปรดปรานเช่นกัน ตรัสเรียกว่า "เจ้าฟ้านัมเบอร์ทู"[note 7] พร้อมกับทรงมอบหมายพระราชกิจสำคัญให้หลายอย่าง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นต้น ถึงขั้นหากว่าทรงขาดเฝ้าฯ ไปสักสองวัน จะมีพระบรมราชโองการว่า เจ้าชายหายไปไหนไม่เห็นมา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญาจะต้องรีบเสด็จออกมาตามพระองค์ไปเข้าเฝ้าฯ[11]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อักษรพระนามย่อ ส.ม.

พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังต่อไปนี้[3]

พงศาวลี

เชิงอรรถ

  1. พระนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ทรงเขียนว่า "สุขุมาลมารศรี" แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ เองทรงลงพระนามาภิไธยของพระองค์ว่า "สุขุมาลย์มารศรี"
  2. เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าชาย พระราชกุมารซึ่งประสูติแต่พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ในปี 2415 นั้นสิ้นพระชนม์แต่แรกประสูติ พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ พระชนนีทรงได้รับความกระทบกระเทือนพระทัยอย่างใหญ่หลวงจนเสียพระสติวิปลาสไป
  3. เพราะเดิมมานั้นเจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิง ใช้เรียกหมายถึงบุตรและบุตรีในพระกนิษฐาของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1 เจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิงเหล่านี้เป็นต้นสกุลบางช้าง แต่มิได้เป็นยศศักดิ์จริงๆ ใช้เพียงแต่เป็นการเรียกเท่านั้น
  4. เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้เป็นเจ้าคุณจอมมารดาอีกท่านหนึ่งคือสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา
  5. พระบรมวงศ์ที่เป็นน้อง และลูกทรงกรมได้ถึงชั้นกรมหลวง แต่โดยมากแล้ว กรมหลวงมักพระราชทานให้กับพระเจ้าน้องยาเธอ น้องนางเธอเท่านั้น โดยสมเด็จพระเจ้าลูก(ยา)เธอ เจ้าฟ้า รับพระราชทานที่กรมขุน และพระเจ้าลูก(ยา)เธอ พระองค์เจ้า รับพระราชทานที่กรมหมื่น
  6. (อ่านว่า สี-รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-ทอน เพื่อให้คล้องกับนครสวรรค์วรพินิต)
  7. เจ้าฟ้านัมเบอร์วันหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ้างจาก ราม วชิราวุธ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6

อ้างอิง

  1. เก็บความจากหนังสือ ในวังแก้ว พระประวัติตรัสเล่าของหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุลฯ
  2. ราชกิจจานุเบกษา, บรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระอิสริยศเฉลิมพระอภิไธยและเลื่อนกรมพระราชวงศ์, เล่ม 42, ตอน 0ก, วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2468, หน้า 372
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม 44, ตอน ง, 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2470, หน้า 1198
  4. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. ย้อยรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ 5
  5. จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย, ดวงกลมสมัย.2536 (หน้า203)
  6. เกร็ดกระทู้ – ตอน โคลงกลอนพระราชทานของรัชกาลที่ 5 แด่ “เมียรัก” #2
  7. เกร็ดกระทู้ – ตอน โคลงกลอนพระราชทานของรัชกาลที่ 5 แด่ “เมียรัก” #3
  8. ศึกษาธิการ, กระทรวง.ท 606 วรรณลักษณวิจารณ์ 2, ขัติยพันธกรณี
  9. ทั้งหมดเก็บความจากหนังสือ ในวังแก้ว พระประวัติตรัสเล่าหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล
  10. จุไรรัตนศิริมาน, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. พระประวัติจอมพล จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  11. เฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน, เล่ม 18, ตอน 46, 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444, หน้า 874
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น