ชฺวี ยฺเหวียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชฺวี ยฺเหวียน
ภาพของชฺวี ยฺเหวียน โดยเฉิน หงโช่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 17)
ภาพของชฺวี ยฺเหวียน โดยเฉิน หงโช่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 17)
เกิดประมาณ 340 ปีก่อนคริสตกาล
รัฐฉู่, ปัจจุบันคือมณฑลหูเป่ย์, จีน
เสียชีวิต6 มิถุนายน 278 ปีก่อนคริสตกาล
แม่น้ำมี่หลัว
อาชีพกวี, นักการเมือง

ชฺวี ยฺเหวียน (จีน: 屈原; พินอิน: Qū Yuán; ราว 340–278 ปีก่อนคริสตกาล)[1][2][3] เป็นเสนาบดีและกวีชาวจีนในยุครณรัฐของจีนโบราณ มีชื่อเสียงเพราะความรักชาติและผลงานด้านร้อยกรอง โดยเฉพาะประชุมกวีนิพนธ์เรื่อง ฉู่ฉือ (楚辭) ซึ่งเชื่อกันมาแต่ดั้งเดิมว่า เป็นผลงานของเขา และถือกันว่า เป็นหนึ่งในสองประชุมร้อยกรองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งจีนโบราณ อีกเรื่อง คือ ชือจิง (詩經) นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า เขาเป็นต้นกำเนิดเทศกาลเรือมังกร (龍船節) อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีผู้โต้แย้งเรื่องเขาเป็นผู้แต่ง ฉู่ฉือ จริงหรือไม่[4] แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า เขาเป็นผู้แต่ง หลีเซา (離騷) บทประพันธ์ที่เลื่องชื่อที่สุดในกลุ่มร้อยกรอง ฉู่ฉือ

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเขามีอยู่ไม่มาก เอกสารเก่าแก่ที่สุดที่เอ่ยถึงเขา คือ ร้อยกรองบทหนึ่งซึ่งเจี่ย อี้ (賈誼) ข้าราชการซึ่งถูกให้ร้ายและอัปเปหิไปยังฉางชา (长沙) ประพันธ์ขึ้นเมื่อ 174 ปีก่อนคริสตกาล ระหว่างเดินทางไปฉางชา โดยพรรณนาว่า ตนเองมีชะตากรรมคล้ายชฺวี ยฺเหวียน ในสมัยก่อน[5] แปดปีให้หลัง ซือหม่า เชียน (司馬遷) จึงเขียนประวัติของชฺวี ยฺเหวียน ขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยรวมอยู่ในหนังสือชุด ฉื่อจี้ (史記) แต่มีผู้เห็นว่า ข้อมูลที่ซือหม่า เชียน เขียนไว้นั้นย้อนแย้งหลายจุด[6]

ชีวิต[แก้]

ฉื่อจี้ ของซือหม่า เชียน เป็นแหล่งข้อมูลหลักแหล่งเดียวเกี่ยวกับชีวิตของชฺวี ยฺเหวียน[7] เอกสารนี้ระบุว่า ชฺวี ยฺเหวียน เป็นสมาชิกราชสกุลหมี่ (芈) แห่งรัฐฉู่ (楚国) และรับราชการในรัชสมัยพระเจ้าฉู่หฺวาย (楚懷王) ซึ่งครองราชย์ช่วง 328–299 ปีก่อนคริสตกาล

ต้นรัชกาลพระเจ้าฉู่หฺวาย ชฺวี ยฺเหวียน ดำรงตำแหน่งเสนาซ้าย (左徒)[1] ต่อมา เขาถูกให้ร้ายจนพระเจ้าฉู่หฺวายเนรเทศเขาไปยังดินแดนทางเหนือแถบแม่น้ำฮั่น (漢江)[1] ภายหลัง พระเจ้าฉู่หฺวายเรียกเขากลับมาเป็นทูตไปรัฐฉี (齐国)[8] เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐฉู่กับรัฐฉี[9]

เมื่อพระเจ้าฉู่หฺวายสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสสืบราชย์ต่อเป็นพระเจ้าฉู่ฉิ่งเซียง (楚頃襄王) ชฺวี ยฺเหวียน ถูกให้ร้ายอีกครั้ง[8] ครั้งนี้ เขาถูกขับไล่ไปยังดินแดนทางใต้แถบแม่น้ำฉาง (长江)[8] ว่ากันว่า ชฺวี ยฺเหวียน แวะบ้านเกิดเป็นอันดับแรก และระหว่างถูกเนรเทศนั้น เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรวบรวมและเรียบเรียงตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ที่รับรู้มาจากการท่องชนบท ทั้งยังประพันธ์ร้อยกรองหลายบท แต่ก็แสดงความห่วงใยในบ้านเมืองอยู่ไม่วาย[8] เขากังวลเกี่ยวกับแผ่นดินของตนจนสุขภาพย่ำแย่ และในช่วงเวลาที่หดหู่ ก็มักเดินทอดน่องไปแถวบ่อน้ำแห่งหนึ่ง แล้วจ้องดูเงาสะท้อนในน้ำอยู่นาน

ใน 278 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อทราบว่า อิ่ง (郢) เมืองหลวงของรัฐฉู่ ถูกขุนพลไป๋ ฉี่ (白起) แห่งรัฐฉิน (秦国) ตีแตก ชฺวี ยฺเหวียน ก็เขียนเพลงยาวชื่อ อายอิ่ง (哀郢; "อิ่งโศก") แล้วแบกก้อนหินเดินลุยแม่น้ำมี่หลัว (汨羅江) ลงไปจนจมน้ำตาย

เหตุผลที่เขาฆ่าตัวตายเป็นที่ถกเถียงมาแต่โบราณ ปรัชญาเมธีจู ซี (朱熹) แห่งราชวงศ์ซ่ง เสนอว่า เป็นเพราะทุกข์ตรมเกี่ยวกับบ้านเมือง แต่เอกสาร อฺวี๋ฟู่ (漁父) กล่าวว่า การฆ่าตัวตายของเขาเป็นหนทางสุดท้ายที่เขาจะปกป้องความบริสุทธิ์ใจและหลักการดำรงชีวิตของตนเอง

เทศกาลเรือมังกร[แก้]

ตำนานเล่าว่า ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงเห็นชฺวี ยฺเหวียน ลงแม่น้ำมี่หลัวไปลับ ๆ ก็พากันตามหาเขา แต่ไม่ทันกาล เพราะชฺวี ยฺเหวียน ถึงแก่ชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านจึงเอาก้อนข้าวเหนียวโยนลงน้ำเพื่อให้ปลากินแทนศพเขา ข้าวเหนียวดังกล่าวเป็นที่มาของบ๊ะจ่าง และการที่ชาวบ้านแล่นเรือตามหาเขาก็เป็นที่มาของเทศกาลเรือมังกรซึ่งมีการแข่งเรือและกินบ๊ะจ่าง

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 CUHK (2007), p. 205.
  2. Knechtges (2010), p. 745.
  3. Kern (2010), p. 76.
  4. Zhao Kuifu 趙逵夫, "Riben xin de Qu Yuan fouding lun Chansheng de Lishi Beijing yu Sixiang Genyuan Chutan" 日本新的 “屈原否定論” 產生的歷史背景與思想根源初探, in Fuyin Baokan Ziliao, Zhongguo Gudai Jindai Wenxue Yanjiu 複印報刊資料,中國古代近代文學研究, (1995: 10): 89–93.
  5. Quoted in Ban Gu's Book of Han biography of Jia Yi 《漢書·賈誼傳》, also appears in Wenxuan, "Diào Qū Yuán fù" 弔屈原賦.
  6. Hawkes (1959), p. 52.
  7. Hartman (1986), p. 352.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 CUHK (2007), p. 206
  9. CUHK (2007), p. 205–6

บรรณานุกรม[แก้]

  • "Qu Yuan", China: Five Thousand Years of History and Civilization, Kowloon: City University of Hong Kong Press, 2007, pp. 205–6, ISBN 9789629371401
  • Davis, Albert Richard, บ.ก. (1970), The Penguin Book of Chinese Verse, London: Penguin Books.
  • Guo Moruo (1952), 《屈原》 [Qu Yuan], Beijing: Renmin Wenxue Chubanshe. (ในภาษาจีน)
  • Hartman, Charles (1986). "Ch'ü Yüan 屈原". The Indiana Companion to Traditional Chinese Literature, Volume 1. Bloomington: Indiana University Press. p. 352. ISBN 0-253-32983-3.
  • Hawkes, David (1959), Ch'u Tz'u: The Songs of the South, an Ancient Chinese Anthology, Oxford: Clarendon Press.
  • Hawkes, David (1974), "The Quest of the Goddess", Studies in Chinese Literary Genres, Berkeley: University of California Press, pp. 42–68, ISBN 0-520-02037-5.
  • Hinton, David (2008), Classical Chinese Poetry: An Anthology, New York: Farrar, Straus, & Giroux, ISBN 978-0-374-10536-5.
  • Kern, Martin (2010). "Early Chinese literature, Beginnings through Western Han". The Cambridge History of Chinese Literature, Volume 1: To 1375. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 1–115. ISBN 978-0-521-11677-0.
  • Knechtges, David R. (2010). "Qu Yuan 屈原". Ancient and Early Medieval Chinese Literature: A Reference Guide, Part One. Leiden: Brill. pp. 745–749. ISBN 978-90-04-19127-3.
  • Wen Yiduo (1956), "人民的詩人一屈原 [Rénmín de Shīrén—Qū Yuán, Qu Yuan: The People's Poet]", 《神話與詩》 [Shénhuà yú Shī, Mythology & Poetry], Guji Chubanshe. (ในภาษาจีน)
  • Yip Wai-lim (1997), Chinese Poetry: An Anthology of Major Modes and Genres, Durham: Duke University Press, ISBN 0-8223-1946-2.
  • Zhang Zongyi (1957), 《屈原舆楚辭》 [Qū Yuán yú Chǔcí, Qu Yuan and the Songs of Chu], Changchun: Jilin Renmin Chubanshe. (ในภาษาจีน)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]