กระดูกสแคฟฟอยด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Scaphoid)
กระดูกสแคฟฟอยด์
(Scaphoid bone)
กระดูกสแคฟฟอยด์จากข้อมือซ้าย
รายละเอียด
ข้อต่อมีข้อต่อกับกระดูก 5 ชิ้น ได้แก่
ตัวระบุ
ภาษาละตินos scaphoideum, os naviculare manus
MeSHD021361
TA98A02.4.08.003
TA21250
FMA23709
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

กระดูกสแคฟฟอยด์ (อังกฤษ: Scaphoid bone) อยู่บริเวณข้อมือ พบอยู่ทางด้านนิ้วหัวแม่มือภายในอนาโตมิคัล สนัฟฟ์ บอกซ์ (anatomical snuff-box) ลักษณะคล้ายกับเรือ ในอดีตจึงเรียกกระดูกนี้ว่า navicular (ซึ่งปัจจุบัน navicular หมายถึงกระดูกรูปเรือที่อยู่ในกระดูกข้อเท้า) ขนาดและรูปร่างของกระดูกนี้คล้ายกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์

กระดูกสแคฟฟอยด์เป็นกระดูกที่ใหญ่ที่สุดในกระดูกข้อมือแถวต้น (proximal row) อยู่ที่ด้านเรเดียส (ด้านนิ้วหัวแม่มือ) แกนยาวของกระดูกวิ่งจากบนลงล่าง ไปทางด้านข้างและด้านหน้า

คำว่า สแคฟฟอยด์ (scaphoid) มาจากภาษากรีกว่า skaphe แปลว่า "เรือ" และ eidos แปลว่า "รูปร่าง"

พื้นผิว[แก้]

พื้นผิวด้านบน (superior surface) เป็นรูปสามเหลี่ยมมีรูปร่างนูน เรียบ เป็นผิวข้อต่อกับปลายล่างของกระดูกเรเดียส

พื้นผิวด้านล่าง (inferior surface) ชี้ลงด้านล่าง ไปทางด้านข้างและด้านหลัง มีลักษณะเรียบ นูน และเป็นรูปสามเหลี่ยมเช่นกัน มีสันตื้นๆ แบ่งพื้นผิวออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นผิวด้านข้างเป็นข้อต่อกับกระดูกทราพีเซียม (trapezium) พื้นผิวด้านใกล้กลางเป็นข้อต่อกับกระดูกทราพีซอยด์ (trapezoid)

บนพื้นผิวด้านหลังมือ (dorsal surface) มีลักษณะแคบ เป็นร่องขรุขระ ซึ่งร่องนี้วิ่งในแนวตลอดความยาวของกระดูก เป็นจุดเกาะของเอ็น

พื้นผิวด้านฝ่ามือ (volar surface) ด้านบนเว้า ส่วนด้านล่างและด้านข้างยกขึ้นเป็นส่วนยื่นรูปทรงกลมเกิดเป็นปุ่มกระดูก (tubercle) ชี้ไปทางด้านหน้า ซึ่งให้เป็นจุดเกาะของเอ็นทรานสเวิร์สคาร์ปัล และบางครั้งอาจเป็นจุดเกาะต้นของใยกล้ามเนื้อบางส่วนของกล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส เบรวิส (Abductor pollicis brevis)

พื้นผิวด้านข้าง (lateral surface) ขรุขระและแคบ เป็นจุดเกาะของเอ็นเรเดียลคอลแลทเทอรัล (radial collateral ligament) ของข้อมือ

พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) ให้เป็นหน้าประกบข้อต่อ 2 หน้า ได้แก่ ด้านบนมีขนาดเล็กกว่า เป็นรูปเสี้ยวพระจันทร์มีลักษณะแบนและเกิดข้อต่อกับกระดูกลูเนท (lunate bone) ส่วนด้านล่างมีขนาดใหญ่กว่ามีลักษณะเว้า เรียงตัวกับกระดูกลูเนทเกิดเป็นรอยเว้ารับกับหัวของกระดูกแคปปิเตต (capitate)

พื้นผิวนูนด้านปลาย (distal convex surface) เกิดข้อต่อกับกระดูกทราพีเซียมและทราพีซอยด์

ความสำคัญทางคลินิก[แก้]

เมื่อเกิดกระดูกชิ้นนี้หักมักจะหายได้ยากเพราะว่ามีการไหลเวียนไปเลี้ยงกระดูกชิ้นนี้น้อย แม้ว่ากระดูกชิ้นนี้ก็มีโอกาสหักยากก็ตาม แต่กระดูกชิ้นนี้ก็มักจะหักได้บ่อยเมื่อเกิดการหักของกระดูกข้อมือ เนื่องจากกายวิภาคและตำแหน่งในข้อมือของกระดูกนี้มีลักษณะเฉพาะ ประมาณ 60% ของกระดูกข้อมือหักมักเกิดจากกระดูกสแคฟฟอยด์หัก เมื่อเกิดกระดูกสแคฟฟอยด์จะต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อผลการรักษาที่ดี การวินิจฉัยและรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น

ภาพอื่นๆ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]