ชานมไข่มุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชานมไข่มุก
แก้วชานมไข่มุก
ชื่ออื่นปัวป้า
เพิร์ลมิลก์ที
ปัวป้ามิลก์ที
ปัวป้าที
ทาปิโอกาที
มื้อเครื่องดื่ม
แหล่งกำเนิดไต้หวัน สาธารณรัฐจีน
ภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อนหรือเย็น
ส่วนผสมหลักแป้งมันสำปะหลัง, นม, ครีมเทียม, ชาชง, น้ำตาล, สารเติมแต่งรสชาติ

ชานมไข่มุก หรือชื่อในภาษาจีนว่า เจินจูไหน่ฉา (จีน: 珍珠奶茶; พินอิน: zhēnzhū nǎichá) หรือ ปัวป้าไหน่ฉา (จีน: 波霸奶茶; พินอิน: bōbà nǎichá) เป็นเครื่องดื่มที่คิดค้นในประเทศไต้หวันในช่วงปี 1980 ใส่ลูกกลม ๆ ที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า "ไข่มุก" (珍珠)

ประเภทเครื่องดื่ม[แก้]

ชาไข่มุกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ชารสผลไม้ และ ชานม แต่ก็ยังมีบางร้านค้านำเสนอเมนูแบบผสมเป็น "ชานมรสผลไม้" ในชานมส่วนใหญ่ มักใช้นมผง หรือ ครีมเทียม มีบางสูตรก็ใช้นมสดมาแทนได้เหมือนกัน หรืออาจจะเป็นสูตรน้ำผลไม้ปั่น ไอศกรีมปั่น เพิ่มไข่มุก ร้านเครื่องดื่มส่วนใหญ่ในอเมริกาขาย "นมปั่น" ด้วย ซึ่งหน้าตาก็คล้ายกับชาไข่มุกแต่ไม่มีส่วนประกอบของชาเลย ร้านอาหารเล็ก ๆ บางร้านเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น น้ำผึ้ง อกาเว่ สตีเวีย และ แอสปาร์แตม ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า

ชาไข่มุกสูตรดั้งเดิม ทำมาจากชาไต้หวันร้อน ใส่ไข่มุกที่มาจากแป้งมันสำปะหลัง (粉圓) เม็ดเล็ก ๆ นมข้นหวาน และน้ำเชื่อม (糖漿) หรือน้ำผึ้ง ต่อจากนั้นก็มีสูตรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ต่างก็ชื่นชอบดื่มแบบเย็นกันมากกว่าดื่มแบบร้อน มีการทดลองเปลี่ยนประเภทของชาที่ใช้อยู่ตลอดเวลา แต่เดิมเริ่มจาก ชาเขียวไข่มุก ซึ่งใช้ ชาเขียว (茉香綠茶) กลิ่นมะลิมาแทนชาแดงที่เคยใช้ เพิ่มขนาดเม็ดไข่มุกให้ใหญ่ขึ้น (波霸/黑珍珠)[1] มีการเพิ่มรสชาติของลูกพีช และผลพลัม ต่อมามีการเพิ่มรสชาติของผลไม้หลากหลายชนิด ในบางสูตร ถึงกับตัดชาออกไป ไม่เหลือส่วนผสมของชาไว้เลย เพื่อคงรสชาติผลไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด มีการค้นพบว่า น้ำผลไม้เหล่านี้ ทำให้ไข่มุกเปลี่ยนสี (รวมถึง "เยลลี่ชิ้นเล็ก ๆ " ในเครื่องดื่มพวกทาโฮ คล้าย ๆ เต้าฮวย) เพราะฉะนั้น จึงมีการเลือกสีของไข่มุกให้เข้ากับเครื่องดื่มผลไม้แต่ละชนิด และเพื่อให้ได้รสชาติของชาแดงร้อนหรือชาเขียวที่ดีขึ้น อาจมีการเติมผงสกัด น้ำผลไม้ เนื้อผลไม้ น้ำเชื่อม ลงไป เมื่อใส่รวมกันในกระบอกเชคเกอร์ หรือปั่นรวมกับน้ำแข็งในเครื่องปั่นรวม เพิ่มไข่มุกและส่วนผสมอื่น ๆ (อย่างเช่น วนิลลา น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือ น้ำตาล) ในตอนสุดท้าย

จนถึงวันนี้ ร้านชาไข่มุกเป็นที่นิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับบาร์น้ำผลไม้ ในช่วงต้นของยุค 1990 บางร้านค้านิยมใช้แก้วพลาสติกฝาโดม บ้างก็มีเครื่องซีลพลาสติกให้ติดกับแก้ว วิธีการล่าสุดมีเครื่องกระบอกเชคเก้ออัตโนมัติ และซีลแน่นหนาให้มั่นใจว่าจะไม่มีการหกเลอะจนกว่าจะเจาะฝาดื่ม พร้อมกับมีหลอดขนาดใหญ่ที่ใช้ดูดไข่มุกขึ้นมาได้

ในไต้หวันทุกวันนี้ ผู้คนเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า "เจินจู ไหน่ฉา" กันติดปาก ("zhēn zhū nǎi chá") หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เจินไหน่ ("zhēn nǎi") คนจีนส่วนมากก็เรียกแบบนี้ แต่ชื่อภาษาอังกฤษของเครื่องดื่มชนิดนี้คือ "บับเบิล ที" หรือ "ปัวป้า ที"

ความหลากหลาย[แก้]

ความหลากหลายของส่วนผสมในชาไข่มุกนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของชา โดยส่วนมาก จะใช้ชาประเภทที่ต่างกัน เช่น ชาแดงชนิดต่าง ๆ ชาเขียว หรือแม้เต่กาแฟ ชาที่นิยมคือ ชาอูหลง และเอิร์ลเกรย์ ส่วนชามะลิก็เป็นชาที่นิยมกันมากอยู่แล้ว ชนิดอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันคือ ยฺวิ้นเยิ้ง ค้นพบในฮ่องกง ประกอบไปด้วยชาแดงครึ่งหนึ่ง และกาแฟครึ่งหนึ่ง บ้างนิยมผสมนมลงไป หรือถ้าเป็นชาที่ชงใหม่ ๆ จะได้เป็นรสชาติของชาอ่อน ๆ มาแทน

นมที่ผสมลงไปนั้นไม่ถือว่าเป็นส่วนผสมหลัก แต่ก็พบว่าหลายสูตรใส่ผสมลงไปด้วย บางร้านใช้ครีมเทียมเป็นส่วนผสมที่ใช้แทนนม แทนที่จะใช้น้ำนมจริง ๆ เพราะชาวเอเชียตะวันออกส่วนมากแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนม เหตุผลอื่น ๆ ก็คือ ราคาถูกกว่า หาได้ง่ายกว่า วันหมดอายุนานกว่านมแท้ ๆ[2] ในประเทศฝั่งตะวันตก มีการใช้น้ำนมถั่วเหลืองมาผสมแทนสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากนมวัว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เครื่องดื่มมีรสชาติและหน้าตาต่างกันไป

นอกจากนั้น บางสูตรยังใส่รสชาติต่าง ๆ เพิ่มลงไปในชาไข่มุก ที่นิยมกันคือผลไม้ต่าง ๆ เช่น สตรอเบอร์รี แอปเปิลเขียว เสาวรส มะม่วง มะนาว แตงโม องุ่น ลิ้นจี่ ลูกพีช สับปะรด แคนตาลูป ฮั่นนี่ดิว กล้วย อาโวคาโด มะพร้าว กีวี และ ขนุน ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผลไม้ที่นิยม เช่น เผือก พุดดิ้ง ช็อคโกแลต กาแฟ มอคค่า บาร์เล่ย์ งา อัลมอนด์ ขิง ลาเวนเดอร์, กุหลาบ, คาราเมล และ ไวโอเล็ต ,ทุเรียน ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะนิยมในเครื่องดื่มที่ไม่ใส่นมเท่านั้น เนื่องจากกรดในน้ำผลไม้จะทำให้นมแข็งตัวตกตะกอน

ชาไข่มุกบางสูตรนำส่วนผสมแต่ละอย่างมาใส่รวมกัน หลาย ๆ ร้านชาในอเมริกา มีเมนูผสมมากมายให้ลูกค้าเลือกสรร บางร้านใส่กาแฟ หรือผสมแล้วปั่นให้ด้วย

เม็ดมันสำปะหลัง (ปัวป้า) ในชาไข่มุกให้ความรู้สึกเคี้ยวหนึบหนับ ในหลาย ๆ สูตรมีการเพิ่มส่วนผสมบางอย่างเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับเครื่องดื่ม เช่น ไข่มุกสีเขียว:มีการเพิ่มรสชาเขียวเข้าไปเล็กน้อย ปรับให้เคี้ยวง่ายกว่าไข่มุกแบบเดิม เยลลี่ตัดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตัดเป็นรูปดาว รูปสี่เหลี่ยม ทำเป็นลายทาง เพิ่มสีและรสชาติต่าง ๆ เข้าไป เช่น วุ้นมะพร้าว, บุก ลิ้นจี่ หญ้า มะม่วง และ ชาเขียว การทำเป็นสีรุ้งจะใช้ผลไม้ผสมกับผงบุก ทำให้งอได้และเคี้ยวกรุบกรอบมากกว่าไข่มุกแบบเดิม ส่วน ถั่วอาซูกิ หรือ ถั่วเขียวบด รวมถึง เครื่องต่าง ๆ ที่นิยมใช้ราดหน้าขนมหวานช่วยเพิ่มรสชาติและความกลมกล่อมได้เป็นอย่างดี ในร้านชาทั่ว ๆ ไป จะมีการใส่ ว่านหางจระเข้ พุดดิ้งไข่ (คัสตาร์ดพุดดิ้ง) สาคู หรือ เผือกที่ปั้นเป็นลูกกลมชิ้นเล็ก ๆ ด้วย

เนื่องจากชาไข่มุกเป็นที่นิยมมาก จึงมีการผลิต "ชานมปัวป้าสำเร็จรูป" ออกวางจำหน่ายด้วย ชาหนึ่งซองประกอบด้วยซองชาแดงสำหรับหนึ่งที่ (พร้อมนมผงและน้ำตาลในซอง)

ร้านชาไข่มุกส่วนใหญ่จะมีเมนูที่หลีกเลี่ยงส่วนผสมของชาหรือกาแฟ ส่วนมากจะเป็นเครื่องดื่มประเภทที่ปั่นรวมกับน้ำแข็ง เรียกว่า สโนว์ บับเบิล อาจมีการนำส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใส่ในชาไข่มุกมาผสมรวมลงไปก็ได้ จะได้เป็นเครื่องดื่มที่มีหน้าตาเหมือนเกล็ดหิมะ แต่ความเย็นในเครื่องดื่มจะทำให้เม็ดไข่มุกแข็งตัวมากขึ้น จะทำให้ใช้หลอดดูดไม่ขึ้นและเคี้ยวลำบาก ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มประเภทเกล็ดหิมะใส่ไข่มุก จะต้องรีบดื่มให้ไวกว่าเครื่องดื่มประเภทชาไข่มุกธรรมดา

ในบางร้านจะใส่วุ้นมะพร้าวแทนการใส่เม็ดไข่มุกที่ทำมาจากมันสำปะหลัง เพราะมีประโยชน์มากกว่า วุ้นมะพร้าวนี้มีเส้นใยอาหารมาก มีคอเลสเตอรอลและไขมันเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะนิยมหั่นวุ้นมะพร้าวเป็นเส้นบาง ๆ เพื่อให้ง่ายสำหรับการใช้หลอดดูดขึ้นมา[3]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ตัวอย่างชานมไข่มุกในซานฟรานซิสโก

ชาไข่มุกพบครั้งแรกในประเทศไต้หวัน ช่วงยุค 1980

ร้านชาชุน ฉุ่ยถังในเมืองไถจง น่าจะเป็นร้านแรกที่คิดค้นเมนูชาไข่มุกขึ้นมา เมื่อปี 1988 ขณะที่กำลังประชุมอยู่นั้น คุณหลินชิ่วฮุย (ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์) ได้เทขนมหวานชิ้นเล็ก ๆ ลงไปในชา[4] ทุกคนในห้องประชุมเห็นว่าน่าสนใจ จึงทำออกมาขาย ปรากฏว่า ยอดขายดีมาก ทำลายสถิติเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ[4] บ้างก็ว่า ชาไข่มุกน่าจะมีที่มาจากร้านชาหานหลิน ที่เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน ของนายถัวซ่งเหอ เขาใส่เม็ดสาคูสีขาวลงไปในชา ทำให้มันเหมือนไข่มุก เป็นที่มาของคำว่า "ชาไข่มุก" หลังจากนั้นไม่นาน หานหลินเปลี่ยนสีสาคูจากสีขาวเป็นสีดำแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน ช่วงปี 1990 เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในเอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2012 ร้านแมคคาเฟ่ของแมคโดนัลด์ สาขาในประเทศเยอรมันและออสเตรียเริ่มจำหน่ายชาไข่มุก มีให้เลือกหลากหลายทั้งชาแดง ชาเขียว และชาขาว, เลือกได้ทั้งแบบผสมและไม่ผสมนม รวมถึงน้ำเชื่อมผลไม้รสต่าง ๆ สามารถสรรสร้างเมนูใหม่ ๆ ได้มากกว่า 250 แบบ[5]

ชนิดของชาไข่มุก[แก้]

  • 泡沫紅茶 (พินอิน: pàomò hóngchá) : "ชาแดงโฟม" แปลตรงตัวตามภาษาจีนก็คือ ชาที่มีฟอง ภาษาอังกฤษ เรียกว่า ชาโฟม แต่ชื่อนี้ไม่เป็นที่นิยมในเอเชียเท่าไหร่นัก ในหลาย ๆ ประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก จะเรียกว่า "ชาบับเบิล"[6] เครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ได้ใส่เม็ดสาคูลงไป คำว่า ฟอง/ไข่มุก ได้มาจากการผสมชาร้อน ๆ หรือชาอุ่น ๆ (ใช้ชาแดง) กับน้ำเชื่อมหรือน้ำตาล เทน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ลงไปรวมกันในกระบอกเชคเกอร์ อาจจะเขย่าด้วยเครื่องหรือเขย่าด้วยมือก็ได้ ทำให้เกิดโฟมฟองขึ้นที่ผิวบนของชา ส่งผลให้ได้รสชาติที่นุ่มลิ้น
  • 泡沫奶茶 (พินอิน: pàomò nǎichá) : "ชานมโฟม" ชาชนิดนี้ก่อนเสิร์ฟต้องเขย่า วิธีการเหมือน "ชาแดงมีฟอง"
  • 珍珠奶茶 or 珍奶 for short) (พินอิน: zhēnzhū nǎichá) : "ชานมเพิร์ล" มักเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า ชานมบับเบิล คำว่า "เพิร์ล/ไข่มุก" หมายถึง เม็ดสาคูเล็ก ๆ ขนาด 1/12 นิ้วที่ใส่ในเครื่องดื่ม ถึงแม้จะมีบางเมนูเปลี่ยนมาใช้เม็ดสาคูที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 1/4 นิ้ว แต่ก็ยังใช้ชื่อ "ชานมเพิร์ล"เหมือนเดิม[1]
  • 波霸奶茶 (พินอิน: bōbà nǎichá) : "ชานมบับเบิล" หรือที่เรียกกันว่า ชานมปัวป้า ชื่อนี้สื่อถึงขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งก็คือ เม็ดสาคูขนาดใหญ่ 1/4นิ้ว[1]
  • 黑珍珠奶茶 (พินอิน: hēi zhēnzhū nǎichá) : "ชานมแบล็กเพิร์ล" ตั้งแต่มีการทำเม็ดสาคูขนาดใหญ่ 1/4นิ้วขึ้นมา มีการแยกเฉพาะเม็ดสาคูมาวางจำหน่ายในชื่อ "แบล็กเพิร์ล" (黑珍珠) ซึ่งเป็นที่นิยมมาก มีอีกชื่อหนึ่งคือ "ปัวป้า" (波霸) แต่ไม่ค่อยใช้กันเท่าไหร่นัก
  • (奶) 茶珍珠 (พินอิน: (nǎi) chá zhēnzhū) : "ชา (นม) เพิร์ล" (ไม่นิยมใช้ชื่อนี้)
  • 泡泡茶 (พินอิน: pào pào chá) : หรือ 珍珠奶茶 หมายถึง "ชาบับเบิล" ใช้กันในประเทศสิงคโปร์

สุขภาพ[แก้]

เมื่อก่อน เคยมีการรายงานว่า เม็ดสาคู, นมผง และน้ำเชื่อมรสผลไม้ มีส่วนผสมของสารปรุงแต่งต้องห้าม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2011 ฟู้ดสแกนดอล ในไต้หวันตีแผ่เรื่องราวของ DEHP (สารเสริมสภาพพลาสติก) (สารเคมีพลาสติไซเซอร์ที่มีสารก่อมะเร็ง) ที่พบในสารกันบูดในเครื่องดื่มและน้ำเชื่อมรสผลไม้ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกนอกประเทศ และใช้ในร้านชาไข่มุกทั่วโลก DEHP (สารเสริมสภาพพลาสติก) นี้มีผลกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย[7][8] ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2011 กระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซีย นายเลียว เทียงไหล ประกาศให้บริษัทที่จำหน่าย "น้ำเชื่อมรสสตอเบอร์รี่" (หนึ่งในส่วนผสมที่ใช้ในชาไข่มุกบางเมนู) หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เนื่องจากทดสอบแล้วพบว่า มีสารก่อมะเร็งดังกล่าวปะปนอยู่[9]

ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2012 นักวิทยาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยอาเคิน (RWTH) ในประเทศเยอรมันได้ทำการวิเคราะห์ส่วนผสมของชาไข่มุกเพื่อหาสารอาจที่ก่อให้เกิดการแพ้ ผลการตรวจสอบ พบว่า มีส่วนผสมของ สไตรีน, อะซีโตฟีโนน และ สารที่ผ่านกรรมวิธีการเติมโบรมีน[10][11] หนังสือพิมพ์ในประเทศเยอรมัน Rheinische Post ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ดังกล่าว ส่งผลให้ตัวแทนในประเทศเยอรมันของทางไต้หวันต้องออกมาแถลงการณ์ กล่าวว่า จะมีการตรวจสอบอาหารทุกประเภทในไต้หวันอย่างละเอียด[12] ต่อมา ในเดือนกันยายน องค์การอาหารและยาของไต้หวันได้ออกมาแจ้งผลการวิเคราะห์รอบสองซึ่งผ่านการควบคุมโดยองค์กรประเทศเยอรมัน พบว่า ชาไข่มุกของไต้หวันปลอดจากสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่พบส่วนผสมของโลหะหนัก หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด[13]

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2013 องค์การอาหารและยาของไต้หวันออกแถลงการณ์เรื่อง การตรวจพบกรดมาเลอิก (สารปรุงแต่งอาหารที่ยังไม่ผ่านการรับรอง) ในอาหารบางประเภทรวมถึงเม็ดไข่มุกสาคู[14] ทั้งนี้ หน่วยงานตรวจสอบอาหารของประเทศสิงคโปร์ได้ทำการทดสอบ และตรวจพบเจอสารดังกล่าวในเม็ดไข่มุกสาคูของบางร้านค้า และในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิงอื่นๆ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "珍珠奶茶的製作方法 (pearls)". Crystalpalace.poempalace.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 27 July 2011.
  2. Chao, Julie (12 December 1999). "Taiwan tapioca tea on tap". San Francisco Examiner.
  3. "Healthier Bubble Tea". Five by Fifty - Asian Consumer Intelligence. 17 March 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-03. สืบค้นเมื่อ 2014-06-29.
  4. 4.0 4.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ chang12
  5. "McDonald's Launches Bubble Tea Line In German Restaurants". Huffingtonpost.com. 11 June 2012.
  6. "Yes411 全球華人首選生活資訊網 - 加拿大黃頁". Yes411.com. 19 November 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-24. สืบค้นเมื่อ 2014-06-29.
  7. Yi-yu, Juan; Yi-chia, Wei; Su-ching, Hung (29 May 2011). "FOOD SCARE WIDENS:Tainted additives used for two decades: manufacturer". Taipei Times.
  8. "167 food ingredient suppliers affected by toxic contamination: DOH". Focus Taiwan News Channel. 26 May 2011.
  9. Lee Yen Mun (17 June 2011). "Taiwanese syrup used in bubble tea found to be DEHP contaminated". The Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-19. สืบค้นเมื่อ 2021-10-13.
  10. Bubble Tea under Surveillance in Germany SGS SafeGuard Bulletin, Retrieved 09/20/2012
  11. "Bubble tea 'contains all sorts of crap'". The Local. 22 August 2012.
  12. "Tests rebut claims about carcinogenic German bubble tea". Taipei Times. 11 September 2012.
  13. "'Reckless' report has hurt Taiwanese bubble tea industry: supplier". Central News Agency. 28 September 2012.
  14. "Taiwan recalls food products due to unapproved food additive" (PDF). Agri-Food & Veterinary Authority of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2014-06-29.
  15. "Recall of starch-based products from Taiwan due to maleic acid" (PDF). Agri-Food & Veterinary Authority of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-09-08. สืบค้นเมื่อ 28 June 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Bubble tea