พันศักดิ์ วิญญรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
13 กันยายน พ.ศ. 2566
(0 ปี 188 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 สิงหาคม พ.ศ. 2486 (80 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองเพื่อไทย
คู่สมรสอรัญญา วิญญรัตน์
บุพการี
  • ประยูร วิญญรัตน์ (บิดา)
ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยลอนดอน
อาชีพนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญหลายนโยบายในรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ทักษิโณมิกส์"

ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534 พันศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็น ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มาก่อน และอยู่เบื้องหลังนโยบายที่มีชื่อเสียงของรัฐบาลชาติชาย คือ "นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" และเคยดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษา (นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

พันศักดิ์ มีลักษณะเด่นในการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์คือการ ผูกหูกระต่าย ซึ่งทำให้บางครั้งสื่อมวลชนเรียกพันศักดิ์ว่า "หูกระต่าย"

ประวัติ[แก้]

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ ประยูร วิญญรัตน์ อดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่ช่วยวางรากฐานการตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย กระทรวงการคลัง (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งต่อมาได้เข้าเป็น กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กับสุโรจน์ วิญญรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารนครหลวงไทย ในยุคกอบกู้กิจการ จากการชักชวนของ บุญชู โรจนเสถียร ที่เป็นลูกศิษย์ของประยูรที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากประยูรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันธนาคารกรุงเทพ ให้มีระบบธนาคารสาขา ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และประยูรได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการธนาคารกรุงเทพ อยู่เป็นเวลานาน ทำให้ตระกูลวิญญรัตน์ ของพันศักดิ์ มีความใกล้ชิดกับผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ มาจนถึงปัจจุบัน

พันศักดิ์ มีพี่ชายเป็นนักธุรกิจคือ สรดิษ วิญญรัตน์ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) และมีพี่สาวคือ ศรี ตุลานันท์ (สมรสกับ เดชา ตุลานันท์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ)

พันศักดิ์ เป็นศิษย์เก่า วชิราวุธวิทยาลัย ต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรี ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จาก มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) ประเทศอังกฤษ

การทำงาน[แก้]

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน พันศักดิ์ได้เข้าทำงานในฝ่ายวิชาการ ของธนาคารกรุงไทย แต่ทำงานอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ก็ลาออก หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World (ปัจจุบันรวมกิจการกับบางกอกโพสต์) ต่อมาพันศักดิ์ได้ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเกือบ 10 ปี มีภรรยาคนแรกเป็นชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมาชิกตระกูลใหญ่ในสังคมอเมริกัน และเป็นที่ปรึกษาให้กับ NM Rothschild & Sons Co.,Ltd.

กิจการหนังสือพิมพ์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2513 ได้ร่วมกับเพื่อนทำนิตยสาร "จัตุรัส" รายเดือน และในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดทำหนังสือพิมพ์จัตุรัสรายสัปดาห์ มีการลงเนื้อหาต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ทำให้ถูกมองเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย และมีปัญหาต้องปิดกิจการและเปิดใหม่ในชื่อเดิมหลายครั้ง ต่อมาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 หนังสือพิมพ์จัตุรัสถูกสั่งปิดอีกครั้ง และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในฐานะบรรณาธิการ ถูกจำคุกในข้อหาภัยสังคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากทางการได้รับการร้องขอจากสหรัฐอเมริกาโดยตรง

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นพันศักดิ์ ได้อพยพหนีภัยการเมืองไปอยู่สหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ปี ก่อนจะกลับมาเปิดกิจการหนังสือพิมพ์จัตุรัส อีกครั้ง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2524 โดยมีเนื้อหาให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ต่อมาประสบปัญหาด้านเงินทุนจึงเลิกกิจการไปใน เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2527 หลังจากนั้นพันศักดิ์ ได้ทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ กฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา อยู่ในขณะนั้น พันศักดิ์ได้ทำธุรกิจดังกล่าวในช่วงปี พ.ศ. 2528 จนถึงปี พ.ศ. 2531

งานการเมือง[แก้]

พันศักดิ์ได้รับการเชิญร่วมคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระหว่างปี พ.ศ. 2531–2534 เป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาที่รู้จักกันในชื่อ "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ณรงค์ชัย อัครเศรณี ชวนชัย อัชนันท์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ร่วมด้วย ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม และนักวิชาการอีกจำนวนมาก คณะที่ปรึกษาพิษณุโลก มีผลงานที่มีชื่อเสียงคือ นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ต่อมาคณะที่ปรึกษาดังกล่าวต้องยุติบทบาทลงภายหลัง เหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งมีการระบุถึงกรณี รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลและคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายแยบยลทางการเมือง สร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตย เป็นเหตุผลข้อ 3 ในทั้งหมด 5 ข้อที่ทำให้คณะ รสช. กระทำรัฐประหาร[1]

พันศักดิ์ได้เดินทางไปพำนัก ที่ประเทศอังกฤษระยะเวลาหนึ่ง โดยมีบริษัทของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่จดทะเบียนในประเทศอังกฤษ ออกหนังสือรับรองการทำงานประกอบการขอวีซ่า ชื่อของพันศักดิ์เงียบหายไประยะหนึ่ง ก่อนจะรับตำแหน่งที่ปรึกษาของสนธิ ลิ้มทองกุล และบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Asia Times ในเครือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รวมถึงเป็นคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ในเครือ เดอะ เมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จนกระทั่งได้รับการทาบทามให้นั่งตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึง ปี พ.ศ. 2549 และต้องยุติบทบาทที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีลงอีกครั้งพร้อมกับการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

นอกเหนือจากงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว พันศักดิ์ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (สคบ.) หรือ Thailand Creative and Design Center (TCDC) และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีกรรมการบริหารศูนย์ฯ ชุดดังกล่าวขอลาออกรวม 6 คนจากทั้งหมด 9 คน โดยพันธ์ศักดิ์ ไม่ลาออกยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการที่มีกรรมการเหลือเพียง 3 คน กระทั่งต่อมาได้มีการประชุมกรรมการ สบร. เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2550 แต่งตั้งกรรมการบริหารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบชุดใหม่ จึงทำให้พันศักดิ์พ้นจากตำแหน่งไป

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ กลับมาปรากฏอีกครั้งตัวภายหลังการชนะเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน โดยได้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และต่อมาในปี พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "แถลงการณ์คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-02-24.
  2. เปิด 29 ชื่อ กก.ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ‘เชฟ-ผกก.ดัง-ดวงฤทธิ์’ ร่วมด้วย
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๕๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]