กรมหมื่นเทพพิพิธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมหมื่นเทพพิพิธ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(อ้างสิทธิ)
ระยะเวลาอ้างสิทธิพ.ศ. 2310–2311
ก่อนหน้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ถัดไปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ประสูติพระองค์เจ้าแขก
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2311
พระบุตรหม่อมเจ้าชายประยง
หม่อมเจ้าหญิงอุบล
หม่อมเจ้าชายมงคล
หม่อมเจ้าชายพยอม
หม่อมเจ้าชายมันทแวกสถี
หม่อมเจ้าหญิงนุ่น
หม่อมเจ้าชายแดง
หม่อมเจ้าหญิงอภัย
หม่อมเจ้าหญิงดารา
หม่อมเจ้าหญิงกษัตรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผนวชในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมามีความผิดฐานคิดกบฏ จึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อพระเจ้ามังระส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธทรงทราบว่าพม่าปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา จึงได้เดินทางกลับ เกลี้ยกล่อมผู้คนทางหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออกเพื่อจะเข้ากู้กรุงศรีฯ แต่ไม่สำเร็จ จึงทรงหนีไปเกลี้ยกล่อมพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาให้เข้าร่วมช่วยกอบกู้กรุงศรีฯ แต่พระยานครราชสีมาไม่ยอม จึงเกลี้ยกล่อมชาวบ้านบริเวณนั้นให้เข้าร่วมเป็นพวกของพระองค์ และให้ หม่อมเจ้าประยง พระโอรส กับ หลวงมหาพิชัย นำไพร่พลไปลอบสังหารพระยานครราชสีมา และยึดเมืองได้ในที่สุด

ต่อมา หลวงแพ่ง น้องพระยานครราชสีมาได้ไปเกณฑ์พลจากเมืองพิมาย เพื่อไปตีเมืองนครราชสีมาเอาเมืองคืน ปรากฏว่ารบชนะ จึงจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ หลวงแพ่งต้องการที่จะประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธเสีย แต่พระพิมายมีความสงสารจึงขอชีวิตไว้ และขอนำกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย แต่พระพิมายจงรักภักดีต่อเจ้ากรุงศรีอยุธยามาก จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองพิมาย สถาปนาเมืองพิมายเป็นราชธานีต่อจากกรุงศรีอยุธยา[1] ส่วนพระพิมายนั้นนั้นได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งหมด หลังจากนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ได้สังหารหลวงแพ่ง แล้วยึดเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงมารวมกับพิมายทั้งหมด เมืองพิมายมีอาณาเขตตั้งแต่แขวงหัวเมืองตะวันออกฝ่ายดอน ไปจนถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตและกรุงกัมพูชาธิบดี ฝ่ายใต้ลงมาถึงเมืองสระบุรีตลอดลำน้ำแควป่าสัก[2]

ภายหลังพระยาตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระองค์ทรงมีพระราชบัญชาให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) ยกทัพมาตีชุมนุมของกรมหมื่นเทพพิพิธ กองทัพพิมายของกรมหมื่นเทพพิพิธมิอาจต่อสู้ได้ พระองค์จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองเวียงจันทน์ แต่ถูกขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาตามจับตัวได้ทัน จึงนำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ในภายแรกพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตรัสว่า[3]

ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย

พระองค์จึงจำต้องสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระจรัสชวนะพันธ์ เจ้ากรมราชบัณฑิต. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน). กรุงเทพฯ : กรมตำรา กระทรวงธรรมการ. ๒๔๗๒
  2. พระจรัสชวนะพันธ์ เจ้ากรมราชบัณฑิต. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน). กรุงเทพฯ : กรมตำรา กระทรวงธรรมการ. ๒๔๗๒
  3. "สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก", ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. หน้า 190.