ชูบุงกิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชูบุงกิ้น

ชูบุงกิ้น (อังกฤษ: Shubunkin; ญี่ปุ่น: シュブンキン; โรมะจิ: shubunkin) ปลาทองชูบุงกิ้น มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษอยู่ด้วยกันหลายชื่อ อาทิเช่น SPECKLED GOLDFISH, HARLEQUIN GOLDFISH, VERMILION GOLDFISH และ RED BROCADE เป็นปลาที่เพิ่งเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 นี้ โดยนักเพาะพันธุ์ปลาทองจากนครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือ นาย Kichigoro Akiyama โดยนำปลาทอง 3 ชนิด คือ ปลาทองพันธุ์ตาโปน 3 สี (5สี) มาผสมข้ามพันธุ์กับปลาทองพันธุ์วากิ้น ซึ่งมีหางสี่ แบบสั้น ต่อมาก็นำมาผสมกับปลาทองพันธุ์ ฮิบุนะ(ปลาทองธรรมดา) จากนั้นเขาก็ได้คัดเลือกลูกปลาขึ้นมาราว 14-15 ตัว จากจำนวนปลาทั้งสิ้น 2 หมื่นกว่าฟอง ซึ่งลูกปลาที่เขาเพาะพันธุ์ขึ้นได้มีหางยาวมีเกล็ดบางใส และมีสีหลากหลายสีอยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งนาย Shinnosuke Matsubara ได้ขนานนามให้ปลาตัวนี้ว่า “Red Marked Calico” หรือ "Shubunkin"

ต่อมาลูกปลาทองชูบุงกิ้นได้เข้าไปแพร่หลายในประเทศอังกฤษในสมัยราชาภิเษกอวยพรเจ้ายอร์ชที่ 6 ในสมัยนั้นได้มีพ่อค้าปลาบางรายได้ตั้งชื่อปลาชนิดนี้ว่า “Coronation Fish” หรือปลาราชาภิเษก ทั้งนี้เพราะปลาชนิดนี้มีจุดประขึ้นเป็นสีต่าง ๆ แต่ชื่อนี้ก็ใช้เพียงเพื่อผลประโยชน์ในเชิงการค้าเท่านั้น และในเวลาต่อมาปลาทองชนิดนี้ ก็ได้วิวัฒนาการจนได้ปลาทอง 2 สายพันธุ์ London Shubunkin และ Bristol Shubunkin ซึ่งปลาทองทั้ง 2 สายพันธุ์จะมีรูปร่างและสีสันที่เหมือน ๆ กัน ต่างกันตรงที่ปลาทอง Bristol Shubunkin จะมีครีบและหางยื่นยาวและสูงกว่า แต่แบบ London Shubunkin ดูจะได้รับความนิยมมากว่าในประเทศอังกฤษ

ปลาทองชูบุงกิ้นเป็นปลาทองที่มีความแข็งแรงอดทนมากชนิดหนึ่ง มีเกล็ดบางใสแต่ไม่เงาแวววาวเหมือนปลาทองทั่ว ๆ ไป ลำตัวมีลักษณะคล้ายปลาทองสามัญแต่จะเพรียวกว่า มีครีบที่สมบรูณ์และยาวกว่า ปลายหางจะมนกลม เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็วและต้องการพื้นที่ในที่เลี้ยงพอสมควร ปลาทองชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถัวเฉลี่ยราว 9 นิ้ว มีอายุยืนยาวราว 10-20 ปี จัดว่าเป็นปลาทองที่ค่อนข้างเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงได้ในกลางแจ้งตลอดทั้งปี เป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สามารถเลี้ยงได้ในที่ ๆ แม้มีอุณหภูมิต่ำ แต่ไม่ควรให้ปลาอยู่ในที่ ๆ มีอุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะความเย็นอาจทำให้กระเพาะลมของปลาเกิดการผิดปกติ ปลาชนิดนี้มีด้วยกันหลากหลายสี อาทิเช่น สีแดง ขาว ส้ม ทอง น้ำตาล ดำ เหลือง ม่วงเข้ม น้ำเงิน เทา

สำหรับในบ้านเราปลาทองพันธุ์ชูบุงกิ้นมันรู้จักดีในนามของ "ปลาทองหางซิว" แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นปลาทองที่รูปร่างธรรมดา ๆ จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่สนใจกันเท่าใด [1]

อ้างอิง[แก้]