นิพนธ์ พร้อมพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิพนธ์ พร้อมพันธุ์
นิพนธ์ ในปี พ.ศ. 2552
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
30 ธันวาคม 2551 – 15 มกราคม 2553
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าชูศักดิ์ ศิรินิล
ถัดไปกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
ดำรงตำแหน่ง
15 พฤศจิกายน 2540 – 17 กุมภาพันธ์ 2544
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าบุญชง วีสมหมาย
ถัดไปพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดำรงตำแหน่ง
23 กันยายน 2535 – 13 ธันวาคม 2537
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
ถัดไปประจวบ ไชยสาส์น
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2495 (72 ปี)
อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2522 - ปัจจุบัน)
คู่สมรสนวนิตย์ พร้อมพันธุ์

นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 6 สมัย

นายนิพนธ์ เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงเลื่อย เช่น โรงเลื่อยจักรไทยพูนสิน บ.ไทยประสิทธิ์ทำไม้ และ บ.ชนาพันธ์ นับเป็นแหล่งทุนเก่าแก่รายหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ และยังเป็นพี่ชายของศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยาสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

ประวัติ[แก้]

นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2495 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของนายประสิทธิ์ และนางตุ๊ พร้อมพันธุ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นได้ไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ โดยเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่บาร์เกอร์คอลเลจ ประเทศออสเตรเลีย จนได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2515

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังไม่ทันได้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย บิดาได้ขยายธุรกิจการลงทุนของครอบครัวในหลายกิจการ เช่น โรงเลื่อย การค้าไม้ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค้าขายที่ดินที่มีจำนวนมากในจังหวัดภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์จึงถูกเรียกตัวกลับให้มาทำงานสืบต่อธุรกิจขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี การกลับเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัว ทำให้นายนิพนธ์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางธุรกิจจากการบริหารธุรกิจค้าไม้ของครอบครัว เช่น โรงเลื่อยจักรไทยพูนสิน บริษัทไทยประสิทธิ์ค้าไม้ และธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทชนาพันธ์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ทำโครงการบ้านเดี่ยว “ไม้ล้อมเรือน” เป็นโครงการแรกย่านสวนหลวง ร.9 นอกจากนี้ยังได้ดูแลธุรกิจก่อสร้าง กระทั่งสามารถเข้าไปแข่งขันสัมปทานในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ ทั้งในประเทศลาว กัมพูชา และพม่า

ด้านชีวิตส่วนตัว นายนิพนธ์ สมรสกับนวนิตย์ ไชยกูล มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน คือ ชนาธิป ภากมล และ ธีร์พร พร้อมพันธุ์ ปัจจุบันนายนิพนธ์เป็นหม้ายเนื่องจากนางนวนิตย์ ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

งานการเมือง[แก้]

นายนิพนธ์ เข้าสู่วงการเมืองได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งอีกหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[1] และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิพนธ์ถูก พรรคชาติไทย ในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โจมตีกรณีเกิดทุจริตในการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 พร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น นายนิพนธ์ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่พรรคฝ่ายค้านยังคงนำมาเป็นประเด็นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเหตุให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาก่อนมีการลงมติ

แม้ว่านับตั้งแต่ถูกโจมตีในปี พ.ศ. 2537 นายนิพนธ์จะไม่เคยถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับกรณี ส.ป.ก. 4-01 แต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงมีการนำกรณีดังกล่าวมาอ้างอิง เพื่อโจมตีทางการเมืองต่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาโดยตลอด

ในปี พ.ศ. 2540 หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาล นายนิพจน์ได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2551 นายนิพนธ์ได้กลับมาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อีกครั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้นายนิพนธ์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอีกครั้ง เมื่อพยายามขับรถฝ่าคนกลุ่มเสื้อแดงที่หน้ากระทรวงมหาดไทย แต่ถูกรุมทุบรถและทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552

ต่อมา นายนิพนธ์ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เหตุเนื่องจากไม่พอใจเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้นายนิพนธ์ให้การสนับสนุน พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย แต่นายอภิสิทธิ์ ให้การสนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในที่สุด[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  2. "นายกฯ ยอมรับเซ็นคำสั่งให้ นิพนธ์ ลาออกจากเลขาฯ แล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-05.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]