ถนนเจริญนคร

พิกัด: 13°42′45″N 100°29′52″E / 13.712626°N 100.497750°E / 13.712626; 100.497750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนเจริญนคร
A ride on Bangkok Gold Line - รถไฟฟ้าสายสีทอง (January 2022) - img 03.jpg
ถนนเจริญนครช่วงคลองสาน ถ่ายจากสถานีเจริญนครของรถไฟฟ้าสายสีทอง
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว4.9 กิโลเมตร (3.0 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2483–ปัจจุบัน
ประวัติสร้าง พ.ศ. 2482
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศเหนือ แยกคลองสาน ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศใต้ สะพานเจริญนคร 8 ในเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ถนนเจริญนคร (อักษรโรมัน: Thanon Charoen Nakhon) เป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

พระยามไหสวรรย์

ถนนเจริญนครตัดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2482–2483[1] ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างถนนต่อจากถนนสมเด็จเจ้าพระยา กิ่งอำเภอคลองสานขึ้นอำเภอธนบุรี ไปถึงตำบลปากคลองดาวคะนองฝั่งใต้ อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี พุทธศักราช 2482 โดยพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครธนบุรีเป็นผู้ริเริ่มโครงการถนนสายนี้ ถนนเจริญนครเป็นถนนสายแรกที่สร้างเป็นถนนขนาดกว้างถึง 30 เมตร[1] เมื่อสร้างถนนเสร็จ เทศบาลนครธนบุรีได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งชื่อถนนให้ ในชั้นแรกกระทรวงมหาดไทยจะตั้งชื่อถนนว่า "ถนนมไหสวรรย์" ตามราชทินนามของพระยามไหสวรรย์ แต่พระยามไหสวรรย์ขอให้ใช้ชื่อถนนว่า ถนนเจริญนคร เพื่อล้อกับชื่อถนนเจริญกรุงที่อยู่ในแนวขนานกันทางฝั่งพระนคร[1] กระทรวงมหาดไทยจึงอนุมัติให้ใช้ชื่อดังกล่าว ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้นำชื่อถนนมไหสวรรย์ไปตั้งเป็นชื่อถนนตัดใหม่ซึ่งเชื่อมถนนเจริญนครกับถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ)[1]

ลักษณะ[แก้]

ถนนเจริญนครมีความยาวประมาณ 4,900 เมตร[2] มีขนาด 6 ช่องจราจรตลอดสาย (มีเกาะกลางช่วงแยกคลองสานถึงแยกกรุงธนบุรี และแยกบุคคโลถึงสะพานเจริญนคร 8) จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ทางแยกคลองสานในพื้นที่แขวงคลองสาน เขตคลองสาน เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศใต้ ข้ามสะพานเจริญนคร 1 (คลองสาน) ตัดกับถนนเจริญรัถและเข้าพื้นที่แขวงคลองต้นไทร ข้ามสะพานเจริญนคร 2 (คลองวัดทองเพลง) ตัดกับถนนกรุงธนบุรีที่ทางแยกกรุงธนบุรี (เหนือและใต้) เลียบแม่น้ำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามสะพานเจริญนคร 3 (คลองต้นไทร) และเข้าพื้นที่แขวงบางลำภูล่าง ข้ามสะพานเจริญนคร 4 (คลองบางลำภูล่าง) ข้ามสะพานเจริญนคร 5 (คลองบางไส้ไก่) และเข้าพื้นที่แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี ข้ามสะพานเจริญนคร 6 (คลองสำเหร่) และสะพานเจริญนคร 7 (คลองบางน้ำชน) ตัดกับถนนมไหสวรรย์ที่ทางแยกบุคคโลและเข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง เมื่อผ่านปากซอยเจริญนคร 72 จะโค้งไปทางทิศใต้ ไปสิ้นสุดที่สะพานเจริญนคร 8 (คลองดาวคะนอง) โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องไปคือถนนราษฎร์บูรณะในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ

การใช้พื้นที่[แก้]

สถานีรถไฟปากคลองสานในสมัยรัชกาลที่ 5

ถนนเจริญนครเป็นพื้นที่การอยู่อาศัยเก่าแก่ มีชุมชนเก่าแก่กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่[3] บริเวณคลองสานแต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟปากคลองสาน (เปิดทำการ พ.ศ. 2447 และถูกรื้อถอนปี พ.ศ. 2504) มีเส้นทางเดินทางคลองสานไปยังมหาชัย[4] ในอดีตท่าเรือคลองสานเป็นที่กระจายสินค้าไปยังฝั่งพระนครและธนบุรี และบริเวณซอยเจริญนคร 7 มีชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตราด ในอดีตชาวชุมชนแห่งนี้มีอาชีพนักประดาน้ำรับจ้างกู้เรือและงมสิ่งของที่จมหายลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา[5]

ในด้านโครงการอาคารชุดและโรงแรมหรู ริมถนนเจริญนครเป็นที่ตั้งของโรงแรมมิลเลนเนียมฮิลตัน โรงแรมเพนนินซูลา และโรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ รวมถึงโครงการไอคอนสยาม อาคารอเนกหน้าที่ใช้สอยบนพื้นที่ 50 ไร่ ส่วนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของอาคารชุดหลายแห่ง เช่น เดอะไลต์เฮาส์, วอเตอร์มาร์ก เจ้าพระยา อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร ระหว่างซอยเจริญนคร 39 กับซอยเจริญนคร 41, ศุภาลัย ริเวอร์ รีสอร์ท ซึ่งตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน, เดอะริเวอร์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 12 ไร่

ส่วนด้านการค้า จุดแรกที่ถือว่าอยู่ในย่านถนนเจริญนครมานานคือตลาดคลองสานพลาซ่าและท่าเรือคลองสาน มีอาคารพาณิชย์ ตลาดนัดขนาดใหญ่ ร้านค้า และร้านอาหารจำนวนมากกว่า 100 ร้าน โดยบริษัท ที่ปรึกษาการวางแผนและพัฒนา จำกัด เช่าที่กับการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2528 และหมดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564[6]

ถนนเจริญนครยังมีศูนย์การค้าชุมชนอย่างเสนาเฟส เป็นอาคาร 4 ชั้นบนเนื้อที่ 4 ไร่[7]

ถนนเจริญนครมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองพาดผ่าน โดยมีสถานี 2 สถานีที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร คือ สถานีเจริญนครและสถานีคลองสาน[8] มีท่าน้ำข้ามฟากนอกจากท่าเรือคลองสาน ได้แก่ ท่าเรือข้ามฟากเป๊ปซี่ (ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังท่าเรือสาทร ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และท่าเรือด่วนเจ้าพระยา) ท่าเรือดูเม็กซ์ และท่าเรือวัดเศวตฉัตร มีสวนสาธารณะคือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฝั่งธนบุรี

สถานที่ราชการและศาสนสถาน[แก้]

ริมถนนเจริญนครและในซอยแยกย่อยของถนนมีวัดอยู่หลายวัด ได้แก่ วัดสุวรรณ วัดเศวตฉัตรวรวิหาร วัดสุทธาราม วัดสันติธรรมาราม วัดบางน้ำชน วัดบุคคโล วัดดาวคนอง และวัดกลางดาวคนอง มีศาสนสถานของชาวจีน เช่น ศาลเจ้าปุงเถ่ากงม่า ซอยปรีชาศิลป์ (เจริญนคร 49–51) ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง และโรงเจบ้วนชุนตั๊ว บริเวณริมน้ำเชิงสะพานกรุงเทพ ซึ่งมีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเทศกาลกินเจจะคึกคักเป็นพิเศษ เป็นที่รู้จักในชื่อ โรงเจสะพานกรุงเทพ ส่วนศาสนสถานในศาสนาคริสต์ ได้แก่ คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ สุดซอยเจริญนคร 59 เป็นคริสตจักรแห่งแรกของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[9]

สถานที่ราชการ ได้แก่ โรงเรียนวัดสุวรรณ โรงเรียนวัดเศวตฉัตร สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ สถานีตำรวจนครบาลบุคคโล และยังมีสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย

ทางแยกสำคัญ[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ถนนเจริญนคร ทิศทาง: คลองสาน – สะพานเจริญนคร 8
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
เจริญนคร คลองสาน – สะพานเจริญนคร 8 (ถนนเจริญนคร)
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกคลองสาน เชื่อมต่อจาก: ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
ไม่มี ถนนลาดหญ้า ไปวงเวียนใหญ่
สะพานเจริญนคร 1 ข้ามคลองสาน
ไม่มี ถนนเจริญรัถ ไปถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
สะพานเจริญนคร 2 ข้ามคลองวัดทองเพลง
แยกเจริญนครใต้ ไม่มี ถนนกรุงธนบุรี ไปถนนสาทร
แยกเจริญนครเหนือ ไม่มี ถนนกรุงธนบุรี ไปถนนราชพฤกษ์
สะพานเจริญนคร 3 ข้ามคลองต้นไทร
สะพานเจริญนคร 4 ข้ามคลองบางลำภูล่าง
สะพานเจริญนคร 5 ข้ามคลองบางไส้ไก่
สะพานเจริญนคร 6 ข้ามคลองสำเหร่
สะพานเจริญนคร 7 ข้ามคลองบางน้ำชน
แยกบุคคโล ถนนมไหสวรรย์ ไปถนนตก ถนนมไหสวรรย์ ไปแยกมไหสวรรย์
สะพานเจริญนคร 8 ข้ามคลองดาวคะนอง
ตรงไป: ถนนราษฎร์บูรณะ
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 51.
  2. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  3. วิเคราะห์ทำเลเจริญนคร การมาของ 2 ยักษ์ค้าปลีก “สยามพิวรรธน์-ซี.พี.”[ลิงก์เสีย]
  4. เปิดภาพเก่าย่าน “คลองสาน” ก่อนจะเป็นหอชมเมือง-ไอคอนสยาม อดีตเคยเป็นที่ตั้งโรงสีข้าว
  5. ลุยจุดสร้าง ‘หอชมเมือง’ ที่ดินติดไอคอนสยาม รัฐยันโปร่งใส ชาวบ้านกลัวกระทบ
  6. "ปิดตำนานคลองสานพลาซ่า-ท่าเรือข้ามฟาก 'การรถไฟฯ' พลิกโฉมใหม่ ผุดมิกซ์ยูส โรงแรม 3 ดาว". มติชน.
  7. ส่องกล้องทำเลเลียบแม่น้ำ "เจริญนคร" จากย่านตึกแถว สู่ธุรกิจมอลล์และคอนโดฯ[ลิงก์เสีย]
  8. เริ่มลงมืออีกสายรถไฟฟ้าสายสีทอง อิตาเลียนไทยฯกั้น 2 ช่องถนนเจริญนคร
  9. "เที่ยวซอกแซกหามุมสงบงามย่านถนนเจริญนคร".

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°42′45″N 100°29′52″E / 13.712626°N 100.497750°E / 13.712626; 100.497750