การพิมพ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การพิมพ์หนังสือในศตวรรษที่ 15

การพิมพ์ (อังกฤษ: printing; ฝรั่งเศส: imprimerie) คือการผลิตสำเนาข้อความและภาพลงบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่น กระดาษ ผ้า ตามความหมายในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 คือ การทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยอย่างใด ๆ โดยการกด หรือ การใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใดให้เกิดเป็นสื่อพิมพ์ขึ้นหลายสำเนา[1] จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่บนผนังถ้ำลาสควักซ์ ในฝรั่งเศส และถ้ำอัลตามิรา ในสเปน นอกจากปรากฏผลงานด้านจิตรกรรมที่มีคุณค่าด้านความงามของมนุษยชาติ ในช่วงประมาณ 17,000-12,000 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังปรากฏผลงานแกะสลักหิน แกะสลักผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ลายเส้นซึ่งการแกะสลักภาพลายเส้นบนผนังถ้ำนั้น อาจนับได้ว่าเป็นพยานหลักฐานในการแกะแบบพิมพ์ของมนุษย์เป็นครั้งแรกก็ได้

เท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน รูปแบบการพิมพ์บนกระดาษเริ่มแรกสุด คือ การพิมพ์บล็อกไม้ (woodblock printing) โดยเริ่มขึ้นในประเทศจีนราวปี ค.ศ. 220[2] จีนเป็นชาติแรกที่พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยตัวเรียง (movable type) ขึ้นใช้ โดยมี ปี่ เฉิง เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1040[3] และแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออก ต่อมาในศตวรรษที่ 15 โยฮันเนส กูเต็นเบิร์ก สามารถประดิษฐ์เทคโนโลยีแท่นพิมพ์ (printing press) ที่ใช้กับตัวเรียงพิมพ์โลหะได้สำเร็จ เทคโนโลยีแท่นพิมพ์ของกูเต็นเบิร์กนับเป็นการปฏิวัติทางความรู้ที่สำคัญที่สุดในสหัสวรรษที่สองของคริสต์ศักราช การพิมพ์ทำให้หนังสือผลิตได้จำนวนมากขึ้นและราคาถูกลง เมื่อเทียบกับหนังสือต้นฉบับบตัวเขียน (manuscript) ที่ต้องใช้เวลาและความอดทนของเสมียนหรืออาลักษณ์ ในการผลิดขึ้นมาแต่ละเล่ม เทคโนโลยีการพิมพ์มีบทบาทสำคัญในการนำสังคมตะวันตกเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการปูความพร้อมทางวัตถุให้กับเศรษฐกิจฐานความรู้ในยุคสมัยใหม่ โดยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแพร่กระจายความรู้สู่สาธารณะ[4]

ประวัติศาสตร์การพิมพ์[แก้]

การพิมพ์บล็อกไม้[แก้]

เทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยตัวเรียง[แก้]

แผ่นพิมพ์ทองแดง (ราว ค.ศ. 1215–1216) ของธนบัตรโดยใช้ตัวเรียงพิมพ์ทองเหลือง 10 ตัว

การพิมพ์ด้วยตัวเรียง (movable type) เป็นระบบการพิมพ์ และการเรียงพิมพ์ ที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์โลหะแบบถอดได้ ทำจากแท่งโลหะที่หล่อขึ้นจากแม่พิมพ์ (matrix) แล้วตีตัวอักษรลงไป การพิมพ์ด้วยตัวเรียงทำให้การจัดทำหนังสือมีความยืดหยุ่นมากกว่าการคัดลอกด้วยมือ หรือการพิมพ์แบบบล็อกไม้

ราว ค.ศ. 1040 แม่พิมพ์ตัวเรียงได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน โดยระยะแรกตัวพิมพ์ถูกทำขึ้นจากดินเหนียวประเภทเดียวกันที่ใช้ทำเครื่องเคลือบ ซึ่งมีข้อเสียที่แตกหักได้ง่าย ต่อมาในปี 1298 ได้เปลี่ยนมาใช้ตัวพิพม์ที่แกะจากไม้ ซึ่งมีความคงทนกว่า และมีการคิดประดิษฐ์ระบบเรียงพิมพ์ที่ซับซ้อนโดยใช้โต๊ะกลมแบบหมุนได้ เพื่อทำให้การเรียงตัวอักษรจีนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดของอักษรจีนที่มีอักษรจำนวนมากทำให้การพิมพ์แบบนี้ก็ยังมีราคาแพง และไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปใช้วัสดุแบบอื่นนอกเหนือจากไม้ได้ [5]

กล่องใส่ตัวพิพม์โลหะ และวัตถุเรียงพิมพ์ในแท่งประสมอักษร

การวิวัฒนาการของการพิมพ์ในยุโรปเกิดขึ้นจากเงื่อนไขสองประการ ประการแรกคือการเลิกใช้ม้วนหนังสือ (scroll) และการเข้าแทนที่ของสมุดหนังสือ หรือ โคเด็กซ์ (codex) ในฐานะรูปแบบมาตรฐานของการผลิตหนังสือ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 และที่ 4 เหตุการณ์สำคัญอย่างที่สอง คือ การเปลี่ยนจากการใช้แผ่นหนังสัตว์ (parchment) มาใช้กระดาษแทน ซึ่งทำให้หนังสือมีนำหนักเบาลงมีความยืดหยุ่น สามารถจุจำนวนหน้าได้มากขึ้น และมีราคาถูกลง โดยศิลปะและเทคโนโลยีการผลิตกระดาษได้แพร่จากโลกมุสลิมเข้ามาสู่ยุโรปตั้งแต่กลาง ศตวรรษที่ 11 (ปี ค.ศ. 1056) โดยผ่านเข้ามาทางประเทศสเปน

ภาพแสดงการทำงานในร้านช่างฝีมือการพิมพ์ (atelier d'impression) ในศตวรรษที่ 16

แท่นพิมพ์ตัวเรียง[แก้]

เกาหลีใช้ประเภทโลหะมาตั้งแต่ราชวงศ์ Goryeo (ค.ศ.918~ค.ศ.1392)

"แบกุนฮวาซังชอร็อกบัลโจจิกจีซิมเชโยจอล(เรียกอย่างย่อๆว่าจิกจี)"เป็นพิมพ์จากโลหะเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ล่วงหน้าประมาณ 78 ปี ก่อนที่ไบเบิลของกูเต็นเบอร์ก(ค.ศ.1455)

ราวปี ค.ศ. 1450 โยฮันเนส กูเทนเบิร์ก พัฒนาแท่นพิมพ์ที่ใช้ระบบตัวเรียง (อังกฤษ: movable-type printing press) ขึ้นได้สำเร็จในเยอรมนี กูเทนเบิร์กพัฒนานวัตกรรมสำคัญขึ้นหลายอย่าง ได้แก่ การพัฒนาการหล่อแท่งพิมพ์ในแม่พิมพ์โลหะ การนำเอาเทคโนโลยีการกดเหล้าองุ่นมาใช้ การใช้หมึกพิพม์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันซึ่งมีความข้นกว่าหมึกอินเดียทำให้เหมาะที่จะใช้กับแท่นพิมพ์ และการสร้างกระดาษที่อ่อนนุ่มและมีความสามารถดูดซับหมึกได้มากขึ้น[6] กูเทนเบิร์กยังเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์ตัวพิมพ์จากโลหะผสมของตะกั่ว, ดีบุก, พลวง, ทองแดง และ บิสมัท อันเป็นองค์ประกอบที่ยังใช้กันจนทุกวันนี้[7] นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้การพิมพ์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และลดต้นทุนการผลิตหนังสือลงอย่างมาก นอกจากนี้ชิ้นส่วนตัวพิมพ์ที่เป็นโลหะก็มีความคงทน และชุดตัวอักษรมีความเป็นเอกภาพสูง ทำให้นำไปสู่การพัฒนาศิลปะการเรียงพิมพ์ และการประดิษฐ์ชุดแบบอักษร (font) ต่างๆออกมา

กูเทนเบิร์กเริ่มงานพัฒนาแท่นพิมพ์ตั้งแต่ราวปี 1436 โดยเข้าเป็นหุ้นส่วนกับ อันเดรส์ ดริทเซน (Andreas Dritzehen) ผู้มีประสบการณ์ในการเจียระไนอัญมณี และอันเดรส์ เฮลมานน์ ผู้เป็นเจ้าของโรงงานทำกระดาษ หนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์ของกูเทนเบิร์กเล่มแรกในยุโรป คือ ตำราไวยกรณ์ภาษาลาตินของโดนาตัสในปี ค.ศ. 1451 อย่างไรก็ดีจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ การปฏิวัติกูเทนเบิร์ก ได้แก่การพิมพ์คัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับภาษาลาติน ที่นิยมเรียกกันว่า กูเทนเบิร์กไบเบิ้ล หรือ "ไบเบิ้ล 42 บรรทัด" ในปี 1455

แท่นพิมพ์ของกูเทนเบิร์กแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังเมืองต่างๆในยุโรป ภายในปี ค.ศ. 1500 ก็มีร้านช่างพิมพ์กว่า 200 แห่งเกิดขึ้นภายในประเทศเยอรมนีเพียงแค่ประเทศเดียว นักประวัติศาสตร์ประมาณการว่า หนังสือราวยี่สิบล้านเล่มถูกพิมพ์ขึ้นในยุโรปเพียงแค่ในช่วง 50 ปีแรกของการคิดค้นแท่นพิมพ์ของกูเทนเบิร์ก ในขณะที่ประชากรของยุโรปขณะนั้นมีราว 1 ร้อยล้านคน การแพร่กระจายของเทคโนโลยีการพิมพ์ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูงจนทำให้หนังสือมีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ เพื่อตัดราคากัน ร้านทำหนังสือและช่างพิมพ์จึงต้องเสาะหาความคุ้มครองทางเศรษฐกิจจากรัฐ และในขณะเดียวรัฐก็มีแรงจูงใจที่จะควบคุมเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ ผ่านการควบคุมกิจกรรมการพิมพ์หนังสือ ทำให้มีการออกใบสิทธิบัตรการพิมพ์ (printing patent) หรือใบรับรองเอกสิทธิการพิมพ์ (printing privilege) ขึ้น และการคุ้มครองทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการพิมพ์นี้ก็พัฒนากลายเป็นกฎหมายลิขสิทธิในเวลาต่อมา

นวัตกรรมการพิมพ์ด้วยตัวเรียง และแท่นพิมพ์ของกูเทนเบิร์กทำให้ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางของการพิมพ์หนังสือของโลก และได้รับการยกย่องว่าเป็นการประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุดในรอบสหัสวรรษที่สอง[8]

ห้องจัดเรียงหน้ากระดาษ

ผลกระทบของการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตัวเรียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ความหมายและวิวัฒนาการของการพิมพ์
  2. Shelagh Vainker in Anne Farrer (ed), "Caves of the Thousand Buddhas", 1990, British Museum publications, ISBN 0-7141-1447-2
  3. "Great Chinese Inventions". Minnesota-china.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 3, 2010. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 29, 2010.
  4. Rees, Fran. Johannes Gutenberg: Inventor of the Printing Press
  5. Beckwith, Christopher I., Empires of the Silk Road: A History of Central Eurasia from the Bronze Age to the Present, Princeton University Press, 2009, ISBN 978-0-691-15034-5
  6. Steinberg, S. H. (1974). Five Hundred Years of Printing (3rd ed.). Harmondsworth, Middlesex: Penguin. ISBN 0140203435.
  7. Encyclopædia Britannica. Retrieved November 27, 2006, from Encyclopædia Britannica Ultimate Reference Suite DVD – entry "printing"
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2018-05-13.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]