พระแก้วดอนเต้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระแก้วดอนเต้า
ชื่อเต็มพระเจ้าแก้วมรกต
ชื่อสามัญพระแก้วดอนเต้า
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางสมาธิ
ความกว้าง๖.๕ นิ้ว
ความสูง๘ นิ้ว
วัสดุหยกเขียวเข้ม
สถานที่ประดิษฐานกุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง
ความสำคัญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระแก้วดอนเต้า เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของไทยเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ วัสดุหยกสีเขียวเข้มขนาดหน้าตัก 6.5 นิ้ว สูง 8 นิ้ว ฐานสูง 17.75 นิ้ว ฐานกว้างตอนบน 7.75 นิ้ว ฐานกว้างตอนล่าง 10.75 นิ้ว ศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ประดิษฐานอยู่ในกุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง พระแก้วดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระแก้วที่สวยงามมากองค์หนึ่ง เป็นพระศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม ปลายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี (สะดือ) พระพักตร์เป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ พระเกศเป็นต่อม พระกรรณยาวสยายปลายโค้งบานออก องค์พระประทับนั่งสมาธิราบมือประสานบนตัก

ประวัติ[แก้]

เล่าเป็นตำนานว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ไว้ เมื่อทรงดับขันธ์ปรินิพพานล่วงมาแล้ว ๑,๐๐๐ ปี จะมีผู้มีบุญจากดาวดึงส์ลงมาจุติและได้บวชเป็นพระเถระ การณ์เป็นดังคำพยากรณ์ พระมหาเถระนั้นดำริสร้างพระพุทธรูป แต่ยังไม่ปลงใจเลือกวัสดุใด พญานาคในลำน้ำวังจึงนำแก้วมรกต (หรือ "แก้วกายสิทธิ์") ใส่ในหมากเต้า คือ แตงโมในไร่ของนางสุชาดาผู้อุปัฏฐาก นางสุชาดาเก็บแตงโมไปถวายพระมหาเถระเมื่อผ่าออกพบก้อนมรกตจึงนำมาจะแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ก็พยายามแกะพระพุทธรูปขึ้น แต่ก็แกะไม่สำเร็จเพราะเนื้อแข็งมาก จนกระทั่งมีตาปะขาวซึ่งเป็นพระอินทร์ปลอมตัวมาอาสาแกะพระให้ เมื่อแกะเสร็จตาปะขาวก็หายไป ครั้นเมื่อพระมหาเถรและนางสุชาดาทำการสมโภชแล้วก็ถวายพระนามพระพุทธรูปแก้วมรกตองค์นั้นว่า "พระแก้วดอนเต้า" ต่อมาพระมหาเถระและนางสุชาดาถูกเจ้าผู้ครองนครลำปางสั่งประหาร โดยมีผู้ใส่ความว่าเป็นชู้กับพระมหาเถระ ก่อนตายนางได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตนไม่มีความผิดขอให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ เป็นการประกาศความบริสุทธิ์เพื่อให้พระมหาเถระพ้นข้อครหา เหตุการณ์เป็นดังคำอธิษฐานของนาง เมื่อพระมหาเถระพ้นจากความผิดจึงอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานยังวัดพระธาตุลำปางหลวงตราบถึงปัจจุบัน[1]

ปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบันพระแก้วดอนเต้าประดิษฐานอยู่ ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.danpranipparn.com/web/praput/praput119.html ๒๑. พระแก้วดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง