ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กล้ามเนื้อเดลทอยด์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Xqbot (คุย | ส่วนร่วม)
โรบอต เพิ่ม: cy:Cyhyryn deltaidd; ปรับแต่งให้อ่านง่าย
Amirobot (คุย | ส่วนร่วม)
r2.7.1) (โรบอต เพิ่ม: fa:ماهیچه دالی
บรรทัด 75: บรรทัด 75:
[[en:Deltoid muscle]]
[[en:Deltoid muscle]]
[[es:Músculo deltoides]]
[[es:Músculo deltoides]]
[[fa:ماهیچه دالی]]
[[fi:Kolmipäinen hartialihas]]
[[fi:Kolmipäinen hartialihas]]
[[fr:Muscle deltoïde]]
[[fr:Muscle deltoïde]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 00:00, 17 กรกฎาคม 2554

กล้ามเนื้อเดลทอยด์
(Deltoid muscle)
กล้ามเนื้อเดลทอยด์
กล้ามเนื้อที่เชื่อมรยางค์บนและกระดูกสันหลัง
รายละเอียด
จุดยึดกระดูกไหปลาร้า, อโครเมียน, แนวสันกระดูกสะบัก
จุดเกาะแนวเดลทอยด์ ของกระดูกต้นแขน
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงรอบต้นแขน
ประสาทเส้นประสาทรักแร้
การกระทำกางต้นแขน งอต้นแขน ยืดต้นแขนออกไปทางด้านหลัง
ตัวต้านกล้ามเนื้อแลททิสซิมุส ดอร์ไซ
ตัวระบุ
ภาษาละตินmusculus deltoideus
MeSHD057645
TA98A04.6.02.002
TA22452
FMA32521
ศัพท์ทางกายวิภาคของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อเดลทอยด์ (อังกฤษ: Deltoid muscle) ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ หมายถึงกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมที่เป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้อในบริเวณไหล่ และเป็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขนที่มีข้อต่อไหล่เป็นจุดหมุน นอกจากนี้ยังนิยมใช้กล้ามเนื้อนี้ในการฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ (intramuscular injection) อีกด้วย

ในตำรากายวิภาคศาสตร์บางเล่มอาจใช้คำว่า เดลทอยเดียส (deltoideus) ในการกล่าวถึงกล้ามเนื้อมัดนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งคำว่าเดลทอยด์และเดลทอยเดียส ต่างมาจากอักษรเดลตา (Delta) ในภาษากรีก ซึ่งเป็นอักษรรูปสามเหลี่ยม

จุดเกาะ

จุดเกาะต้น

จุดเกาะต้น (origin) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์ มาจากแนวของกระดูกส่วนไหล่ (shoulder girdle) นั่นคือกระดูกไหปลาร้า (clavicle) และกระดูกสะบัก (scapula) และสามารถแบ่งเส้นใยกล้ามเนื้อที่มาจากจุดเกาะต้นที่ต่างกันได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่

  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า (Anterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านหน้าและพื้นผิวด้านบนของปลายด้านข้างประมาณหนึ่งในสามของกระดูกไหปลาร้า
  • เส้นใยกล้ามเนื้อแนวกลาง (Middle fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านข้างของอโครเมียน (acromion) ซึ่งเป็นปลายด้านข้างของกระดูกสะบัก
  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหลัง (Posterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านล่างตลอดแนวของแนวสันกระดูกสะบัก (spine of scapula)

เส้นใยกล้ามเนื้อทั้งสามจะเชื่อมรวมกันใกล้กับบริเวณจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้ที่บริเวณต้นแขน

จุดเกาะปลาย

จุดเกาะปลาย (insertion) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์คือแนวบนกระดูกต้นแขน (humerus) ซึ่งเรียกว่า แนวเดลทอยด์ (deltoid tuberosity) ซึ่งเป็นแนวขรุขระรูปตัว V ที่อยู่ทางด้านข้างของส่วนกลางของกระดูกต้นแขน จุดนี้จะเป็นจุดที่เอ็น (tendon) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์มายึดเกาะกับกระดูกต้นแขน และแผ่ออกเป็นพังผืดชั้นลึก (depp fascia) ของต้นแขน ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

หน้าที่การทำงาน

เนื่องจากกล้ามเนื้อเดลทอยด์มีจุดเกาะที่กว้างและครอบคลุมตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลังของไหล่ ดังนั้นเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีจุดเกาะต้นที่ต่างกัน จึงมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม เส้นใยกล้ามเนื้อทั้งสามของกล้ามเนื้อเดลทอยด์มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขนรอบข้อต่อไหล่ในรูปแบบต่างๆ

  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า จะเกี่ยวข้องกับการงอต้นแขนเข้าหาลำตัวในแนวระดับ (transverse arm flexion) และการกางแขนขณะที่หมุนไหล่ออกไปทางด้านนอก โดยทั้งสองหน้าที่จะทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis major) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนอก
  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหลังจะทำงานตรงข้ามกับเส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า เช่นการทำหน้าที่ยืดต้นแขนออกไปทางด้านหลังในแนวระดับ (transverse arm extension)
  • เส้นใยกล้ามเนื้อแนวกลาง ทำหน้าที่หลักในการกางต้นแขน (arm abduction) ในระดับที่สูงกว่า 15 องศาจากแนวระดับ

หลอดเลือดและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง

หลอดเลือดแดง

กล้ามเนื้อเดลทอยด์จะได้รับเลือดส่วนใหญ่มาจากแขนงด้านหลังของหลอดเลือดแดงรอบต้นแขน (Posterior circumflex humeral artery) และบางส่วนจากแขนงเดลทอยด์ของหลอดเลือดแดงธอราโคอโครเมียล (Thoracoacromial artery) หลอดเลือดแดงทั้งสองเป็นแขนงที่มาจากหลอดเลือดแดงรักแร้ (Axillary artery)

หลอดเลือดดำ

หลอดเลือดดำที่ใกล้เคียงกับกล้ามเนื้อเดลทอยด์ได้แก่หลอดเลือดดำเซฟาลิค (Cephalic vein) ซึ่งอยู่ทางขอบด้านล่างของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเทเข้าสู่หลอดเลือดดำรักแร้ (Axillary vein) ต่อไป

เส้นประสาท

กล้ามเนื้อเดลทอยด์จะถูกสั่งการผ่านทางเส้นประสาทรักแร้ (Axillary nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่มาจากเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) ระดับคอ ส่วนที่ 5 และ 6 (C5,C6) ผ่านทางร่างแหประสาทแขน (Brachial plexus)

รูปประกอบเพิ่มเติม

อ้างอิง

  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.