ปลาตะกรับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Scatophagus argus)

สำหรับปลาตะกรับอย่างอื่น ดูที่: ปลาตะกรับ

ปลาตะกรับ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลากะพง
วงศ์: วงศ์ปลาตะกรับ
สกุล: ปลาขี้ตัง
(Linnaeus, 1766)
สปีชีส์: Scatophagus argus
ชื่อทวินาม
Scatophagus argus
(Linnaeus, 1766)
ชื่อพ้อง[2]
  • Ephippus argus (Linnaeus, 1766)
  • Chaetodon pairatalis Hamilton, 1822
  • Chaetodon atromaculatus Bennett, 1830
  • Scatophagus bougainvillii Cuvier, 1831
  • Scatophagus ornatus Cuvier, 1831
  • Scatophagus purpurascens Cuvier, 1831
  • Sargus maculatus Gronow, 1854
  • Scatophagus maculatus (Gronow, 1854)
  • Scatophagus quadratus De Vis, 1882
  • Scatophagus aetatevarians De Vis, 1884

ปลาตะกรับ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Scatophagus argus) เป็นปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะกรับ (Scatophagidae) มีรูปร่างสั้น ด้านข้างแบนและกว้างมาก หัวทู่ ปากเล็ก หางมน เกล็ดเป็นแบบสากขนาดเล็ก สีพื้นลำตัวมีสีแตกต่างกันมากอาจเป็นสีเขียว สีเทา หรือสีน้ำตาล ครึ่งบนของลำตัวสีเข้มกว่าและมีแถบสีเทาเข้มหรือดำพาดขวางหลายแนวและแตกเป็นจุดที่ด้านล่างหรือเป็นแต้มเป็นจุดทั่วตัวดูคล้ายเสือดาว ครีบต่าง ๆ มีสีเหลืองอ่อนอมเทา

ปลาตัวผู้จะมีหน้าผากโหนกนูนกว่าตัวเมียแต่ขนาดลำตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย เส้นก้านครีบหลังชิ้นที่ 4 จะยาวที่สุด ขณะที่ตัวเมียเส้นก้านครีบหลังเส้นที่ 3 จะยาวที่สุด ก้านครีบแข็งที่หลังรวมถึงที่ท้องมีความแข็งและมีพิษแบบอ่อน ๆ เป็นอันตรายได้เมื่อไปสัมผัสถูกก่อให้เกิดความเจ็บปวด[3] บริเวณส่วนหัวของตัวเมียบางตัวจะเป็นสีแดง โดยลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อปลามีความยาวมากกว่า 4 นิ้วขึ้นไป ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 38 เซนติเมตร

ปลาตะกรับเป็นปลาทะเลที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลใกล้ปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางตั้งแต่ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ไปจนถึงเขตโอเชียเนีย

สำหรับปลาในบางพื้นที่มีความหลากหลายทางสีมาก เช่น ปลาบางกลุ่มจะมีลายพาดสีดำเห็นชัดเจนตั้งแต่ส่วนหัว และลำตัวมีสีแดงเข้มจนเห็นได้ชัด ถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยที่มีชื่อเรียกว่า "ปลาตะกรับหน้าแดง" (S. a. var. rubifrons[4])

เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม กินอาหารได้ทั้งพืชน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็ก นิยมตกเป็นเกมกีฬาและใช้รับประทานเป็นอาหารเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในภาคใต้ สามารถนำไปปรุงเป็นแกงส้มแต่เมื่อรับประทานต้องระวังก้านครีบ[3] นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย โดยในที่เลี้ยง ปลาตะกรับเป็นปลาที่สามารถทำความสะอาดตู้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินตะไคร่น้ำและสาหร่ายบางชนิดได้ แต่เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวพอสมควร ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วด้วยวิธีการผสมเทียม โดยฤดูผสมพันธุ์มีตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคมของปีถัดไป[5]

ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า "ปลากระทะ" หรือ "ปลาแปบลาย" ในภาษาใต้เรียกว่า "ปลาขี้ตัง" และชื่อในแวดวงปลาสวยงามจะเรียกว่า "ปลาเสือดาว" ตามลักษณะลวดลายบนลำตัว[4] แต่ปลาตะกรับมีครีบหลังและครีบก้นที่มีหนามแหลมซึ่งอาจแทงถูกมือมนุษย์ได้ โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อปลดปลาออกจากเครื่องมือประมง แต่ก่อให้เกิดพิษน้อยมาก[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Collen, B.; Richman, N.; Beresford, A.; Chenery, A.; Ram, M.; และคณะ (Sampled Red List Index Coordinating Team) (2010). "Scatophagus argus". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T155268A4761779. doi:10.2305/IUCN.UK.2010-4.RLTS.T155268A4761779.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2021). "Scatophagus argus" in FishBase. June 2021 version.
  3. 3.0 3.1 "อนุวัตจัดให้ : จับปูทะเล จ.สมุทรปราการ". ช่อง 7. 2016-05-23. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทเอม ซัพพลาย, 2540. 170 หน้า. หน้า 156-157. ISBN 9748990028
  5. "เกษตรกรสงขลาเลี้ยงปลาขี้ตัง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างรายได้งาม". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  6. ชวลิต วิทยานนท์. คู่มือปลาทะเล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2551. 192 หน้า. หน้า 164. ISBN 978-974-484-261-9

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]