คลองดำเนินสะดวก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองดำเนินสะดวก

คลองดำเนินสะดวก เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน โดยในสมัยโบราณการคมนาคมขนส่งทั่วไป จะใช้ทางบก ใช้สัตว์หรือเกวียน ท้องที่อำเภอดำเนินสะดวกในสมัยก่อนเป็นที่ไร่ เรียกกันว่าโคกไผ่ (ตำบลดอนไผ่ในปัจจุบัน) ไม่มีคลองมากมายเหมือนเช่นในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

จุดเริ่มต้นของคลองดำเนินสะดวกเริ่มขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เห็นว่าการคมนาคมที่ไปมาระหว่างพระนครกับสมุทรสาครมีคลองภาษีเจริญที่ทำการสัญจรไปมาได้สะดวก แต่ถ้ามีคลองระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม และราชบุรีก็จะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก[1] โดยอาศัยแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนเป็นสื่อกลางในการขุดคลองเชื่อม

ในปีขาล อัฐศก จ.ศ.1228 ร.ศ.85 ตรงกับปี พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง[1] ที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนเริ่มจากปากคลองบางยาง ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร กับแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม[2] โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้ควบคุมดูแล และใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันขุด โดยใช้กำลังของคนล้วนๆ ใช้วิธีขุดระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ระยะหนึ่ง ให้น้ำเซาะดินที่ไม่ได้ขุดพังไปเอง เมื่อขุดคลองสำเร็จแล้ว จึงนำแผนขึ้นทูลเกล้า ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “ คลองดำเนินสะดวก ” และได้ทำพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ จ.ศ.1230 ร.ศ.87 ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 [3]

หลังจากนั้นมา ตลิ่งก็ถูกน้ำกัดเซาะ ซึ่งเป็นผลจากคลื่นเรือประเภทต่างๆ ทำให้คลองขยายกว้างเป็น 10 วาถึง 20 วา[1] ด้วยขนาดและความยาวของคลอง ประกอบกับเป็นคลองตัดตรงไปยังหลายพื้นที่ ทำให้มีเจ้านายผู้ใหญ่และชาวบ้านมากมายมาจับจองที่ดินซึ่งรกร้าง พร้อมขุดคลองซอยแยกเข้าสู่พื้นที่ของตน พื้นที่รกร้างเหล่านั้นจึงกลายเป็นเรือกสวนไร่นาในเวลาต่อมา

งบประมาณในการขุดคลองดำเนินสะดวก[แก้]

งบประมาณในการขุดคลองดำเนินสะดวก ใช้งบประมาณ 1,400 ชั่ง เป็นเงิน 112,000 บาท โดยเป็นทรัพย์สินของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 400 ชั่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จำนวน 1,000 ชั่ง [4] และเนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ รัชกาลที่ 4 จึงทรงอนุญาตให้ท่านและคนในสายสกุลบุนนาคเข้าจับจองที่ดิน 2 ฝั่งคลอง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ยังได้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งเป็นอนุสรณ์ชื่อว่า วัดปราสาทสิทธิ์ธิดาราม หรือวัดปราสาทสิทธิ์ กับปราสาทหลังเล็กๆริมคลอง [1]วัดนี้ถือเป็นวัดแรกริมฝั่งคลองดำเนินสะดวก ปัจจุบันตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางความยาวของคลอง ในเขตตำบลปราสาทสิทธิ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

การคมนาคมขนส่ง[แก้]

หลังจากที่เปิดใช้คลองดำเนินสะดวกแล้ว คลองก็เต็มไปด้วยเรือนานาชนิดที่สัญจรไปมาไม่เว้นแม้แต่เวลากลางคืน ปี พ.ศ. 2472 กรมชลประทานได้ก่อสร้างประตูน้ำบางยาง ในอ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และประตูน้ำบางนกแขวก ในอ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม[5] จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2กองทัพญี่ปุ่นใช้คลองดำเนินสะดวกลำเลียงขนส่งอาหารและอาวุธต่างๆไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายประตูน้ำทั้งสอง เพื่อตัดเส้นทางของญี่ปุ่นลง หลังสงครามสิ้นสุด กรมชลประทานได้ซ่อมแซมประตูน้ำทั้งสองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2489 และได้พบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่บริเวณก้นคลอง จำนวน 3 ลูก และขณะนำดินระเบิดออกจากลูกระเบิดได้เกิดระเบิดขึ้น 1 ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน[6] ประตูน้ำ ทั้ง 2 แห่งกว้าง 6 เมตร สูง 5 เมตร สร้างขึ้นเป็นทางปล่อยเรือเข้าออกคลองซึ่งมีมากมายในสมัยก่อน และยังสามารถกั้นน้ำเค็มที่จะทำลายผลผลิตของชาวบ้านได้อีกด้วย

นับแต่นั้นมาคลองดำเนินสะดวกเป็นเส้นทางหลักที่สำคัญที่สุดของชาวบ้าน มีคลองซอย มากกว่า 200 สาย[7] ลำคลองต่างๆแทบจะไม่เคยว่างเว้นจากเรือที่สัญจรไปมาอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งระยะหลังมีการตัดถนนใหม่ๆ มากมาย ย่นระยะทางให้สั้นลงและเข้าถึงทุกที่ ชาวบ้านจึงหันมาใช้ถนนแทน

ความยาวและหลักเขต[แก้]

แต่เดิมในบริเวณนี้มีคลองบางยางเป็นคลองธรรมชาติแยกจากแม่น้ำท่าจีน มีความยาว 3.8 กิโลเมตร เมื่อเริ่มขุดคลองดำเนินสะดวกจึงขุดต่อจากต้นคลองบางยางไปออกแม่น้ำแม่กลอง มีประตูน้ำกั้นคลองบางยางกับคลองขุดใหม่ ถ้านับตามนี้จะมีความยาว 840 เส้น (32กิโลเมตร) แต่ถ้าหากเริ่มนับตั้งแต่แม่น้ำท่าจีนจะมีความยาว 895 เส้น (35.8 กิโลเมตร)

ตลอดความยาวของคลองจะมีเสาหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 10 x 10 นิ้ว ปักไว้ที่พื้นดิน ทุก ๆ 100 เส้น ปักไว้ 1 ต้น ทางฝั่งใต้ของคลอง เริ่มจากตำบลสวนส้ม เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง แต่ละหลัก จะเขียนเลขไทย โรมัน จีน เป็นสีแดงบอกเลขไว้ทุกหลัก อยู่ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว 5 หลัก หลักที่ 5 ถึงหลักที่ 7 อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และหลักสุดท้าย หลักที่ 8 อยู่ในเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม[8] หลักคลองมีไว้เพื่อบอกที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้คนริมคลอง คลองดำเนินสะดวกมีทั้งหมด 9 หลัก ยังคงปรากฏให้เห็นครบทั้งหมดถึงปัจจุบัน [9] ดังนี้

  • หลักที่ 0 ตั้งอยู่เลยประตูน้ำบางยางออกไป 55 เส้น สลักเป็นเลขไทยเท่านั้น ระยะทางในช่วงนี้มักจะเรียกกันว่าปากคลองบางยาง
  • หลักที่ 1 อยู่ในเขตคลองบางยางเดิม จุดเริ่มต้นจากประตูน้ำบางยาง นับเป็นระยะทางได้ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) มีเสาหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 8x8 นิ้ว ปักไว้ที่พื้นดินริมคลองดำเนินสะดวก สูงจากพื้นดินขึ้นไป 1 วา สลักเลข 1 เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกให้ทราบ จากประตูน้ำบางยางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นคลองดำเนินสะดวกที่อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน จนถึงเสาหินเลขที่ 1 เรียกว่าหลักหนึ่ง อยู่ในเขตตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยทั่วไปมักเรียกว่า คลองบางยาง
  • หลักที่ 2 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 1 ไปอีก 100 เส้น (4 กิโลเมตร) มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 2 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก เรียกว่าหลักสอง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
  • หลักที่ 3 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 2 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 3 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 2 ถึงเสาหินเลข 3 เรียกว่าหลักสาม ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างร้านอาหารศรีสุวรรณ กับ ธนาคารกรุงเทพ สาขาหลักสาม [10] อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
  • หลักที่ 4 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 3 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 4 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก บบริเวณข้างวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 3 ถึงเสาหินเลข 4 เรียกว่าหลักสี่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนมากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมักเรียกชุมชนตนเองตามหมายเลขเสาหิน เช่น ชาวหลักสี่ ชื่อโรงเรียนหรือวัด ก็มักจะเรียกตามไปด้วย เช่น โรงเรียนหลักสี่ราษฎร์สโมสร หรือวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร [11] ซึ่งมีหลวงพ่อโตที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
วัดปราสาทสิทธิ์
  • หลักที่ 5 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 4 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 5 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 4 ถึงเสาหินเลข 5 เรียกว่าหลักห้า ซึ่งอยู่ในเขตระหว่างอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร กับตำบลปราสาทสิทธิ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมักเรียกตนเองว่า ชาวหลักห้า และมักเรียกชื่อโรงเรียนหรือวัด ตามหลักเขตดังกล่าวไปด้วย เช่น วัดหลักห้า หรือวัดปราสาทสิทธิ์นั่นเอง ซึ่งมีองค์หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ซึ่งประชาชนทั่วไป ชาวไทย ชาวลาว และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในชุมชนและใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก จะมีการแห่องค์หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ทางเรือ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนในคลองดำเนินสะดวกได้สักการบูชาเป็นประจำทุกปี
  • หลักที่ 6 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 5 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 6 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก บริเวณตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 5 ถึงเสาหินเลข 6 เรียกว่าหลักหก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
  • หลักที่ 7 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 6 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 7 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก บริเวณตำบลศรีสุราษฎร์ พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 6 ถึงเสาหินเลข 7 เรียกว่าหลักเจ็ด ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
  • หลักที่ 8 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 7 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 8 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ปลายคลองดำเนินสะดวก พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 7 ถึงเสาหินเลข 8 เรียกว่าหลักแปด ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี กับอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

จากเสาหินหมายเลข 8 มีระยะทางของคลองดำเนินสะดวกอีกประมาณ 40 เส้น จึงจะถึงประตูน้ำบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านมักเรียกว่าคลองบางนกแขวก [1]

ตลาดน้ำในคลองดำเนินสะดวก[แก้]

ในสมัยโบราณตลาดน้ำจะมีเพียงไม่กี่ครั้งใน 1 เดือน ตามระดับน้ำที่ขึ้นลงตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีตลาดน้ำมากมายหลายแห่งในละแวกเดียวกัน โดยมากจะมีติดๆ กัน เรียกว่า นัด ดังนั้นคลองดำเนินสะดวกจึงเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำหลายแห่ง ตลาดน้ำที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกคือ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ปากคลองลัดพลี เป็นคลองที่ลัดเข้าตัวจังหวัดราชบุรีได้โดยไม่ต้องผ่านประตูน้ำ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า นัดศาลาห้าห้อง นัดศาลาแดง หรือนัดหลักแปด เพราะเดิมสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ให้ปลูกศาลาเป็นไม้มี 5 ห้อง หลังคามุงกระเบื้องสีแดงเป็นที่พักคนงาน[12] ต่อมากลายเป็นตลาดสำคัญคู่กับนัดปากคลองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง (นัดปากคลองมีวัน 1 6 และ 11 ค่ำ นัดดำเนินสะดวกมีวัน 2 7 และ 12 ค่ำ) นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังได้เสด็จประพาสต้นตลาดน้ำแห่งนี้อีกด้วย [13] ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ตลาดน้ำขยายพื้นที่กินบริเวณตั้งแต่ปากคลองลัดพลี ไปตามคลองดำเนินสะดวกยาวหลายกิโลเมตร ในสมัยนั้นตลาดน้ำดำเนินสะดวก มีอยู่ 3 จุด คือ ที่ปากคลองลัดพลี ปากคลองโพธิ์หัก หรือคลองบัวงาม และที่ปากคลองศรีสุราษฎร์ [14] และยังทำให้เกิดตลาดน้ำใหม่สร้างเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างคลองต้นเข็ม หลังจากนั้นมาตลาดน้ำที่มีมาแต่เดิมก็ถูกลดความสำคัญลงไป เหลือเพียงตลาดน้ำเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น ตลาดน้ำคลองลัดพลีในปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่[15] อยู่ตรงข้ามกับตลาดน้ำคลองต้นเข็ม ซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก ตลาดน้ำที่สำคัญในคลองดำเนินสะดวกได้แก่

ลำคลองสาขา[แก้]

สถานที่สำคัญริมคลองดำเนินสะดวก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประวัติคลองดำเนินสะดวก.พระครูสิริวรรณวิวัฒน์.กรุงเทพมหานคร:รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์,2544
  2. "ประวัติอำเภอต่างๆ ใน จ.ราชบุรี"ราชบุรีศึกษา วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  3. "การเปิดคลองดำเนินสะดวก"เว็บไซต์วัดปราสาทสิทธิ์ วันที่ 19 สิงหาคม 2553
  4. "ประวัติคลองดำเนินสะดวก ข้อมูลจาก www.damnoensaduak.com"สถานีตำรวจภูธรดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
  5. "ประวัติโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก" เก็บถาวร 2018-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสำนักชลประทานที่31 กรมชลประทาน
  6. "ประวัติความเป็นมาของลูกระเบิด"[ลิงก์เสีย]อนุสรณ์สถานลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เทศบาลตำบลบางนกแขวก
  7. "สภาพทั่วไปอำเภอดำเนินสะดวก" เก็บถาวร 2009-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนโรงพยาบาลดำเนินสะดวก
  8. "เรื่องคลองดำเนินสะดวก"ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย...เหรียญทอง เรืองรอง โรงเรียนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง
  9. "ลักษณะคลองดำเนินสะดวก" เก็บถาวร 2012-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนโรงเจท่งเฮงตั๊ว คลองดำเนินสะดวก
  10. "ประวิติความเป็นมาองค์การบริหารส่วนตำบลหลักสาม" เก็บถาวร 2012-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสภาพทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
  11. "ประวัติวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสรและหลวงพ่อโต" เก็บถาวร 2012-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
  12. "ตลาดน้ำดำเนินสะดวก" เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเว็บไซต์จังหวัดราชบุรี
  13. "เสด็จประพาสต้น"ประวัติตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลี
  14. "ตลาดน้ำดำเนินสะดวก"คัดลอกมาจาก www.damnoensaduak.com วันเสาร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550
  15. "ตลาดน้ำแห่งแรกบนสายน้ำดำเนินสะดวก"[ลิงก์เสีย]โดย ป.จันทดิษฐ์