ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระนางวิสุทธิเทวี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
RxAlchemiste (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 2: บรรทัด 2:
| สีพิเศษ = #ffcc00
| สีพิเศษ = #ffcc00
| สีอักษร = #8f5f12
| สีอักษร = #8f5f12
| ภาพ = ไฟล์:Visuddhidevi.jpg
| พระบรมนามาภิไธย =
| พระบรมนามาภิไธย =
| พระปรมาภิไธย = มหาเทวีวิสุทธิ
| พระปรมาภิไธย = มหาเทวีวิสุทธิ

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:28, 22 กันยายน 2555

พระนางวิสุทธิเทวี
มหาเทวี
ครองราชย์พ.ศ. 2107-2121
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์
รัชกาลถัดไปนอรธาเมงสอ
ประสูติไม่ปรากฏ
สวรรคตพ.ศ. 2121
พระราชบุตรพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์
มหาเทวีวิสุทธิ
วัดประจำรัชกาล
วัดราชวิสุทธาราม
พระปรมาภิไธย
มหาเทวีวิสุทธิ
ราชวงศ์มังราย

พระนางวิสุทธิเทวี หรือ มหาเทวีวิสุทธิ (? — พ.ศ. 2121) ทรงเป็นขัตติยราชนารีพระองค์หนึ่งที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา และเป็นพระกษัตรีย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่การปกครองอาณาจักรล้านนาจะตกไปสู่การปกครองของราชวงศ์ตองอู

มหาเทวีวิสุทธิได้ให้การยอมรับอำนาจของพม่า และสนองนโยบายการขยายอำนาจจากล้านนาไปสู่กรุงศรีอยุธยา และล้านช้าง โดยใช้ล้านนาเป็นที่มั่น และส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับเชียงใหม่ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112[1] และ พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ส่งกองทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองกองทัพ[2] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีมากของพระเจ้าบุเรงนอง รวมไปถึงพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดของพระนาง[3]

ด้วยที่ทรงพระราชฐานะที่พระนางเป็นเจ้านายอาวุโสตำแหน่งพระมหาเทวี หรือกษัตรีย์แห่งล้านนาที่ให้ความร่วมมือแก่พม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ดังการพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะ และหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี[3]

พระประวัติ

พระนางวิสุทธิเทวี มีตำแหน่งเป็นมหาเทวี คือ เป็น "พระราชมารดาของกษัตริย์" ซึ่งถือว่ามีพระนางนั้นมีบทบาททางการเมืองสูงมาก โดยมีหลักฐานยืนยันฐานันดรศักดิ์ของพระนาม ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่ (จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ) มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่) พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า) สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว (ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน)[4]

มหาเทวีวิสุทธิ ถือเป็นมหาเทวีที่มีบทบาททางการเมืองสูง เช่นเดียวกับมหาเทวีจิรประภา และมหาเทวีสิริยศวดี (นางโป่งน้อย) โดยตำแหน่ง มหาเทวี บ่งบอกถึงความเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์[5] และต้องเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

เชื่อกันมาแต่เดิมว่า นางอาจเป็นมารดาของนรธาเมงสอ แต่จากการศึกษาของ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ โดยใช้หลักฐานของพม่า กลับพบว่า พระมารดาของนรธาเมงสอ ชื่อ "ราชเทวี" มเหสีอันดับ 3 ของบุเรงนอง พระนางเป็นธิดาของสตุกามณีแห่งดีมเยง มีนามเดิมว่า เชงทเวละ พระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2106 ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2107 ฉะนั้นพระนางวิสุทธิเทวี จึงมิใช่พระมารดาของนรธาเมงสอ[6] แต่มหาเทวีวิสุทธิอาจเป็นมารดาของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์[5][7] โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้นำตัวพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ไปหงสาวดี และสถาปนามหาเทวีวิสุทธิซึ่งชราภาพแล้วครองล้านนา เพื่อที่มหาเทวีจะได้ไม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า ด้วยเหตุผลนี้พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์อาจมีฐานะเป็นพระโอรสของมหาเทวีวิสุทธิก็เป็นได้[8]

พระราชกรณียกิจ

ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า[9]

“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฏแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”

หลังพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้วเนื่องจากครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็สิ้นพระชนม์ โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า

มหาอัคคราชท้าว เทวี
ยามหงอกกินบุรี ถ่อมเถ้า
ทำทานชู่เดือนปี ศีลเสพ นิรันดร์เอ่
เห็นเหตุภัยพระเจ้า ราชรู้อนิจจา[9]

แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวี ได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม หรือวัดหลวงบ้านแปะ ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และได้ทำตราหลวงหลาบเงินเพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูด และบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะและคนไทยให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใดๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน[10]

ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า[1]

“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญในหงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และเมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัว บัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัย เป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”

และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพ[2]

เป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน[11] พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง และอำนาจของพระนางที่ได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"[3]

สวรรคต

พระนางวิสุทธิเทวีได้เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2121 โดยในตำนานเมืองลำพูนได้กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็สิ้นพระชนม์ ดังความว่า "...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..."[12] พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดิลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดทุ่งโลกโมลี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา[13] แม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร:สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2507, หน้า 96
  2. 2.0 2.1 Tun Aung Chian. Chiang Mai in Bayinnaung's Polity, pp 70
  3. 3.0 3.1 3.2 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 275
  4. ล้านนาคดีสัญจร:ตามรอยโคลงมังทรารบเชียงใหม่ (ชมรมล้านนาคดีเชียงใหม่ 2533) หน้า 15
  5. 5.0 5.1 สรัสวดี อ๋องสกุล ศาสตราจารย์. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 272
  6. สุเนตร ชุตินธรานนท์. "พระวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ บรรณาธิการ (เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์,2547) หน้า 64
  7. สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 293
  8. สุเนตร ชุตินธรานนท์. "พระวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ บรรณาธิการ (เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์,2547) หน้า 65
  9. 9.0 9.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 273
  10. ล้านนาคดีสัญจร:ตามรอยโคลงมังทรารบเชียงใหม่ (ชมรมล้านนาคดีเชียงใหม่ 2533) หน้า 15-19
  11. สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 304
  12. ตำนานเมืองลำพูน 001.2/23, หน้า 83
  13. พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:คลังวิทยา, 2516, หน้า 402-403
ก่อนหน้า พระนางวิสุทธิเทวี ถัดไป
พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ กษัตริย์แคว้นเชียงใหม่
ในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู

(พ.ศ. 2107-2121)
นอรธาเมงสอ