พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้ากินรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3
ประสูติ26 ตุลาคม พ.ศ. 2362
สิ้นพระชนม์13 เมษายน พ.ศ. 2437 (74 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาฉิม ในรัชกาลที่ 3

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี (26 ตุลาคม พ.ศ. 2362 — 13 เมษายน พ.ศ. 2437) พระราชธิดาพระองค์ที่ 30 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2362[1] เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม ธิดาพระยาสีหราช (เมือง)[2] มีพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดา 1 พระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉวีวรรณ (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2365 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429)[3]

พระองค์ประสูติในขณะที่พระราชบิดายังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อแรกประสูติจึงมีพระยศเป็น หม่อมเจ้ากินรี[4] ต่อมาเมื่อพระราชบิดาได้บรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเลื่อนเป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2437 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชันษา 74 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2438[1]

พระกรณียกิจ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรีได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นผู้กำกับการแจกเบี้ยหวัดฝ่ายใน[5]

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์เจ้ากินรี ทรงได้เข้าเป็นสามัญสมาชิกของหอพระสมุดวชิรญาณในพระบรมมหาราชวังและทรงประทานเงินบำรุงปีละ 20 บาทเป็นประจำทุกปี[6] นอกจากนี้พระองค์เจ้ากินรี ยังเป็นเจ้านายฝ่ายในผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพของพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ทำให้พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2435 พร้อมกับพระองค์เจ้าบุตรี

พระจริยวัตร[แก้]

พระองค์เจ้ากินรีทรงรับนายกุหลาบมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม[7] โปรดให้ข้าหลวงและพี่เลี้ยงช่วยกันเลี้ยงดูอยู่ที่ตำหนักจนกระทั่งอายุ 11 ปี ถึงกำหนดโกนจุก ก็ทรงจัดพิธีโกนจุกให้ แล้วพาไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก อยู่ทางฝ่ายหน้า เมื่อถึงเวลาบวชก็ทรงบวชให้ ทรงเมตตาประทานความช่วยเหลือทุกอย่าง แม้เมื่อแต่งงานและมีบุตรคนแรกก็ได้ ประทานพี่เลี้ยงมาเลี้ยงลูก ประทานทองคำทำขวัญ นายกุหลาบได้ถวายธิดาหลายคนเป็นนางข้าหลวงในตำหนักของพระองค์เจ้ากินรี คนในตำหนักเรียกเด็กหญิงเหล่านี้ว่า "หลานเสด็จ"[8]

พระองค์เจ้ากินรี ทรงสนิทสนมกับพระองค์เจ้าแม้นเขียน แม้พระองค์เจ้าแม้นเขียนนั้นทรงศักดิ์เป็นพระปิตุจฉาของพระองค์เจ้ากินรี แต่ด้วยพระชันษาไล่เลี่ยกัน พระองค์เจ้ากินรีสูงพระชันษากว่าพระองค์เจ้าแม้นเขียน 4 ปี พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์จึงทรงสนิทสนมชอบพอกันมาก มักเสด็จไหน ๆ ภายในพระบรมมหาราชวังด้วยกันเสมอ ดังในจดหมายเหตุ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงบันทึกเมื่อพระชนมายุเพียง 5 พรรษาว่า[9]

เสด็จยายแม้นเขียน เสด็จยายกินรี มาเยี่ยมเรา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทรงสนิท และมีพระเมตตาล้อพระองค์เจ้ากินรีเล่นบ่อย ๆ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารจึงทรงบันทึกถึงเมื่อเชิญเสด็จมา "กินโต๊ะฝรั่ง" เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ พระอัครราชเทวีว่า[10]

เจ้านายแก่ ๆ ดูคร่ำครึเต็มที เสวยมีดซ่อมไม่เป็น ทูลกระหม่อมบน ทรงสอนเสด็จยายกินรีเอง หัวร่อกันใหญ่

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • หม่อมเจ้ากินรี (26 ตุลาคม พ.ศ. 2362 — 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 — 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
  • พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี (2 เมษายน พ.ศ. 2394 — 13 เมษายน พ.ศ. 2437)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากินรี (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454; หลังสิ้นพระชนม์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 44. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-07-17.
  2. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 280
  3. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 45. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-07-17.
  4. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 70. ISBN 974-221-818-8
  5. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 33 บุรพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2469. 97 หน้า. หน้า 26.
  6. วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๖ แผ่น ๙ วันพฤหัศบดีที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ราคาแผ่นละ ๓๒ อัฐ [ลิงก์เสีย]
  7. ""ก.ศ.ร.กุหลาบ" ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นนักวิชาการนอกีต". สยามานุสติ. 7 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ก.ศ.ร กุหลาบ". วิชาการ. 13 เมษายน 2548. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. จดหมายเหตุรายวัน ในสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2017-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
  10. "เวียงวัง ตอนที่ 226 : ก.ศ.ร.กุหลาบ ปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ 5". เด็กดี. 16 เมษายน 2553. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 9 (ตอน 52): หน้า 457. 26 มีนาคม 2435.
  12. "ประวัติพระเจ้าราชวงษ์เธอพระองค์เจ้ากินรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 11 (ตอน 7): หน้า 52. 12 พฤษภาคม 2437.