ธงชาติไทย
ธงไตรรงค์ | |
การใช้ | ธงชาติ และ ธงเรือพลเรือน และ ธงเรือรัฐบาล |
---|---|
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 28 กันยายน พ.ศ. 2460 30 ตุลาคม พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้) 30 กันยายน พ.ศ. 2560 (กำหนดสีมาตรฐาน) | (ประกาศ)
ลักษณะ | ธง 3 สี 5 แถบ พื้นแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง แถบกลางกว้างเป็น 2 เท่าของแถบสีแดงและขาว |
ออกแบบโดย | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ธงราชนาวี | |
การใช้ | ธงนาวี |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 28 กันยายน พ.ศ. 2460 30 ตุลาคม พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้) 30 กันยายน พ.ศ. 2560 (กำหนดสีมาตรฐาน) | (ประกาศ)
ลักษณะ | ธงชาติ กลางเป็นวงกลมสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา |
หมายเหตุ: ไฟล์นี้มีขนาด 35.05 เมกะไบต์
ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติของประเทศไทย มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ส่วนความหมายของธงไตรรงค์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในบทพระราชนิพนธ์ เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย[1] (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) แทนธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติของสามัญชนเป็นแบบแรกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาการทำตัวช้างเผือกไม่สวยงาม[2] โดยเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2459 พระองค์ประกาศใช้ธงชาติสยามจำนวน 2 แบบ คือ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น เป็นธงสำหรับราชการ และ ธงแดง-ขาว 5 ริ้ว เป็นธงค้าขายสำหรับสามัญชน และให้ใช้คู่ขนานทั้ง 2 แบบ ก่อนที่ปลายปี พ.ศ. 2460 จะเติมสีน้ำเงินเข้ม (พ.ศ. 2479 ปรับเล็กน้อยเป็นสีขาบ ก่อนเปลี่ยนกลับมาใช้สีน้ำเงินเข้มเมื่อปี พ.ศ. 2522) ลงบนแถบกลางของธงค้าขาย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับฝ่ายสัมพันธมิตร และใช้เป็นธงชาติไทยทั้งสำหรับราชการและสามัญชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[3]
ประวัติ
[แก้]กำเนิดธงชาติไทย
[แก้]ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน[4]
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คณะราชทูตฝรั่งเศสเดินเรือชื่อเลอเตอวูร์เข้ามาเจริญสัมพันธมไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ประเด็นกำเนิดธงชาติไทยนั้นเกิดขึ้นที่ป้อมบางกอก (ปัจจุบันคือป้อมวิไชยประสิทธิ์) ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2223[5] เรือเลอเตอวูร์ของฝรั่งเศสจอดอยู่บริเวณปากน้ำ และมีการนำความกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงทราบถึงการมาถึง และสอบถามว่าจะโปรดให้เรือเลอเตอวูร์ยิงสลุตตามประเพณีชาวยุโรปขณะเรือแล่นผ่านป้อมบางกอกหรือไม่ พระเจ้าอยู่หัวมีความยินดีและอนุญาต นอกจากนี้ยังมีรับสั่งไปถึงเจ้าเมืองบางกอกความว่า ถ้าเรือฝรั่งยิงสลุต ให้ป้อมบางกอกยิงสลุตตอบรับ[5]
แต่ในวันปฏิบัติจริง ผู้บังคับการป้อมเข้าใจผิดว่าธงชาติฮอลันดาเป็นธงค้าขาย จึงชักธงชาติฮอลันดาขึ้นหมายจะเป็นการให้เกียรติเรือฝรั่งเศส (เนื่องจากอยุธยาไม่มีธงชาติ) เมื่อเรือฝรั่งเศสแล่นมาถึงป้อมบางกอกและเห็นธงชาติฮอลันดาก็ไม่ยอมยิงสลุต กัปตันเรือฝรั่งเศสจึงให้คนมาแจ้งแก่ผู้บังคับการป้อมว่า ถ้าประสงค์จะให้เรือฝรั่งเศสยิงสลุตก็จงชักธงฮอลันดาลงเสีย เพราะเรือฝรั่งเศสจะไม่ยอมยิงสลุตต่อธงของประเทศใดในยุโรปอย่างเด็ดขาด[5] ส่วนจะชักอะไรขึ้นแทนนั้นก็สุดแท้แต่ ป้อมบางกอกจึงชักผ้าสีแดงขึ้นแทน เรือฝรั่งเศสเห็นดังนั้นก็เริ่มยิงสลุตเป็นการให้เกียรติ ป้อมบางกอกก็ยิงสลุตตอบนัดต่อนัด[5]
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย[6] โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง
รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2
[แก้]ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง" สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ "จักรสีขาว"ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งและบุญบารมีต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรสีขาวของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม
-
ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป (ยังไม่ใช่ธงชาติสยาม) นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา -
ธงเรือหลวงในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช -
ธงเรือหลวงในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ก่อน พ.ศ. 2380 - พ.ศ. 2459
[แก้]ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์มีพระราชดำริว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปนั้นซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ สยามจึงจำเป็นต้องมีธงชาติใช้เป็นของตัวเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)
แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นหนังสือพิมพ์ Supplement of The Singapore Free Press ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2386 โดยได้อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Canton Press ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2386 ระบุว่า มีกองเรือของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จำนวน 3 ลำ นำเครื่องราชบรรณาการมาแวะที่ท่าเรือสิงคโปร์เพื่อที่จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิจีน ซึ่งท้ายเรือนั้นมีการประดับธงช้างเผือกแบบไม่มีจักร จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าได้เริ่มการใช้ธงช้างเผือกเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
และต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นผังธงโลกโบราณ ซึ่งมีรูปธงช้างเผือกปรากฏอยู่ด้วยอีก 4 ชุด และระบุเวลาดังนี้
- ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2383 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยืนยันแล้ว[7]
- ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2375[8] แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
- ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2373 ค้นพบที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเยอรมนี โดยผังธงโลกนี้ระบุชื่อธงใต้ธงช้างเผือกผิด โดยระบุเป็นธงชาติพม่า ซึ่งขณะนั้นพม่าใช้ธงนกยูงสมัยราชวงศ์โกนบองเป็นธงชาติ ธงช้างเผือกนี้จึงน่าจะเป็นธงชาติของสยามมากกว่า จึงเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอย่างไม่เป็นทางการในปัจจุบัน[9]
- ผังธงโลกโบราณ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2380 ที่ประเทศฝรั่งเศส และถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน[10]
-
ธงช้างเผือก
ธงชาติสยามในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว -
ธงเกตุ สำหรับชักที่หัวเรือหลวง
(ต่อมาใช้เป็นธงฉานของกองทัพเรือไทย) -
ธงเกตุ ซึ่งแก้ไขแบบใหม่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434)
ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)
[แก้]ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมานานถึง 84 ปี กินระยะเวลารวมถึง 4 รัชกาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ตามบันทึกในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖ ของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรัง (ปัจจุบันคือวัดสังกัสรัตนคีรี) ในเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และในยุคนั้นธงช้างถือว่าเป็นของหายาก มีราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ อีกทั้งธงช้างที่มีขายบางแบบนั้นผลิตมาจากประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู แม้กระนั้น ก็ยังมีราษฎรคนหนึ่งซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จหาธงช้างมาได้ แต่ด้วยความประมาทจึงประดับธงผิดด้าน กลายเป็นประดับกลับหัว ซึ่งเป็นการสื่อเจตนาที่เสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ เนื่องจากเป็นลักษณะของช้างเผือกล้ม ซึ่งส่อให้เห็นเป็นลางร้ายได้ว่าพระมหากษัตริย์อาจเสด็จสวรรคตเร็วกว่าปกติ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร และราษฎรสามารถทำใช้เองได้จากวัสดุภายในประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่เป็นแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453
แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งพบว่ารัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนและเพิ่มแบบธงสำหรับธงสำหรับชาติสยามใหม่ สำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการค้าขาย ล่องเรือระหว่างประเทศและใช้ประดับบนบกอยู่แล้ว ซึ่งมีบันทึกอยู่ในเรื่องเปลี่ยนธงสำหรับชาติสยาม (๘ พ.ค. - ๖ มิ.ย. ๒๔๕๙)[11] โดยมีการบันทึกว่า "เพราะ การค้าขายของเรานั้นเห็นว่าจะเจริญแล้ว จึงได้ใช้ธงชนิดนี้ขึ้นใหม่สำหรับการค้าขาย และเป็นธงทั่วไปด้วย นอกจากธงราชการ" และมีจดหมายเหตุรายวัน เล่ม ๒ พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ วันที่ ๑๔ กันยายน ถึง วันที่ ๑๐ มีนาคม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 ได้ระบุว่า "วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ (กันยายน 2459) เวลาเข้า ๔ โมงเศษ ไปลงเรือเก่ากึ่งยามที่ท่าวาสุกรี เรือกลไฟจึงขึ้นมาตามลำน้ำ แวะกินกลางวันที่วัดไก่เตี้ย แขวงเมืองประทุมธานี, และเดินเรือต่อมาจนค่ำถึงบางปะอิน; พักแรม ๑ คืน" ซึ่งหมายความว่าวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ยังทรงประทับพักแรมอยู่ที่พระนคร ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังตามบันทึกของจมื่นอมรดรุณารักษ์ และเนื่องจากจดหมายเหตุรายวันเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 จึงเป็นหลักฐานที่หนาแน่นและน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีปรากฏในข่าวในพระราชสำนักประจำวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย โดยระบุว่า "วันนี้เวลาป่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรโดยรถยนต์พระทีนั่งยังสนามฟุตบอลสโมสรเสือป่า ทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอล ระหว่างสโมสรฟุตบอลกรมมหรศพ กับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรม เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยหลวงใหญ่แก่สำรับกรมมหรศพ ซึ่งเปนพวกทีชนะในการแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยหลวงใหญ่ปีนี้ เมื่อพระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทอดพระเนตร์กระบวนแห่ถ้วยหลวงใหญ่ แห่ถ้วยไปยังสโมสรสถานกรมมหรศพ" จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังในวันดังกล่าวตามที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บันทึกไว้
ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน)
[แก้]ในปี พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม (ในกฎหมายระบุว่า "สีน้ำเงินแก่") ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุผลที่ทรงเพิ่มสีน้ำเงินเข้มลงในธงชาติสยามนั้น มาจากการได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “อแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งระบุว่า ธงชาติสยามแบบใหม่ที่ทดลองใช้อยู่ในเวลานั้น (คือธงแดงขาว 5 ริ้ว ซึ่งกำหนดให้ใช้เป็นธงค้าขาย) ยังมีลักษณะที่ไม่สง่างามเพียงพอ และได้เสนอแนะว่าริ้วกลางของธงควรเพิ่มสีน้ำเงินเข้ม เพื่อให้เป็นธงสามสีในทำนองเดียวกันกับธงชาติของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งสามประเทศพอใจประเทศสยามยิ่งขึ้นเพราะเสมือนว่าได้ยกย่องชาติเหล่านั้น นอกจากนี้สีน้ำเงินยังเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ การมีสีนี้ในธงชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ชาติสยามเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ
พระองค์ได้ทรงทดลองเขียนแบบธงตามบทความดังกล่าวแล้วทรงเห็นว่างดงามดีและเห็นด้วยกับบทความดังกล่าว ต่อมาจึงทรงมอบหมายให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) (ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิศุภการ) เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น ให้ออกแบบธง และนำกลับไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ทรงเห็นชอบเช่นกัน และมีรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วย รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบแบบธงชาติสยามที่คิดขึ้นใหม่ และประกาศใช้ตามความในธงพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีกสองวันถัดมา และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศไปแล้ว 30 วัน คือเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2460
ธงชาติแบบใหม่นี้ได้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย อย่างไรก็ตาม ธงสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีน้ำเงินเข้ม ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยรัชกาลที่ 6 ได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)
-
ธงไตรรงค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างเผือกมาสู่ธงไตรรงค์นั้นมีผู้ที่เสียดายธงช้างเดิมอยู่ไม่น้อย เนื่องจากธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยามที่นานาประเทศรู้จักกันทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว และธงไตรรงค์นั้นก็มีลักษณะที่พ้องกับธงชาติของประเทศอื่นบางประเทศ อาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้พบเห็นได้ ในปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึกพระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[12] นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมราชเลขาธิการตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์เพื่อรวบรวมความเห็นต่าง ๆ ของสาธารณชนเกี่ยวกับธงชาติเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยด้วย ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป[13]
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ธงไตรรงค์สามสีถูกชักขึ้นไปแทนธงบนยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคณะราษฎร[14] และรัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองฐานะของธงไตรรงค์ให้เป็นธงชาติสยามต่อไป โดยมีการตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์[15] และหลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งทำให้ธงชาติสยามถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ธงชาติไทย" ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ ซึ่งพระราชบัญญัติธงทั้งสองฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยความบรรยายลักษณะธงชาติในพระราชบัญญัติธงใหม่ให้ชัดเจนขึ้น เช่น พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 แก้ข้อความจากจาก "สีน้ำเงินแก่" เป็น สีขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) โดยใช้สีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รำลึกถึงพระองค์ ก่อนแก้ข้อความกลับมาเป็น "สีน้ำเงินแก่" ในพระราชบัญญัติธงฉบับปี พ.ศ. 2522 แต่ยังคงรูปแบบธงส่วนใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 ไว้เช่นเดิม[16]
วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันประกาศใช้ธงชาติไทยฉบับล่าสุด เป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในปีครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ในปี พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ[17]
พัฒนาการของธงชาติไทย
[แก้]ภาพธง | ระยะเวลาการใช้ | การบังคับใช้ธง | ลักษณะ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
(ไม่ทราบวันที่แน่นอน[18]) |
ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช | ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแดงเกลี้ยง | ||
ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว | ใช้เฉพาะบนเรือหลวง | ||
ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว | ใช้เฉพาะบนเรือหลวง | ||
ใช้ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110 พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116 |
ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง | ใช้บนแผ่นดินเป็นธงแรก | ||
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ) พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 | ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง | สำหรับราชการ | ||
พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 (ในชื่อ "ธงค้าขาย") | ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 9 ส่วน กว้าง 6 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีแดงตรงกลางกว้าง 2 ส่วน | สำหรับสามัญชน | ||
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560[19] | ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีน้ำเงินขาบตรงกลางกว้าง 2 ส่วน มีการกำหนดค่าสีของแต่ละแถบสีเพื่อให้มีมาตรฐานสีและเป็นมาตรฐานสีตามหน่วยสากล | ใช้ทั่วประเทศ |
ลักษณะธงตามกฎหมาย
[แก้]ลักษณะของธงไตรรงค์เมื่อแรกบัญญัติ ปรากฏตามความบรรยายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ดังนี้
ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เปนธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย[20]
ต่อมาได้มีการปรับปรุงถ้อยคำบรรยายลักษณะของธงชาติเสียใหม่ ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ซึ่งระบุว่า
ธงชาติ รูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ธงไตรรงค์"[15]
ในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลักษณะธงชาติไว้ดังนี้
ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงไตรรงค์”[16]
ค่าสี
[แก้]ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560 กำหนดค่าสีมาตรฐานของธงในระบบซีแล็บ ดี 65[19] (รวมทั้ง สวทช. ได้นำไปต่อยอดเป็นค่า RGB, HEX, และ CMYK)[21] ดังนี้ :
สี | ระบบซีแล็บ ดี 65 | รูปแบบสีอื่น ๆ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
L* | a* | b* | ΔE* | RGB | HEX | CMYK | |||
แดง | 36.4 | 55.47 | 25.42 | ไม่เกิน 1.5 | 165-25-49 | #A51931 | C24-M100-Y83-K18 | ||
ขาว | 96.61 | -0.15 | -1.48 | ไม่เกิน 1.5 | 244-245-248 | #F4F5F8 | C3-M2-Y1-K0 | ||
น้ำเงิน | 18.63 | 7.89 | -19.45 | ไม่เกิน 1.5 | 45-42-74 | #2D2A4A | C87-M85-Y42-K43 |
ความหมายของธง
[แก้]ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ภายใต้พระนามแฝง "วรรณะสมิต" ตีพิมพ์ในนิตยสารดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ สำหรับเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เล่มที่ 1 พ.ศ. 2461 หน้า 42 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ [22] แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์[23]
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงพระพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน[24]
การชัก ใช้ และแสดงธงชาติไทย
[แก้]ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่าง ๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่าง ๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ[15] ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ อีกหลายฉบับ อาทิ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ[25] ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช 2488[26] เป็นต้น โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ต้องใช้ธงชาติสำหรับชักขึ้นและลงตามที่ราชการกำหนด รวมทั้ง ต้องประดับธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควรเป็นการถาวรและสม่ำเสมอ สำหรับภาคเอกชนและบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปนั้นให้อนุโลมดำเนินการไปในทางเดียวกัน[27][28]
ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติที่บังคับทั่วไปในปัจจุบันนี้ บังคับใช้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2562)[29][30][31][32][33] ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญบางข้อ ดังนี้
การชักธงชาติในราชอาณาจักร
[แก้]ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติไว้ดังนี้[33][34]
- วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 1 วัน
- วันมาฆบูชา 1 วัน
- วันจักรี วันที่ 6 เมษายน 1 วัน
- วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน 1 วัน
- วันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 1 วัน
- วันพืชมงคล 1 วัน
- วันวิสาขบูชา 1 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 1 วัน
- วันอาสาฬหบูชา 1 วัน
- วันเข้าพรรษา 1 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 1 วัน
- วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 1 วัน
- วันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน 1 วัน
- วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 1 วัน
- วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5, 6 ธันวาคม 2 วัน
- วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 1 วัน
สำหรับการชักธงและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่น ๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป
ส่วนการลดธงครึ่งเสานั้น นายกรัฐมนตรีจะสั่งการผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไป โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี[29] เช่น เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป[35] หรือเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 รัฐบาลออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา 30 วัน ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป[36]
นอกจากนี้ ก็มีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้นำของประเทศต่าง ๆ หรือผู้นำองค์กรระดับนานาชาติที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง โดยปกติจะลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน
กำหนดเวลาชักธงชาติ
[แก้]เวลาชักธงชาติโดยปกติ กำหนดให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. สำหรับอาคารสถานที่และยานพาหนะฝ่ายทหารนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของฝ่ายทหาร ส่วนในเรือเดินทะเลนั้น ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมชาวเรือ[29]
สำหรับการชักธงชาติในโรงเรียนและสถานศึกษานั้น ปัจจุบันนี้ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547[37] ซึ่งกำหนดให้โดยปกติแล้ว ให้สถานศึกษาชักธงขึ้นเวลาเข้าเรียน และชักธงลงเวลา 18.00 น. ในวันเปิดเรียน ส่วนวันปิดเรียนนั้น ให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. หากสถานศึกษาใดมีความจำเป็นไม่อาจชักธงขึ้นลงตามกำหนดที่กล่าวมา ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องสอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529[29]
การประดับธงชาติ
[แก้]การประดับธงชาติไทยคู่หรือร่วมกับธงอื่นยกเว้นธงพระอิสริยยศ โดยหลักแล้วธงชาติไทยจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำว่าธงอื่น ๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา (เมื่อมองดูออกมาจากภายใน หรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธงเป็นหลัก) ถ้าหากเป็นการประดับในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือมีที่สำหรับประธาน ธงชาติจะต้องอยู่ทางขวามือเสมอ ในกรณีที่ประดับกับธงอื่นซึ่งรวมกันแล้วได้จำนวนเป็นเลขคี่ ธงชาติไทยจะต้องอยู่ตรงกลาง ถ้ารวมกันแล้วเป็นเลขคู่ ธงชาติไทยต้องอยู่กลางขวา หลักการเช่นนี้อนุโลมใช้กับการประดับธงชาติไทยคู่กับธงต่างประเทศด้วย เว้นแต่ว่าจะข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดไปเป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเป็นกรณีไป
การประดับธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ
สำหรับการประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับพระพุทธรูปหรือพระบรมรูปในงานพิธีต่าง ๆ ธงชาติต้องอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปนั้นต้องอยู่ด้านซ้าย[29]
การเคารพธงชาติ
[แก้]การเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[29]
สำหรับการเคารพธงชาติของทหารนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรงทำวันทยาหัตถ์ ไม่ว่าจะอยู่ในแถวหรือนอกแถว ส่วนนายทหารประทวนและพลทหาร ให้ทำวันทยาหัตถ์ขณะยืนอยู่นอกแถวทหารเท่านั้น หากอยู่ในแถวทหาร ให้ใช้ท่าตรง ส่วนแถวทหารที่มีอาวุธ นายทหารผู้ควบคุมแถวจะสั่งแสดงความเคารพโดยการทำวันทยาวุธ และสั่งเรียบอาวุธเมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเรียบร้อยแล้ว พิธีกร เมื่ออยู่ในแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ให้ก้าวออกไป 1 ก้าว สั่งแล้วให้ถอยกลับเข้าที่
การใช้ธงชาติกับผู้เสียชีวิต
[แก้]ธงชาตินั้นสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิได้ โดยบุคคลที่สามารถใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศได้นั้น[29] ได้แก่
- ประธานองคมนตรี
- ประธานรัฐสภา
- นายกรัฐมนตรี
- ประธานศาลฎีกา
- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
- ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือในการสู้รบ หรือเพื่อปกป้องอธิปไตยหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อปราบปรามการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและพระมหากษัตริย์
- ผู้เสียชีวิตจากการแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ
- บุคคลที่ทางราชการเห็นสมควร
ส่วนการใช้ธงชาติคลุมศพนั้น สามารถใช้ในการพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพหรือพิธีรดน้ำศพ หรือระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา หรือในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ[29]
การกระทำอันไม่สมควรต่อธงชาติและบทกำหนดโทษ
[แก้]ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 การกระทำต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีดังนี้[38]
- การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทำต่อธงชาติรูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย
- การกระทำที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ เช่น
- การประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นในผืนธงรูปจำลองของธง หรือแถบสีของธง
- การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงอันมีลักษณะตามข้อ (1)
- การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงไว้ ณ สถานที่หรือวิธีอันไม่สมควร
- การประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร
- แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตามข้อ (4)
การกระทำการต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพมีความผิด ต้องระวางโทษตามกฎหมายดังนี้[39][29]
- กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118)
- กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อ 19.2 ข้างต้น (ข้อความดังกล่าวลอกมาจากพระราชบัญญัติธงอีกทีหนึ่ง) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 53)
- ผู้ใดกระทำการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 54)
ธงอื่นที่ดัดแปลงลักษณะจากธงชาติ
[แก้]โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดธงอย่างอื่นที่ความหมายถึงชาติของประเทศต่าง ๆ ล้วนมีการดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติเกือบธงหมด เช่น ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่าง ๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ พ.ศ. 2460[40] แม้ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน[40]
ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงไชยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติและเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงคราม โดยถือว่าเมื่อธงชัยเฉลิมพล ไปปรากฏ ณ ที่ใดเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในกองทัพทหารนั้นด้วย[41] ลักษณะโดยรวมนั้นเป็นรูปธงไตรรงค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่กำหนดไว้โดยละเอียดในพระราชบัญญัติธง และกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว) แต่ตรงกลางมีรูปเครื่องหมายประจำกองทัพที่สังกัดและจารึกชื่อของหน่วยทหารไว้ ที่บริเวณมุมธงชัยเฉลิมพลของทุกหน่วย (ยกเว้นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ) มีเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อเปล่งรัศมีสีฟ้า และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานธงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะใช้ธงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยเฉพาะ[16]
-
ธงชาติไทยสำหรับตกแต่ง ตามแนวตั้ง
-
ธงราชนาวีไทย
-
ธงราชนาวีเสือป่า
-
ธงชัยเฉลิมพลหน่วยทหารบก (ในภาพ เป็นธงชัยเฉลิมพลของกองพลทหารอาสาสมัครของประเทศไทยในสงครามเวียดนาม ขณะรับการประดับแพรแถบกล้าหาญจากกองทัพสหรัฐจากการร่วมรบในสงครามดังกล่าว)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖ องค์การค้าคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๑๒ เรื่อง "เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนธงชาติ". (บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ "วชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖" พิมพ์ที่โรงพิมพ์รวมมิตรไทยเมื่อ พ.ศ. 2496)
- ↑ หยุดเชื่อ ... หยุดสอน ... เรื่องธงช้างกลับหัว อันเป็นเหตุเปลี่ยนธงชาติไทย
- ↑ ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2475), หน้า 1
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 กรมศิลปากร (2520). ประเพณีการยิงสลุต
- ↑ พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์). "ประวัติ ความเป็นมา และรูปแบบธงชาติไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-18. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
- ↑ พฤฒิพล ประชุมผล. "ผังธงโลกพิมพ์ในฝรั่งเศสปี พ.ศ. 2383". artsandculture.google.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พฤฒิพล ประชุมผล (19 สิงหาคม 2562). "บันทึกประวัติศาสตร์ธงช้างเผือกใหม่". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พฤฒิพล ประชุมผล (10 กันยายน 2562). "ผังธงโลก 2373". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พฤฒิพล ประชุมผล (5 ตุลาคม 2563). "ข่าวดีของประเทศไทย". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บรรทึกเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๒๗๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชวินิจฉัยเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๖๐๗
- ↑ 24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม
- ↑ 15.0 15.1 15.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙, เล่ม ๕๓, ตอน ๐ก, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙, หน้า ๘๖๕
- ↑ 16.0 16.1 16.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
- ↑ "ครม. เห็นชอบ ให้วันที่ 28 ก.ย. เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยไม่นับเป็นวันหยุด". มติชน. 20 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 18.0 18.1 18.2 หลักฐานสำหรับอ้างอิงปีพุทธศักราชในพัฒนาการธงชาติไทย เรียกใช้เมื่อ 9/10/2561
- ↑ 19.0 19.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 134 (พิเศษ 245 ง): 1. 4 ตุลาคม 2560.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐, เล่ม ๓๔, ตอน ๐ ง, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า ๔๓๖.
- ↑ สวทช. มาตรฐานแถบสีธงชาติไทย https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/11557-thaiflag-color เก็บถาวร 2020-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
- ↑ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546), หน้า 96
- ↑ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546), หน้า 101
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา (31 ธันวาคม พ.ศ. 2483). "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา (31 ธันวาคม พ.ศ. 2487). "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 11
- ↑ คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย (2554), หน้า 13
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 ราชกิจจานุเบกษา (3 เมษายน พ.ศ. 2529). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๒๙" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา (31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา (9 สิงหาคม พ.ศ. 2547). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560). "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๐" (PDF). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2017.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ 33.0 33.1 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒, เล่ม ๑๓๖, ตอนพิเศษ ๑๘๙ ง, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๑.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑, เล่ม ๑๓๕, ตอนพิเศษ ๕๒ ง, ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑, หน้า ๑.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑ข, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต, เล่ม ๑๓๓, ตอนพิเศษ ๒๓๘ ง, ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547). "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗" (PDF). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 29
- ↑ คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ (2551), หน้า 29-30
- ↑ 40.0 40.1 ธงราชนาวีและธงที่ใช้ในกองทัพเรือ (พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ)
- ↑ นางสาวเพลินพิศ กำราญ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2547). "ธงชัยเฉลิมพล" (PDF). จุลสารการจัดการองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง. สำนักพระราชวัง. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2013.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
บรรณานุกรม
[แก้]- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2475). ปาฐกถาตำนานธงไทยในสมัยต่าง ๆ. พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอร่าม สุนทรวร. โสภณพิพรรฒธนากร.
- สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2551). คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ. บริษัท เซเว่น พรื้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
- สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2554). คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย. อรุณการพิมพ์. ISBN 978-616-235-058-0.
- ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม (2546). การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. สำนักพิมพ์มติชน.
ดูเพิ่ม
[แก้]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]
- ธงชาติไทย เก็บถาวร 2009-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
- ธงชาติไทย ที่ Flags of the World (อังกฤษ)
- พิพิธภัณฑ์ธงสยาม (ธงช้าง) เก็บถาวร 2019-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) เก็บถาวร 2019-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คู่มือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติ เก็บถาวร 2012-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- อธิบายเรื่องธงไทย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สารคดีพิเศษ: ธ. ธง คนนิยม เก็บถาวร 2007-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ศรัณย์ ทองปาน ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ 22 ฉบับที่ 263 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2550