พระมหากัสสปะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมหากัสสปะ
พระมหากัสสปะกระทำอัญชลีก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระพุทธรูปในวัดอินทารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
พระมหากัสสปะกระทำอัญชลีก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระพุทธรูปในวัดอินทารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิมปิปผลิ
สถานที่เกิดหมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ
สถานที่บวชต้นไทรพหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์ กับนาลันทา
วิธีบวชโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา
สถานที่บรรลุธรรมพหุปุตตเจดีย์
เอตทัคคะผู้ทรงธุดงควัตร
อาจารย์พระโคตมพุทธเจ้า
สถานที่นิพพานเขากุกกุฏสัมปาต
ฐานะเดิม
บิดากปิลพราหมณ์
วรรณะเดิมพราหมณ์
สถานที่รำลึก
สถานที่ประตูถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ สถานที่ทำสังคายนาครั้งแรก
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระมหากัสสปะ เป็นพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องและให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์[1] ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธ

ประวัติ

ก่อนบวช

จิตรกรรมภาพพระมหากัสสปะ ในถ้ำคีซิล (อายุราวศตวรรษที่ 6)

พระมหากัสสปะมีนามว่า ปิปผลิ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ เมื่ออายุเข้าย่างสู่ 20 ปี มารดาบิดาของท่านรบเร้าให้ท่านแต่งงาน ท่านปฏิเสธเพราะตั้งใจว่าเมื่อดูแลมารดาบิดาจนทั้งสองเสียชีวิตแล้วก็จะออกบวช แต่มารดาบิดาของท่านยังยืนยันให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล ปิปผลิจึงจ้างช่างหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาว ประดับด้วยผ้านุ่งสีแดง ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วบอกมารดาว่าถ้าหาหญิงสาวลักษณะตามรูปปั้นนี้ได้จึงจะยอมแต่งงาน มารดาของท่านจึงให้พราหมณ์ ๘ คนนำรูปหล่อไปตามหาหญิงสาวที่มีลักษณะตามนั้น เมื่อได้พบนางภัททากาปิลานี จึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบ ทั้งปิปผลิและภัททาต่างไม่อยากแต่งงานจึงแอบส่งจดหมายขอให้อีกฝ่ายหาคู่ครองใหม่ แต่คนถือจดหมายได้แปลงข้อความในจดหมาย ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันในที่สุด[2]

ออกบวช

วันหนึ่ง ปิปผลิไปตรวจนาเห็นฝูงนกจิกกินไส้เดือน จึงถามบริวารว่าบาปของสัตว์พวกนั้นตกแก่ใคร บริวารว่าตกแก่ท่านปิปผลิ ท่านสังเวชใจว่าถ้าอกุศลกรรมแบบนี้ตกแก่ท่านแล้ว ถึงเวียนว่ายตายเกิดสักพันชาติก็คงไม่พ้นทุกข์ กลับถึงบ้านแล้วจึงบอกภรรยาว่าจะออกบวช ภรรยาของท่านก็จะออกบวชเช่นกัน ทั้งสองปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสายะ ตั้งใจออกบวชเพื่ออุทิศพระอรหันต์ในโลก[3]แล้วออกจากไปจนถึงทางแยกก็แยกกันเดินทาง ขณะที่แยกทางกันนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว[2]

บรรลุอรหัตผล

หลังจากบวชได้ครบ 7 วัน เข้าวันที่ 8 พระมหากัสสปะก็พบพระพุทธเจ้าขณะประทับที่พหุปุตตเจดีย์ พระองค์ประทานโอวาทแก่ท่าน 3 ข้อ คือ[3]

  1. มีหิริและโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ
  2. ฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ มนสิการถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลจิตมาทั้งหมด เงี่ยโสตสดับธรรม
  3. ไม่ละกายคตาสติที่ประกอบด้วยความยินดี

พระมหากัสสปะฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นท่านนำผ้าสังฆาฏิของตนปูถวายพระพุทธเจ้าให้ทรงประทับนั่ง พระพุทธเจ้าจึงประทานผ้าป่านบังสุกุลให้ท่านใช้แทน ขณะนั้นแผ่นดินก็ไหวขึ้นเพราะไม่เคยมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประทานจีวรที่ทรงใช้แล้วแก่พระสาวก[2] พระมหากัสสปะประทับใจมากด้วยระลึกว่าท่านเป็น "บุตรของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ เกิดแต่พระธรรม อันพระธรรมเนรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท ได้รับผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้สอยแล้ว"[3]

ปฐมสังคายนา

ถ้ำสัตบรรณคูหา สถานที่ทำสังคายนาครั้งแรก

พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุผู้บวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า "พอทีเถิด พวกท่านอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ำครวญเลย พวกเรารอดพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะรูปนั้นที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราอยู่ว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น"[4] พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้นก็ดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำสังคายนาและจะชักชวนพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ ใช้เวลา 7 เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์

การสังคายนาครั้งที่หนึ่งในศาสนาพุทธจึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรม พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก การสังคายนาครั้งนั้นนับเป็นต้นกำเนิดของพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ใช้ในนิกายเถรวาทในปัจจุบัน

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. ปฐมวรรค, พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๔. เอตทัคควรรค ๑. ปฐมวรรค
  2. 2.0 2.1 2.2 อรรถกถาสูตรที่ ๔ ประวัติพระมหากัสสปเถระ, อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑
  3. 3.0 3.1 3.2 จีวรสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๕. กัสสปสังยุต]
  4. สังคีตินิทาน, พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๑๑. ปัญจสติก ขันธกะ] ๑. สังคีตินิทาน ๑๑. ปัญจกสติกขันธกะ
บรรณานุกรม
  • พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ก่อนหน้า พระมหากัสสปะ ถัดไป
ประธานการสังคายนาครั้งที่ 1
พระเรวตเถระ
ประธานการสังคายนาครั้งที่ 2