ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เจ้าอนันตวรฤทธิเดช"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Saran.cha280794 (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ป้ายระบุ: แก้ไขจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยแอปสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยแอปสำหรับไอโอเอส
Patcha007 (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 34: บรรทัด 34:
|royal house = [[ณ น่าน]] สายที่ 2<ref>https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-n</ref>
|royal house = [[ณ น่าน]] สายที่ 2<ref>https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-n</ref>
}}
}}
'''เจ้าอนันตวรฤทธิเดช'''<ref name="หน้า203">''ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช)'', หน้า 203</ref> มีพระนามเดิมว่า '''เจ้าอนันตยศ'''<ref>http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=203</ref>ทรงเป็น[[เจ้าผู้ครองนครน่าน]] องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่ง[[ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ]] (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ประชาชนชาวเมืองน่านเรียกพระองค์โดยลำลองว่า ''เจ้ามหาชีวิต'' เป็นราชโอรสใน[[เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ]] [[เจ้าผู้ครองนครน่าน]] องค์ที่ 57 ประสูติแต่แม่เจ้าขอดแก้วชายา
'''เจ้าอนันตวรฤทธิเดช'''<ref name="หน้า203">''ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช)'', หน้า 203</ref> มีพระนามเดิมว่า '''เจ้าอนันตยศ'''<ref>[http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=203 ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 203]</ref>ทรงเป็น[[เจ้าผู้ครองนครน่าน]] องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่ง[[ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์]] (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ประชาชนชาวเมืองน่านเรียกพระองค์โดยลำลองว่า ''เจ้ามหาชีวิต'' เป็นราชโอรสใน[[เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ]] [[เจ้าผู้ครองนครน่าน]] องค์ที่ 57 ประสูติแต่แม่เจ้าขอดแก้วชายา


== พระประวัติ ==
== พระประวัติ ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:46, 24 มิถุนายน 2565

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช
เจ้ามหาชีวิต
ไฟล์:Chao Anantayot.jpg
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 62 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก18 เมษายน พ.ศ. 2399
ครองราชย์14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435
รัชกาล40 ปี 24 วัน
พระอิสริยยศเจ้าประเทศราช
ก่อนหน้าเจ้ามหาวงษ์
ถัดไปพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
ประสูติพ.ศ. 2348
พิราลัย28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 (86 ปี) ณ คุ้มหลวงนครน่าน
พระชายาแม่เจ้าสุนันทาอัครเทวี
แม่เจ้าขอดแก้วเทวี
ชายา10 องค์
พระราชบุตร31 พระองค์
พระนามเต็ม
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฐมหันต์ ไชยนันทบุร มหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน
ราชสกุลณ น่าน สายที่ 2[1]
ราชวงศ์ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ
พระมารดาแม่เจ้าขันแก้วชายา

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช[2] มีพระนามเดิมว่า เจ้าอนันตยศ[3]ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) ประชาชนชาวเมืองน่านเรียกพระองค์โดยลำลองว่า เจ้ามหาชีวิต เป็นราชโอรสในเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ประสูติแต่แม่เจ้าขอดแก้วชายา

พระประวัติ

เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ มีพระนามเดิมว่า เจ้าอนันตยศ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2348 ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ประสูติแต่แม่เจ้าขันแก้วราชเทวี ราชธิดาของเจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง (ชายาองค์ที่ 4) ทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 1 พระองค์ คือ เจ้านางต่อมคำ

เจ้าอนันตยศ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น เจ้าพระพิไชยราชา เมืองน่าน ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศขึ้นเป็น เจ้าพระยารัตนหัวเมืองแก้ว เมืองน่าน ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศขึ้นเป็น เจ้าพระยาบุรีรัตน เมืองน่าน ต่อมาภายหลังจากที่พระเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 61 ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2394 เจ้าบุรีรัตน์ (อนันตยศ) เจ้าบุรีรัตน์นครเมืองน่าน ผู้เป็นพระภาติยะในพระเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 61 จึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองนครน่าน (รอการแต่งตั้งจากสยาม) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศขึ้นเป็น “เจ้าเมืองน่าน” ได้รับการเฉลิมพระนามว่า .. พระยามงคลวรยศ พระยานครน่าน .. ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 ต่อมาทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวงศ์สกุลเจ้าเมืองน่านขึ้นเป็น "เจ้า" กันทั้งวงศ์สกุล พระยามงคลวรยศ เจ้าเมืองน่าน จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนอิสริยยศขึ้นเป็น “เจ้านครเมืองน่าน” ได้รับการเฉลิมพระนามว่า .. เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน .. เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2400 [4]

พระนาม

  1. สมเด็จพระเชษฐบรมราชาอนันตยศวรราชเจ้า องค์เป็นอิสสราธิบัตติองค์ เป็นเจ้าแก่รัฐประชาในไชยนันทเทพบุรีนครราชธานีนครเมืองน่าน พระนามเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ที่ปรากฏในกฎหมายอาณาจักรหลักคำเมืองน่าน[5]
  2. สมเด็จเสฏฐบรมบพิตรเจ้ามหาชีวิตองค์อนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ชัยนันทเทพ บรมมหาราชพงษาธิบดี มหาอิสราธิปติในสิริชัยนันทเทพบุรี พระนามเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ที่ปรากฏในศิลาจารึก วัดดอนไชย [6]

พระอิสริยยศ

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน ทรงดำรงพระอิสริยยศ ดังนี้

  1. เจ้าพระพิไชยราชา
  2. เจ้าพระยารัตนหัวเมืองแก้ว
  3. เจ้าพระยาบุรีรัตน
  4. เจ้าพระยาหลวงมงคลวรยศ เจ้านครเชียงน่าน
  5. เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน

เครื่องอิสริยยศที่ได้รับพระราชทาน

  1. เสื้อแขบคำ
  2. ผ้านุ่งแขบคำ
  3. พระมาลาสุบหัว
  4. กระโถนคำ
  5. คนโทคำ
  6. พานหมากคำเครื่องในคำ
  7. ปืนชนิดดี 1 บอก
  8. ดาบฝักคำ 1 เถื่อน
  9. โถเงิน 2 ใบ
  10. ทวน 2 เล่ม


  • ในปี พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ เจ้าพระยามงคลวรยศ เจ้าเมืองน่าน ขึ้นเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน แล้วทรงพระราชทานเครื่องอิสริยยศ ดังนี้'
  1. ทรงประพาศ
  2. กระโจมหัวคำ
  3. แท่นแก้ว 5 ชั้น
  4. เสตฉัตรขาว 7 ใบ
  5. ดาบหลูปคำ
  6. ทวนเขียวคำ ฝักเขียว 4 เล่ม
  7. ปืนชนิดดี 2 บอก
  8. กระโถนคำ 1
  9. พานหมากคำ 1
  10. มีดด้ามคำ 1
  11. มปัดตีคำ 2 แถว
  12. รูปม้าคำ 1
  13. โต๊ะเงิน 1 ใบ
  14. เบ้ายาคำ 1

ราชโอรส ราชธิดา

เจ้าอนัตวรฤทธิเดชฯ ทรงมีพระชายา ชายา หม่อม 12 องค์ และพระโอรสพระธิดา รวมทั้งสิ้น 31 พระองค์ (อยู่ในราชสกุล ณ น่าน สายที่ 2) มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้

พระชายาที่ 1 แม่เจ้าสุนันทาอัครราชเทวี ประสูติพระโอรสพระธิดา 6 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้ามหาพรหม ภายหลังเป็น เจ้าอุปราช เมืองนครน่าน (เจ้าอุปราช พ.ศ.2398,พิราลัย พ.ศ. 2430)
  2. เจ้าสุริยะ ภายหลังเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 (เจ้าราชวงษ์ พ.ศ.2398,ว่าที่เจ้าอุปราช พ.ศ.2431,เจ้านครเมืองน่าน พ.ศ.2436,พระเจ้านครเมืองน่าน พ.ศ.2446,พิราลัย พ.ศ. 2461)
  3. เจ้าสิทธิสาร ภายหลังเป็น เจ้าอุปราช นครเมืองน่าน (เจ้าสุริยวงษ์ พ.ศ.2401,เจ้าราชวงษ์ พ.ศ.2434,เจ้าอุปราช พ.ศ. 2436,พิราลัย พ.ศ. 2442)
  4. เจ้าบุญรังษี ภายหลังเป็น เจ้าราชบุตร นครเมืองน่าน (เจ้าราชบุตร พ.ศ.2401,พิราลัย พ.ศ. 2431)
  5. เจ้านางหมอกแก้ว ณ น่าน
  6. เจ้านางคำทิพ ณ น่าน

พระชายาที่ 2 แม่เจ้าขอดแก้วอัครเทวี ประสูติพระโอรสพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าน้อยมหาพรม ภายหลังเป็น เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64
  2. เจ้านางยอดมโนลา หรือ เจ้านางเบาะ

พระชายาที่ 3 แม่เจ้าคำปิวราชเทวี ไม่มีประสูติกาล

พระชายาที่ 4 แม่เจ้าบัวเขียวเทวี (เชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่) ประสูติพระธิดา 1 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านางปิว

พระชายาที่ 5 แม่เจ้าแว่นเทวี ประสูติพระโอรสพระธิดา 3 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้านางแก้วไหลมา
  2. เจ้านางบุษบา
  3. เจ้าน้อยบุญสวรรค์

พระชายาที่ 6 แม่เจ้าอัมราเทวี ประสูติพระโอรสพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าฟ้าร่วนเมืองอิน
  2. เจ้านางขันคำ

พระชายาที่ 7 แม่เจ้าปาริกาเทวี (เชื้อสายเจ้านายเมืองเชียงของ) ประสูติพระโอรสพระธิดา 8 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าน้อยบรม ภายหลังเป็น เจ้าบุรีรัตน์ นครเมืองน่าน เสกสมรสกับเจ้านางบัวเขียว (พระธิดาองค์ที่ 7 ใน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 กับแม่เจ้ายอดหล้าอรรคราชเทวี (พระชายาองค์ที่ 1)
  2. เจ้าน้อยบัวเลียว
  3. เจ้าหยั่งคำเขียว
  4. เจ้าน้อยบัวลอง ภายหลังเป็น เจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ นครเมืองน่าน
  5. เจ้าน้อยหมอกมุงเมือง
  6. เจ้ารัตนเรืองรังษี ภายหลังเป็น เจ้าราชบุตร นครเมืองน่าน
  7. เจ้าน้อยสุทธนะ
  8. เจ้านางคำเขียว

พระชายาที่ 8 แม่เจ้าสุคันธาเทวี ประสูติพระโอรสพระธิดา 4 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าน้อยอนุรศรังษี ภายหลังเป็น เจ้าราชบุตร นครเมืองน่าน
  2. เจ้านางเกียงคำ
  3. เจ้านางเหมือย
  4. เจ้านางสาวดี

พระชายาที่ 9 แม่เจ้าแว่นเทวี (เชื้อสายชาวไทลื้อ เมืองกุสาวดี หรือ เมืองเงิน) ไม่มีประสูติกาล

หม่อมที่ 10 หม่อมแก้ว ณ น่าน (หลานของพระยาหลวงมนตรี) ประสูติพระโอรสพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าหนานมหาวงษ์
  2. เจ้านางปอก

หม่อมที่ 11 หม่อมคำแปง ณ น่าน ประสูติพระโอรสพระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าน้อยนนต์
  2. เจ้านางบัวแฝง

หม่อมที่ 12 บาทบริจาริกา ประสูติพระโอรส 1 พระองค์ ดังนี้

  1. เจ้าหนานมหาวงษ์

พระกรณียกิจ

สร้างคุ้มหลวงนครน่าน

คุ้มหลวงพระเจ้านครน่านหรือ “หอคำเมืองน่าน” หอคำคุ้มหลวงนครน่าน ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “ คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “ หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศของเจ้าผู้ครองนคร บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวง แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้ รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด ( ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง ) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำหลวง เป็นเครื่องประดับพระเกียรติพิเศษ สำหรับตัวเจ้าผู้ครองนคร ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมพระเกียรติยศ

หอคำหลวงเมืองน่าน สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2399 - 2400 ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน ปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน ว่าเมื่อพระยาอนันตยศ ย้ายกลับมาตั้งอยู่ ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่งคือปี พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน มีพระเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “ คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ

หอคำหลวง ที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น เป็นอาคารไม้สักผสมไม้ตะเคียน หลังคาเป็นทรงจั่ว มุงกระเบื้องไม้แป้นเกล็ด ประดับช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ ตามแบบศิลปะพื้นบ้านเมืองน่าน มีบันไดทางขึ้นสองด้าน มีกำแพงอิฐทั้งสี่ด้าน เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว 7 หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ

  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ได้โปรดให้รื้อลงและสร้างหอคำขึ้นใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมล้านนา ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน สมุดภาพปักปันเขตแดน ร.ศ. 124 โดยกรมการปกครอง

ด้านการปกครองเมือง

  • กฎหมายเมืองน่าน

--- อาณาจักรหลักคำ หรือ กฎหมายเมืองน่าน [7]สร้างขึ้นและใช้ในปี พ.ศ. 2396 - พ.ศ. 2451 ลักษณะเป็นพับสา มีไม้ประกับสองด้าน จำนวน 1 เล่ม 61 หน้า มีขนาดความกว้าง 11.8 เซนติเมตร ยาว 36.5 เซนติเมตร และหนา 5 เซนติเมตร ต้นฉบับเป็นอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยยวน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้รับมอบจาก นางสุภาพ สองเมืองแก่น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530

--- อาณาจักรหลักคำ หรือ กฎหมายเมืองน่าน นอกจากจะมีความสำคัญในเมืองน่านเมื่อครั้งอดีตแล้ว ในปัจจุบันยังนับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่าความสำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก" ของประเทศไทย ส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

--- คำว่า "อาณาจักรหลักคำ" มีความหมายว่า "อาณาจักร" ในที่นี้หมายถึง "กฎหมาย" ดังปรากฎข้อความตอนหนึ่งในอาณาจักรหลักคำว่า "จึ่งได้หาเอาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงสา ลูกหลานและท้าวพญาเสนาอามาตย์ ขึ้นเปิกสาพร้อมกันยังหน้าโรงไชย เจ้าพระยาหอหน้าเปิกสากันพิจารณา ด้วยจักตั้งพระราชอาณาจักรนั้นตกลงแล้ว” และในอีกนัยหนึ่ง กล่าวว่า "อาณา" เป็นคำบาลีตรงกับ "อาชญา" ซึ่งเป็นคำสันสกฤต แปลว่า อำนาจการปกครอง จักร แปลว่า ล้อ แว่นแคว้น รวมความแล้วจึงหมายถึง อำนาจปกครองของบ้านเมือง ส่วนคำว่า “หลักคำ” หมายถึง หลักอันมีค่าประดุจทองคำ คำว่า อาณาจักรหลักคำ จึงอาจหมายถึง “กฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองอันมีคุณค่าประดุจดั่งทองคำ”

--- อาณาจักรหลักคำ ได้บัญญัติขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2396 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 (ครองเมืองน่าน 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2395 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435) กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ใช้ปกครองเฉพาะในเมืองน่าน และเมืองต่างๆที่ขึ้นกับเมืองน่าน เหตุที่ต้องมีการออกกฎหมายได้มีการกล่าวไว้ในตอนต้นของกฎหมายอาณาจักรหลักคำว่า .. บ้านเมืองในขณะนั้นเกิดความวุ่นวาย มีการลักขโมย การเล่นการพนัน ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนในเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงได้กำหนดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา โดยอาณาจักรหลักคำเป็นกฎหมายที่ใช้ปกครองภายในเมืองนครน่าน และเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับเมืองนครน่าน เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2451 ในสมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 (ครองเมืองน่าน 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 - 5 เมษายน พ.ศ. 2461) ได้ประกาศให้ยกเลิกการใช้อาณาจักรหลักคำเป็นกฎหมายในการปกครองของเมืองนครน่าน และให้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ของกรุงรัตนโกสินทร์แทน เนื่องด้วยในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง จึงทรงปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพและส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาเป็นส่วนหนึ่งของเค้าสนามหลวงประจำอยู่ที่เมืองนครน่าน

--- อาณาจักรหลักคำ มีลักษณะเป็นกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งออกโดยเจ้าเมืองน่าน เจ้านายบุตรหลาน ขุนนาง และพ่อเมืองต่างๆร่วมกันออกตัวบทกฎหมายเพื่อใช้ภายในบ้านเมืองของตน โดยในการใช้กฎหมายนอกจากใช้ในเขตเวียงน่านโดยมีเค้าสนามหลวงดำเนินการแล้ว ยังมีการกระจายอำนาจให้กับหัวเมืองต่างๆที่ขึ้นอยู่กับเมืองน่านให้มีอำนาจตัดสินคดีความ แต่หากคดีนั้นพิจารณาในหัวเมืองน้อยแล้วยังไม่ยอมความ สามารถที่จะฟ้องร้องต่อเค้าสนามในเวียงเพื่อพิจารณาคดีใหม่ได้

--- ในส่วนของเนื้อหากฎหมายในอาณาจักรหลักคำ อาจแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ กฎหมายในช่วงตอนต้นที่ออกในปี พ.ศ. 2395 และกฎหมายในช่วงตอนหลังที่ออกในปี พ.ศ. 2418

  1. กฎหมายอาณาจักรหลักคำ ที่บัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2395 มีสาระสำคัญอยู่หลายมาตรา แต่ละมาตราจะมีรายละเอียดตัวบทกฎหมายและบทลงโทษผู้กระทำความผิดแตกต่างกันไป การทำความผิดในกรณีเดียวกันอาจรับโทษหนักเบาไม่เท่ากัน เนื่องจากมีการกำหนดระดับชนชั้นของผู้ที่กระทำความผิด คือ เจ้านาย ขุนนาง หรือ ไพร่ ชนชั้นสูงจะเสียค่าปรับมากกว่าสามัญชน กฎหมายที่สำคัญที่ลงโทษหนัก คือ การลักควาย ซึ่งในสมัยนั้นอาจมีการลักขโมยควายไปฆ่ากินอยู่บ่อยครั้ง จึงระบุโทษว่า ผู้ลักควายไปฆ่ากินจะมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต เนื้อหาของกฎหมายในช่วงนี้มีเพียงตัวบทกฎหมายซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน แต่ไม่มีตัวอย่างคดีความที่เกิดขึ้นจริงให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายปรากฏอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเนื้อความในกฎหมายก็ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองการปกครอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมืองน่านในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่ในช่วงตอนต้นนี้มักจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองน่านในด้านต่างๆ ได้แก่ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเก็บของป่า การแลกเปลี่ยนสินค้า การประมง การแบ่งชนชั้น ตลอดจนความเชื่อค่านิยมและประเพณี ดังเนื้อความที่ปรากฏในอาณาจักรหลักคำ เช่น การทำเครื่องมือจับปลาในแม่น้ำจะต้องเว้นช่องไว้ให้เรือผ่านได้สะดวก , การห้ามฟันไร่บริเวณต้นน้ำและริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำและนำน้ำเข้าสู่ไร่นา หากฝ่าฝืนมีโทษ เฆี่ยนหลัง ๓๐ แส้ และปรับเงิน ๓๓๐ น้ำผ่า นอกจากนั้นยังมีกฎหมายห้ามฆ่าค้างคาวในถ้ำ ห้ามเบื่อปลาในน้ำ และห้ามตัดต้นไม้บางชนิด , กฎหมายห้ามปลอมแปลงเงินตรา โดยมีโทษต้องเข้าคุก ปรับไหมและเฆี่ยนตี ความว่า “...คันว่าบุคคลผู้ใดเบ้าเงินแปลกปลอมและจ่ายเงินแปลกปลอมเงินดำคำเส้านั้น คันรู้จับตัวไว้จักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตร ไว้แล้ว...จักไหม ๓๓๐ น้ำผ่า เฆี่ยน ๓๐ แส้...” เป็นต้น
  2. กฎหมายอาณาจักรหลักคำ ที่มีการบัญญัติขึ้นเพิ่มในปี พ.ศ. 2418 มีลักษณะแตกต่างจากช่วงตอนแรก ประกอบด้วย กฎหมายที่ออกเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ , พ.ศ. ๒๔๒๓ และบันทึกการตัดสินคดี พ.ศ. ๒๔๑๙ และบันทึกกฎหมายเก่าที่ออกใน พ.ศ. ๒๓๘๗ นอกจากนี้ยังมีบันทึกเหตุการณ์ที่จดแทรกเข้ามา ได้แก่ บันทึกเหตุการณ์เจ้าเมืองล้าส่งบรรณาการมาให้เจ้าเมืองน่าน (พ.ศ. ๒๔๒๑) และจดบันทึกนาสักดิ์เจ้านาย ขุนนางและไพร่ แสดงให้เห็นว่าในช่วงตอนหลังการบันทึกในอาณาจักรหลักคำนอกจากกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ยังมีการจดแทรกเพิ่มเติมเรื่องอื่นไว้ด้วยโดยไม่ได้ลำดับศักราชและเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ออกในช่วง พ.ศ. ๒๔๑๘ ก็มีความสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องออกกฎหมายใหม่เพิ่มเติมให้ทันกับสถานการณ์บ้านเมือง คือ เรื่องห้ามสูบฝิ่น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ๓ ปี และกฎหมายห้ามจับควายละเลิง (ควายป่า, ควายไม่มีเจ้าของ) ที่มาของกฎหมายห้ามสูบฝิ่น แสดงให้เห็นถึงคนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขายในเมืองน่านมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งที่คนจีนนำเข้ามาคือการสูบฝิ่น สืบเนื่องมาจากมีเจ้านายบุตรหลานเมืองน่านผู้หนึ่งติดฝิ่น สร้างปัญหาให้กับบิดา จึงได้มีการเสนอเรื่องนี้พิจารณาในระดับชั้นเจ้า ในที่สุดเจ้าเมืองน่านจึงพิจารณาโทษเจ้านายบุตรหลาน และต่อมาก็ออกกฎหมายประกาศใช้ทั่วไป และมีหนังสือบันทึกกฎหมายใหม่ส่งไปยังหัวเมืองต่างๆในการปกครองของเมืองน่านได้รับรู้ด้วย

--- ปัจจุบัน อาณาจักรหลักคำ ซึ่งถูกจัดเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้มีโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดทำโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ได้บันทึกภาพอาณาจักรหลักคําไว้ในรูปไมโครฟิล์ม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และต่อมาจึงได้มีการปริวรรตโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล

  • กฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองในอาณาจักรน่าน (ระหว่างปี พ.ศ. 2396 - พ.ศ. 2451) คือ '''กฎหมายพระราชอาณาจักรหลักคำของเจ้ามหาชีวิตน่าน'''

ด้านศาสนา

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่าน ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2396 - พ.ศ. 2436 พระองค์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในพระอาณาจักรเมืองน่าน ทั้งการสร้างวิหาร วัด พระพุทธรูป รวมไปถึงการอุปถัมภ์การบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวาอาราม ต่างๆใน พระอาณาจักรนครเมืองน่าน ดังนี้

  1. บูรณะวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
  2. สร้างและบูรณะวิหารวัดกู่คำ
  3. พ.ศ. 2395 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดศรีพันต้น
  4. พ.ศ. 2400 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมิ่งเมือง
  5. สร้างวัดนาปัง
  6. สร้างพระธาตุขิงแดง
  7. สร้างพระธาตุเจ้าจอมทอง เมืองปง
  8. สร้างพระธาตุเจ้าหนองบัว เมืองไชยพรหม
  9. สร้างวิหารวัดดอนไชย เมืองศรีสะเกษ (อยู่ในเขตอำเภอนาน้อย)
  10. พ.ศ. 2410 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงวัดภูมินทร์
  11. สร้างพระธาตุเจ้าวัดพระยาภู
  12. สร้างพระธาตุเจ้าจอมจ๊อ เมืองเทิง
  13. สร้างพระธาตุเจ้าเมืองอินทร์
  14. สร้างพระธาตุเจ้าสบแวน เมืองเชียงคำ
  15. สร้างพระธาตุเจ้าเป็งสกัด เมืองปัว
  16. สร้างหอพระธรรม คุ้มหลวงนครน่าน
  17. สร้างวิหารวัดม่วงติ๊ด
  18. บูรณะวิหารและอุโบสถวัดสวนตาล
  19. บูรณะวิหาร และบูรณะพระธาตุวัดดอยเขาแก้ว (วัดเขาน้อย)
  20. สร้างวัดมณเฑียร
  21. ใส่ยอดฉัตรพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง
  22. สร้างวัดหัวข่วง
  23. บูรณะพระอุโบสถวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร


นอกจากนี้ ยังได้สร้างธรรมนิทานชาดก และจารพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน รวมได้ 335 คัมภีร์ นับเป็นผูกได้ 2,606 ผูก ได้นำไปมอบให้เมืองต่าง ๆ มีเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองพะเยา เมืองเชียงราย และเมืองหลวงพระบาง

ย้ายเมืองน่าน

ในปี พ.ศ. 2397 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครมืองน่าน ได้ย้ายเมืองน่าน จากดงพระเนตรช้างกลับมาอยู่ที่หัวเวียงใต้ หรือเมืองน่านในปัจจุบัน และให้ซ่อมกำแพงเมืองให้มั่นคง โดยสร้างเป็นกำแพงอิฐ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2400 ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าออกสู่แม่น้ำน่าน ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมา ตั้งอยู่บนเชิงเทิน ซุ้มประตูและป้อมเป็นทรงเรือนยอด กำแพงสูงประมาณ 6 เมตร เชิงเทินกว้าง 2.20 เมตร ใบเสมากว้าง 1 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 1.20 เมตร ความสูงจากเชิงเทินถึงใบเสมาประมาณ 2 เมตร [8]

  • กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวประมาณ 900 เมตร มีสองประตูคือ ประตูริม และประตูอุญญาณ
    • ประตูริม เป็นประตูเมืองที่ออกเดินทางสู่เมืองขึ้นของนครน่านทางภาคเหนือ เช่น เมืองเชียงคำ เมืองเทิง และเมืองเชียงของ เป็นต้น
    • ประตูอมร เป็นประตูที่เจาะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2450
  • กำแพงด้านทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 650 เมตร มีสองประตูคือ ประตูชัย และประตูน้ำเข้ม
    • ประตูชัย เป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนคร และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางชลมาร์คไปกรุงเทพฯ
    • ประตูน้ำเข้ม ใช้สำหรับติดต่อค้าขายทางน้ำ และเป็นประตูเข้าออกสู่แม่น้ำน่านของประชาชนทั่วไป
  • กำแพงด้านทิศใต้ มีความยาวประมาณ 1,400 เมตร มีสองประตู
    • ประตูเชียงใหม่ เป็นประตูเมืองที่เดินทางไปสู่ต่างเมือง โดยเฉพาะนครเชียงใหม่
    • ประตูท่าลี่ เป็นประตูที่นำศพออกไปเผานอกเมือง ณ สุสานหลวงดอนไชย
  • กำแพงด้านทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 950 เมตร มีประตูปล่องน้ำ
    • ประตูปล่องน้ำ ใช้ในการระบายน้ำจากตัวเมืองออกสู่ด้านนอก
    • ประตูหนองห้า เป็นประตูสำหรับคนในเมืองออกไปทำไร่ทำนาในทุ่งกว้าง และใช้ขนผลผลิตเข้ามาในเมือง

ลักษณะของประตูเมือง ทำเป็นซุ้มบานประตูเป็นไม้ หลังคาประตูเป็นทรงเรือนยอดสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น มีป้อมอยู่เพียงสามป้อมอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นป้อมแปดเหลี่ยม หลังคาทรงเรือนยอดซ้อนกันสองชั้น หลังคาชั้นแรกเป็นทรงแปดเหลี่ยม ชั้นที่สองเป็นทรงสี่เหลี่ยม

การตั้งเมืองน่าน (ปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2400

เมืองน่าน (ในปัจจุบัน) พ.ศ. 2400 ถึงปัจจุบัน เจ้าเมืองน่านตั้งอยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ ๓๖ ปี จนถึงในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระยาอนันตยศ (ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน คือบิดาของพระ-เจ้าสุริยพงศ์ผรติเดช และเจ้ามหาพรมสุรธาดา) จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าและย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นที่ประทับของเจ้าเมืองน่านสืบกันมาจนบัดนี้

ตัวเมืองน่าน ใน พ.ศ. ๒๔๐๐

กำแพงเมือง

ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง ๔ ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ วา มีเชิงเทินกว้าง ๓ ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง ๔ แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ ๔ กระบอก มีประตู ๗ ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตู่ท่าลี่ มีคูล้อม ๓ ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้น

การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็น ผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย

ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง ๗ นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. และเปิดในเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ ๑ แคลง (ประมาณ ๑ ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย

อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เป็นเจ้าเมืองน่าน

1. คุ้ม - หอคำ (ราชวัง)

ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ

บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ

หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระ-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันต- วรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่านมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ

หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว ๗ หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ

เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นพระโอรสจึงได้ขึ้นครองเมืองนครน่าน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แล้วโปรดให้เรียกว่า “คุ้มหลวง” ไปตามเดิม ล่วงเวลามาอีก 10 ปี ครั้นถึงปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน จึงโปรดให้รื้อหอคำหลังเก่าไปถวายวัด แล้วโปรดให้สร้างหอคำเป็นตึกก่ออิฐถือปูนขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน

ภายในบริเวณหอคำหลวงนครน่าน (คุ้มแก้ว) ประกอบด้วย

  1. โรงม้า คือ คอกเลี้ยงม้า
  2. โรงแต๊ก คือ เป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอก ดาบ ง้าว ปืนคาบศิลาและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในราชการทัพศึก

ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก

1. สนาม

ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้าววัดพรหมมินทรและที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง

2. ฉางหลวง

ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ ๒ โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”

3. บ้านเรือน

ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่ เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น

4. วัด

วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ ๒ วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์ แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง

5. ตลาด

การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย

6. ถนน

ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง ๔ - ๕ ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา

สงครามปราบฮ่อ

กองทัพฝ่ายเหนือ ซึ่งมีเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นแม่ทัพนั้นยกออกจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือเมื่อวันอังคารเดือน 11 แรม 11 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2428 ขึ้นไปถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน 12 แรม 2 ค่ำ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิชัยนั้น ได้โปรดฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (อ่วม) ขึ้นไปเป็นพนักงานจัดเสบียงพาหนะส่งกองทัพ ได้จัดการเดินทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบางเป็น 3 ทาง คือ

  1. ทางที่ 1 กองทัพใหญ่จะยกจากเมืองพิชัยทาง 3 วันถึงเมืองฝาง ต่อนั้นไป 4 วันถึงท่าแฝกเข้าเขตเมืองน่าน ต่อไปอีก 6 วันถึงบ้านนาแล แต่บ้านนาแล 6 วัน รวม 13 วันถึงเมืองหลวงพระบาง
  2. ทางที่ 2 นั้น จะได้จัดแบ่งเครื่องยุทธภัณฑ์สำหรับกองทัพแต่งให้พระศรีพิชัยสงคราม ปลัดซ้ายกรมการเมืองพิชัย กับนายทหารกรุงเทพฯ ให้คุมไปทางเมืองน้ำปาด ตรงไปตำบลปากลายลงบรรทุกเรือขึ้นไปทางลำน้ำโขง ขึ้นบกที่เมืองหลวงพระบาง
  3. ทางที่ 3 เมื่อกองทัพใหญ่ยกไปถึงนครเมืองน่านแล้ว จะแต่งให้พระพลสงคราม เมืองสวรรคโลก กับนายทหารปืนใหญ่คุมปืนใหญ่และกระสุนดินดำแยกทางไปลงท่านุ่นริมแม่น้ำโขง จัดลงบรรทุกเรือส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง

อนึ่ง เสบียงอาหารที่จะจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพตั้งแต่เมืองพิชัย เป็นระยะตลอดไปกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบางนั้น พระยาศรีสหเทพรับจัดส่งขึ้นไปรวบรวมไว้เป็นระยะทุก ๆ ตำบล ที่พักให้พอจ่ายกับจำนวนพลในกองทัพมิให้เป็นที่ขัดขวางได้

กองทัพตั้งพักรอพาหนะอยู่ ณ เมืองพิชัย ประมาณ 20 วัน ก็ยังหามาพรักพร้อมกับจำนวนที่เกณฑ์ไม่ ได้ช้าง 108 เชือก โคต่าง 310 ตัว ม้า 11 ตัวเท่านั้น แต่จะให้รอชักช้าไปก็จะเสียราชการ จึงได้จัดเสบียงแบ่งไปแต่พอควรส่วนหนึ่งก่อน อีกส่วนหนึ่งได้มอบให้กรมการเมืองพิชัยรักษาไว้ให้ส่งไปกับกองลำเลียง

ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 11 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2428 เวลาเช้า 3 โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพออกจากเมืองพิชัยให้นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) คุมทหารกรุงเทพฯ 100 คนเป็นทัพหน้า ให้นายจ่ายวด (สุข ชูโต) เป็นผู้ตรวจตรา ให้พระอินทรแสนแสง ปลัดเมืองกำแพงเพชรคุมไพร่พลหัวเมือง 100 คน เป็นผู้ช่วยกองหน้า สำหรับแผ้วถางหนทางที่รกเรี้ยวกีดขวางให้กองทัพเดินได้สะดวกด้วย ให้นายร้อยเอกหลวงอาจหาญณรงค์ กับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ เป็นปีกซ้ายและขวา นายร้อยเอกหลวงวิชิต เป็นกองหลัง พระพลเมืองสวรรคโลกเป็นกองลำเลียงเสบียงอาหาร และกองอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ก็ให้ยกเป็นลำดับไปทุก ๆ กอง

ครั้น ณ วันพุธ เดือนยี่ แรมค่ำ 1 ปีระกา ฯ กองทัพได้ยกไปถึงสบสมุนใกล้กับเมืองน่าน ระยะทางราว 200 เส้นเศษ พักจัดกองทัพอยู่ใกล้เมือง เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน แต่งให้พระยาวังซ้าย และเจ้านายบุตรหลาน แสนท้าวพระยา คุมช้างพลายสูง 5 ศอก ผูกเครื่องจำลองเขียนทอง 3 เชือก กับดอกไม้ ธูปเทียนออกมารับ แม่ทัพจึงให้รอกองทัพพักอยู่นอกเมือง 1 คืน

ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน จึงแต่งให้ท้าวพระยาคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทอง ออกมารับ 3 เชือก และจัดให้เจ้าวังซ้ายผู้หลานคุมกระบวนออกมารับกองทัพด้วย เวลาเช้า 3 โมงเศษ เดินช้างนำทัพเข้าในเมืองพร้อมด้วยกระบวนแห่ที่มารับ ตั้งแต่กองทัพฝ่ายเหนือออกจากเมืองพิชัยไปจนถึงเมืองน่าน รวมวันเดินกองทัพ 17 วัน หยุดพักอยู่เมืองฝางและท่าแฝก 4 วัน รวมเป็น 21 วัน

เวลาบ่าย 3 โมงเศษ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน พร้อมด้วยเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้านายบุตรหลาน แต่งตัวเต็มยศตามแบบบ้านเมืองมายังทำเนียบที่พักกองทัพนั้น ฝ่ายกองทัพก็ได้จัดทหารกองเกียรติยศ 12 คน มีแตรเดี่ยว 2 คัน คอยรับอยู่ที่ทำเนียบ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน เสด็จมาถึงแล้วสนทนาปราศรัยไต่ถามด้วยข้อราชการ และอวยชัยให้พรในการที่จะปราบศัตรูให้สำเร็จ โดยพระบรมราชประสงค์ทุกประการและจัดพระพุทธรูปศิลาศรีพลี 1 องค์ พระบรมธาตุ 1 องค์ ให้แม่ทัพ เพื่อเป็นพิชัยมงคลป้องกันอันตรายในการที่จะไปราชการทัพนั้น กับให้ของทักถามแก่กองทัพสำหรับบริโภคด้วยหลายสิ่ง ครั้นรุ่งขึ้นแม่ทัพนายกองได้ไปเยี่ยมตอบเจ้านครเมืองน่าน กับเจ้าอุปราชเจ้าราชวงศ์และเจ้านายเมืองน่าน

ต่อมาพระยาศรีสหเทพข้าหลวงเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 ซึ่งโปรดฯ พระราชทานแก่ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นไปถึงแม่ทัพได้จัดพิธีรับพระราชทานตามธรรมเนียม

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ แรม 11 ค่ำ เจ้านครน่านได้ส่งช้างมาเข้ากองทัพ 100 เชือก แม่ทัพจึงให้เปลี่ยนช้างหัวเมืองชั้นในที่ได้บรรทุกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารมาในกองทัพ 58 เชือก มอบให้พระพิชัยชุมพลมหาดไทยเมืองพิชัย คุมกลับคืนไปยังเมืองพิชัย เพื่อจะได้บรรทุกเสบียงลำเลียงเข้าจากเมืองพิชัยขึ้นมาส่งยังฉางเมืองท่าแฝก ซึ่งพระยาสวรรคโลกได้มาตั้งฉางพักเสบียงไว้สำหรับเมืองน่านจะมารับลำเลียงส่งไปถึงท่าปากเงยและเมืองหลวงพระบางจะได้จัดเรือมารับแต่ปากเงย ส่งต่อไปถึงเมืองงอย[9]

พิราลัย

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน เสวยราชสมบัติได้ 39 ปี มีพระชนมายุ 86 ชันษา ก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันศุกร์ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 ณ คุ้มหลวงนครเมืองน่าน

เมื่อนั้นเจ้าอุปราช ก็ให้เจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อยลงไปกราบทูลพระมหากระษัตริย์เจ้าในกรุงเทพมหานคร ว่าด้วย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครเมืองน่าน ถึงแก่พิราลัย

  • ในปี พ.ศ. 2435 เจ้ามหาอุปราชาหอน่า เป็นประธาน และพระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงใหญ่ประจำนครเมืองน่าน และเจ้าราชวงษ์ เสนาอามาตย์ก็ได้กะเกณฑ์ไพร่พลบ้านเมืองให้ตัดไม้มาสร้างพระเมรุ
  • ในปี พ.ศ. 2435 เจ้ามหาอุปราชาหอน่า เป็นประธาน เจ้าราชวงษ์ และพระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงใหญ่ประจำนครเมืองน่าน พร้อมด้วยหน่อมหาขัติยราชวงษา และเสนาอามาตย์ทั้งหลายก็พร้อมกันแล้ว ก็ชุมนุมมายังช่างไม้ทั้งหลาย ให้สร้างมหาปราสาทพระเมรุหลวงหลังใหญ่ ที่สุสานหลวงข่วงดอนไชย ลุ่มวัดหัวเวียงหั้นแล เจ้ามหาอุปราชาหอน่า ก็ได้แต่งให้พระยาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาวิสุทธิมงคล ให้เป็นหัวหน้าในการจัดการควบคุมยังช่างไม้ทั้งหลาย ที่สร้างมหาปราสาทพระเมรุหลวง มหาปราสาทพระเมรุหลวง สร้างเป็นจตุรมุข ออก 4 ด้านหลังมุงยอดภายในบนประดับแล้วไปด้วยน้ำสีต่าง ๆ ใส่ข้างยอดช่องฟ้าและปวงปี บนยอดใส่เสวตรฉัตรงามดีสอาด แล้วก็แต่งสร้างศาลาบาดล้อมแง่ 14 ด้านจอดติดกันมุงด้วยคา หุ้มด้วยผ้าขาว ทั้ง 4 ด้าน มีประตูทั้ง 4 ด้าน สามารถไขเปิดได้ แล้วก็ตกแต่งด้วยโคมไฟ มากมาย
  • ครั้นถึงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ก็ได้เชิญเอาพระบรมศพเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ลงจากหอคำราชโรงหลวง ก็กระทำสงเสพด้วยดุริยดนตรีนันทเภรีพันสอาด แต่งรูปเทวบุตร 32 ตนไปก่อนน่าแทนแห่ เอาพระศพพระเจ้าฟ้าไปสู่ปราสาทพระเมรุหลวงวันนั้นแล แล้วก็ตั้งเขาอันม่วน มโหรสพ อย่างยิ่งใหญ่ ฝูงประชาไพร่สนุกใจ กระทำบุญให้ทานไปไม่ให้ขาดหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญ คือว่ามหาบังสกุลเปนต้นหั้นแล
  • ครั้นถึงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ก็ได้พร้อมกันเชิญเอาพระบรมศพ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ไปถวายพระเพลิงวันนั้นแล
  • ครั้นถึงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2436 เจ้ามหาอุปราชาสุวรรณฝ่ายน่าหอคำ เจ้าราชวงษา เป็นประธาน และหน่อขัติยวงษา เสนาอามาตย์ทั้งหลายก็พร้อมกันอังคาตราธนาเอายังมหาอัฐิเจ้า เสด็จลงจากพระเมรุแล้วก็สงเสพด้วยดุริยดนตรีแห่นำเข้ามาให้สถิตย์อยู่ในพระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำ ก่อน แล้วก็กระทำบังสกุลพระอัฐิเจ้าทำบุญหื้อทานอยู่ในที่นั้น
  • ครั้นถึงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ก็พร้อมราธนาเอาพระมหาอัฐิเจ้าขึ้นสถิตย์ในกู่ ณ ข่วงพระธาตุเจ้า วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ณ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ราชตระกูล

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

  1. ถนนอนันตวรฤทธิเดช

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ถัดไป
พระเจ้ามหาวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62
และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435)
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช