วอลต์ซิงมาทิลดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Waltzing Matilda)
"วอลต์ซิงมาทิลดา"
ต้นฉบับบันทึกโดย Christina Macpherson, ป. 1895
เพลง
เขียนเมื่อ1895
เผยแพร่1903
แนวเพลงลำนำชายทุ่ง
ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงแบนโจ แพเตอร์ซัน
ตัวอย่างเสียง
ภาพถ่ายเมื่อปี 1901 แสดงตัวอย่างของ "คนบ้าหอบฟาง"

"วอลต์ซิงมาทิลดา" (อังกฤษ: Waltzing Matilda) เป็นบทเพลงประเภท "ลำนำชายทุ่ง" (bush ballad) ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศออสเตรเลีย และถือกันว่า เป็นเพลงชาติฉบับไม่เป็นทางการของประเทศนี้[1]

ชื่อเพลงเป็นภาษาปากออสเตรเลีย หมายความว่า บ้าหอบฟางเดินทอดน่อง คำว่า "waltzing" แปลว่า เดินทอดน่อง ตัดมาจากวลีเยอรมันว่า auf der Walz ซึ่งสื่อถึงการเดินเตร็ดเตร่เร่รับจ้างทำงานช่างต่าง ๆ ส่วน "matilda" แปลว่า ข้าวของที่ม้วนเป็นห่อสะพายหลัง[2]

เนื้อหาเพลงว่าด้วย ชายบ้าหอบฟาง (swagman) คนหนึ่งซึ่งเร่รับจ้างไปทั่ว ชายผู้นี้นั่งจิบชาอยู่ริมทุ่ง แล้วลักจับแกะ (jumbuck) ชาวบ้านมาฆ่ากิน เจ้าของแกะซึ่งที่จริงแล้วอาศัยอยู่ในที่ดินโดยบุกรุก เรียกขานกันว่า "ผู้บุกรุกที่ดิน" (squatter) จึงแจ้งตำรวจ ตำรวจมากันสามนาย จะจับชายรับจ้างไปดำเนินคดี ชายนั้นจึงกระโจนหนีลงห้วย (billabong) จมน้ำขาดใจตาย กลายเป็นผีคอยหลอกหลอนอยู่ในท้องที่นั้น

เนื้อเพลงดั้งเดิมนั้นประพันธ์ขึ่นเมื่อปี 1895 เป็นฝีมือร้อยกรองของกวีชาวออสเตรเลียชื่อ แบนโจ แพเตอร์ซัน (Banjo Paterson) โน้ตเพลงตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1903 ใจความของเพลงที่มีเรื่องราวชาวบ้านชายทุ่ง และกลวิธีในการประพันธ์ ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์สำหรับเพลงนี้ขึ้นโดยเฉพาะ คือ ศูนย์วอลต์ซิงมาทิลดา (Waltzing Matilda Centre) ในเมืองวินตัน รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย อันเป็นที่ซึ่งแพเตอร์ซันประพันธ์เพลงนี้[3] ครั้นปี 2012 เมืองวินตันประกาศให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันวอลต์ซิงมาทิลดา เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของเพลงดังกล่าว ทั้งนี้ วันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่เพลง "วอลต์ซิงมาทิลดา" ได้รับการขับร้องบรรเลงต่อสาธารณชนเป็นหนแรก[4][5]

เพลง "วอลต์ซิงมาทิลดา" บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปี 1926 ผู้บันทึกเสียง คือ จอห์น คอลลินซัน (John Collinson) กับรัสเซล แคลโลว์ (Russell Callow)[6] ต่อมาในปี 2008 หอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติ (National Film and Sound Archive) ขึ้นทะเบียนเพลงนี้ในหมู่ "เสียงแห่งออสเตรเลีย" (Sounds of Australia) ให้เหตุผลว่า เป็นเพลงออสเตรเลียที่บันทึกเสียงไว้มากที่สุด[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Who'll Come A Waltzing Matilda With Me?". National Library of Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 3 October 2015.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  2. Oxford English Dictionary, Draft Revision March 2001. "Matilda, n."
  3. "Waltzing Matilda Centre". Matildacentre.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.
  4. 4.0 4.1 Arthur, Chrissy (6 April 2012). "Outback town holds first Waltzing Matilda Day". ABC News.
  5. "Waltzing Matilda Day". Waltzing Matilda Centre, Winton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-27. สืบค้นเมื่อ 2016-01-26.
  6. "National Film and Sound Archive: Waltzing Matilda on australianscreen online". Aso.gov.au. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]