ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร
หัวหน้าพรรครัฐบุรุษ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2517 – 24 ธันวาคม พ.ศ. 2518[1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 ธันวาคม พ.ศ. 2481
จังหวัดมหาสารคาม
เสียชีวิต9 มกราคม พ.ศ. 2563 (81 ปี)
กรุงเทพมหานคร
พรรคการเมืองรัฐบุรุษ[2] (2517-2518)
ไทยธิปัตย์ (2512-2514)
คู่สมรสพิมจันทร์ กมลเพ็ชร

ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร เป็นนักการเมืองชาวไทย เป็นอดีตหัวหน้าพรรครัฐบุรุษ

ประวัติ[แก้]

ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (2498) ระดับอุดมศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2502) หลังจากจบการศึกษาได้สอบบรรจุเข้าทำงานในกรมมหาดไทยในตำแหน่งปลัดอำเภอบางรัก และสอบชิงทุนไปศึกษาดูงานในหลักสูตรพัฒนาชุมชนในมหาวิทยาลัยที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 9 เดือน จบแล้วได้กลับมาทำงานในกรมพัฒนาชุมชนที่เริ่มก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2499 ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายแผนงานและบริหารงานฝึกอบรม พร้อมรับผิดชอบงานวางแผนการพัฒนาภาคอีสานด้วย หลังจากนั้นได้ลาออกจากงานพร้อมกับพัฒนากรอีกสามสิบกว่าคนเพื่อประท้วงรัฐบาลโดยกรมมหาดไทยว่าขาดความจริงใจในการที่จะพัฒนาชุมชนตามภาระกิจหลักขององค์กร จึงได้ใช้เวลาช่วงนี้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้มีผลงานการเขียนในฐานะนักวิชาการทางการเมืองการปกครองออกมาหลายชิ้นที่สะท้อนภาพรวมของเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศสมัยนั้นอาทิ “ผลและผลสะท้อนของการปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์”[3] “ธรรมะปฏิวัติ” “ศานติปฏิวัติ”[4]

หลังจากนั้นได้เบนเข็มไปสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ทำงานที่ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วสอบไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการที่ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี ระหว่างนั้นได้รับเชิญให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่ Tokyo University of Foreign Studies เพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้นักศึกษาชาวญี่ปุ่นด้วย หลังจากนั้นได้รับเชิญกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับนักศึกษาหลาย ๆ สถาบัน และได้เริ่มจุดกระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้น แต่เนื่องจากถูกจำกัดเสรีภาพโดยรัฐบาลจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คล่องตัวนัก แต่ช่วงนั้นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรเองก็ถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนักให้จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี พ.ศ. 2512 และมีการเลือกตั้งซ่อมตามมาในอีกหลาย ๆ จังหวัด ประพันธ์ศักดิ์จึงสบโอกาสที่จะใช้เวทีปราศรัยหาเสียงในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงด้วย จึงลาออกจากการเป็นอาจารย์มาตั้งพรรคไทยธิปัตย์ขึ้นเพื่อใช้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดอื่น ๆ อีก 4 จังหวัดติดต่อกันในนามขบวนการรัฐบุรุษ โดยเริ่มมีการรวบรวมประชามติเพื่อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงจากประชาชนที่มาฟังการปราศรัยหาเสียงด้วย ประมาณปลายปี พ.ศ. 2514 หลังการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดพระนครได้จัดการปราศรัยขอบคุณประชาชน ณ ท้องสนามหลวงอันเป็นจุดกำเนิดขององค์กรชื่อว่า สภาประชาชนสนามหลวง หรือสภาราษฎรในกาลต่อมา ที่ประพันธ์ศักดิ์ภายหลังได้ใช้เป็นสภาคู่ขนานอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลฉ้อฉลจำนวนนับไม่ถ้วน และดำเนินงานทางการเมืองในเรื่องอื่น ๆ เรื่อยมาในฐานะประธานสภาฯ หลังจากหมดฤดูการเลือกตั้งซ่อมแล้วประพันธ์ศักดิ์ได้สอบเข้าทำงานที่การประปานครหลวงในตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ในระหว่างนี้กิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการให้เข้ามาช่วยในเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จึงลาออกจากการประปานครหลวงเพื่อให้สามารถลงมือทำงานทางการเมืองได้อย่างเต็มตัว ในช่วงนี้ประพันธ์ศักดิ์ได้เขียนบทความและบทกวีเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกมาหลายชิ้นอาทิ “ธารอธิปไตย”[5] “บทกวีปณิธานรัฐธรรมนูญ”[6] และ “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของปวงชนชาวไทย” ลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่กำลังมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เรียกขานกันว่า "13 ขบถ รัฐธรรมนูญ" ที่ประพันธ์ศักดิ์เป็น 1 ใน 13 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปตามท้องถนนแล้วโดนรัฐบาลทหารจับไปขังที่คุกบางเขน จนมีนิสิตนักศึกษาประชาชนจำนวนมหาศาลพากันเดินลงถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารปล่อยตัวบุคคลทั้ง 13 จนเป็นชนวนนำไปสู่ เหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 [7]

หลังจากเหตุการณ์นี้ ประพันธ์ศักดิ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเลือกจากสมาชิกสมัชชาฯ ด้วยกันให้ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517 ที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนามม้านางเลิ้ง) ด้วย แต่เนื่องจากประพันธ์ศักดิ์มีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างออกมายังไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอจึงตัดสินใจไม่รับร่างแล้วลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ออกมาตั้งพรรครัฐบุรุษเพื่อต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2518 ผลก็คือพ่ายแพ้แต่ชนะใจเยาวชน นิสิตนักศึกษา ประชาชน ที่รักชาติเอกราชประชาธิปไตยและความเป็นธรรม กาลเวลาผ่านไปแต่การเมืองไทยยังคงมีแต่การพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างการยึดอำนาจรัฐประหารกับการเลือกตั้งทุจริต ประพันธ์ศักดิ์ยังยืนหยัดต่อสู้ด้วยการร่วมจัดตั้งพรรคราษฎร พรรคมหาชน สนับสนุนพรรคสยามประชาธิปไตยลงเลือกตั้ง รับเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคสยาม ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น ๑๐ ครั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ๑ ครั้ง เพื่อเผยแพร่นโยบายทางการเมือง และบำเพ็ญตนเป็นนักการเมืองตัวอย่างที่ดีในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งไม่เคยซื้อเสียงเลือกตั้ง และไม่เคยทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง แม้แต่มาตราเดียว ทุนรอนทุกบาททุกสตางค์มาจากเงินส่วนตัวของครอบครัว ประพันธ์ศักดิ์ถือหลักว่านักการเมืองต้องเสียสละ ผลปรากฏว่าไม่สามารถฝ่าด่านการเมืองระบบผูกขาดทรราชย์ ต้องเคลื่อนไหวก่อกระแสฉันทามติมหาชนประชาธิปไตยต้านลู่ทางเผด็จการตลอดมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

การทำงาน[แก้]

นายประพันธ์ศักดิ์ เคยเล่นการเมือง เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคไทยธิปัตย์ ในปี พ.ศ. 2512 และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[8] กระทั่งตั้งพรรคการเมืองมาหลายพรรค อาทิ พรรครัฐบุรุษ[9] พรรคไทยธิปัตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ประพันธ์ศักดิ์ ยังติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นแม้กระทั่งในช่วงปลายของชีวิต โดยทำการเมืองภาคประชาชน โดยมีแนวความคิดเรื่อง "สภาราษฎร" ที่จะให้ราษฎรทั่วไปเป็นเจ้าของสภาและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2549 ได้เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้นและแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม เนื่องจากเป็นอัมพฤกษ์ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการอำนวยการพรรคการเมือง
  2. รายชื่อพรรคการเมืองไทย[ลิงก์เสีย]ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
  3. Thammasat University Library Catalog - Call no.: DS575 .ป414 2511[ลิงก์เสีย]
  4. National Library of Australia Catalog - Bib ID 6569805
  5. อาลัย ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร - ผลงาน - ธารอธิปไตย
  6. อาลัย ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร - ผลงาน - ปณิธานรัฐธรรมนูญ
  7. บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่าน 13 กบฏ
  8. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-07-23.
  9. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2012-07-27.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]