ปลาซักเกอร์ธรรมดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปลาซัคเกอร์ธรรมดา)
ปลาซักเกอร์ธรรมดา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Loricariidae
สกุล: Hypostomus
สปีชีส์: H.  plecostomus
ชื่อทวินาม
Hypostomus plecostomus
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง
  • Plecostomus plecostomus

ปลาซักเกอร์ธรรมดา หรือ ปลาเทศบาล (อังกฤษ: common sucker, common pleco; ชื่อวิทยาศาสตร์: Hypostomus plecostomus) เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาซักเกอร์ (Loricariidae)

เป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีส่วนหัวโต ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงสามารถใช้ดูดเกาะติดเป็นสุญญากาศกับตู้กระจกหรือวัสดุต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีลำตัวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวสากและหยาบกร้านมาก หนังมีลักษณะแข็งจนดูเหมือนเกราะ มีลวดลายสีเขียวตามครีบหลังและครีบหาง ตัวผู้มีเงี่ยงแหลมบริเวณครีบอกและข้างหัว

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 ฟุต มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้

ปลาซักเกอร์ธรรมดาถูกนำไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มิใช่ถิ่นกำเนิดในฐานะเป็นปลาสวยงามที่ใช้ทำความสะอาดเศษอาหารหรือคราบตะไคร่ภายในตู้ ซึ่งในบางครั้งพฤติกรรมของปลาซักเกอร์ธรรมดา ถ้าหากอาหารไม่เพียงพอก็จะก้าวร้าวไล่ดูดเมือกของปลาอื่น จนถึงแก่ความตายก็มี และเนื่องจากเป็นปลาที่มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ในภาวะที่เป็นพิษ หรือแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่ามาตรฐานปกติที่ปลาทั่วไปจะอาศัยอยู่ได้ จึงทำให้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ ในแม่น้ำแซนแอนโทนีโอ ในรัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกา พบได้เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นจำนวนมากจนไปกินและทำลายไข่ของปลาเซนทรัลสโตนโรลเลอร์ (Campostoma anomalum) ซึ่งเป็นปลาพื้นเมือง[1] ในส่วนประเทศไทย ขณะนี้กรมประมงได้มีประกาศให้กลายเป็นปลาต้องห้ามสำหรับเลี้ยงและจำหน่ายแล้ว โดยรณรงค์ให้นำไปปรุงเป็นอาหารแทนถ้าหากเจอ[2] แต่ในปัจจุบันได้มีผู้นำไปหลอกขายเป็นปลาปล่อย โดยเรียกว่า "ปลาราหู"[3]

สำหรับชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันในภาษาไทย เช่น "ปลากดเกราะ",[4][5] "ปลากดควาย" หรือ "ปลาดูด" เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Hoover, J.J.,C.E. Murphy, and J. Killgore. 2014. Ecological impacts of Suckermouth catfishes (Loricariidae) in North America: A conceptual model. Aquatic Nuisance Species Research Program Bulletin: 1- 13.
  2. ประมงห้ามเลี้ยง ปลาซักเกอร์ แฉสุดอันตราย!
  3. "เตือนทำบุญได้บาป! ผู้ค้าจับปลาซัคเกอร์ ตั้งชื่อเป็นปลาดำราหู หลอกสะเดาะเคราะห์". ช่อง 7. July 17, 2016. สืบค้นเมื่อ July 18, 2016.
  4. "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น" (PDF).
  5. กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประเทศไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]