ตะลิงปลิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตะลิงปลิง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: อันดับกระทืบยอด
วงศ์: วงศ์กระทืบยอด
สกุล: สกุลมะเฟือง
L.
สปีชีส์: Averrhoa bilimbi
ชื่อทวินาม
Averrhoa bilimbi
L.
ชื่อพ้อง[1]
  • Averrhoa abtusangulata Stokes
  • Averrhoa obtusangula Stokes

ตะลิงปลิง เป็นไม้ผลในวงศ์ Oxalidaceae เป็นพืชเขตร้อน คาดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากหมู่เกาะมาลูกู ในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันกลายเป็นพืชประจำถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้, ทวีปอเมริกากลาง, ทวีปอเมริกาใต้, ประเทศแทนซาเนีย, ประเทศออสเตรเลีย และประเทศจาเมกา เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ออกผลตามกิ่งก้านและลำต้นเป็นพวงแน่นและสวยงาม จึงเป็นที่นิยมปลูกทั่วไป นอกจากนี้ผลยังสามารถใช้บริโภค ตะลิงปลิงเป็นพืชร่วมวงศ์กับมะเฟือง มีส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ผลมะเฟืองมีขนาดใหญ่กว่าผลตะลิงปลิง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ไม้ต้นทรงพุ่ม สูงได้ถึง 15 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ยาว 20-60 ซม. ออกสลับ ใบย่อย 25-35 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้างประมาณ 5.5 ซม. ยาวประมาณ 12 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ มีขนนุ่ม ดอกสีแดงอมม่วง กลางดอกมีสีนวล กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อสั้นตามโคนต้นและกิ่งแก่ กลีบดอก 5 กลีบ เมื่อบานขนาดผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. เกสรผู้ 10 อัน สั้น 5 อัน ยาว 5 อัน อยู่สลับกัน ผลรูปป้อมรี ผิวเกลี้ยง กว้าง 2-5 ซม. ยาว 4-10 ซม. เป็นพูตื้นๆ 4 พู ปลายแหลม โคนมน รสเปรี้ยว เมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง

การบริโภค[แก้]

ผลมีรสเปรี้ยว เป็นที่นิยมเก็บผลอ่อนมากินกับกะปิ น้ำปลาหวาน เกลือ หรือนำมาทำส้มตำตะลิงปลิง หรือกินกับอาหารรสจัด หรือใช้เป็นเครื่องปรุงใส่ในอาหารที่ต้องการความเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ต้มยำ เป็นต้น หรือจะนำมาแช่อิ่มก็ได้ หรือจะนำมาทำน้ำผลไม้ ซึ่งจะให้แคลอรีต่ำ มีวิตามินเอสูง แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นจำนวนมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เลือดตกตะกอนได้

สรรพคุณ[แก้]

  • ราก สรรพคุณแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้โลหิตออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิลิส บรรเทาโรคเก๊าท์ บรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่
  • ใบ สรรพคุณใช้พอกแก้คัน ใช้ภายในโดยนำมาต้มดื่มรักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ รักษาซิฟิลิส แก้ไขข้ออักเสบ รักษาคางทูม รักษาสิว
  • ดอก นำมาชงเป็นชา สรรพคุณแก้ไอ
  • ผล สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมานและลดไข้ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ยาบำรุงแก้ปวดมดลูก แก้ไอ บรรเทาโรดริดสีดวงทวาร แก้ลักปิดลักเปิด
  • ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียใช้ส่วนผสมของใบกับผลไม้รักษาซิฟิลิส[2]

การปลูกและดูแลรักษา[แก้]

ตะลิงปลิงปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ซึ่งต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทรงพุ่มสูงใหญ่ และแข็งแรงกว่าต้นที่ได้ตอนกิ่ง แต่จะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะมีดอกมีผล ขณะที่ต้นจากการตอนกิ่งจะให้ผลหลังจากการปลูกลงดิน 5-8 เดือน หลังจากปลูกได้นาน 3-4 เดือนควรหมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม ถ้าไม่ต้องการให้ต้นสูงมากก็ตัดส่วนยอดออกเพื่อให้แตกกิ่งข้าง ๆ จะช่วยให้เก็บผลได้ง่าย ควรใส่ปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมีบ้างทุก 3 เดือน

เมนูแนะนำสำหรับตะลิงปลิง[แก้]

เนื่องจากตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยวนำกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์จึงสามารถนำไปทำได้ทั้งอาหารคาวและเครื่องดื่มโดยเมนูที่คนนิยมนำตะลิงปลิงไปปรุงก็อย่างเช่น น้ำพริกตะลิงปลิง [3] ปลาทูต้มตะลิงปลิง ยำตะลิงปลิง ฯลฯ หรือนำมาต้มเป็นน้ำผสมน้ำตาลลงไปก็จะได้เป็นเครื่องดื่มคลายร้อนรสเปรี้ยวอมหวาน ทั้งยังมีบางแห่งนำมา

ทำตะลิงปลิงแช่อิ่ม เป็นของกินเล่นได้อีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ May 16, 2014.
  2. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  3. https://cookpad.com/th/recipes/7540807-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87?via=search&search_term=%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]