ถนนสีลม

พิกัด: 13°43′29″N 100°31′26″E / 13.7248357433°N 100.524001121°E / 13.7248357433; 100.524001121
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สีลม
ถนนสีลม
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว2.300 กิโลเมตร (1.429 ไมล์)
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออกถนนพระรามที่ 4 / ถนนราชดำริ ในเขตบางรัก / เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันตกถนนเจริญกรุง ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ถนนสีลม เป็นถนนสายสำคัญในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 6 ช่องทางจราจร มีช่องจอดรถและบาทวิถีทั้ง 2 ข้าง ความยาวประมาณ 2.78 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดกับถนนศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนเดโช ถนนปั้น ถนนประมวญ ถนนสุรศักดิ์ และถนนมเหสักข์ ทางพิเศษศรีรัช และไปสิ้นสุดที่ถนนเจริญกรุง สีลมเป็นถนนที่มีเกาะกลางและมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเรียงรายไปตลอดแนวถนนจำนวน 483 ต้น และเป็นถนนสำคัญสายแรกที่เดินสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ไว้ใต้ดิน

ถนนสีลมเป็นถนนธุรกิจสายสำคัญสายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีผู้ขนานนามถนนสีลมว่า "ถนนคนเดินของกรุงเทพฯ" เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคาร โรงแรม อาคารสำนักงาน ตลอดจนศูนย์การค้าขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ทั้งสองฟากถนน และเป็นถนนท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งซื้อสินค้าและขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวตามบาทวิถีในเวลากลางคืน เช่น ซอยละลายทรัพย์ ถนนพัฒน์พงศ์ นอกจากนี้ยังเคยมีโครงการพัฒนาเป็นย่านถนนคนเดินในวันอาทิตย์

นอกจากนี้ยังถือได้ว่าถนนสีลมเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง และแขก ดังจะเห็นได้จากบริเวณทางแยกเดโชซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ศาสนสถานของชาวทมิฬ ครั้งหนึ่งถนนสายนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของสุสานสาธารณะและสุสานเอกชนทั้งสุสานคริสต์คาทอลิก สุสานคริสต์โปรเตสแตนต์ สุสานจีน สุสานแขก รวมแล้วกว่า 13 แห่ง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น สุสานปาร์ซี สุสานคริสเตียน สุสานและฌาปนสถานสมาคมจีนแคะ สุสานฮกเกี้ยน สุสานจีนบาบ๋า[1]

ถนนสีลมมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม วิ่งบนเกาะกลางจากถนนราชดำริข้ามถนนพระรามที่ 4 และมาจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีศาลาแดง ก่อนเลี้ยวออกจากถนนสีลมไปถนนนราธิวาสราชนครินทร์ที่สถานีช่องนนทรี

ประวัติ[แก้]

ช่วงต้น[แก้]

ถนนสีลม พ.ศ. 2491 บริเวณทางแยกเดโชในปัจจุบัน

ที่ดินยุคแรก ๆ ละแวกถนนสีลม บริเวณศาลาแดงเป็นที่นา แถววัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร[2] บริเวณปากซอยสุรศักดิ์เป็นที่ดินของแขก

สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตัดถนน 3 สาย คือ ถนนเจริญกรุง (ตอนนอก) ถนนหัวลำโพง และถนนสีลมพร้อม ๆ กัน หลังจากที่พ่อค้าและกงสุลต่างประเทศขอให้รัฐบาลสร้างถนนขึ้นเพื่อเป็นที่ขี่ม้าตากอากาศ โดยชาวบ้านเรียกถนนสีลมว่า "ถนนขวาง" ถนนมีความกว้าง 5 ศอก ยาว 68 เส้น 16 วา ซึ่งได้นำดินที่ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) เฉพาะถนนสีลมนั้น ได้มาจากการขุดคลองขวางจากบางรักไปถึงคลองถนนตรง ณ ศาลาที่เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) สร้างไว้ จากนั้นได้ทำถนนขนานคลองนี้ทางทิศใต้[3] เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก เรียกคลองนี้ว่า คลองบางรัก หรือ คลองบางรักปากคลองขวางขุดใหม่ รู้จักในเวลาต่อมาว่า คลองสีลม คลองนี้อยู่ทางฝั่งเหนือของถนนสีลม ริมคลองปลูกต้นอโศกสีส้มขนานกับประดู่ที่ริมถนน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนให้บริจาคการสร้างทางคมนาคม หลวงพิศาลศุภผล จ้างเหมาสร้างสะพานอิฐถือปูนด้านถนนเจริญกรุง เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) จ้างเหมาทำสะพานก่ออิฐถือปูนข้ามปลายคลองสีลมต่อถนนสีลม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรทรงบริจาคทรัพย์ทำสะพานข้ามคลองถนนตรง ต่อเนื่องมาอีกสะพานหนึ่ง

ย่านที่อยู่อาศัยนอกเมือง[แก้]

กังหันลมบริเวณถนนสีลมตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศตั้งโรงสีลมที่ถนนขวาง ซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำ โดยที่บริเวณทั่วไปยังเป็นทุ่งนาโล่ง เครื่องสีลมวิดน้ำจึงดูเด่น จึงพากันเรียกถนนเส้นนี้ว่า "ถนนสีลม" หรือ Wind Mill Road ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมาเริ่มมีการตัดถนนขนานกับถนนสีลม คือ ถนนสาทร ถนนสุรวงศ์ และถนนสี่พระยา ทำให้ถนนบริเวณนี้เริ่มมีคนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสร้างสวนลุมพินีที่สุดถนนสีลม เพื่อเป็นที่จัดงานแสดงนิทรรศการ สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และเปิดสัมปทานเดินรถรางถนนสีลมเป็นครั้งแรก (จากบางรักถึงประตูน้ำ) ทำให้การคมนาคมสะดวก ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ธุรกิจของชาวต่างประเทศที่แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายดำเนินกิจการบนถนนสีลมมากขึ้น ในรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมติรื้อรถรางและถมคลองสีลมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2506 อีกแหล่งบอกคลองถูกถมเพื่อขยายถนนเมื่อ พ.ศ. 2500[4] การถมคลองทำให้ถนนสีลมมีขนาดกว้างขวางกว่าถนนอื่นในละแวกเดียวกัน

ย่านธุรกิจ[แก้]

ถนนสีลมถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2510 เห็นกำลังก่อสร้างโรงแรมนารายณ์

ความเป็นย่านธุรกิจเห็นได้จากการสร้างตึกแถวและอาคารสูง โดยเริ่มมีการสร้างอาคารพาณิชย์สูง 3–5 ชั้นเมื่อราว พ.ศ. 2490 ต่อมา พ.ศ. 2509 มีการสร้างอาคารสูงมากกว่า 10 ชั้น เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยในขณะนั้น โรงแรมนารายณ์ อาคารอาคเนย์ประกันภัย โรงแรมดุสิตธานี อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยทนุ อาคารบุญมิตร ถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางการเงินเนื่องจากมีสำนักงานธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทประกันภัยจำนวนมาก[5] มีอาคารสำนักใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เคยเป็นอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2525[6]

พ.ศ. 2527 เริ่มมีการร้อยท่อสายไฟฟ้าของอาคารต่าง ๆ บนถนนมาไว้ใต้ดินแทน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเรือนและอาคาร สุสานถูกรื้อถอน มีการสร้างอาคารสูงตั้งแต่ 20 ชั้นขึ้นไป เช่น อาคารสีลมเซ็นเตอร์ (พ.ศ. 2528) อาคารไอทีเอฟสีลมพาเลซ (พ.ศ. 2530) อาคารธนิยะพลาซ่า (พ.ศ. 2530) อาคารซีพีทาวเวอร์ (พ.ศ. 2533) อาคารทรินิตีคอมเพล็กซ์ (พ.ศ. 2533) และอาคารซีเคเค (พ.ศ. 2535) เป็นต้น[7]

พ.ศ. 2536 มีการเปลี่ยนแปลงการเดินระบบสายไฟฟ้าฝังลงใต้ดิน และ พ.ศ. 2539 มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีการตัดต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน แต่เดิมนั้นบริเวณสีลมมีนกนางแอ่นบ้านที่หนีความหนาวเย็นจากประเทศรัสเซียและประเทศจีน จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2527 เคยมีจำนวนมากถึง 270,000 ตัว แต่หลังจากการก่อสร้างดังกล่าวทำให้ประชากรนกนางแอ่นบ้านลดลงอย่างมาก[8]

จากข้อมูล พ.ศ. 2564 ถนนสีลมเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคม โดยมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก มีอาคารสำนักงานรวมกว่า 43 แห่ง มีคอนโดมิเนียมทุกระดับ โรงเรียน 23 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โครงการค้าปลีก 3 แห่ง และธุรกิจกลางคืนอันโด่งดัง บริเวณหัวถนนมีโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งปรับรูปแบบมาจากโรงแรมดุสิตธานีเดิม[9]

รายชื่อทางแยก[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ถนนสีลม ทิศทาง: พระรามที่ 4 – เจริญกรุง
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
พระรามที่ 4 – เจริญกรุง (ถนนสีลม)
กรุงเทพมหานคร 0+000 แยกศาลาแดง เชื่อมต่อจาก: ถนนราชดำริ จากราชประสงค์
ถนนพระรามที่ 4 ไปวิทยุ ถนนพระรามที่ 4 ไปอังรีดูนังต์
ถนนศาลาแดง ไปถนนสาทรเหนือ ไม่มี
แยกคอนแวนต์ ถนนคอนแวนต์ ไปถนนสาทรเหนือ ไม่มี
แยกพิพัฒน์ ซอยสีลม 3 (พิพัฒน์) ไปถนนสาทรเหนือ ไม่มี
แยกสีลม–นราธิวาส ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสาทร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปถนนสุรวงศ์
แยกเดโช ไม่มี ถนนเดโช ไปถนนสุรวงศ์
ถนนปั้น ไปถนนสาทรเหนือ ไม่มี
แยกประมวญ ถนนประมวญ ไปถนนสาทรเหนือ ไม่มี
แยกสุรศักดิ์ ถนนสุรศักดิ์ ไปสาทร ถนนมเหสักข์ ไปถนนสุรวงศ์
แยกด่วนสีลม ทางพิเศษศรีรัช ไปดาวคะนอง, บางนา ทางพิเศษศรีรัช ไปดินแดง, แจ้งวัฒนะ
ถนนจรูญเวียง ไปถนนสาทรเหนือ ถนนจรูญเวียง ไปซอยเจริญกรุง 45 (ซอยพุทธโอสถ)
แยกบางรัก ถนนเจริญกรุง ไปบางรัก, ถนนตก ถนนเจริญกรุง ไปสี่พระยา
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

สถานที่สำคัญ[แก้]

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

อ้างอิง[แก้]

  1. อรุโณประโยชน์, ศุภณัฐ (2021). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สุสานจีนในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร. ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 125. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  2. "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
  3. สุมิตรา จันทรเงา. ""ถนนสีลม" มาจากไหน??". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. โรม บุนนาค. "ถนนตรง คลองตรง ถนนขวาง คลองขวาง อยู่ที่ไหน! ถนนราชดำริเคยปลูกมะพร้าวริมถนน!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. ชีวารัตน์ กลับคุณ. "แนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านธุรกิจสีลมช่วงถนนคอนแวนต์ถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  6. "ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม".
  7. พัชราภา แก่นหอม. "ปัจจัยทางกายภาพที่มีต่อการค้าในย่านธุรกิจ : กรณีศึกษาซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  8. "ตรวจนกอพยพสีลมป้องหวัดนก". ไทยรัฐ.
  9. สรัญญา จันทร์สว่าง / พรไพลิน จุลพันธ์. "ทุนยักษ์เร่งพลิก "สีลม-พระราม4" ดัน "กรุงเทพฯ" สู่โกลบอลแลนด์มาร์ค". กรุงเทพธุรกิจ.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°43′29″N 100°31′26″E / 13.7248357433°N 100.524001121°E / 13.7248357433; 100.524001121