ตำบลอ้อมเกร็ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลอ้อมเกร็ด
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Om Kret
ประเทศไทย
จังหวัดนนทบุรี
อำเภอปากเกร็ด
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด3.97 ตร.กม. (1.53 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2563)
 • ทั้งหมด4,829[2] คน
 • ความหนาแน่น1,216.37 คน/ตร.กม. (3,150.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 11120
รหัสภูมิศาสตร์120609
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อ้อมเกร็ด เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามเกาะเกร็ด ตำบลนี้มีฝั่งแม่น้ำระยะทางสั้น ๆ เมื่อเทียบกับตำบลข้างเคียง ทำให้มีรูปพื้นที่คล้ายถุงไปขยายกว้างขึ้นตามแนวคลองบางบัวทองและตอนในด้านตะวันตกเฉียงใต้ ในอดีตบริเวณนี้เป็นพื้นที่ปิด ไม่มีทางหลวงสายหลักหรือถนนสายใหญ่เข้าถึง มีเพียงคลองและถนนสายเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรในท้องที่ และมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง ส่วนมากประกอบอาชีพทำนาและทำสวนผลไม้[3] แต่หลังจากที่มีการเปิดใช้ถนนราชพฤกษ์ใน พ.ศ. 2548 ความเจริญได้หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็วพร้อมกับการย้ายถิ่นเข้ามาของผู้คนจากภายนอก ปัจจุบันในตำบลอ้อมเกร็ดมีทั้งชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองต่าง ๆ และชุมชนใหม่ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามถนนสายหลักและสายรอง[4]

ประวัติ[แก้]

ตำบลอ้อมเกร็ดเดิมเป็นท้องที่หนึ่งของอำเภอบางบัวทอง มีชื่อว่า ตำบลบางบัวทอง โดยได้ชื่อมาจากคลองบางบัวทองซึ่งเป็นคลองสายหลักในพื้นที่ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2463 กระทรวงนครบาลได้โอนตำบลบางบัวทองจากอำเภอบางบัวทองมาขึ้นกับอำเภอปากเกร็ดเพื่อความเหมาะสมด้านการปกครอง โดยในคราวเดียวกันนี้ยังได้เปลี่ยนชื่อตำบลบางบัวทองเป็น ตำบลอ้อมเกร็ด ตามลักษณะที่ตั้งที่อยู่ทางด้านอ้อมของเกาะเกร็ด และเปลี่ยนชื่อตำบลพระภิมลเป็นตำบลบางบัวทองแทน[5]

ใน พ.ศ. 2540 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด โดยกำหนดให้คลองบางพลับใหญ่ตั้งแต่คลองขุนมหาดไทย (ท่าลาย) ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลอ้อมเกร็ดกับตำบลบางพลับ[6] แต่เนื่องจากแนวแบ่งเขตดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ยึดถือกันมาในพื้นที่ ใน พ.ศ. 2556 กระทรวงมหาดไทยจึงออกประกาศกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ดเป็นฉบับที่ 2 โดยกำหนดให้ถนนในหมู่บ้านจัดสรร กำแพงหมู่บ้านจัดสรร แนวอาคารพาณิชย์ ถนนราชพฤกษ์ คลองหัวจิก (รางปลิง) และคลองบางน้อยเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างตำบลทั้งสอง[7]

ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลตำบลอ้อมเกร็ดเต็มพื้นที่นั้นมีฐานะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด ซึ่งได้รับการยกฐานะจากเดิมที่เป็นสภาตำบลอ้อมเกร็ดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540[8]

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

ตำบลอ้อมเกร็ดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอปากเกร็ด มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลข้างเคียงดังต่อไปนี้[7]

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบางพลับ (อำเภอปากเกร็ด) มีแนวกึ่งกลางถนนในหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์การ์เด้นแอนด์สปอร์ตคลับ แนวกำแพงหมู่บ้านดิเอมเมอรัลด์การ์เด้นแอนด์สปอร์ตคลับ แนวอาคารพาณิชย์จรัสล้อแม็ก แนวขอบถนนราชพฤกษ์ แนวกำแพงหมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ คลองหัวจิก (รางปลิง) และคลองบางน้อยเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลเกาะเกร็ด (อำเภอปากเกร็ด) มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลท่าอิฐ (อำเภอปากเกร็ด) ตำบลบางรักน้อย (อำเภอเมืองนนทบุรี) และตำบลบางรักพัฒนา (อำเภอบางบัวทอง) มีแนวกึ่งกลางคลองบางบัวทองเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลพิมลราช (อำเภอบางบัวทอง) มีแนวกึ่งกลางคลองขุนมหาดไทย (ท่าลาย) เป็นเส้นแบ่งเขต

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

ตำบลอ้อมเกร็ดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน ได้แก่[7][9]

  • หมู่ที่ 1 บ้านท่าลาน
  • หมู่ที่ 2 บ้านวัดสิงห์ทองหรือบ้านคลองบางบัวทอง
  • หมู่ที่ 3 บ้านคลองบางปะกุนหรือบ้านคลองบางนา
  • หมู่ที่ 4 บ้านคลองตะเคียนหรือบ้านคลองยายจัน
  • หมู่ที่ 5 บ้านคลองบ้านเก่า
  • หมู่ที่ 6 บ้านคลองบางน้อย

การคมนาคม[แก้]

ถนนสายหลักในพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด ได้แก่

ถนนสายรองในพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด ได้แก่

  • ทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0020 (วังข่า–วัดสิงห์ทอง)
  • ทางหลวงท้องถิ่นสายวัดใหญ่สว่างอารมณ์–ขุนมหาดไทย
  • ซอยอ้อมเกร็ด 4 (ถนนสายบางน้อย)

อ้างอิง[แก้]

  1. องค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด. "ลักษณะที่ตั้ง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://aomkred.go.th/public/location/data/index/menu/24 เก็บถาวร 2020-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 5 มิถุนายน 2563.
  2. "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2563 อำเภอปากเกร็ด". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. พิศาล บุญผูก. ท้องถิ่นปากเกร็ด. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551, หน้า 215.
  4. พิศาล บุญผูก. ท้องถิ่นปากเกร็ด. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551, หน้า 216.
  5. "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องเปลี่ยนนามตำบลบางบัวทอง เปนตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลพระภิมลเปนตำบลบางบัวทอง แลโอนท้องที่ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ไปรวมในท้องที่อำเภอปากเกร็ด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 37 (0 ก): 434. 13 มีนาคม 2463.
  6. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 213–241. 6 พฤษภาคม 2541. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  7. 7.0 7.1 7.2 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 130 (พิเศษ 122 ง): 16–21. 23 กันยายน 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  8. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (พิเศษ 52 ง): 1–365. 25 ธันวาคม 2539. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  9. องค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด. "ลักษณะสังคม." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://aomkred.go.th/public/social/data/index/menu/25 เก็บถาวร 2020-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 5 มิถุนายน 2563.