ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์
ประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2553
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าสมหมาย ภาษี
ถัดไปบุญทรง เตริยาภิรมย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 6 มกราคม พ.ศ. 2544
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ดำรงตำแหน่ง
20 เมษายน พ.ศ. 2546 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
ก่อนหน้าอนันต์ อนันตกูล
ถัดไปสุเทพ เทือกสุบรรณ
เลขาธิการพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ดำรงตำแหน่ง
15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 – 12 เมษายน พ.ศ. 2554
ก่อนหน้าวรรณรัตน์ ชาญนุกูล
ถัดไปประพาส ลิมปะพันธุ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 ธันวาคม พ.ศ. 2498 (68 ปี)
อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2538–2550)
รวมชาติพัฒนา (2550–2554)
ชาติไทยพัฒนา (2554–2561)
ไทยรักษาชาติ (2561–2562)
ภูมิใจไทย (2565–ปัจจุบัน)
คู่สมรสอาภามาศ ภัทรประสิทธิ์

ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ (เกิด 25 ธันวาคม พ.ศ.2498) ประธานคณะกรรมการบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท)[1] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย

ประวัติ[แก้]

ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เกิดวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ที่ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร[2] เป็นบุตรของวิศาล ภัทรประสิทธิ์ อดีต ส.ส.พิจิตร เขาเข้ารับการศึกษาที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ (DSA88) เมื่อปี พ.ศ. 2514 เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.12559 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จาก โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จาก นิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

นายประดิษฐ์มีชื่อเล่นว่า "อ๊อด" สมรสกับ อาภามาศ ภัทรประสิทธิ์ มีบุตร 4 คน ประกอบด้วย วรามาศ ภัทรประสิทธิ์ จุไรบล ภัทรประสิทธิ์ อดิศร์ ภัทรประสิทธิ์ อภิภู ภัทรประสิทธิ์

การทำงาน[แก้]

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ทำธุรกิจโรงแรม และโรงงานผลิตเครื่องครัวอะลูมิเนียม มาก่อนเข้าสู่วงการเมือง ในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น โดยลงเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.พิจิตร เมื่อปี พ.ศ. 2538 จากนั้นในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2539 ก็ได้รับเลือกตั้งในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้ง และนายประดิษฐ์ได้รับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่เป็น พรรคฝ่ายค้าน

ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2540 เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ พรรคประชาธิปัตย์ สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายประดิษฐ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ในปี พ.ศ. 2542 เมื่อ พล.ต.สนั่น ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิด กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์ได้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการพรรค พล.ต.สนั่น พยายามผลักดันนายประดิษฐ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แต่ในที่สุด นายอนันต์ อนันตกูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เข้ามารับตำแหน่งจากการสนับสนุนของนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 นายประดิษฐ์ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง และต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่มี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค และย้ายไปลงสมัครในแบบระบบบัญชีรายชื่อ หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ บทบาททางการเมืองของนายประดิษฐ์ก็ลดลง มักให้สัมภาษณ์ว่า อิ่มตัวทางการเมือง ขณะดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์มีไอเดียที่ฮือฮาต่อสาธารณะคือ ยุทธศาสตร์ "อีแต๋นพลีชีพ"

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นายประดิษฐ์ กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์กลางปี พ.ศ. 2550 และเปิดตัวกลุ่มการเมืองใหม่ ในชื่อ "กลุ่มรวมใจไทย" มีสมาชิกประกอบด้วย นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์, ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นต้น

ต่อมากลุ่มรวมใจไทย ได้รวมกับกลุ่มของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จดทะเบียนจัดตั้งเป็น พรรคการเมือง ในชื่อ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "พรรครวมชาติพัฒนา") และประกาศตัวลงเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยมีนายประดิษฐ์เป็นเลขาธิการพรรค

ปี พ.ศ. 2551 นายประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[3] และต่อเนื่องมาจนกระทั่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552[4]

ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างเป็นทางการ[5] และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556 ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง แทน ชุมพล ศิลปอาชา ที่เสียชีวิต[6]

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ตระกูลภัทรประสิทธิ์ตัดสินใจเข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ถูกยุบในปีถัดมา

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ประดิษฐ์ได้พาตระกูลภัทรประสิทธิ์เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประธานกรรมการบริษัท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-27. สืบค้นเมื่อ 2018-05-16.
  2. ประวัติผู้สมัคร ส.ส. เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมการปกครอง
  3. "พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-12. สืบค้นเมื่อ 2011-04-18.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
  5. [ลิงก์เสีย] "ประดิษฐ์" เปิดตัวร่วมพรรคชาติไทยพัฒนา จากเนชั่น แชนแนล
  6. ประกาศสภาผู้เทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง (นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์)
  7. “อนุทิน-ศักดิ์สยาม-ประดิษฐ์” เปิดตัว 3 ผู้สมัคร ภท. 2 ตระกูลการเมืองพิจิตร
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒

พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๘ ราย)