พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเปโดร
ภาพเหมือนของพระเจ้าเปโดร ปี ค.ศ. 1857
กษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออน
ครองราชย์26/27 มีนาคม ค.ศ. 1350 – 13 มีนาคม ค.ศ. 1366
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา
ประสูติ30 สิงหาคม ค.ศ. 1334
บูร์โกส ราชอาณาจักรกัสติยา
สวรรคต23 มีนาคม ค.ศ. 1369 (34 พรรษา)
พระมเหสีมาริอา เด ปาดิยา
บล็องช์แห่งบูร์บง สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา
ฆัวนา เด กัสโตร สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา
พระบุตรกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา ดัชเชสแห่งแลงคัสเตอร์
อิซาเบลแห่งกัสติยา ดัชเชสแห่งยอร์ก
ราชวงศ์บูร์กอญ
พระบิดาพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา
พระมารดามารีอาแห่งโปรตุเกส สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา

พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา (สเปน: Pedro de Castilla), เปโดรผู้โหดร้าย (Pedro El Cruel) หรือ เปโดรผู้เที่ยงธรรม (Pedro El Justiciero) เป็นกษัตริย์ชาวสเปนแห่งกัสติยาและเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1350 ถึง ค.ศ. 1369 คนในยุคเดียวกันกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นนักปกครองผู้แสนโหดร้าย ขณะที่นักประวัติในยุคหลังมองพระองค์เป็นผู้รักษาความยุติธรรมและให้ฉายานามแก่พระองค์ว่า "พระเจ้าเปโดรผู้ยึดหลักกฎหมาย"

วัยเยาว์[แก้]

เปโดรเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1334 ที่หอคอยของอารามซานตามาริอาลาเรอัลเดลัสอูเอลกัสในเมืองบูร์โกสของสเปน โดยเป็นพระโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา, เลออน และกาลิเซียกับมารีอาแห่งโปรตุเกส[1] พระมเหสีซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 4 แห่งโปรตุเกส หลังให้กำเนิดเปโดร มารีอากับพระโอรสถูกพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 ขับไล่ออกจากราชสำนัก พระองค์ได้อยู่กินกับสนมลับที่มีบุตรธิดาให้พระองค์ 10 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นบุตรชายชื่อฟาดริเกและเอนริเก

มารีอาถูกทิ้งให้ดูแลพระโอรสด้วยความขมขื่นที่อัลกาซาร์ในเซบิยา ภายใต้การดูแลของพระมารดา เปโดรได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีและเติบโตมาเป็นเด็กหนุ่มผู้รอบรู้ โปรดความบันเทิง ดนตรี และบทกวี

การขึ้นครองราชย์และการสมรส[แก้]

ภาพมาริอา เด ปาดิยา เปลือยกายเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าเปโดร โดยปอล แฌร์แว

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1350 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระบิดาของเปโดรสิ้นพระชนม์จากกาฬโรคที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วยุโรปขณะกำลังปิดล้อมชาวมัวร์ในฐานที่มั่นในยิบรอลตาร์ บัลลังก์กัสติยาได้ตกเป็นของเปโดรที่มีพระชนมายุไม่ถึง 16 พรรษาดี ราชสำนักถูกพระมารดาและขุนนางคนโปรดของพระนางครอบงำเนื่องจากกษัตริย์คนใหม่ยังอ่อนวัยและไร้ประสบการณ์ พระเจ้าเปโดรได้ดิ้นรนต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจควบคุมของพระมารดา ทรงหันไปหาฆวน อัลฟอนโซ เด อัลบูร์เกร์เก หัวหน้ารัฐมนตรีที่ได้ช่วยปลดปล่อยพระองค์ให้เป็นอิสระ

ในปี ค.ศ. 1352 พระเจ้าเปโดรได้พบกับมาริอา เด ปาดิยา ผู้งดงามโดยการแนะนำของอัลบูร์เกร์เก กษัตริย์ตกหลุมรักเธออย่างหัวปักหัวปำ อัลบูร์เกร์เกนั้นคิดว่ามาริอาจะเชื่อฟังคำสั่งของตนทุกอย่างแต่พระองค์กลับคิดผิด หญิงสาวมีความทะเยอทะยานและได้ชี้แนะแก่กษัตริย์ว่าหัวหน้ารัฐมนตรีของพระองค์ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพื่อรักษาตำแหน่งที่กำลังสั่นคลอน อัลบูร์เกร์เกได้โน้มน้าวพระเจ้าเปโดรให้ทรงสมรสกับบล็องช์แห่งบูร์บง หลานสาว (ลูกของพี่น้อง) ของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ที่ต้องการได้กัสติยามาเป็นพันธมิตรร่วมต่อต้านอังกฤษ พิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่บายาโดลิดในปี ค.ศ. 1353 สถานการณ์ซ้ำรอยวัยเด็กของพระองค์ เมื่อหลังสมรสพระองค์ทรงทิ้งบล็องช์กลับไปหามาริอาทันที การกระทำดังกล่าวได้สร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างกัสติยากับฝรั่งเศสและสมเด็จพระสันตะปาปา

มาริอา เด ปาดิยา มีบุตรธิดาให้พระเจ้าเปโดรสี่พระองค์ คือ

พระองค์ยังได้ทรงสมรสกับฆัวนา เด กัสโตร ที่โน้มน้าวให้พระองค์ทอดทิ้งพระราชินีมาสมรสกับตน แต่เพียงสองคืน พระนางก็ถูกกษัตริย์ทอดทิ้งไม่ต่างกับพระราชินีคนก่อน หลังพระเจ้าเปโดรสิ้นพระชนม์ ฆัวนาได้ให้กำเนิดพระโอรสที่สิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์ คือ

  • ฆวน เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1355)

พระราชินีบล็องช์สิ้นพระชนม์โดยไร้พระโอรสธิดาในปี ค.ศ. 1361 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยมีพระเจ้าเปโดรทรงเป็นผู้บงการ

สงครามแย่งชิงบัลลังก์[แก้]

รูปปั้นแกะสลักพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยากำลังคุกเข่าสวดมนต์ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ สเปน

แทนที่จะต่อสู้กับชาวมุสลิมแห่งกรานาดาเหมือนเช่นกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ พระเจ้าเปโดรกลับทรงร่วมมือกับชนกลุ่มดังกล่าวเปิดสงครามกับอารากอน ระหว่างการทำสงครามพระองค์ได้เชิญฟาดริเก พระอนุชาต่างมารดามาเสวยมื้อเย็นและทุบพระเศียรจนเสียชีวิต สร้างความโกรธแค้นให้แก่เอนริเกแห่งตรัสตามารา ฝาแฝดของเฟดริเกที่หันไปเป็นพันธมิตรกับอารากอนก่อปฏิวัติต่อพระเจ้าเปโดรหลายครั้งแต่ก็โดนบดขยี้อย่างราบคาบ ในปี ค.ศ. 1356 เอนริเกได้หลบหนีไปฝรั่งเศสและได้เสนอตัวรับใช้กษัตริย์ฝรั่งเศส

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1356 ถึง ค.ศ. 1366 พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาทรงทำสงครามกับพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนที่สนับสนุนเอนริเก สงครามดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "สงครามสองเปโดร" โดยพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาทรงมีเป้าหมายอยู่ที่การอ้างสิทธิ์ในราชอาณาจักรบาเลนเซียซึ่งมีมูร์เซีย, เอลเช, อาลิกันเต และโอริอูเอลา ขณะที่พระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนทรงหวังครองความเป็นใหญ่ในเมดิเตอร์เรเนียนเหนือคู่แข่งอย่างกัสติยาและพันธมิตรของกัสติยาอย่างเจนัว ในสงครามครั้งนี้พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาได้ทรงสังหารประชาชนมากมายจนทำให้พระองค์ถูกกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์ผู้แสนโหดร้าย ทว่าพระองค์สามารถพิชิตการิญเญนา, เตรูเอล, เซกอร์เบ, มูร์บิเอโดร, อัลเมนารา, ชิบา และบุญโญล

ในปี ค.ศ. 1366 ด้วยการสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศส, สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และพระเจ้าเปโดรที่ 4 เอนริเกสามารถรวบรวมกองทัพขนาดใหญ่อันประกอบด้วยทหารผ่านศึกฝรั่งเศสนำโดยแบร์ทร็อง ดูว์ แกลแกล็ง, ชาวอารากอน และทหารรับจ้างชาวอังกฤษที่ได้ทำการล้มล้างอำนาจของพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาเพื่อให้เอนริเกได้ขึ้นครองตำแหน่งแทนพระองค์

ภาพสมรภูมินาเฆราจากเอกสารในคริสตศตวรรษที่ 15

พระเจ้าเปโดรได้หนีไปบายอน นครของกัสกอญซึ่งอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ ที่นั่นพระองค์ได้ขอความช่วยเหลือจากเอ็ดเวิร์ดเจ้าชายดำและบรรลุข้อตกลงพันธมิตรอังกฤษ-กัสติยาในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1362 พระเจ้าเฌามาที่ 4 แห่งมาจอร์กาได้เข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้าเปโดรและปี ค.ศ. 1367 เอ็ดเวิร์ดเจ้าชายดำได้นำชาวอังกฤษเข้าทำสมรภูมิกับกองทัพพันธมิตรฝรั่งเศส-กัสติยาที่นาเฆรา สงครามจบลงความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของเอนริเกกับฝรั่งเศสชาติพันธมิตร พระเจ้าเปโดรได้กลับมาครองราชย์อีกครั้ง ทว่าความเป็นพันธมิตรกับชาวอังกฤษถึงคราวแตกแยกเมื่อพระองค์ได้สังหารนักโทษคนหนึ่งอย่างรุนแรงและไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่พันธมิตรชาวอังกฤษ

เอนริเกกลับมายังกัสติยาอีกครั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1368 พร้อมกับกองทหารฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ไม่กี่เดือนต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1369 กองทัพของพระเจ้าเปโดรและเอนริเกได้เผชิญหน้ากันที่มอนติเอล เมืองป้อมปราการซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารคริสเตียนซานเตียโก สถานการณ์นำพาให้กษัตริย์เปิดโต๊ะเจรจากับพระอนุชาต่างมารดา ในตอนนั้นพระเจ้าเปโดรได้หันไปขอความช่วยเหลือจากดูว์ แกลแกล็ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นราชทูตของเอนริเก ทว่าพระองค์ถูกดูว์ แกลแกล็ง หักหลังจนเป็นเหตุให้ทรงถูกเอนริเกลอบสังหารในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1369 เป็นการจบสิ้นการปกครองกัสติยาของราชวงศ์บูร์กอญ เมื่อกษัตริย์คนใหม่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งราชวงศ์ตรัสตามารา

อ้างอิง[แก้]

  1. Valdeón Baruque , Julio (2002). Pedro I the Cruel and Enrique de Trastámara . Madrid: Santillana Ediciones Generales, p. 48