พระบรมลำพงษ์ราชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมลำพงษ์ราชา
ครองราชย์1889-1894
ก่อนหน้าพระสิทธานราชา
ถัดไปพระบาสาต
ประสูติพ.ศ. 1862
สวรรคตพ.ศ. 1894
พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จพระลำพงษ์ราชา รามาธิบดี
ราชวงศ์ราชสกุลตระซ็อกประแอม
พระราชบิดาพระบรมนิพพานบท

พระบรมลำพงษ์ราชา (เขมร: លំពង្សរាជា, 1862-1894) กษัตริย์แห่ง จักรวรรดิเขมร ครองสิริราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 1889-1894 เป็นเวลาทั้งสิ้น 5 ปี

พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1862 เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของ พระบรมนิพพานบท เมื่อ พระสิทธานราชา ผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ซึ่งขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจาก พระบรมนิพพานบท ผู้เป็นพระบรมเชษฐาธิราชได้สละราชบัลลังก์ให้กับพระองค์เมื่อ พ.ศ. 1889 หลังจากครองสิริราชสมบัติได้เพียงปีเดียว

ในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนา กรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นช่วงที่ จักรวรรดิเขมร อ่อนแอและเสื่อมอำนาจถึงขีดสุดโดยที่พระองค์เสด็จสวรรคตในปีถัดมาคือ พ.ศ. 1894

พระราชประวัติ[แก้]

พระบรมลำพงษ์ราชา หรือพระลำพังราชาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงพระนครหลวงเป็นพระราชโอรสของพระบรมนิภารบาทหรือบรมพระนิพันทบท พระมหากษัตริย์แห่งพระนครหลวง พระองค์ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1319 เป็นพระราชโอรสองค์โตของ พระบรมนิพพานบท และเป็นเชษฐาของพระสุริโยทัยและพระศรีสุริโยวงศ์

พระองค์ทรงครองราชสมบัติในปี ค.ศ. 1348 ต่อจากพระสิทธานราชาพระปิตุลา ต้นรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองอยู่ในยุคสงครามและเกิดความยุ่งยากหลายอย่างโดยเฉพาะศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาที่สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยของพระบรมนิพพานบท ผู้เป็นพระราชบิดาเมื่อกรุงละโว้อโยธยาศรีรามเทพนครได้ส่งเจ้าใส้เทวดาเป็นราชทูตมาเจริญไมตรี พระบรมนิพพานบทมิไว้วางพระทัยจึงให้ฆ่าเสีย เหตุนี้ทำให้กองทัพละโว้อโยธยาได้ยกทัพมาล้อมพระนครไว้ได้ 1 ปีเศษแต่ยังตีชิงเอาเมืองมิได้พระบรมนิพพานบทผู้เป็นพระราชบิดาทรงปริวิตกเป็นอันมากเนื่องจากภายในกำแพงพระนครเกิดการขาดแคลนเสบียงอาหาร ทรงตรอมพระทัยประชวรเสด็จทิวงคตในปี ค.ศ. 1346 [1]ท่ามกลางข้าศึกที่ยังล้อมพระนครไว้พระสิทธานราชาผู้เป็นพระปิตุลาจึงขึ้นสืบราชสมบัติรักษาพระนครทัพละโว้อโยธยาจึงยกทัพกลับ พระสิทธานราชาทรงครองราชสมบัติเพียง 1 ปีจึงสละราชสมบัติให้พระบรมลำพงษ์ราชา ในปี ค.ศ. 1348 [2]

ศึกสงครามกับอยุธยา[แก้]

ครั้นถึงปี ค.ศ. 1351 สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1 หลังจากได้ตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้มีพระบัญชาให้ยกทัพเข้ามาตีเมืองพระนครหลวงอีกครั้ง แต่ทัพยังมาไม่ถึงเมืองพระนครความทราบถึงฝ่ายเขมร พระสุริโยทัย อนุชาในพระบรมลำพงราชา จึงได้ยกทัพไปสกัดตีแตกทัพพ่ายไปสิ้นคนทิศคนละทาง พระบรมลำพงราชานึกนอนใจว่าศัตรูไม่อาจทำอะไรได้อีก จึงทรงบัญชาให้ถอนทัพกลับกรมกองแยกย้าย เมื่ออยุธยายกทัพกลับมาอีกครั้งในเวลาอันกระชั้นชิดจึงระดมเกณฑ์พลเกณฑ์ทัพไม่ทันการ จึงทำการกวาดต้อนราษฎรนอกกำแพงพระนครให้เข้ามาไว้ในกำแพงเมือง ทัพจากอยุธยาได้เข้าล้อมเมืองพระนครหลวงเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือนเศษภายในกำแพงพระนครขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก พระบรมลำพงษ์ราชาจึงตัดสินพระทัยแต่งทัพออกสู้โดยให้พระศรีสุริโยทัยเป็นทัพหน้า พระบรมลำพงษ์ราชาเป็นทัพหลวง และพระศรีสุริโยวงศ์เป็นทัพหลัง ได้แต่งทัพออกสู้เป็นกำลังแต่เนื่องจากการขาดแคลนอาหารจากการถูกล้อมเป็นเวลานานไพร่พลเหล่าทหารจึงอ่อนแรงมิอาจต้านทานกองกำลัง พระบากษัตรแม่ทัพจากอยุธยาสามารถตีทัพหน้าของพระสุริโยทัยได้และทลายประตูพระนคร ส่วนพระสุริโยทัยทรงสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระบรมลำพงษ์ราชาก็เสด็จทิวงคตด้วย พระศรีสุริโยวงศ์เห็นว่ามิอาจต้านทานรักษาพระนครไว้ได้แล้ว จึงสั่งเหล่าราชครูปุโรหิตพากันนำเครื่องสำหรับราชย์กกุธภัณฑ์ อันมีพระขรรค์ราช พระแสงหอกลำแพงชัย ตีฝ่ากองทัพสยามหนีออกไปทางชายแดนล้านช้าง เมืองพระนครหลวงแตกในปี ค.ศ. 1352 บุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีทั้ง 3 คือ บากษัตร บาอัฐ และ กำปงพิสี ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อกันในเมืองพระนครตั้งแต่ปี ค.ศ. 1352 ถึง ค.ศ. 1357[3][4]

พระศรีสุริโยวงศ์ อนุชาพระลำพงราชาซึ่งเสด็จหนีราชภัยออกไปได้เมื่อกรุงแตกได้รวมรวมทัพเขมรที่หนีพ่ายและยกทัพมาตีเมืองพระนคร ได้คืนในปี ค.ศ. 1357 เจ้ากำปงพิสีทรงสิ้นพระชนม์ในสนามรบ จากนั้นพระองค์ทรงขับไล่สยามออกจากพระนครหลวงสำเร็จ พระบาทสุริโยวงศ์ทิวงคตในปี ค.ศ. 1363 พระอนุชาของพระองค์พระนามว่า พระบาทศรีธรรมาโศก จึงขึ้นเสวยราชย์ ในปี ค.ศ. 1363 ทัพสยามของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้ยกมาล้อมพระนครอีกครั้งได้ 7 เดือนกรุงจึงแตก ฝ่ายสยามได้ยกพระยาอินทราชาขึ้นครองเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ภายหลังพระยาอินทราชาทรงสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปัจจุบันจึงตั้งพระยาแกรกขึ้นครองเมืองพระนคร

ฝ่ายเจ้าพระยาญาติโอรสพระองค์หนึ่งของพระศรีสุริโยวงศ์เสด็จหนีไปได้ เมื่อรวบรวมไพร่พลได้แล้วทรงยกทัพมาตีเอาพระนครคืน เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้วทรงตัดสินพระทัยในการย้ายราชธานีไปที่เมืองจตุมุข[5]

เสด็จสวรรคต[แก้]

พระบรมลำพงษ์ราชาเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1352 สิริพระชนมายุ 33 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 5 ปี ส่วนเหตุการณ์เนื่องด้วยการสวรรคตนั้นเอกสารฝ่ายไทยระบุว่าสวรรคตในสนามรบ ส่วนพระราชพงษาวดารฝ่ายกัมพูชาระบุว่าประชวรเสด็จสวรรคตด้วยพระโรค[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทย พ.ศ. 2339-2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย,ธิบดี บัวคำศรี
  2. ศานติ ภักดีคำ. "เอกสารกัมพูชากับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา" (PDF).
  3. ปิดฉาก “เมืองพระนคร” บ้านเมืองล่มสลาย ผู้คนถูกกวาดต้อน เหตุสงคราม “อยุธยา” บุก “เขมร”.silpa-mag.com.เสมียนอารีย์.2565
  4. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สงคราม "ขอมแปรพักตร์" - โอรสพระเจ้าอู่ทองได้ครองเมืองนครธม.อนุรัตน์ บุตรดี
  5. พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทย พ.ศ. 2339-2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย,ธิบดี บัวคำศรี
  6. ปิดฉาก “เมืองพระนคร” บ้านเมืองล่มสลาย ผู้คนถูกกวาดต้อน เหตุสงคราม “อยุธยา” บุก “เขมร”.silpa-mag.com.เสมียนอารีย์.2565