ปลาปิรันยาดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก White piranha)
ปลาปิรันยาดำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Serrasalmidae
สกุล: Serrasalmus
สปีชีส์: S.  rhombeus
ชื่อทวินาม
Serrasalmus rhombeus
(Linnaeus, 1766)
ชื่อพ้อง[1]
  • Salmo rhombeus Linnaeus, 1766
  • Serrasalmus niger Schomburgk, 1841
  • Serrasalmus paraense Steindachner, 1908
  • Pygocentrus niger (Schomburgk, 1841)

ปลาปิรันยาดำ หรือ ปลาปิรันยาขาว หรือ ปลาปิรันยาตาแดง (อังกฤษ: Black piranha, White piranha, Redeye piranha; ชื่อวิทยาศาสตร์: Serrasalmus rhombeus[2]) ปลาน้ำจืดกินเนื้อชนิดหนึ่ง จำพวกปลาปิรันยา อยู่ในวงศ์ปลาปิรันยา (Serrasalmidae)

ปลาปิรันยาดำ มีลำตัวที่มีลักษณะยาวเรียวกว่าปลาปิรันย่าชนิดอื่น ลำตัวเป็นสีเทาเข้มจนออกสีเขียวมะกอกส่วนลำตัวด้านบนจะสีข้างจะมีจุดสีคล้ำ ๆ จำนวนมาก ได้ชื่อว่าเป็นปลาปิรันยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยโตเต็มที่ยาวได้ถึง 45-55 เซนติเมตร และเป็นไปได้ว่าอาจยาวได้มากกว่านี้ แต่เป็นปลาปิรันยาเมื่อเทียบกับปลาปิรันยาชนิดอื่น เช่น ปลาปิรันยาแดง แล้ว ปลาปิรันยาดำจัดว่ามีความดุร้ายน้อยกว่ามาก โดยเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียว และมีนิสัยขี้อาย[3] แต่ทว่าเป็นปลาที่มีแรงกัดของกรามเมื่อเทียบกันแล้วแรงที่สุดในโลก โดยมีการวิจัยด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ด้วยการวัดแรงกัดกับเครื่องมือพิเศษ ผลปรากฏว่าพลังกัดของปลาปิรันยาดำทำได้ถึง 320 นิวตัน สูงกว่าขนาดร่างกายถึง 30 เท่า เมื่อเทียบขนาดร่างกายกันแบบปอนด์ต่อปอนด์แล้วมีพลังมากกว่าจระเข้อเมริกันถึง 3 เท่า

สาเหตุที่แรงกัดของปลาปิรันยาดำมีมากขนาดนี้ อยู่ที่กล้ามเนื้อกรามอันแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่ของกล้ามเนื้อส่วนนี้มีมากกว่าร้อยละ 2 ของมวลร่างกายทั้งตัว ทั้งนี้ 1 นิวตันเท่ากับแรงที่ใช้เคลื่อนสิ่งของขนาด 1 กิโลกรัมไปได้ 1 เมตร ใน 1 วินาที ซึ่งแรงกัดของปลาปิรันยาดำนี้เทียบได้กับปลาปิรันยายักษ์ที่มีความยาว 70 เซนติเมตร น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ล้านปี[4]

ปลาปิรันยาดำ กระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่หลายสายในทวีปอเมริกาใต้ เช่น อะแมซอน, ปารานา, ยาตา และโอรีโนโก เป็นต้น

เป็นปลาปิรันยาอีกชนิดหนึ่งที่มีความอันตราย และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Serrasalmus rhombeus (Linnaeus, 1766)". itis.gov. สืบค้นเมื่อ 18 July 2014.
  2. 2.0 2.1 "Rhombeus Piranha". piranha-info.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-17. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013.
  3. Face Ripper, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 31 ธันวาคม 2556
  4. "พิสูจน์แรงกัดปิรันยาดำ". ไทยโพสต์. 24 December 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-29. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Serrasalmus rhombeus ที่วิกิสปีชีส์