เดอะวิตเชอร์ 3: ไวลด์ฮันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก The Witcher 3: Wild Hunt)
เดอะวิตเชอร์ 3: ไวลด์ฮันต์
ผู้พัฒนาCD Projekt Red
ผู้จัดจำหน่ายCD Projekt
ศิลปินMarian Chomiak
เขียนบทMarcin Blacha
แต่งเพลงMarcin Przybyłowicz Mikołaj Stroińsk
เอนจินREDengine 3
เครื่องเล่น
วางจำหน่าย
  • ไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เพลย์สเตชัน 4, เอกซ์บอกซ์วัน
  • 19 พฤษภาคม 2015
  • นินเท็นโดสวิตช์[1]
  • 15 ตุลาคม 2019
  • เพลย์สเตชัน 5, เอกซ์บอกซ์ซีรีส์เอกซ์
  • 14 ธันวาคม 2021
แนวแอ็กชันผจญภัย
รูปแบบผู้เล่นเดียว

เดอะวิตเชอร์ 3: ไวลด์ฮันต์ (อังกฤษ: The Witcher 3: Wild Hunt โปแลนด์: Wiedźmin 3: Dziki Gon) เป็นวิดีโอเกมแนวต่อสู้เล่นตามบทบาท พัฒนาและจัดจำหน่ายโดยค่ายเกมสัญชาติโปแลนด์ CD Projekt Red[2] โดยอิงเนื้อหามาจากนิยายแนวแฟนตาซีเรื่อง The Witcher ที่ประพันธ์โดยนักเขียนชาวโปแลนด์ Andrzej Sapkowski[3] โดยเกมนี้เป็นภาคที่ 3 ต่อจาก เดอะวิตเชอร์ 2: อะแซสซินส์ออฟคิงส์ (2011) และ เดอะวิตเชอร์ (2007) โดยผู้เล่นจะได้รับบทเป็น Geralt of Rivia นักฆ่ามอนสเตอร์ ซึ่งรู้จักกันในฐานะวิชเชอร์ ซึ่งออกตามหาลูกสาวบุญธรรม ชื่อว่าสิริ (Ciri) จากการถูกตามล่าโดยไวลด์ฮันต์ซึ่งเป็นกองทัพจากต่างมิติ เนื่องจากต้องการจับและเอาพลังจากซิริ โดยตัวเอกมีความสามารถทั้งในด้านการต่อสู้โดยใช้อาวุธ และเวทมนตร์ที่เรียกว่า Sign[4]

การทำภารกิจภายเกม ต้องอาศัยค่าประสบการณ์สำหรับเพิ่มระดับเลเวล เพื่อที่จะสามารถปลดล็อกและเพิ่มความสามารถแก่เกรอล การปลดล็อกอาวุธ และชุดเกราะ นอกจากนี้ยังต้องใช้เงิน (Gold) เพื่อใช้ในการซื้อหรืออัพเกรดอาวุธและชุดเกราะ สำหรับภารกิจภายในเกมจะถูกแบ่งออกเป็นภารกิจหลัก และภารกิจรอง ซึ่งอาศัยระดับเลเวลเป็นตัวบ่งบอกถึงความเหมาะสมในการเข้าไปทำ ถ้าหากห่างจากเลเวลปัจจุบันของผู้เล่นมากเกินไป ก็อาจจะทำให้การทำภารกิจยากกว่าปรกติ โดยเรามีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่นภายในเกมได้ ซึ่งถ้าตัวละครไหนสามารถให้ภารกิจหรือสามารถค้าขายกับเราได้ ก็จะขึ้นตัวเลือกให้แก่เรา โดยภารกิจบางอย่าง อาจมีทางเลือก ทำให้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกันได้ นอกจากนี้ ตัวเกมเองก็มีฉากจบได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับทางเลือกภายในเกมของผู้เล่น

การพัฒนาได้ใช้เวลาอยู่ 3 ปีครึ่ง และการพากย์เสียงใช้เวลามากกว่า 2 ปีครึ่ง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2011 การเขียนเนื้อเรื่องนั้นอ้างอิงเนื้อหาและตัวละครมาจากนิยายของ Andrzej Sapkowski ซึ่งเนื้อหามีฉากหลังจากวัฒนธรรมในเขตตอนกลางและตอนเหนือของยุโรป โดยบรรยากาศและเนื้อหาภายในเกมนั้นมีการเขียนให้มีความคลุมเครือในด้านคุณธรรมเพื่อไม่ให้เนื้อหามีความเรียบง่ายเกินไปและให้มีความสมจริง รวมทั้งสะท้อนถึงตัวนิยายต้นฉบับของ Andrzej Sapkowski ด้วย ตัวเกมถูกสร้างโดยใช้ REDengine 3 ซึ่งเป็นเอนจินที่ถูกพัฒนาโดย CD Projekt Red เอง เพื่อให้สามารถสร้างเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนโดยไม่มีผลต่อความเป็นโอเพนเวิลด์ของตัวเกม ส่วนในด้านดนตรีประกอบนั้นประพันธ์โดย Marcin Przybyłowicz และ บรรเลงโดยวงบรันเดินบวร์คสเตทออร์เคสตรา

เดอะวิตเชอร์ 3: ไวลด์ฮันต์ วางจำหน่ายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2015 สำหรับไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เพลย์สเตชัน 4 และ เอกซ์บอกซ์วัน และในวันที่ 15 ตุลาคม 2019 สำหรับนินเท็นโดสวิตช์ ส่วนตัวเกมเวอร์ชันเพลย์สเตชัน 5 และ เอกซ์บอกซ์ซีรีส์เอกซ์มีแผนจะวางจำหน่ายภายในปี 2021 โดยตัวเกมได้รับคำวิจารณ์โดยรวมในแง่ดีเป็นอย่างมาก แม้จะมีคำติเล็กน้อยในด้านปัญหาทางเทคนิคก็ตาม รวมทั้งได้ถูกนับหนึ่งในเป็นเกมที่ดีที่สุดเท่าที่ถูกสร้างมาด้วย โดยแพ็คเกตรวมตัวเกมหลักและชุดเนื้อหาที่ดาวน์โหลดได้ "Game of the Year Edition" ได้ถูกวางจำหน่ายในปี 2016 ซึ่งเป็นชุดที่รวมภาคเสริม 2 ตัว คือ Hearts of Stone และ Blood and Wine

เกมเพลย์[แก้]

เดอะวิตเชอร์ 3: ไวล์ฮันต์ เป็นเกมแนวเอคชั่นสวมบทบาท มุมมองบุลคลที่ 3 โดยผู้เล่นนั้นจะได้รับบทเป็นเกรอลต์ ออฟ ริเวีย (ภาษาอังกฤษ: Geralt of Rivia) นักล่ามอนสเตอร์ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่ถูกทำให้กลายพันธุ์ด้วยสารก่อกลายพันธุ์ (Mutagen) ตั้งแต่เด็กจนร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษและมีพละกำลังมากกว่ามนุษย์ทั่วไป ซึ่งมักรู้จักกันในฐานะ วิตเชอร์ (Witcher)[5]

โดยผู้เล่นสามารถควบคุมเกรอลต์ให้ เดิน วิ่ง กระโดด ม้วนตัว และหลบได้ สำหรับในน้ำก็ยังสามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ด้วย สำหรับในด้านการต่อสู้ เขาสามารถใช้อาวุธได้หลากหลายชนิด อย่างเช่นดาบ หน้าไม้ และระเบิด สำหรับดาบนั้น เกรอลต์จะมีการพกดาบอยู่ 2 เล่ม ซึ่งจะแยกออกเป็นดาบเหล็กและดาบเงิน โดยดาบเหล็กนั้น จะใช้สำหรับต่อสู้และโจมตีมนุษย์ และสัตว์ทั่วไป ส่วนดาบเงิน ซึ่งเป็นดาบเหล็กอุกกาบาตเคลือบด้วยโลหะเงินนั้น จะถูกใช้สำหรับการต่อสู้และโจมตีพวกสัตว์ประหลาดหรือมอนสเตอร์ (Monster) และพวกภูตผีต่างๆ โดยการใช้ดาบผิดประเภทนั้น จะทำให้ความเสียหายต่อศัตรูนั้น ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โดยผู้เล่นสามารถควบคุมเกรอลต์ให้ชักดาบออกมาจากฝักหรือใส่กลับคืนก็ได้ ดาบนั้นจะมีค่าความคงทนอยู่ เมื่อใช้ไปอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ค่าความคงทนลดลง ซึ่งส่งผลทำให้ค่าความเสียหายจากดาบต่อศัตรูลดลงจากค่าที่ได้มีการระบุไว้ตามดาบแต่ละเล่ม แต่ผู้เล่นสามารถทำการซ่อมดาบได้[6] ตามร้านตีอาวุธ หรือใช้ชุดซ่อมแบบพกพาก็ได้ การโจมตีด้วยดาบจะมีอยู่ 2 แบบ คือการโจมตีแบบเบาและแบบหนัก โดยแบบเบานั้นจะได้ค่าความเสียหายน้อย แต่โจมตีได้เร็ว ส่วนแบบหนักนั้น จะได้ค่าความเสียหายที่มากกว่า แต่ก็แลกมาด้วยความเร็วในการโจมตีที่น้อยกว่าแบบเบา

นอกจากการโจมตีโดยใช้อาวุธปรกติแล้ว เกรอลต์ยังมีความสามารถในการใช้เวทมนตร์ที่เรียกว่า Sign อีกด้วย โดยจะมีอยู่ 5 ประเภท คือ Igni, Yrden, Axii, Quen และ Aard โดย Igni[7] สำหรับเผาศัตรูหรือจุดไฟ Yrden ใช้สำหรับลดความเร็วของศัตรู Axii สำหรับสะกดจิต Quen ใช้ป้องกันความเสียหายจากศัตรู และ Aard สำหรับผลักศัตรูหรือสิ่งของด้วยเทเลไคเนติก แบลด การใช้ Sign นั้นอาศัยแถบความเหนื่อย (Stamina) แต่สามารถขยายไปใช้ค่าอะดรีนาลีนได้ เมื่อทำการปลดความสามารถดังกล่าวในหน้าอัพเกรด การใช้ Sign จะไม่สามารถใช้อย่างต่อเนื่องได้เนื่องจากข้อจำกัดของค่าความเหนื่อยที่จะถูกใช้จนหมด เมื่อมีการใช้ Sign แต่ข้อจำกัดจะถูกขยายออกไปอีกระดับหนึ่งเมื่อผู้ใช้อัพเกรดการดึงค่าอะดรีนาลีนไปใช้ด้วย โดยผู้เล่นสามารถทำการศึกษาข้อมูลของศัตรูภายในเกมผ่านทางคู่มือสัตว์ประหลาดภายในเกม เพื่อที่จะเตรียมพร้อมก่อนการต่อสู้ ทำให้การต่อสู้นั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด[8]

ในด้านพลังชีวิตนั้น เกรอลต์เอง สามารถเสียค่าพลังชีวิตไปได้ ทั้งจากการได้รับความเสียหายทางด้านกายภาพจากศัตรู อย่างเช่น อาวุธ หมัด ไฟ ผึ้งต่อย หรือการตกจากที่สูง การได้รับความเสียหายจากพลังเวทย์ การได้รับสารพิษ การขาดอากาศหายใจเนื่องจากดำน้ำนานเกินไปจนแถบลมหายใจหมด หรือการใช้ยาเสริมพลังมากเกินไป ชุดเกราะสามารถลดความเสียหายจากการศัตรูได้ โดยเกราะแต่ละแบบจะมีค่าการป้องกันที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้เล่นจะหาหรือสร้างออกมา เว้นแต่การขาดอากาศหายใจในน้ำและการใช้ยาเสริมพลังเกินขนาดที่เกราะไม่สามารถป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับผู้เล่นที่ต้องระวังเอาเอง นอกจากนี้ ชุดเกราะก็มีค่าความคงทนเช่นเดียวกับดาบ ซึ่งสามารถซ่อมได้เช่นเดียวกัน การเพิ่มพลังชีวิตนั้น สามารถทำได้ทั้งการกินอาหาร/เครื่องดื่ม การใช้ยาเสริมพลัง (potion) และการนั่งสมาธิ[9] อย่างไรก็ตาม การนั่งสมาธิให้เพิ่มพลังชีวิตนั้น ใช้ได้กับความยากระดับปรกติลงไปเท่านั้น ถ้าสูงกว่านั้นจะไม่มีผล นอกจากเกรอลต์แล้ว ผู้เล่นยังสามารถควบคุมสิริได้อีกด้วย โดยจะเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสิริ ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมของเกรอลต์ โดยสิรินั้น จะมีความสามารถบางอย่างที่เกรอลต์ไม่มี อย่างเช่นการเทเลพอร์ตไปยังระยะทางใกล้ๆ

ตัวเกม มีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการควบคุมตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่นภายในเกม ซึ่งทำให้ตัวละครเหล่านั้น มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในเกมอย่างระบบกลางวันกลางคืนได้[10] อย่างเช่นมนุษย์หมาป่า จะทรงพลังมากขึ้นในค่ำคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง เป็นต้น เกรอลต์ยังสามารถใช้วิตเชอร์เซนส์ (Witcher sense) สำหรับการหาหลักฐานต่างๆหรือของมีค่าและอาหารได้ สำหรับสิ่งของต่างๆนั้น ผู้เล่นสามารถหาได้ทั่วไปภายในฉากหรือหาซื้อได้ตามร้านขายของก็ได้ ซึ่งร้านค้าก็จะแยกตามชนิดของสิ่งของ หรือถ้าหากเก็บมาจากการฆ่าศัตรู ก็สามารถขายได้เช่นกัน ซึ่งผู้เล่นสามารถเก็บเงินไว้สำหรับการสร้างอาวุธ ชุดเกราะหรือซื้ออาหารได้ ถ้าหากเป็นพวกอาวุธบางอย่างที่มีค่าสถานะดีๆ หรือแบบแปลนสร้างอาวุธชุดเกราะดีๆ อาจจะหาได้ยากขึ้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการค้นหาที่นานพอสมควร

ในด้านภารกิจ ตัวเกมจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ภารกิจหลัก ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องหลักของเกม ภารกิจรอง เป็นภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลักแต่ไม่มาก ภารกิจหาขุมทรัพย์ และสัญญาจ้าง เมื่อทำภารกิจไปแล้วหรือทำพลาด ตัวเกมจะแยกประเภทเอาไว้ด้วย เมื่อผู้เล่นควบคุมเกรอลต์ไปคุยกับตัวละครอื่นก็จะมีกล่องข้อความตัวเลือกให้ผู้เล่นได้เลือก ซึ่งตัวเลือกเหล่านั้นจะส่งผลต่อผลลัพธ์หลังจบภารกิจและรวมถึงฉากจบหลักของเกมด้วย

สำหรับภารกิจรอง ภารกิจหาขุมทรัพย์ และสัญญาจ้าง สามารถหาได้จากป้ายประกาศที่มีกระจายไปในแต่ละหมู่บ้านหรือเมือง หลังการจบภารกิจแต่ละครั้ง ผู้เล่นจะได้รับค่าประสบการณ์มาด้วยค่าหนึ่ง เมื่อสะสมไปเรื่อยๆจนถึงค่าหนึ่ง ตัวเกมก็จะเพิ่มเลเวลของผู้เล่นพร้อมกับได้ค่าคะแนนสำหรับการอัพเกรดความสามารถของเกรอลต์ด้วย โดยการอัพเกรดความสามารถนั้น จะแบ่งเป็นการอัพเกรดทั่วไป ด้านการต่อสู้ ด้านพลังเวทย์ และด้านการปรุงยา[11] นอกจากนี้ยังสามารถใช้สารก่อกลายพันธุ์เพื่อเพิ่มความสามารถเพิ่มเติม ตามสีของสารก่อกลายพันธุ์ คือสีแดง เป็นด้านการต่อสู้ สีเขียวเป็นด้านการใช้ยาเสริมพลัง และสีฟ้าเป็นด้านพลังเวทย์

ในการเดินทางภายในเกม ผู้เล่นสามารถเดินทางได้อย่างอิสระในแผนที่ขนาดใหญ่ตามฉบับเกมโลกเปิด[12] โดยเมื่อมีการสำรวจพื้นที่หนึ่งๆไปแล้ว ตามสถานที่หลักๆก็จะมีป้ายนำทางหรือท่าเรือที่จะให้ผู้เล่นสามารถเดินทางอย่างรวดเร็วไปยังสถานที่ต่างๆภายในเกมได้ โดยการเดินทางนั้นสามารถใช้ม้าสำหรับทางบกและเรือสำหรับทางน้ำ หรือไม่อย่างนั้นก็สามารถเดิน/วิ่ง หรือว่ายน้ำในกรณีอยู่ในน้ำได้ ม้าของเกรอลต์นั้นมีชื่อว่า โรช (Roach) ซึ่งผู้เล่นสามารถโจมตีศัตรูตอนขี่ม้าได้ด้วย สำหรับเรือนั้น ผู้เล่นต้องระวังไม่ให้เรือกระแทกกับหิน ชายฝั่ง หรือถูกมอนสเตอร์โจมตี เพราะเรือจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งถ้าเสียหายมาก เรือก็จะอับปางได้
นอกจากนี้ เกมยังให้ผู้เล่นทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกจากภารกิจเหล่านั้นได้ อย่างเช่น การแข่งม้า ชกมวย และเกมการ์ดซึ่งเรียกว่าเกวนต์ (Gwent) ได้ สำหรับเกมการ์ดนั้นในตอนหลังยังถูกนำออกมาทำเป็นเกมเดี่ยวอีกด้วยในชื่อ Gwent: The Witcher Card Game[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Witcher 3: Wild Hunt เผยตัวอย่างเวอร์ชัน Switch เตรียมปล่อยปลายปี". Game Fever.
  2. "The Witcher 3". CD Projekt Red.
  3. "Andrzej Sapkowski". culture.pl.
  4. "Sign". Fandom.
  5. "The Witcher 3 Wild Hunt Game Manual" (PDF). CD Projekt Red.
  6. "Becoming Unstoppable: The Witcher 3: Wild Hunt Tips Guide [UPDATED]". GameRevolution.
  7. "The Witcher 3 : Wild Hunt (รีวิว/เนื้อเรื่อง/ระบบ/การ์ด)". metalbridge.com.
  8. "What The Witcher 3 got right". Eurogamer.
  9. "The Witcher 3: Wild Hunt Tips and Tricks". Trusted Reviews.
  10. "The Witcher 3 Review". IGN.
  11. "The Witcher 3: Wild Hunt review – a rich adventure born in literature". The Guardian.
  12. "ซื้อหรือไม่: The Witcher 3". GamingDose.
  13. "GWENT: The Witcher Card Game". CD Projekt Red.