ข้ามไปเนื้อหา

ต้านชเว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Than Shwe)
ต้านชเว
ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของพม่า
ดำรงตำแหน่ง
23 เมษายน พ.ศ. 2535 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2554
ก่อนหน้าซอมอง
ถัดไปเต้นเซน (ประธานาธิบดี)
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า
ดำรงตำแหน่ง
23 เมษายน พ.ศ. 2535 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2554
รองมองเอ้
ก่อนหน้าซอมอง
ถัดไปมี่นอองไลง์
นายกรัฐมนตรีพม่า คนที่ 8
ดำรงตำแหน่ง
23 สิงหาคม พ.ศ. 2535 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2547
ผู้นำตนเอง
ก่อนหน้าซอมอง
ถัดไปคีนหญุ่น
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (91 ปี)[1] หรือ
3 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 (89 ปี)[2]
เจาะแซ พม่าตอนบน
บริติชเบอร์มา
คู่สมรสไจง์ไจง์[3]
นองตีฮะชเว
ศิษย์เก่าOfficer Training School
สถาบันทหารฟรุนเซ (สหภาพโซเวียต)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ พม่า
สังกัด กองทัพบกพม่า
ประจำการพ.ศ. 2496–2554
ยศ พลเอกอาวุโส

พลเอกอาวุโส ต้านชเว (พม่า: သန်းရွှေ, ออกเสียง: [θáɰ̃ ʃwè]) ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่า ดำรงตำแหน่งประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ภายหลังการรัฐประหารล้มอำนาจของพลเอกอาวุโส ซอมอง อดีตประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (สลอร์ก) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2535

ประวัติ

[แก้]

พลเอกอาวุโส ต้านชเว เกิดที่เมืองเจาะแซซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบทในพม่าตอนบน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่มีฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 10 ขวบ พ่อตาย แม่มีสามีใหม่เป็นมุสลิม แม่จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ต้านชเวเลยกลายเป็นเด็กกำพร้า ต้องหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เด็ก ประกอบที่มีหน้าตาเหมือนแขก และแม่มีสามีเป็นชาวมุสลิม จึงมักถูกล้อเลียนว่าเป็น "ไอ้ลูกแขก"

เมื่อเป็นเด็ก ต้านชเวเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยยอมเป็นเพื่อนกับใครง่าย ๆ ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปเป็นคนพูดน้อย แต่รักษาคำพูดและสุขุมรอบคอบมาก ต้านชเวเป็นเด็กเรียนหนังสือดี แต่ความไม่พร้อมทำให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ต้านชเวจึงเรียนไม่จบชั้นมัธยม 3 หลังจากออกมาหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวและตัวเองแล้ว จึงกลับไปเรียนใหม่จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลายใน พ.ศ. 2494 เมื่อมีอายุ 18 ปี

เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ต้านชเวได้ไปสมัครเป็นเสมียนไปรษณีย์ ที่อำเภอเมะทีลา ทำงานได้ 1 ปี จึงไปย่างกุ้งเพื่อสมัครเป็นทหาร แต่สอบเข้าได้เพียงเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง ใช้เวลาเรียนเพียง 6 เดือน ก็จบหลักสูตรนายร้อยสำรองรุ่น 9 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้รับยศร้อยตรี

ต้านชเวรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปฏิบัติงานสงครามจิตวิทยาสนามที่ 1 โดยมีภารกิจก็คือ ออกปฏิบัติการจิตวิทยากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ให้ภักดีต่อประเทศพม่า

แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยหลัก แต่ด้วยการทำงานอย่างหนักและการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ภายในเวลา 5 ปี ต้านชเวได้พัฒนาตนจนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันการเมืองและวิทยาศาสตร์ของกองทัพ

การทำงานอย่างหนักและอย่างเป็นระบบ ทำให้ต่อมาต้านชเวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน เป็นผู้บังคับการกรมได้ไม่นานก็ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 88 และผู้บัญชาการภาคของทหารบกในภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคอิรวดี

ภายในเวลาเพียง 32 ปี ต้านชเวเขยิบสถานะจากเสมียนไปรษณีย์มาเป็นนายทหารยศพลตรี ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก เมื่อ พ.ศ. 2528

อีก 3 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2531 ต้านชเวก็ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของ ดร.มองมอง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจากพลเอก เนวี่น ต้านชเวตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายของพลเอก ซอมอง ยึดอำนาจจากรัฐบาล ดร.มองมอง เมื่อการรัฐประหารยึดอำนาจประสบผลสำเร็จ ต้านชเวได้รับการสถาปนาเป็นพลเอกในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งรองประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ

จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ต้านชเวได้รับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมาเมื่อสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่ามาเป็นเมียนมา เปลี่ยนชื่อคณะผู้ปกครองทหารพม่าจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐมาเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังปัจจุบัน ต้านชเวได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่เป็นประธานสภาสันติภาพฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด[4]

ชีวิตส่วนตัว ต้านชเวสมรสกับนางไจง์ไจง์และนางนองตีฮะชเว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 เมื่อตานดาชเว ลูกสาวของต้านชเวที่เกิดกับนางไจง์ไจง์ จัดพิธีสมรสกับนายพันตรีในกองทัพบกพม่า ได้ปรากฏคลิปงานสมรสครั้งนี้กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนชาวพม่า เพราะสะท้อนถึงความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของผู้ปกครองประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Than Shwe". Alternative Asean Network on Burma. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-19. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02.
  2. "၂၀၁၅ အထွေထွေ ရွေးကောက်ပွဲ မဲဆန္ဒရှင်စာရင်း (Voter list)" (Press release). Union Election Commission. 14 September 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-29. สืบค้นเมื่อ 15 September 2015.
  3. "ผู้นำพม่าไหว้พระ!! รูปนี้หาดูได้ยาก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
  4. ฉลามต้องอยู่น้ำลึกจากนิติภูมิ นวรัตน์
  5. "คลิปงานแต่งสุดอลังการลูกสาวตานฉ่วยร่อนทั่ว !!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-22. สืบค้นเมื่อ 2010-08-21.