จักรพรรดินีนาม เฟือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาม เฟือง
จักรพรรดินีเวียดนาม
พระราชสมภพ14 ธันวาคม พ.ศ. 2457
ก่อกง โคชินไชนา อินโดจีนของฝรั่งเศส
สวรรคต16 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (49 ปี)
จังหวัดกอแรซ ประเทศฝรั่งเศส
คู่อภิเษกบ๋าว ดั่ย
พระราชบุตรเหงียน ฟุก บ๋าว ล็อง
เหงียน ฟุก เฟือง มาย
เหงียน ฟุก เฟือง เลียน
เหงียน ฟุก เฟือง ซุง
เหงียน ฟุก บ๋าว ทั้ง
ราชวงศ์เหงียน
พระราชบิดาเหงียน หืว ห่าว
พระราชมารดาเล ถิ บิญ
ศาสนาโรมันคาทอลิก

จักรพรรดินีนาม เฟือง (เวียดนาม: Nam Phương Hoàng hậu, จื๋อโนม: 南芳皇后; 14 ธันวาคม พ.ศ. 2457 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2506) พระนามาภิไธยเดิม เหงียน หืว ถิ ลาน (Nguyễn Hữu Thị Lan, 阮有氏蘭) ศาสนนาม มารี-เตแรซ (Marie-Thérèse) เป็นพระอัครมเหสีในจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของเวียดนาม เป็นจักรพรรดินีพระองค์ที่สองและพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์เหงียน

พระราชประวัติ[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

จักรพรรดินีนาม เฟือง มีพระนามาภิไธยเดิมว่า มารี-เตแรซ เหงียน หืว ถิ ลาน เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2457 ณ เมืองก่อกง อันเป็นเมืองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ขึ้นกับโคชินไชนา หนึ่งในสามดินแดนอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส[1][2]

มีพระราชชนกคือ ปีแยร์ เหงียน หืว ห่าว (Nguyễn Hữu Hào, 阮有豪) พ่อค้าผู้มั่งคั่ง[3] ซึ่งเดิมมีชาติกำเนิดเป็นคริสตังผู้ยากจนมาก่อน[4] แต่จากการที่เขารู้จักกับอาร์ชบิชอปแห่งไซ่ง่อน จึงถูกแนะนำให้เข้าทำงานเป็นเลขานุการของฟีลิป เล ฟ้าต ดัต (Lê Phát Đạt) ดุ๊กแห่งล็องมี ซึ่งเป็นมหาเศรษฐี หลังจากนั้นเขาสมรสกับมารี เล ถิ บิญ (Lê Thị Binh, 黎氏萍) ธิดาของเล ฟ้าต ดัต และดำรงตำแหน่งดุ๊กแห่งล็องมีต่อจากพ่อภรรยา[4][5] ทั้งนี้พระองค์เป็นญาติห่าง ๆ ของจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย พระราชสวามีในอนาคต[6]

จักรพรรดินีนาม เฟืองเป็นพลเมืองฝรั่งเศสแปลงสัญชาติ เป็นรู้จักในนาม มารีแย็ต (Mariette) เข้าศึกษาที่กูว็องเดซัวโซ (Couvent des Oiseaux) โรงเรียนคาทอลิกในเนอยี-ซูร์-แซน ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่พระชันษาได้ 12 ปี[7]

อภิเษกสมรส[แก้]

9 มีนาคม พ.ศ. 2477 มีการประกาศข่าวว่าบ๋าว ดั่ย กษัตริย์แห่งอันนัม หมั้นหมายกับเหงียน หืว ถิ ลาน บ๋าว ดั่ยทรงตรัสว่า "พระราชินีในอนาคตได้รับการเลี้ยงดูดุจเราชาวฝรั่งเศส เธอมีทั้งจรรยามารยาทอย่างตะวันตกและความงามอย่างตะวันออก หากได้พบเธอก็จะเห็นว่าเหมาะควรที่จะเป็นมิตรและร่วมทางกับเราในอนาคต เรารับรองว่าพฤติกรรมและการเป็นแบบอย่างที่ดีงามของเธอนั้นสมควรแล้วที่เราจะยกย่องให้สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของจักรวรรดิ"[3] หลังจากนั้นจึงมีการจัดพระราชพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังฤดูร้อนเมืองด่าหลัต[8] และจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเหงียน หืว ถิ ลานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2477 ณ เมืองเว้ โดยเป็นราชพิธีตามธรรมเนียมศาสนาพุทธ ซึ่งฝ่ายเจ้าสาวนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จึงเกิดข้อถกเถียง ประชากรเองไม่เห็นด้วยกับการนับถือศาสนาของฝ่ายเจ้าสาวนัก[9] หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า "เกิดความไม่พอใจไปทั่วประเทศ" เพราะเหงียน หืว ถิ ลาน ปฏิเสธที่จะละทิ้งความเชื่อคาทอลิก จึงส่งเรื่องอุทธรณ์ไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11[10] พระองค์ส่งคำตอบมาให้ว่า "ให้เป็นคาทอลิกต่อได้ หากลูก ๆ ของหญิงนั้นยังเข้าโบสถ์"[11] นอกจากนี้ พระนางฮหว่าง ถิ กุ๊ก พระราชชนนีของบ๋าว ดั่ย ไม่พอพระทัยกับปัญหาอันซับซ้อนของการอภิเษกสมรสนี้นัก เพราะมีสตรีนางอื่นมาถวายตัวเป็นฝ่ายในแก่บ่าว ดั่ยจำนวนมาก แต่กลับไม่ถูกเลือก[12]

หลังสิ้นพระราชพิธีอภิเษกสมรส เหงียน หืว ถิลาน ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "เจ้าหญิง" ทรงพระนามว่า "นาม เฟือง" แปลว่า "กลิ่นหอมแดนใต้" เพื่อสื่อถึงพระชาติกำเนิดจากภาคใต้ของพระองค์ จักรพรรดินีนาม เฟืองประสูติการพระราชโอรส-ธิดา 5 พระองค์ ทั้งหมดเข้ารีตคาทอลิกและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ดังนี้

  1. เหงียน ฟุก บ๋าว ล็อง[13] (4 มกราคม พ.ศ. 2479 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2550)
  2. เหงียน ฟุก เฟือง มาย (1 สิงหาคม พ.ศ. 2480 – 16 มกราคม พ.ศ. 2564)[14] เสกสมรสกับปีเอโตร บาโดลโย ดยุกที่ 2 แห่งอาดดิสอาบาบา และมาร์ควิสแห่งซาโบตีโน มีพระโอรส-ธิดาสองคน
  3. หงียน ฟุก เฟือง เลียน (ประสูติ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481)
  4. เหงียน ฟุก เฟือง ซุง (ประสูติ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485)
  5. เหงียน ฟุก บ๋าว ทั้ง (ประสูติ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2486)

จักรพรรดินี[แก้]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนตังเกี๋ย โคชินไชนา และอันนัม พระองค์เข้าร่วมวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา บ๋าว ดั่ยมีพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเวียดนามในฐานะรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่น พระอัครมเหสีจึงได้รับการอวยยศเป็นจักรพรรดินีนาม เฟือง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ต่อมาใน พ.ศ. 2490 จักรพรรดินีนาม เฟืองและพระราชบุตรเสด็จไปประทับประเทศฝรั่งเศส โดยประทับที่ชาโตทอเรนซ์ (Château Thorenc) นอกเมืองกาน ซึ่งเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระชนนีของบ๋าว ดั่ย[4] และหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองอาณานิคมโคชินไชนาประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส พ.ศ. 2492 บ๋าว ดั๋ยมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ จนกระทั่ง พ.ศ. 2498 บ๋าว ดั่ย ถูกนายกรัฐมนตรีโง ดิ่ญ เสี่ยมบังคับให้สละราชสมบัติ และแต่งตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเวียดนาม ในปีเดียวกันนั้นนาม เฟือง ทรงแยกทางกับบ๋าว ดั่ย สองปีหลังจากนั้นรัฐบาลเวียดนามใต้ประกาศยึดทรัพย์สินของพระราชวงศ์ ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ของนาม เฟืองก่อนการอภิเษกสมรส[15] รวมถึงวิลลาของดุ๊กแห่งล็องมี พระราชชนก ที่ด่าหลัต ปัจจุบันแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เลิมด่ง[16][17]

สวรรคต[แก้]

จักรพรรดินีนาม เฟืองสวรรคตเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จากพระอาการพระหทัยวาย ที่โดแมน-เดอ-ลา-แปร์ช (Domaine de La Perche) ที่ประทับใกล้ชาร์บีญัก จังหวัดกอแรซ ประเทศฝรั่งเศส[18] พระศพถูกบรรจุไว้ในป่าช้าท้องถิ่น[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Annam Ruler to Wed Commoner March 20; Daughter of Wealthy Cochin-China Family Will Be Bride of Europeanized Emperor", The New York Times, 9 March 1934, page 21
  2. Commoner is Wed to Annam's Ruler", The New York Times, 20 March 1934
  3. 3.0 3.1 "Annam Ruler Proclaims His Bride-to-Be Is Worthy", The New York Times, 10 March 1934
  4. 4.0 4.1 4.2 "lephattan". chimviet.free.fr.
  5. R.B. Smith, "The Vietnamese Elite of French Cochinchina, 1943", Modern Asian Studies, Vol. 6, No. 4 (1972), pp. 459-482.
  6. "Wedding and Thanks", Time, 2 April 1934.
  7. [1]
  8. "Will Renounce Faith to Wed an Emperor", The New York Times, 18 March 1934
  9. "Commoner is Wed to Annam's Ruler", The New York Times, 21 March 1934.
  10. "Annamite Girl Asks Pope for Right to Wed Emperor", The New York Times, 12 March 2004 (reprint of article dated 12 March 1934)
  11. "Wedding and Thanks เก็บถาวร 2010-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Time, 2 April 1934.
  12. "Annam Greets Emperor's Catholic Bride", The New York Times, 20 March 1934
  13. The Crown Prince reportedly was baptized in the Catholic faith four months after his birth, without his father's permission. "Heir to Annam's Throne Reported to be Baptized", The New York Times, 31 May 1936
  14. Leonard, Seth B. (2021-01-22). "Eurohistory: The Passing of a Vietnamese Princess and Italian Duchess". Eurohistory.
  15. "Bao Dai Loses Property", The New York Times, 18 December 1957
  16. "Website Du lịch - Thương mại - Đầu tư Tỉnh Lâm Đồng". 11 October 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2006.
  17. "Webshots - Wallpaper / Screen Savers". webshots.com.
  18. "Nam Phuong, Wife of Ex-Annam Ruler", The New York Times, 17 September 1963
  19. Official Chabrignac Website เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า จักรพรรดินีนาม เฟือง ถัดไป
ตำแหน่งใหม่ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งเวียดนามใต้
มาดามญู