กลุ่ม 10 มกรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลุ่ม 10 มกรา กลุ่มการเมืองที่ก่อตัวขึ้นภายใน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา

กลุ่ม 10 มกรา ก่อตั้งโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคช่วงปี พ.ศ. 2522 และนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น โดยที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งกลุ่มของนายวีระได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ ส่วนกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ส่วนตัวนายวีระได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแข่งกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ต่อนายพิชัยและพล.ต.สนั่น

ทั้งนี้ กลุ่ม 10 มกรานี้มีความไม่พอใจในการบริหารงานของพิชัย หัวหน้าพรรคมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยต้นเหตุของความขัดแย้งในครั้งนั้น แบ่งได้ 5 ประเด็น กล่าวคือ

  1. ความขัดแย้งในการคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งพิชัยเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
  2. พิชัยไม่ได้นำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 25 คนตามมติในที่ประชุมของพรรค ไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่กลับเสนอเพียง 15 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มของพิชัย พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไว้ด้วย ทำให้สมาชิกในกลุ่ม 10 มกราที่อยู่ในรายชื่อที่ไม่ได้ถูกเสนอหลายคนไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
  3. ผู้บริหารระดับสูงของพรรคไม่สามารถแสดงบัญชีรายจ่ายให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการเรื่องเงินให้สมาชิกพรรคทราบได้ ภายหลังได้รับเงินจากผู้สนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
  4. ไม่พอใจในผลเจรจากับพรรคการเมืองอื่นในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำ ไม่ได้รับการจัดสรรกระทรวงที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและบริหาร
  5. พิชัยได้เสนอให้ พิจิตต รัตตกุล บุตรชายของตน ซึ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร แทนที่ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ทั้งที่อาวุโสทางการเมืองของพิจิตตมีน้อยกว่าคนอื่นในพรรค ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบ และนำเอาระบบสืบตำแหน่งในครอบครัวมาใช้ ซึ่งไม่ควรมีในพรรค

และจาก 5 สาเหตุดังกล่าว นำมาซึ่งการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ขั้วภายในพรรค และจากความขัดแย้งครั้งนั้น ส่งผลให้การทำหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ในรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และการแสดงออกทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่เป็นเอกภาพนับแต่นั้น มีการแสดงออกของสมาชิกพรรคในทางที่ขัดแย้งกับมติหรือนโยบายพรรค[1]

ต่อมากลุ่ม 10 มกรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ ภายหลังจากการที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจนทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งกลุ่ม 10 มกราบางส่วนและทางกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2531 พรรคประชาชนได้ ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 19 คน ซึ่งในเวลาต่อมาพรรคประชาชนได้ยุบรวมเข้ากับพรรคเอกภาพ ทำให้นายวีระได้แยกตัวไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ และภายหลังสมาชิกพรรคเอกภาพบางส่วนซึ่งรวมถึงกลุ่ม 10 มกราได้ย้ายเข้าไปสังกัด พรรคสามัคคีธรรม ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่[2]

กลุ่ม 10 มกรา หมดบทบาทลงภายหลังการวางมือทางการเมืองของนายเฉลิมพันธ์หัวหน้ากลุ่ม หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ[3]

สมาชิกกลุ่ม 10 มกรา (เรียงตามตัวอักษร)[4][แก้]

  1. กริช กงเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม
  2. ไกรสร ตันติพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
  3. ไขแสง สุกใส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
  4. จริญญา พึ่งแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน
  5. จัตุรนต์ คชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร
  6. จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
  7. เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (หัวหน้ากลุ่ม)
  8. ว่าที่ร้อยตรีณัฐ ศรีเฟื่องฟุ้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
  9. ณรงค์ นุ่นทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
  10. เดโช สวนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
  11. ถวิล ไพรสณฑ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช[5]
  12. ทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤๅชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
  13. ธงชาติ รัตนวิชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
  14. ธวัชชัย อนามพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี
  15. นฤชาติ บุญสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
  16. บุญส่ง ชำนาญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
  17. พันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี
  18. ประวัฒน์ อุตโมท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี
  19. พร้อม บุญฤทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง[3]
  20. พิชัย มงคลวิรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์
  21. พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร
  22. มานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
  23. ยงยุทธ นพเกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง
  24. ระวี กิ่งคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร
  25. วิชิต วิเศษสุวรรณภูมิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
  26. วิเชียร สอนน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์
  27. วิทยา ขันอาสา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี
  28. วิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์
  29. วีระ มุสิกพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง
  30. สมบูรณ์ สิทธิมนต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่
  31. สวัสดิ์ สืบสายพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ
  32. สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
  33. สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
  34. พันเอกสาคร กิจวิริยะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด
  35. สุชาติ ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
  36. สุรใจ ศิรินุพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
  37. เสริมศักดิ์ การุญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง
  38. พลเอกหาญ ลีนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
  39. เอี่ยม ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์
  40. โอภาส รองเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (2014-03-08). "ย้อนเส้นทางการเมืองตระกูล"ศรีวิกรม์" "พ่อ-พี่-ทยา" เมื่อเลือดข้นน้อยกว่าน้ำ!". สำนักข่าวอิสรา. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
  2. บางปะกง, บางนา (2014-03-10). "4 ทศวรรษ'ศรีวิกรม์' ภาพสะท้อนธุรกิจการเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-15.
  3. 3.0 3.1 3.2 วัฒน์ วรรลยางกูรชีวิตเพื่อประชาธิปไตย คน 4 คุก ไข่มุกดำ. กรุงเทพฯ : เค.เค.พับลิชชิ่ง, 5/2008. 382 หน้า. ISBN 9789740686996
  4. บทเรียนสอนไม่จำ 32ปี กลุ่ม "10 มกรา" คนประชาธิปัตย์ ซ้ำรอยเสี้ยมกันเอง
  5. นายหัวไทร (2007-09-08). "ถวิล ไพรสณฑ์ กบฏ 10 มกรา..คืนรังประชาธิปัตย์...???". โอเคเนชั่น. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.