พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ องค์จำลอง ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ "พระพุทธรูปสี่มุมเมือง" ซึ่งมีอยู่ 4 องค์ ถูกจัดสร้างขึ้นตามความเชื่อและโบราณประเพณีของบ้านเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่จะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องขอบขัณฑสีมาทั้งสี่ทิศ โดยการสร้างพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศนั้นเป็นการสร้างพระพุทธรูปแบบ "จตุรพุทธปราการ" กล่าวคือเป็นการนำเอาวัดหรือพระพุทธรูปเป็นปราการทั้งสี่ด้าน เพื่อปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างดวงชะตาแก่บ้านเมืองและคุ้มครองพสกนิกรทั้งมวลให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

สถานที่ประดิษฐาน[แก้]

ปัจจุบันพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศทั้ง 4 องค์ ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ตามทิศทั้งสี่ของประเทศไทย ดังนี้

  • ทิศเหนือ - ศาลหลักเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง (บนซ้าย)
  • ทิศใต้ - จังหวัดพัทลุง (บนขวา)[1]
  • ทิศตะวันออก - วัดศาลาแดง จังหวัดสระบุรี (ล่างซ้าย)
  • ทิศตะวันตก - เขาแก่นจันทน์ จังหวัดราชบุรี (ล่างขวา) ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุขก่ออิฐถือปูนโครงสร้างสร้างคาเป็นเครื่องไม้มุงทับด้วยกระเบื้องอย่างไทยโบราณ บานประตูและหน้าต่างรวมทั้งหน้าบันลงรักปิดทองทุกด้าน โดยศาลาจตุรมุขตั้งอยู่บนยอดเขาแก่นจันทน์ที่มีความสูงประมาณ 141 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร นับเป็นปูชนียวัตถุและปูชนียสถานอันล้ำค่าของจังหวัดราชบุรี

ประวัติการจัดสร้าง[แก้]

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ จัดสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องพุทธไชยปราการเมื่อ พ.ศ. 2511 โดยกรมการรักษาดินแดน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม โดย พลโท ยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมการรักษาดินแดนในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนื่ยวจิตใจและปกป้องคุ้มภัยให้กับประชาชนทุกทิศตามความเชื่อแต่โบราณ โดยได้นำต้นแบบมาจาก "พระพุทธนิรโรคันตราย" พระพุทธรูปประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระผู้มีพระราชทานก่อตั้งกรมการรักษาดินแดน อีกทั้งเมื่อพิจารณาความหมายของพระนามของพระพุทธรูป อันหมายถึง "การปราศจากซึ่งภยันตรายทั้งปวง" นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสถาปนาให้เป็นพระสี่มุมเมืองของไทย แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อพระ

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททอง ณ กรมการรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2511 และได้โปรดเกล้าฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดเข้ารับพระราชทานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐานพระราชวังดุสิต เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำทิศทั้งสี่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2511

พระพุทธลักษณะ[แก้]

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบตามแบบศิลปะสุโขทัย โดยมีพระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างสร้างคาเป็นเครื่องไม้มุงทับด้วยกระเบื้องอย่างไทยโบราณ บานประตู หน้าต่าง และหน้าลงรักปิดทองทั้งสี่ด้าน

พระกริ่งสมเด็จนิโรคันตรายชับวัฒน์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=496&filename=index[ลิงก์เสีย]