กฎหมายสันติภาพและความมั่นคงญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎหมายสันติภาพและความมั่นคง (ญี่ปุ่น: 平和安全法制ทับศัพท์: เฮวะอันเซ็นโฮเซ) เป็นร่างกฎหมายญี่ปุ่นในปี 2015 ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภา สนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อให้ทหารญี่ปุ่นเข้าร่วมในการขัดกันระหว่างประเทศได้ นับเป็นการล้มเลิกนโยบายที่แล้วมาของประเทศที่ให้รบเพื่อป้องกันตนเท่านั้น รัฐสภาเห็นชอบกับกฎหมายนี้ในเดือนกันยายน 2015 แม้ขัดกับความคิดเห็นของสาธารณชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยอมให้ทหารปฏิบัติการเพื่อป้องกันตนเท่านั้น กฎหมายนี้จึงมีการตีความเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเสียใหม่ ทหารจึงจะสามารถปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อ "การป้องกันตนเองแบบหมู่" สำหรับมิตรประเทศได้[1]

การออกกฎหมาย[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 นายกรัฐมนตรีอาเบะเริ่มกล่าวในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องให้ขยายอำนาจทหารญี่ปุ่น โดยว่า เมื่อเสร็จเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2016 แล้ว ก็จะเริ่มแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกิจการระหว่างประเทศ[2] อาเบะกล่าวว่า เหตุการณ์ที่กลุ่มอิสลามไอซิสจับชาวญี่ปุ่นสองคนตัดศีรษะเมื่อเดือนมกราคม 2015 ทำให้ตนมุ่งหมายจะให้ทหารญี่ปุ่นสามารถเข้าแทรกแซงกิจการภายนอกประเทศเพื่อปกป้องพลเมืองญี่ปุ่นได้[2]

วันที่ 16 กรกฎาคม 2015 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาล่างในรัฐสภาญี่ปุ่น เห็นชอบกลุ่มร่างกฎหมายสิบเอ็ดฉบับที่ให้ทหารมีอำนาจเข้าร่วมรบในต่างประเทศเฉพาะในพฤติการณ์ที่กำหนด.[3] ตามกฎหมายเหล่านี้ ทหารจะสามารถสนับสนุนการลำเลียงสิ่งของผู้คนต่าง ๆ ให้แก่มิตรประเทศภายนอกประเทศ ทั้งสามารถสนับสนุนการรบในพฤติการณ์ที่การนิ่งเฉยจะเป็นอันตรายต่อ "ชีวิตและความอยู่รอดของชาติญี่ปุ่น"[3] กฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพรรคที่ครองเสียงข้างมาก คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย กับพรรคโคเม ส่วนพรรคฝ่ายค้านต่อต้านโดยคว่ำบาตรการออกเสียง[3]

เมื่อร่างกฎหมายเป็นที่เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ราชมนตรีสภา ซึ่งเป็นสภาสูง จึงอภิปรายเป็นเวลาสองเดือน[4] แล้วคณะกรรมาธิการก็เห็นชอบกับร่างกฎหมายในวันที่ 17 กันยายน 2015 หลังจากทุ่มเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านพยายามยับยั้งประธานกรรมการธิการโดยหน่วงเหนี่ยวตัวเขาไว้ เมื่อได้รับความเห็นชอบดังกล่าวแล้ว ก็เข้าสู่การออกเสียงของรัฐสภาทั้งสภาเป็นขั้นสุดท้าย[4] เช้าตรู่วันที่ 18 กันยายน 2015 ร่างกฎหมายก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งสภา แม้มีความพยายามเลื่อนการออกเสียงออกไป เพราะสมาชิกพรรคฝ่ายค้านใช้กลวิธีประวิงเวลาเพื่อหน่วงกระบวนการ[5]

การต่อต้านจากสาธารณชน[แก้]

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นที่กล่าวขานว่าสร้างความขัดแย้งอย่างยิ่ง[6] การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ปรากฏว่า สาธารณชนญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนได้ราวสองต่อหนึ่ง[3] ต่อในวันที่ 16 กรกฎาคม 2015 ประชาชนประมาณหนึ่งแสนคนจึงเดินขบวนประท้วงไปยังอาคารรัฐสภา[3] และมีการประท้วงอีกในเดือนกันยายน 2015 ก่อนที่ราชมนตรีสภาจะออกเสียงลงคะแนน มีผู้ร่วมประท้วงประมาณหนึ่งหมื่นถึงสามหมื่นคน[5]

ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[แก้]

การต่อต้านร่างกฎหมายนั้นมีประเด็นอยู่ที่ ร่างกฎหมายเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหลายครั้ง และปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญถึงร้อยละ 90 เชื่อว่า ร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[5] เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็คาดว่า จะถูกคัดค้านในศาลต่อไป แต่น้อยครั้งที่ศาลญี่ปุ่นเคยวินิจฉัยขัดกับรัฐบาลในประเด็นความมั่นคง.[5] อนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นนั้นต้องได้รับความเห็นชอบโดยประชามติ และเนื่องจากปัจจุบันมีกระแสต่อต้านทั้งร่างกฎหมายเองและนายกรัฐมนตรีอาเบะ จึงคิดเห็นกันว่า ถ้าทำประชามติช่วงนี้ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับความเห็นชอบจากประชาชน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Japan military legislation changes draw protests". BBC. 30 August 2015. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  2. 2.0 2.1 "Abe Is Said to Have Plans to Revise Pacifist Charter". The New York Times. 5 February 2015. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "Japan Moves to Allow Military Combat for First Time in 70 Years". The New York Times. 16 July 2015. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  4. 4.0 4.1 "Japan Military Bills Provoke Scuffling in Parliament". The New York Times. 17 September 2015. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Japan's Parliament Approves Overseas Combat Role for Military". The New York Times. 18 September 2015. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  6. "Japan parliament passes controversial security bills". สืบค้นเมื่อ 2015-09-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]