พระเจ้าช้างเผือก (ภาพยนตร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าช้างเผือก
โปสเตอร์แบบแรก
กำกับสันธ์ วสุธาร
ผู้ช่วยผู้กำกับ
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์
ใจ สุวรรณทัต
เขียนบทปรีดี พนมยงค์
อำนวยการสร้างปรีดี พนมยงค์
นักแสดงนำเรณู กฤตยากร
สุวัฒน์ นิลเสน
หลวงศรีสุรางค์
ไพริน นิลเสน
นิตย์ มหากนก
ประดับ รบิลวงศ์
ไววิทย์ ว.พิทักษ์
หลวงสมัครนันทพล
ประสาน ศิริพิเดช
มาลัย รักประจิตต์
กำกับภาพประสาท สุขุม
ตัดต่อบำรุง แนวพนิช
ดนตรีประกอบพระเจนดุริยางค์
ผู้จัดจำหน่ายปรีดี โปรดักชั่น
วันฉาย4 เมษายน พ.ศ. 2484
ความยาว100 นาที
53 นาที (ตัดต่อเมื่อ พ.ศ. 2512)
ประเทศไทย
ภาษาอังกฤษ
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย
ข้อมูลจากสยามโซน

พระเจ้าช้างเผือก (อังกฤษ: The King of the White Elephant) เป็นภาพยนตร์ไทยขาวดำ ในระบบ 35 มม.[1] บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ ให้เสียงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2483 เพื่อส่งไปประกวดรางวัลสันติภาพเพื่อรางวัลโนเบิล (Noble Prize for Peace) ที่สหรัฐอเมริกา ออกฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันที่ ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และ นิวยอร์ก อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ปรีดี พนมยงค์ กำกับโดย สันธ์ วสุธาร กำกับภาพโดย ประสาท สุขุม

เรื่องของสงครามระหว่างเจ้ากรุงอโยธยา กับ เจ้ากรุงหงสาวดี ที่เกิดขึ้นจากความโลภของกษัตริย์เพียงองค์เดียวทำให้เดือดร้อนไพร่ฟ้าทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเรื่องเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นช้างเผือกด้วยความที่หามาได้ยากเย็นแสนเข็ญ และคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง สร้างสรรค์โดยบุคคลสำคัญระดับผู้นำของชาติ[2]คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ร่วมด้วยบุคลากรชั้นยอดของวงการภาพยนตร์ไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นโดยบุคคลสำคัญของบ้านเมือง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม คุณค่าในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้มีมากมาย นอกจากจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของไทย ในวงวรรณกรรม และภาพยนตร์ที่ชูประเด็นสันติภาพ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของมนุษยชาติแล้ว ในแง่ความเป็นศิลปะภาพยนตร์ ได้ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความสมจริงไปสู่แก่นแกนความคิด ผสานจินตนการของผู้ประพันธ์ และอำนวยการสร้าง กล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่ชูหลักสันติธรรมให้สูง ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์[3][4]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้นำกลับมาฉายใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2496 และนำมาจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อปี พ.ศ. 2548

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง

พระราชดำรัสของพระเจ้าจักราอันเป็นใจความสำคัญของเรื่อง

ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์

พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน

ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน

พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร

การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม

กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย

กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"

ตัวละคร[แก้]

ฉากในภาพยนตร์
  • พระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยา แสดงโดย เรณู กฤตยากร
  • พระเจ้าหงสา แสดงโดย ประดับ รบิลวงศ์
  • สมุทราชมณเฑียรแห่งอโยธยา แสดงโดย สุวัฒน์ นิลเสน
  • สมุหกลาโหมแห่งอโยธยา แสดงโดย หลวงศรีสุรางค์
  • เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) แสดงโดย ไพริน นิลเสน
  • เจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงโดย นิตย์ มหากนก
  • พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี แสดงโดย ไววิทย์ ว.พิทักษ์
  • อัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย หลวงสมัครนันทพล
  • สมุหราชมณเฑียรหงสา แสดงโดย ประสาน ศิริพิเดช
  • องครักษ์ของอัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย มาลัย รักประจิตต์

ทีมงานสร้าง[แก้]

ประวัติการสร้างและการจัดฉาย[แก้]

พระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทางนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ประสงค์ให้เป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ความเป็นชาติรัฐของไทยในช่วงเวลานั้น เพื่อปลุกใจให้คนไทยรักชาติ เนื่องจากภาวะของประเทศที่ใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับบุญบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย พระเจ้าช้างเผือก หรือ พระเจ้าจักรา กษัตริย์ไทย กระทำยุทธหัตถีชนะพระเจ้าหงสา ฯ กษัตริย์พม่า ซึ่งเป็นเรื่องราวที่คาบเกี่ยวในประวัติศาสตร์ไทยถึง 2 รัชกาล คือ รัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถ่ายทำที่โรงถ่ายไทยฟิล์ม, ทุ่งมหาเมฆ และจังหวัดแพร่ ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจำนวนมากซึ่งสละเวลาช่วยท่านผู้ประศาสน์การโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

การถ่ายภาพขาว-ดำ ได้อย่างยอดเยี่ยมของ ประสาท สุขุม A.S.C. โดยเฉพาะการถ่ายภาพช้างจากเบื้องล่างเพื่อให้ได้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่กำลังนิยมใช้ในหนังทุนสูงของฮอลลีวูด โดยทีมงานขุดหลุมให้ช่างภาพลงไปตั้งกล้องมุมเงย ถ่ายภาพช้างเดินข้ามผ่านหลุมไป เป็นต้น

การสร้างดนตรีเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างหนึ่งได้แก่ เพลง ศรีอยุธยา ซึ่งกระหึ่มด้วยวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร โดย ศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานและควบคุมวง มี 3 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่หนึ่ง เพลงเอกและไตเติ้ลประจำเรื่อง คือ ศรีอยุธยา (ทำนองเก่า "สายสมร" สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งลาลูแบร์บันทึกไว้เป็นโน้ตดนตรี)[5]
  • ส่วนที่สอง เพลงที่ใช้บรรเลงระหว่างฉากใช้เพลงคลาสสิกเป็นท่อนๆ หลายบทเพลงด้วยกัน เพลงประกอบเสียง ใช้เครื่องดนตรีบางชิ้น เช่น เปิงมางคอก มโหรทึก ปี่กลอง
  • ส่วนที่สาม เพลงที่ใช้อารมณ์ในแต่ละฉากเป็นสำคัญเช่นเดียวกับหนังฮอลลีวูดยุคนั้น ไม่ใช่เพลงประกอบภาพเสียทีเดียว แต่เป็นภาพประกอบเพลง[6]

นอกจากนี้ งานดุริยางค์สากล กรมศิลปากรได้นำเพลงศรีอยุธยาและเพลงไทยในภาพยนตร์มาเรียบเรียงเป็นเพลงเรื่อง ประกอบด้วยสายสมร, ขับไม้บัณเฑาวะว์, อโยธยาคู่ฟ้า ใช้บรรเลงในการแสดงคอนเสิร์ตและรายการโทรทัศน์ [7] [8]

The King of The White Elephant ออกฉายที่โรงภาพยนตร์ Happy Theatre ประเทศสิงคโปร์ พ.ศ. 2484

ต้นฉบับเดิมที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันที่ ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และ นิวยอร์ก เป็นภาพยนตร์ไทยพูดด้วยภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก ใช้ทุนสร้างสูง มีฉากที่ยิ่งใหญ่ เช่น การนำช้างกว่า 150 เชือกเข้าสู่ฉากคล้องช้าง และฉากยุทธหัตถี โดยได้รักความร่วมมือเอื้อเฟื้อจัดหาช้างโดยไม่คิดมูลค่าจากเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นต้น แต่การฉายที่สหรัฐอเมริกากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ฉายได้เพียง 7 วันเท่านั้นก็ยกเลิก เนื่องจากไม่มีคนดู

ฟิล์มต้นฉบับเรื่องนี้สูญหายไปจากประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากอาคารเก็บฟิล์มของโรงถ่ายภาพยนตร์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ ถูกระเบิดไฟไหม้ทั้งหมด แต่ยังคงมีสำเนาต้นฉบับหลงเหลืออยู่ที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน กรุงวอชิงตัน และที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในประเทศสวีเดน[9]

27 ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2523 มีการจัดฉายพิเศษซึ่งเป็นการกลับมาของภาพยนตร์อีกครั้งที่ สยามสมาคม (ติดกับโรงภาพยนตร์ที่เคยเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ต้นถนนอโศก แยกจากถนนสุขุมวิท) แต่คาดว่าเป็นสำเนา 16 มม.คนละฉบับกับที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน เพราะไตเติ้ลคนละแบบและความยาวที่แตกต่างกันมากเกือบครึ่งหนึ่งของต้นฉบับเดิม[10]

ปัจจุบัน ฟิล์มภาพยนตร์ ยังเก็บและรักษาไว้อยู่ที่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ และนำออกฉายบ่อยครั้งทั้งในประเทศและส่งออกไปฉายที่ต่างประเทศ[11]

ต้นปี พ.ศ. 2544 ได้กลับมาฉายอีกครั้งและมีการผลิตวีซีดีออกจำหน่ายในโครงการ "หนังไทยรักชาติ" ของบริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด พร้อมกับเรื่องอื่นในแนวเดียวกัน เช่น มหาราชดำ (พ.ศ. 2522), ขุนศึก (พ.ศ. 2495), พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ (พ.ศ. 2518), ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ (พ.ศ. 2543) เป็นต้น

หอภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับบริษัท เทคนิคัลเลอร์ [12] ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์ และจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อ พ.ศ. 2548 [13][14]

พระเจ้าช้างเผือกได้ถูกฉายทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ในรายการแกะกล่องหนังไทย ทางทีวีไทย[15]

ปี พ.ศ. 2554 หอภาพยนตร์ฉลองครบรอบ 70 ปี พระเจ้าช้างเผือก การออกฉายภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก หอภาพยนตร์ฯ จึงเลือกวันสวนสนามเสรีไทย ในการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่และความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมทั้งเปิดฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเวอร์ชันพากย์ไทยเป็นครั้งแรก วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์[16][17]

หนังสือ[แก้]

หนังสือฉบับภาษาอังกฤษ พ.ศ. 2484 (ขวา) และหนังสือฉบับแปลเป็นภาษาไทย พ.ศ. 2542 (ซ้าย)

บทภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ใช้ชื่อหนังสือว่า "The King of The White Elephant by Pridi Banomyong" พิมพ์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดย Prasit Lulitananda เป็นผู้พิมพ์โฆษณา[18]ต่อมาจึงได้มีการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ.​ 2533 และจัดพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2542 [19]

พระเจ้าช้างเผือก เป็นงานเขียนเชิงนวนิยายเล่มแรกและเล่มเดียวของนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นนวนิยายไทยเล่มแรกที่เขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ[19]

การตอบรับจากสังคม[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกหลังจากการออกฉายในครั้งแรก ถูกวิจารณ์อย่างแรงจากผู้ชมบางส่วน รวมถึงนักวิจารณ์ชาวตะวันตกว่า "เป็นผลงานของนักทำหนังสมัครเล่นที่พยายามจะพูดถึงเรื่องราวระดับมนุษยชาติ การถ่ายทำก็เลียนแบบหนังมหากาพย์ของอเมริกัน" แต่ต่อมาหลังการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า เปี่ยมไปด้วยคุณค่าอย่างหลากหลายทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมและคุณธรรม และต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติมอบรางวัลเฟลลินี (The Fellini Silver Medal Award) เหรียญเงินเพื่อเชิดชูเกียรติผู้กำกับและองค์กรสร้างสรรค์ผลงานอนุรักษ์ศิลปะภาพยนตร์ให้แก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร[20]

ในเนื้อเรื่องมีคำพูด การแสดงออก และการกระทำของตัวละครที่อาจไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนไทยหรือไม่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์หลายประการ เช่น การยึดถือปฏิทินสุริยคติให้ปีหนึ่งมี 365 วัน สนธิสัญญาและพิธีการทูตระหว่างประเทศเกี่ยวกับสงคราม การกล่าวถึงเส้นเขตแดนที่แน่นอนระหว่างอยุธยาและหงสา การดำเนินเรื่องโดยสมุหราชมณเฑียรเป็นตัวละครสำคัญ การยืนเข้าเฝ้า การประท้วง (หรือ strike ตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ) รวมถึงทฤษฎีที่ว่าคนไทยมาจากเทือกเขายูนนาน ฯลฯ ด้วยเหตุที่ว่าต้นฉบับเรื่องนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารแก่ชาวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยมีผู้เขียนประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[19]

การบูรณะฟิล์มภาพยนตร์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2550 มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับ เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) และหอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง เรือนแพ ปี พ.ศ. 2504 ด้วยการสนับสนุนของ บริษัท เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ได้เลือกให้บูรณะฟิล์มใหม่อีกครั้ง เมื่อบูรณะฟิล์มภาพยนตร์สำเร็จ พร้อมที่จะส่งมอบคืนแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติแล้วทำพิธีส่งมอบฟิล์มคืนแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่จังหวัดภูเก็ต แล้วนำมาผลิตเป็นวีซีดีและดีวีดี ในปัจจุบัน

ดีวีดี[แก้]

หอภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับบริษัท เทคนิคัลเลอร์ ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์ และจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อ พ.ศ. 2548 ระบบเสียงภาษาอังกฤษและบรรยายภาษาไทย แปลบทบรรยายไทยโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา

ดีวีดีภาพยนตร์ มีสองแผ่น สองรูปแบบ แผ่นแรกเป็นฉบับเต็มที่ฉายทั่วไป ความยาว 100 นาที พร้อมเมนูเฉพาะดูหนัง,บรรยายภาษาไทย และ เลือกฉาก เท่านั้น ส่วนแผ่นที่สองเป็นฉบับตัดต่อที่ฉายในอเมริกาและต่างประเทศ ความยาว 52 นาที พร้อมเมนู ดูหนัง, บรรยายภาษาไทย, เลือกฉาก และของเสริม ได้แก่ ภาพหลักฉากการถ่ายทำ, ภาพนิ่งจากภาพยนตร์, โปสการ์ด โปสเตอร์ และงานออกแบบ, แนะนำภาพยนตร์โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ บางคำจาก ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์

ดีวีดีภาพยนตร์เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2548[21]

ในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีแบบแผ่นเดียวในฉบับ 70 ปีพระเจ้าช้างเผือก มีความยาว 95 นาที มีเมนูเพิ่มใหม่ให้เลือกฟังเวอร์ชันพากย์ไทยได้

อ้างอิง[แก้]

  1. พระเจ้าช้างเผือก (The King of the White)
  2. "พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-22.
  3. จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 5. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิลพ์ (๑๙๗๗), 2554. 32 หน้า. หน้า 15. ISBN 2228-9402 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length
  4. มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่ชูหลักสันติธรรม[ลิงก์เสีย]
  5. หนังสือประกอบวีดิทัศน์ พระเจ้าช้างเผือก หอภาพยนตร์ชาติ (องค์การมหาชน),2554 หน้า 26
  6. พระเจ้าช้างเผือก THE KING OF THE WHITE ELEPHANT อมตะศิลป์สันติภาพ[ลิงก์เสีย]
  7. สูจิบัตรการบรรเลงดนตรีของวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร ณ สังคีตศาลา ภายในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  8. รายการเพลงของกรมศิลปากร ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม และ บทรายการเพลงสุขใจ ไทยทีวีสีช่อง 3
  9. สงครามโลก ฟิล์มต้นฉบับเรื่องนี้สูญหายไปจากประเทศไทย
  10. หนังสือประกอบวีดิทัศน์พระเจ้าช้างเผือก หน้า 35 ,41
  11. โครงการจัดงานฉลอง 60 ปี ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ, ๒๕๔๔.
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  13. First two films chosen for restoration - Bangkok Post, June 23, 2005[ลิงก์เสีย]
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-01.
  15. แกะกล่องหนังไทย : พระเจ้าช้างเผือก (28 ส.ค. 53)[ลิงก์เสีย]
  16. ๗๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก ภาพยนตร์แห่งสันติภาพเหนือกาลเวลา[ลิงก์เสีย]
  17. งานฉลองครบรอบ ๗๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก
  18. Pridi BanomyongThe King of the White Elephant. Pra Chan Road, Thailand : The University of Moral & Political Sciences Printing Press, 10-4-2484. 154 หน้า.
  19. 19.0 19.1 19.2 ปรีดี พนมยงค์พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธนธัช, 2542. 114 หน้า. ISBN 974-7833-37-9
  20. วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. "วันพระเจ้าช้างเผือก". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 หน้า 26
  21. "เปิดตัว DVD พระเจ้าช้างเผือก ของ ปรีดี พนมยงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2011-04-30.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]