ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยมกปาฏิหาริย์สถูป เมืองสาวัตถี สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองวางบนดอกบัวที่รองรับ พระชานุ (เข่า) ยกตั้งแบบประทับบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์

ประวัติ[แก้]

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่วัดเวฬุวันมหาวิหารที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเศรษฐีผู้หนึ่งได้รับปุ่มไม้แก่นจันทน์ที่มีค่ามากด้วยความบังเอิญ จึงมีความคิดที่อยากจะรู้จักกับพระอรหันต์เพราะมีพวกลัทธิต่างๆมากมายได้โอ้อวดกันว่าตนเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเพื่อต้องการให้รู้ชัดว่าใครเป็นพระอรหันต์ จึงนำปุ่มไม้แก่นจันทน์นี้มากลึงเป็นบาตรแล้วนำไปแขวนไว้ที่ปลายไผ่ที่สูง 15 วา และประกาศให้ทั่วเมืองว่า "ผู้ใดที่สามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทน์ลงมาได้ ผู้นั้นก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เราและเหล่าครอบครัวจะยึดผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต"

ต่อมาบรรดาเจ้าลัทธิหรือเดียรถีย์ที่ชื่อเสียงทั้ง 6 คน ได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และ นิครนถ์นาฏบุต จึงพากันแสดงตัวและมาขอบาตรแก่นไม้จันทน์กับเศรษฐี แต่ก็ไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์เหาะอะไรเลย เศรษฐีก็ไม่ยอมให้และยื่นคำขาดว่าจะต้องเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทน์ลงมาให้ได้จึงจะเอาไปได้ เดียรถีย์ทั้งหกต่างได้พยายามเกลี้ยกล่อมแล้วก็ไม่เป็นผล แม้จะใช้อุบายต่างๆ เช่น ทำเป็นแสร้งว่าตัวเองเหาะได้แต่ลูกศิษย์ห้ามไว้โดยทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองเหาะไม่ได้ แต่เศรษฐีก็ไม่ยอมให้เช่นกัน

เวลาผ่านไป 7 วัน ยังไม่มีใครสามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์ ในขณะเดียวกัน พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาชกำลังออกบิณฑบาตรอยู่ได้ฟังชาวเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีพระอรหันต์ในโลก ทำให้พระมหาโมคคัลลานะคิดว่าชาวเมืองกำลังดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จึงให้พระปิณโฑลภารทวาชแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ให้ชาวเมืองได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์จริง

พระปิณโฑลภารทวาชรับคำของพระโมคคัลลานแล้วเข้าจตุตถฌานสมาบัติอันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศ พร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์แล้วเหาะลอยเลื่อนมาอยู่ยังที่แขวนบาตรแก่นไม้จันทร์เพื่อนำบาตรลงและเหาะตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นแล้วก็ดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้านของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวนิมนต์ให้ลงมา พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรแก่นไม้จันทร์ที่ลงมาจากที่แขวนไว้บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระรับแล้วก็กลับสู่วิหาร ส่วนชาวเมืองเมื่อได้เห็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของพระปิณโฑลภารทวาชจึงพากันชุมนุมติดตามพระเถระที่วิหารเพื่อหวังให้แสดงอิทธิฤทธิ์อีก จึงเกิดเสียงอื้ออึงจนไปถึงพระกรรณของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงตรัสถามกับพระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฏฐากว่าเสียงอะไร เมื่อทรงทราบเรื่องราวแล้วจึงทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ และเรียกพระปิณโฑลภารทวาชมาเข้าเฝ้า ทรงไต่สวนกับพระเถระ พระเถระก็ยอมรับทุกประการ พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนพระปิณโฑลภารทวาช และบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ หากภิกษุฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ นอกจากนั้นทรงตรัสให้นำบาตรแก่นไม้จันทร์ไปทุบให้เป็นผงเพื่อทำยาหยอดตา และบัญญัติสิกขาบทห้ามใช้บาตรไม้ หากภิกษุใช้ต้องอาบัติทุกกฎ

เมื่อเหล่าพวกเดียรถีย์ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ก็เข้าใจว่าเมื่อพระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทแล้ว พระพุทธองค์ก็จะไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ได้ จึงดีใจเพราะเป็นโอกาสที่จะได้เล่นงานเอาชนะกับพระพุทธองค์ จึงให้สาวกของตนออกประกาศว่า เราจะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แข่งกับพระสมณโคดม ให้ชาวเมืองได้รับรู้ และท้าทายกับพระพุทธองค์ โดยหวังไว้ในใจว่า หากพระพุทธองค์ไม่แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์แล้วก็แสดงว่าไม่มีอิทธิฤทธิ์ก็จะทำให้ชาวเมืองเกิดหมดความศรัทธาและเลิกนับถือพระพุทธศาสนาและหันมานับถือตนอย่างแน่แท้ เมื่อกล่าวประกาศออกไป ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงทราบเรื่องเกิดร้อนพระทัยจึงเข้าเฝ้ากับพระพุทธองค์ที่วิหาร ทูลถามว่า ถ้าพวกพวกเดียรถีย์แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แล้ว พระพุทธองค์จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้หรือไม่ เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบท พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสตอบว่า ได้ และนำความเปรียบเทียบกับเจ้าของสวนผลไม้ที่ห้ามไม่ให้คนอื่นเด็ดไปกินแต่ไม่ได้ห้ามเจ้าของสวนผลไม้จึงสามารถเด็ดกินได้ให้พระเจ้าพิมพิสารทราบ

ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์เป็นเวลาพอสมควรแก่อัธยาศัยแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปยังกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล พวกเดียรถีย์พากันกลั่นแกล้งโจษจันว่า พระสมณโคดมหนีไปแล้ว เราจะไม่ลดละจะติดตามไปแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ด้วย ครั้นย่างเข้าเดือน 8 ใกล้เวลาแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ พวกเดียรถีย์ได้จัดสร้างมณฑปใหญ่ประดิษฐ์ด้วยไม้ตะเคียนงามวิจิตร ประกาศให้มหาชนทราบว่าตนจะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ที่นี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ รับสั่งว่าจะทำมณฑปถวายเพื่อให้ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ตรัสว่า ตถาคตจะไม่ใช้มณฑปแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์แต่จะใช้ต้นมะม่วงเป็นที่แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เมื่อพวกเดียรถีย์ทราบว่า พระพุทธองค์จะทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ที่ต้นมะม่วง จึงจ่ายทรัพย์จ้างให้คนไปทำลายต้นมะม่วงทั้งในและนอกเมืองให้หมดเพื่อมิให้โอกาสแก่พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์

เช้าวันต่อมา พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จเข้าไปภายในกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ประจวบกับราชบุรุษผู้รักษาสวนหลวงคนหนึ่งชื่อนายคัณฑะ ได้เห็นมะม่วงกำลังสุกงอมจึงจัดใส่ภาชนะนำไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล พอดีเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลก็บังเกิดความเลื่อมใส ก็ดำริว่า มะม่วงผลนี้หากเราจะเอาไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็คงจะได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเงินกหาปนะ แต่ถ้าเราจะน้อมถวายพระพุทธองค์แล้ว จะเป็นมหากุศลอำนวยอานิสงส์ผลให้ประโยชน์สุขแก่เราสิ้นกาลนาน เมื่อนายคัณฑะดำริเช่นนี้แล้ว ก็น้อมมะม่วงสุกผลนั้นเข้าไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็มีพระประสงค์จะประทับ ณ ที่ตรงนั้น พระอานนท์ก็จัดอาสนะถวาย ทรงรับสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงไปคั้นเป็นน้ำปานะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยน้ำปานะเสร็จ มีรับสั่งให้นายคัณฑะนำเม็ดมะม่วงไปปลูก เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุม เม็ดมะม่วงก็เจริญเติบโตออกผลเต็มต้นเป็นอัศจรรย์ ต้นมะม่วงนั้นมีชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามชื่อของนายคัณฑะ เมื่อทรงได้ต้นมะม่วงแล้วก็ตั้งพระทัยจะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ ตอนบ่ายวัน พระพุทธองค์เสด็จออกจากพระคันธกุฏีประทับยืนอยู่ที่มุข ท่ามกลางพุทธบริษัทซึ่งมาชุมนุมกันเนืองแน่น โดยใคร่จะชมพระพุทธปาฏิหาริย์ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ (อ่านว่า ยะ - มะ - กะ - ปา - ติ - หาน) หรือการทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ ๆ โดยวิธีต่าง ๆ คือ มีท่อน้ำและท่อไฟพุ่งมา จากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายสลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกมานั้นมีฉัพพรรณรังสี คือ มี 6 สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ (ดังตารางด้านล่าง)

พระพุทธเจ้าจริง พระพุทธเนรมิต
ยืน จงกรม
จงกรม ยืน
นั่งขัดสมาธิ บรรทมสีห์ไสยาสน์
บรรทมสีห์ไสยาสน์ นั่งขัดสมาธิ

เมื่อทรงตั้งปัญหาถามพระพุทธเนรมิตก็ตรัสวิสัชนาแก้สลับกันไป พุทธบริษัททั้งหลายได้บรรลุโสดาบันเป็นจำนวนมาก ส่วนเหล่าเดียร์ถีย์ไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ได้ก็พ่ายแพ้ให้กับพระพุทธองค์ บวกกับมณฑปใหญ่ที่ใช้สำหรับแสดงก็ถูกฝนเห็บทำลายหมดไม่เหลือซาก(ตำนานกล่าวว่าท้าวสักกะทรงเสกให้เกิดฝนเห็บตกลงใส่มณฑป)จึงพากันหนีไปด้วยความหวาดกลัวในพุทธานุภาพพร้อมกับเสียงตะโกนไล่สาปแช่งของชาวเมือง หลังจากทรงแสดงเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อไปโปรดพระพุทธมารดาต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล