ฉากแท่นบูชาเบรรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แท่นบูชาเบรรา
ศิลปินเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา
ปีค.ศ. 1472-1474
ประเภทเท็มเพอราบนแผง
สถานที่พิพิธภัณฑ์เบรรา, มิลาน

ฉากแท่นบูชาเบรรา หรือ พระแม่มารีเบรรา หรือ พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญ (ภาษาอังกฤษ: Holy Conversation; ภาษาอิตาลี: Pala di Brera หรือ Brera Madonna หรือ Brera Altarpiece หรือ Montefeltro Altarpiece) เป็นฉากแท่นบูชาที่เขียนโดยเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา จิตรกรสมัยสมัยเรอเนซองส์ชาวอิตาลี ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เบรราที่เมืองมิลานในประเทศอิตาลี “แท่นบูชาเบรรา” เป็นภาพที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1472 ถึงปี ค.ศ. 1474 ที่เขียนให้เฟเดอริโกที่ 2 แห่งมอนเตเฟลโตร (Federico II da Montefeltro) ดยุกแห่งเออร์บิโนเพื่อฉลองวันเกิดของลูกชาย กุยโดบาลโดแห่งมอนเตเฟลโตร บางหลักฐานกล่าวว่าเป็นการฉลองการได้รับชัยชนะต่อปราสาทในบริเวณมาเร็มมา

เบื้องหลัง[แก้]

ภาพเขียนที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1472 ถึงปี ค.ศ. 1474 ซึ่งบันทึกไว้ในสำนักสงฆ์ซานเบอร์นาร์ดิโนที่เป็นที่ตั้งเดิมของภาพบ่งว่าเขียนโดยฟรา บาร์โตโลเมโอ คาร์นาวาเลแห่งเออร์บิโน แต่ในปัจจุบันความเชื่อที่ว่าฟรา บาร์โตโลเมโอ คาร์นาวาเลเป็นผู้เขียนไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ

บางหลักฐานก็กล่าวว่าเป็นงานเขียนที่ได้รับจ้างในโอกาสการฉลองการเกิดของลูกชายของเฟเดอริโกแห่งมอนเตเฟลโตรเมื่อปี ค.ศ. 1472 ถ้าเชื่อตามทฤษฎีนี้พระบุตรในภาพก็เป็นสัญลักษณ์ของกุยโดบาลโดขณะที่พระแม่มารีเป็นภาพเหมือนของ บัตติสตา ซโฟร์ซา (Battista Sforza) ภรรยาของเฟเดอริโกผู้เสียชีวิตในปีเดียวกันและถูกฝังไว้ที่สำนักสงฆ์ซานเบอร์นาร์ดิโน

คำบรรยายภาพ[แก้]

ลักษณะการวาดเป็นแบบที่เรียกว่า “พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญ” (sacra conversazione) ซึ่งเป็นลักษณะการวาดที่นิยมกันในอิตาลีโดยที่องค์ประกอบของภาพจะมีพระแม่มารี, พระบุตรและ กลุ่มนักบุญ ในภาพนี้พระแม่มารีนั่งบัลลังก์โดยมีพระบุตรนอนหลับอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเทวดาและนักบุญ ทางด้านขวาล่างเป็นภาพของดยุกเฟเดอริโกแต่งเสื้อเกราะคุกเข่าชื่นชมเหตุการณ์อยู่ ฉากหลังเป็นภาพบริเวณพิธีของวัดที่วาดแบบเรอเนซองส์

พระบุตรสวมสร้อยคอประคำปะการังสีแดงเข้มซึ่งเป็นสีที่ทำให้คิดถึงเลือดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความตายและความปลดเปลื้องจากการไถ่บาปจากพระเยซู นอกจากนั้นปะการังก็ยังเป็นสิ่งที่เด็กสมัยนั้นใช้อมหรือกัดเล่นหรือใส่เป็นสร้อย นักบุญทางซ้ายของพระแม่มารีสันนิษฐานกันว่าเป็นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์, นักบุญเบอร์นาร์ดิโนแห่งเซียนนา และ นักบุญเจอโรม; ทางด้านขวาเป็นนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ, นักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ (Peter Martyr) และ นักบุญแอนดรูว์ ริชชินักประวัติอิตาลีกล่าวว่าคนสุดท้ายในรูปเป็นภาพเหมือนของลูคา ปาชิโอลิ (Luca Pacioli) นักคณิตศาสตร์ที่เกิดที่ซานเซพอลโครเช่นเดียวกับเปียโร นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ปรากฏในภาพเพราะเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของภรรยาของดยุกเฟเดอริโก ขณะที่นักบุญเจอโรมเป็นผู้พิทักษ์มนุษยชน นักบุญฟรานซิสเดิมเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนวัดฟรานซิสกันซานโดนาโต เดกลี ออสเซอร์วันติซึ่งเป็นวัดที่ฝังร่างของดยุกเฟเดอริโก รายละเอียดเสื้อผ้า เสื้อเกราะของดยุก และรายละเอียดอื่นๆ วาดอย่างละเอียดที่ตามแบบการเขียนของสมัยภาพเขียนแบบเนเธอร์แลนด์ตอนต้น (Early Netherlandish painting)

มุขด้านหลังวัดที่มีหลังคาหอยครึ่งวงกลมและมีไข่นกกระจอกเทศห้อยลงมาตรงกลาง หอยเป็นสัญลักษณ์ของวีนัสใหม่ หรือพระแม่มารีและความงามอันชั่วนิรันด์ แต่สิ่งที่พระแม่มารีต่างจากเทพีกรีกก็ตรงที่ความงามของพระองค์เป็นความงามตลอดกาลในอาณาจักรของพระเจ้า อีกทฤษฎีหนี่งกล่าวว่าไข่นกกระจอกเทศคือไข่มุกและหอยหมายถึงปาฏิหาริย์ของ การกำเนิดบริสุทธิ์ (Immaculate conception) ของพระเยซู เพราะมุกเกิดขึ้นโดยมิต้องมีเชื้อจากหอยตัวผู้ และไข่โดยทั่วไปถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างโลกของพระเจ้าหรือหมายถึงการกำเนิดของกุยโดบาลโด นอกจากนั้นนกกระจอกเทศก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของตราประจำตระกูลของตระกูลมอนเตเฟลโตร

See also[แก้]