จอร์จ สตินนีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอร์จ สตินนีย์
ภาพถ่ายคนร้าย จอร์จ สตินนีย์ใน ค.ศ. 1944
เกิดจอร์จ จูเนียส สตินนีย์ จูเนียร์
21 ตุลาคม ค.ศ. 1929(1929-10-21)
ไพน์วูด รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐ
เสียชีวิต16 มิถุนายน ค.ศ. 1944(1944-06-16) (14 ปี)
โคลัมเบีย รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐ
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการช็อตไฟฟ้า
สุสานCalvary Baptist Church Cemetery, แพกซ์วิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐ
สถานะทางคดี

พ้นโทษแล้ว
(16 ธันวาคม ค.ศ. 2014)

พิพากษาลงโทษฐานฆาตกรรม (พ้นโทษหลังเสียชีวิต)
บทลงโทษประหารชีวิต
วันที่ถูกจับ
มีนาคม ค.ศ. 1944

จอร์จ จูเนียส สตินนีย์ จูเนียร์ (อังกฤษ: George Junius Stinney Jr.; 21 ตุลาคม ค.ศ. 1929 – 16 มิถุนายน ค.ศ. 1944) เป็นเด็กชายผิวดำในสหรัฐซึ่งถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าเมื่อ ค.ศ. 1944 หลังถูกพิพากษาอย่างรวบรัดว่า มีความผิดฐานสังหารเด็กผู้หญิงสองคน ต่อมาใน ค.ศ. 2014 มีการกลับคำพิพากษาดังกล่าว เพราะกระบวนพิจารณาในสมัยนั้นไม่เป็นธรรม[1]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 เด็กชายสตินนีย์วัย 14 ปีถูกจับกุมด้วยต้องสงสัยว่า ฆ่าเด็กหญิงสองคนตายในแอลโคลู เซาท์แคโรไลนา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา การพิจารณาคดีมีขึ้นเพียงวันเดียว และคณะลูกขุนซึ่งเป็นคนผิวขาวทั้งหมดใช้เวลา 10 นาทีประชุมปรึกษากันก่อนลงมติว่า เขามีความผิดจริง[2] เขาถูกประหารในเดือนมิถุนายน ปีนั้น นับเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งที่ถูกประหารในสหรัฐ[3]

พยานหลักฐานชิ้นเดียวในคดี คือ ข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ที่ว่า สตินนีย์รับสารภาพหลังถูกจับกุม แต่ก็ไม่เคยมีบันทึกคำรับสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ไม่มีการบันทึกกระบวนพิจารณาของศาลเอาไว้ และไม่มีการอุทธรณ์[4]

ในช่วงหลายสิบปีหลังสตินนีย์ถูกประหาร มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการวินิจฉัยความผิดของเขา การมีอยู่ของคำรับสารภาพตามที่เจ้าหน้าที่อ้างถึง และกระบวนการยุติธรรมที่ชวนตั้งคำถาม[5] มีทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งสืบสวนคดีของเขาจนนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีขึ้นใน ค.ศ. 2013 กระทั่งเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 ศาลเคลื่อนที่ (circuit court) ก็กลับคำพิพากษาเดิมที่ให้เขามีความผิดและต้องโทษประหารชีวิต โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่มีทนายความที่มีประสิทธิภาพ และถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6)[1][6] ศาลกล่าวด้วยว่า การประหารเด็กอายุ 14 ปีเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและผิดธรรมดาซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8)[7]

ความเป็นมาของคดี[แก้]

ใน ค.ศ. 1944 เด็กชายสตินนีย์ วัย 14 ปี อาศัยอยู่ ณ แอลโคลู ในเซาท์แคโรไลนา สหรัฐ พร้อมกับบิดา คือ จอร์จ สตินนีย์ ซีเนียร์ (George Stinney Sr.), มารดา คือ ไอมี (Aime), พี่ชาย คือ จอห์น (John) อายุ 17 ปี, น้องชาย คือ ชาลส์ (Charles) อายุ 12 ปี, และน้องสาวสองคน คือ แคเทอริน (Katherine) อายุ 10 ปี กับไอมี (Aime) อายุ 7 ปี บิดาของเขาทำงานที่โรงเลื่อยประจำเมือง และครอบครัวของเขาพำนักอยู่ ณ อาคารที่นายจ้างของเขาจัดหาให้ ในเมืองนั้นคนผิวขาวและคนผิวดำแยกอยู่กัน ต่างฝ่ายแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ชุมชนของทั้งสองกลุ่มมีรางรถไฟคั่นกลาง[4]

วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1944 เด็กหญิงผิวขาวสองคน คือ เบตตี จูน บินนิกเกอร์ (Betty June Binnicker) อายุ 11 ปี และแมรี เอมมา เทมส์ (Mary Emma Thames) อายุ 7 ปี[8][9] ถูกพบเป็นศพกลางโคลนตมในคูน้ำของชุมชนฝั่งคนผิวดำ ทั้งสองมีการบาดเจ็บจากการกระทบกระแทก (blunt trauma) ที่ใบหน้าและศีรษะ กะโหลกศีรษะมีรอยแตก[10] ทั้งนี้ เพราะถูกตีด้วยสิ่งเทียมอาวุธ (improvised weapon) ซึ่งบ้างก็รายงานว่า เป็นโลหะทื่อ บ้างก็ว่า เป็นซี่รางรถไฟ[2] รายงานการชันสูตรระบุว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ "ของทื่อ หัวมน ขนาดประมาณค้อน" (blunt instrument with a round head, about the size of a hammer) และทั้งสองคนไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เยื่อพรหมจารียังอยู่ดี แต่อวัยวะเพศของเด็กหญิงเบตตีมีรอยฟกช้ำเล็กน้อย[11][12]

ก่อนหน้านี้ วันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1944 มีผู้เห็นเด็กหญิงทั้งสองขี่จักรยานออกไปชมดอกไม้ด้วยกัน เมื่อผ่านที่อยู่ของสตินนีย์ ทั้งสองแวะถามสตินนีย์ และไอมี น้องสาว[4] ว่า รู้จักดอกเมย์พ็อป (maypop) ไหม มีที่ใดบ้าง[9] ครั้นเวลาผ่านไป เด็กหญิงทั้งสองไม่กลับบ้าน จึงมีการตั้งคณะค้นหา ซึ่งจอร์จ สตินนีย์ ซีเนียร์ บิดาของสตินนีย์ ก็เข้าร่วมด้วย จนมาพบศพทั้งสองในวันที่ 23[5]

ครั้นวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1944 ข่าวที่รายงานด้วยเสียงตามสายระบุว่า นายอำเภอ (sheriff) แถลงว่า สตินนีย์เป็นผู้ต้องสงสัยและถูกจับกุมเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังว่า เขารับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่และพาไปเอา "แท่งเหล็กที่ซุกซ่อนไว้" (hidden piece of iron) ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้ก่อเหตุด้วย[8][9]

การสืบสวน[แก้]

สตินนีย์ถูกจับพร้อมด้วยพี่ชาย คือ จอห์น แต่จอห์นได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง เมื่อสตินนีย์ถูกจับแล้ว บิดาของเขาถูกไล่ออกจากโรงเลื่อย ครอบครัวของเขาต้องระเห็จออกจากบ้านพักของนายจ้าง และไม่ได้พบเขาอีกเลยจนกระทั่งขึ้นเสร็จการพิจารณาคดี[4] เขาถูกนำตัวไปขังไว้ในคุกที่โคลัมเบียซึ่งห่างจากเมืองที่เกิดเหตุไป 50 ไมล์ เพราะเกรงว่า ถ้าขังไว้ในพื้นที่แล้วจะถูกรุมประชาทัณฑ์[2]

แถลงการณ์ที่เขียนด้วยมือระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม คือ เอช.เอส. นิวแมน (H.S. Newman) รองผู้ว่าการเทศมณฑลแคเรนดอน (Clarendon County deputy) นิวแมนกล่าวว่า "ผมจับเด็กชายนาม จอร์จ สตินนีย์ เขารับสารภาพแล้วบอกผมว่า แท่งเหล็กยาวราว 15 นิ้วนั้นไปเอาได้ที่ไหน เขาว่า เขายัดไว้ในคูที่อยู่ห่างจากจักรยาน [ของผู้ตาย] ไปราวหกฟุต" (I arrested a boy by the name of George Stinney. He then made a confession and told me where to find a piece of iron about 15 inches were [sic] he said he put it in a ditch about six feet from the bicycle.) แต่ไม่ปรากฏบันทึกคำรับสารภาพที่สตินนีย์ลงชื่อไว้แต่ประการใด[4][11]

ครูชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่โรงเรียนของสตินนีย์อ้างว่า สตินนีย์มีประวัติทะเลาะวิวาทที่โรงเรียน ครั้งหนึ่ง เขาใช้มีดทำเด็กหญิงคนหนึ่งเป็นแผลถลอก แต่ไอมี น้องสาวของเขา โต้แย้งว่า ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ หญิงผิวขาวคนหนึ่งในท้องที่นั้นอ้างว่า สตินนีย์เคยข่มขู่จะฆ่าตนและเพื่อนก่อนจะเกิดเหตุฆาตกรรมรายนี้ และยังว่า สตินนีย์นั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่า เป็นอันธพาล[4][13]

การพิจารณาคดี[แก้]

กระบวนพิจารณาทั้งหมด ซึ่งรวมถึง การเลือกลูกขุน ใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน ลูกขุนที่ได้รับเลือกเป็นคนผิวขาวทั้งหมด ระหว่างพิจารณา คนผิวขาวกว่า 1,000 คนออกันอยู่ในห้องพิจารณา แต่คนผิวดำไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาแม้แต่คนเดียว[5]

ศาลตั้งชาลส์ พลาวเดน (Charles Plowden) นักการเมืองซึ่งกำลังหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ เป็นทนายความฝ่ายจำเลย พยานหลักฐานชิ้นเดียวในคดี คือ คำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจสามนายที่ระบุว่า สตินนีย์รับสารภาพเรียบร้อยแล้ว และพลาวเดนไม่คัดค้านการใช้พยานหลักฐานนี้เอาผิดสตินนีย์ อนึ่ง พลาวเดนยังไม่คัดค้านที่โจทก์นำเสนอข้อความสองฉบับที่อ้างว่า มาจากคำให้การด้วยวาจาของสตินนีย์ แม้ข้อความทั้งสองจะแย้งกันเอง โดยฉบับหนึ่งว่า เขารับว่า เด็กหญิงหนึ่งในสองคนนั้นตกหล่ม เขาเข้าไปช่วย แต่เด็กหญิงทั้งสองทำร้ายเขา เขาจึงกระทำตอบโต้เป็นเชิงป้องกันตัว ส่วนอีกฉบับว่า เขารับว่า เขาสะกดรอยตามเด็กหญิงทั้งสองไป แล้วฆ่าแมรีเป็นคนแรก ตามด้วยเบตตีเป็นคนที่สอง นอกเหนือไปจากนี้แล้วก็ไม่มีวัตถุพยานที่เชื่อมโยงเขาเข้ากับเหตุการณ์อีก[4]

ฝ่ายโจทก์นำเสนอพยานบุคคลเพิ่มเติมสามปาก คือ หลวงพ่อฟรานซิส แบตสัน (Reverend Francis Batson) ผู้พบศพเด็กหญิง และแพทย์สองคนซึ่งชันสูตรศพเด็กหญิง ศาลอนุญาตให้ถกกันเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการข่มขืนกระทำชำเรา แม้ว่ารายงานการชันสูตรศพระบุชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่มีพยานหลักฐานรับรอง ส่วนทนายความฝ่ายจำเลยกลับไม่นำเสนอพยานบุคคลสักปาก ไม่ถามค้านพยานโจทก์ และแทบจะไม่ต่อสู้การนำสืบของโจทก์เลย การไต่สวนใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง[4] คณะลูกขุนใช้เวลาอีก 10 นาทีประชุมกันแล้วลงมติว่า สตินนีย์มีความผิดตามฟ้อง ตุลาการจึงพิพากษาให้ประหารชีวิตเขาด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า ไม่มีการบันทึกกระบวนพิจารณา และทนายความฝ่ายจำเลยไม่อุทธรณ์[5]

ครอบครัวสตินนีย์ขอให้โอลิน ดี. จอห์นสตัน (Olin D. Johnston) ผู้ว่าการเซาท์แคโรไลนา อภัยโทษสตินนีย์ เพราะอายุยังน้อย แต่คนอื่น ๆ เสนอให้ดำเนินการตามคำพิพากษา ซึ่งจอห์นสตันปฏิบัติตาม[10] จอห์นสตันกล่าวแก่ผู้ขออภัยโทษให้สตินนีย์ว่า "คุณอาจสนใจที่จะรู้ว่า สตินนีย์ฆ่าเด็กหญิงคนน้องเพื่อข่มขืนคนพี่ จากนั้นก็ฆ่าคนพี่แล้วข่มขืนศพเธอ 20 นาทีต่อมา เขาหวนกลับมาแล้วพยายามข่มขืนเธออีก แต่ศพแข็งทื่อไปแล้ว เรื่องทั้งหมดนี้เขายอมรับเอง" (It may be interesting for you to know that Stinney killed the smaller girl to rape the larger one. Then he killed the larger girl and raped her dead body. Twenty minutes later he returned and attempted to rape her again, but her body was too cold. All of this he admitted himself.) แต่การกล่าวอ้างดังกล่าวขัดกับรายงานการชันสูตร[4]

ตั้งแต่สตินนีย์ถูกจับไปจนถึงถูกประหาร เขาได้รับอนุญาตให้พบหน้าบิดามารดาเพียงครั้งเดียว คือ ที่เรือนจำโคลัมเบียหลังการพิจารณาสิ้นสุดลงแล้ว[4]

การประหารชีวิต[แก้]

วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1944 เวลา 19:30 นาฬิกา สตินนีย์ถูกประหารที่เรือนจำเซาท์แคโรไลนา (South Carolina Penitentiary)[10]

เนื่องจากเขาสูงเพียง 155 เซนติเมตร และหนักเพียง 40 กิโลกรัมเศษ[14] ซึ่งนับว่าตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับนักโทษผู้ใหญ่โดยทั่วไป เจ้าพนักงานจึงผูกเขาติดกับเก้าอี้ประหารอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ หน้ากากประหารที่ทำไว้สำหรับผู้ใหญ่ก็หลวมเกินไปสำหรับเขา เมื่อเขาถูกไฟฟ้า 2,400 โวลต์ช็อตเป็นรอบแรก หน้ากากจึงร่วงตกลงมา[15] สี่นาทีหลังจากการปล่อยกระแสไฟฟ้ารอบแรก เจ้าพนักงานก็แถลงว่า เขาเสียชีวิตแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุฆาตกรรมจนถึงประหารเขานับเป็นเวลาได้ 83 วัน[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Turnage, Jeremy (December 17, 2014). "George Stinney, 14-year-old convicted of '44 murder, exonerated". WIS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 3, 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 Bever, Lindsey (December 18, 2014). "It took 10 minutes to convict 14-year-old George Stinney Jr. It took 70 years after his execution to exonerate him". Washington Post.
  3. Banner, Stuart (March 5, 2005). "When Killing a Juvenile Was Routine". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2016.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 McVeigh, Karen (March 22, 2014). "George Stinney was executed at 14. Can his family now clear his name?". The Observer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 19, 2016.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Collins, Jeffrey (January 18, 2010). "SC crusaders look to right Jim Crow justice wrongs". Spartanburg Herald-Journal. AP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 29, 2016.
  6. McCloud, Harriet (December 17, 2014). "South Carolina judge tosses conviction of black teen executed in 1944". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2015.
  7. Barbato, Lauren (December 17, 2014). "The Youngest Person Executed In America, George Stinney Jr., Almost Certainly Wasn't Guilty". Bustle.com.
  8. 8.0 8.1 "State Prison Protects Negro after Slaying". St. Petersburg Times. INS. March 25, 1944. สืบค้นเมื่อ October 18, 2015.
  9. 9.0 9.1 9.2 "Youth Admits Killing Girls". The Milwaukee Journal. AP. March 25, 1944. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-21. สืบค้นเมื่อ October 18, 2015.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Jones, Mark R. (2007). "Chapter Five: Too Young to Die: The Execution of George Stinney Jr. (1944)". South Carolina Killers: Crimes of Passion. The History Press. pp. 38–42. ISBN 978-1-59629-395-3. สืบค้นเมื่อ November 24, 2014.
  11. 11.0 11.1 McLaughlin, Eliot C. (January 23, 2014). "New trial sought for George Stinney, executed at 14". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 10, 2016.
  12. Walker, Tim (January 22, 2014). "George Stinney: After 70 years, justice in sight for boy America sent to electric chair". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 5, 2016.
  13. Behre, Robert (January 17, 2014). "Family, friends of 1944 murder victim wary of reopening George Stinney's death penalty case". The Post and Courier. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 3, 2016.
  14. แม่แบบ:Cite serial
  15. James, Joy (2000). States of Confinement: Policing, Detention and Prisons. Palgrave Macmillan. ISBN 0-312-21777-3.

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]