ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะประชานิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pop Art)

ศิลปะประชานิยม หรือ ป็อปอาร์ต (อังกฤษ: Pop art) เป็นขบวนการหนึ่งของศิลปะที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ประมาณ พ.ศ. 2498 มีพลวัตทางศิลปะประมาณ 10 ปีเศษ ล้อไปกับรากฐานบริบทสังคมที่เป็นแบบบริโภคนิยม ศิลปินกลุ่มนี้มีความเชื่อทางศิลปะว่าศิลปะจะต้องสร้างความตื่นเต้นอย่างฉับพลันทันใดแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น เนื้อหาศิลปะของป็อปอาร์ตจึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนและสังคมในปัจจุบันที่กำลังได้รับความสนใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้น ซึ่งอาจนับว่าเป็นผลต่อยอดของการเปลี่ยนทิศทางแนวทางศิลปะมาตั้งแต่ศิลปะแนวสัจนิยม (realism) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาจะเริ่มไม่เกี่ยวข้องกับเทพนิยาย ประวัติศาสตร์ หรือศาสนา เหมือนกับงานศิลปะในยุคก่อนหน้า

เพื่อให้การสะท้อนเรื่องราวที่ปรากฏในปัจจุบัน ให้ความรู้สึกในความเป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง ศิลปินป็อปอาร์ตได้ใช้วัสดุจริง การปะติด และกลวิธีการดังศิลปินก่อนหน้าได้เคยทดลองทำเอาไว้ ดังเช่นที่กลุ่ม ดาดา (dada) บาศกนิยม (cubism) ลัทธิเหนือจริง (surrealism) และลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expresssionism) ปฏิบัติกัน ซึ่งนับเป็นกลวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนั้นนั่นเอง ทั้งนี้การหยิบยกมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของศิลปินแต่ละคนเช่น บางคนสนใจภาพโฆษณา บางคนสนใจดาราภาพยนตร์ บางคนสนใจเครื่องจักรกล บางคนสนใจเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ก็มักจะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ตนสนใจดังกล่าวมาจัดวางตำแหน่งอย่างง่าย ๆ ดั่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป[1]

ผู้บุกเบิก

[แก้]

มาร์แซล ดูว์ช็อง (ศิลปินกลุ่มดาดา) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางนี้ให้กับศิลปินรุ่นหลัง ผลงานที่ชื่อ "น้ำพุ" (Fountain) ซึ่งเป็นผลงานที่นำโถปัสสาวะมาจัดแสดงของเขาเป็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก การที่ดูชองป์นำเอาสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะชื่อ อาร์มอรีโชว์ ครั้งที่ 2 ที่นิวยอร์กในปี พ.ศ. 2460 ก็หมายที่จะกระตุ้นปฏิกิริยาของคนซึ่งเป้าหมายทางสุนทรียศาสตร์ของเขาคือ "การหาสิ่งอื่นมาแทนที่ศิลปะที่เคยได้รับคำนิยมว่างดงาม" หรือที่ดูว์ช็องเรียกว่า "ศิลปะที่ต้องตา" สิ่งสำคัญของผลงานของเขาคือ ความคิดที่ได้จากบริบทใหม่ที่ไม่คุ้นเคย[2]

โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก หนึ่งในผู้เบิกทางให้กับป็อปอาร์ตเคยกล่าวไว้ว่า เขาไม่เคยเห็นผลงานชิ้นใดงดงามไปกว่าชิ้นงานของดูว์ช็อง

นิยาม

[แก้]

ป็อปอาร์ตเป็นแบบอย่างของศิลปะที่สะท้อนสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบัน ตามความรู้ความเข้าใจของสามัญชนทั่วไป ชั่วขณะหนึ่ง เช่น ดารายอดนิยม คุณภาพอันเลอเลิศของสินค้า คำขวัญ ฯลฯ ศิลปะในกลุ่มนี้แสดงความวุ่นวายของสังคมซึ่งพลุ่งพล่าน สว่างวาบขึ้นมาเหมือนพลุ นิยมในช่วงเวลาที่ไม่นานพอถึงวันรุ่งขึ้นก็อาจจะลืมไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตามมีผู้กล่าวเอาไว้ว่า

ศิลปะที่สร้างขึ้นจากสิ่งสัพเพเหระของชีวิตปัจจุบัน เป็นการแสดงความรู้สึกสะท้อนประสบการณ์ทั้งหมดของศิลปินในชั่วขณะเวลาหนึ่ง และสถานที่แห่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสะท้อนความรู้พื้นฐานธรรมดาที่ศิลปินมีส่วนร่วมอยู่ให้ปรากฏ[3]

รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) จิตรกรชาวอเมริกัน (ประสบความสำเร็จจากการนำภาพการ์ตูนที่กำลังนิยมมาใส่ไว้บนงานศิลปะของเขา) ได้ให้คำนิยามของป็อปอาร์ตเอาไว้ว่า ในความคิดของฉัน เป็นศิลปะที่ไร้ยางอายมากที่สุดแห่งวัฒนธรรมของพวกเรา กล่าวคือ สิ่งต่าง ๆ ที่เราเกลียดชังมัน แต่บางสิ่งก็มีพลังเหมือนจะทำอะไร ๆ ให้เราดีขึ้นได้เหมือนกัน[4] ... ป็อปอาร์ตก็เป็นจิตรกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างมาก... ความหมายของผลงานของผมคือการเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งอีกไม่ช้าโลกทั้งมวลก็จะกลายเป็นโลกของอุตสาหกรรม"[5]

แอนดี วอร์ฮอล

แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol; พ.ศ. 2471-2530) สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาด้วยการแสดงออกทางจิตรกรรม เขาเป็นคนเดียวเท่านั้นที่นำเอาระบบการผลิตในอุตสาหกรรมมาใช้กับงานจิตรกรรม เขาเลือกเทคนิคการพิมพ์ฉลุลายผ้า (silk screen) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแรก ๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าได้คราวละมาก ๆ เขาประกาศอย่างติดตลกว่า จะดีมาก ถ้าทุกคนเปลี่ยนมาพิมพ์ซิลค์สกรีนกันให้หมด คนอื่น ๆ จะได้แยกไม่ออกว่ารูปนี้เป็นงานศิลปะของเขาของแท้หรือเปล่า[6] สำหรับประเด็นที่เขายกมาเป็นหัวข้อในการทำงานนั้นก็มีกิ่งก้านแตกออกมาจากสังคมบริโภคนิยมและจากนิตยสารปกมันของศิลปะเชิงพาณิชย์เช่นกัน เทคนิคในการทำงานของเขาได้ตอกย้ำในเรื่องมาตรฐานของการผลิตจำนวนมากทางอุตสาหกรรม

ริชาร์ด แฮมิลตัน

ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton) ได้สร้างสรรค์ผลงานโปสเตอร์ภาพตัดปะที่มีคำพูดแดกดันอย่าง Just what is it that makes today's homes so different, so appealing? ผลงานชิ้นนี้เป็นการรวมเอาหลาย ๆ ภาพ และหลาย ๆ วัสดุ เพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นสิ่งใหม่[7])

ภายหลังแฮมิลตันได้ทำบัญชีข้อมูลคุณภาพของป็อปอาร์ตเอาไว้ดังนี้[8])

  • เป็นที่นิยม (popular) (ออกแบบมาเพื่อผู้ชมหมู่มาก)
  • ชั่วครู่ (transient) (เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น)
  • พอใช้ได้ (expendable) (ลืมได้โดยง่าย)
  • ราคาถูก (low cost)
  • ผลิตเป็นจำนวนมาก (mass produced)
  • วัยรุ่น (young) (กลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น)
  • หลักแหลม (witty)
  • เซ็กซี่ (sexy)
  • มีลูกเล่น (gimmicky)
  • งดงาม (glamorous)
  • เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (big business)

จะเห็นได้ว่าศิลปินป็อปอาร์ตแต่ละคนก็มีแนวทางในการนำเสนอที่แตกต่างกันไป ความเป็นจุดร่วมของศิลปะแนวนี้คงมีจุดร่วมทีเห็นได้ชัดดังหลักการที่แฮมิลตัน ได้เสนอไว้ดังข้างต้น

มุมมองของนักวิจารณ์

[แก้]

นักวิจารณ์ศิลปะบางคนให้ความเห็นว่าป็อปอาร์ตไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็นได้เพียงเรื่องราว หรือรูปแบบการโฆษณาง่าย ๆ เท่านั้น จึงไม่มีคุณค่าที่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะจัดให้เป็นศิลปะได้ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการบางกลุ่มจัดให้เป็นศิลปะได้แต่ก็ไม่ลงลอยกับกระแสใหญ่

เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับศิลปะนี้จึงได้มีการจัดประชุมเกี่ยวกับศิลปะป็อปอาร์ตขึ้นโดยตรงในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2505 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในอเมริกา (The Museum of Modern Art) การจัดประชุมครั้งนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะบางท่านให้ความเห็นว่า ควรจัดให้ป็อปอาร์ตเป็นศิลปะได้ และควรเรียกแบบอย่างศิลปะที่สะท้อนความเป็นจริงนี้ว่าเป็น "ศิลปะสัจนิยมใหม่" (The New Realism) แต่ในที่สุดก็ได้มติให้ใช้ชื่อว่า "ป็อปอาร์ต" ตามที่นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษชื่อว่า ลอว์เรนซ์ แอลโลเวย์ (Lawrence Alloway)เป็นผู้คิดคำและเสนอชื่อแก่ศิลปะแนวทางนี้ ในการประชุมที่สถาบันศิลปะร่วมสมัย (Institution of Contemporary Art) ในกรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2497 - 2498[9][10] (การจัดแสดงที่มีลักษณะของการถกเถึยงกันครั้งนี้ กลายเป็นแม่แบบของนิทรรศการศิลปะในสมัยต่อมา[11])

ลอว์เรนซ์ แอลโลเวย์ เป็นหนึ่งในผู้ปกป้องศิลปะแบบป็อปอาร์ตจากการถูกเข้าใจผิด ในเวลานั้นทุกคนไม่ศรัทธาศิลปินป็อปอาร์ตเท่าใดนัก แต่เขาอยากให้สาธารณชนมีความเข้าใจศิลปินที่ถูกต้อง เขาพยายามวิเคราะห์และหาข้อสรุปได้ว่า ป็อปอาร์ตนั้นมีความเชื่อมโยงกับสื่อสารมวลชน แต่เป็นเชิงขบขันและในเชิงโต้แย้งตรง ๆ ผลงานของศิลปินกลุ่มป็อปอาร์ตถูกสร้างขึ้นในบริบทใหม่ นี่คือข้อแตกต่างของศิลปินกลุ่มนี้ที่สำคัญ[12]

ศิลปิน

[แก้]
แคลส โอลเดนเบิร์ก
เจมส์ โรเซนควิสต์
  • รอย ลิกเทนสไตน์ มีลักษณะเฉพาะตัวด้วยการสร้างงานให้เป็นแนวการ์ตูน เขาหยิบยืมรูปแบบของสิ่งพิมพ์การ์ตูนอุตสาหกรรมที่เล่าเรื่องเป็นช่อง ๆ มีลักษณะพิเศษอยู่ที่การตัดเส้นภาพลายเส้นด้วยเส้นทึบดำ สร้างสีและน้ำหนักของภาพด้วยการใช้แถบเม็ดสี แถบริ้วสี บางครั้งเขาถึงกับนำภาพจากหนังสือการ์ตูนที่วางขายในท้องตลาดมาดัดแปลงเล็กน้อยให้เป็นผลงานของตัวเอง จุดที่พิเศษไปจากการ์ตูนสิ่งพิมพ์อุตสาหกรรมราคาถูกก็คือ เขานำลักษณะดังกล่าวมาทำเป็นงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ เรียกได้ว่า ทำสิ่งพิมพ์ให้เป็นจิตรกรรม ทำศิลปะระดับล่าง (โลว์อาร์ต) ให้เป็นศิลปะชั้นสูง (ไฮอาร์ต) หรือกลับกัน และที่ขาดไม่ได้คือการหยอกล้องานคลาสสิกบรมครู ลิกเทนสไตน์นำภาพชั้นยอดอย่างงานสีน้ำมันภาพโบสถ์อันโด่งดังของโกลด มอแน, ภาพนามธรรมเรขาคณิตของปีต โมนดรียาน และภาพปลาในโหลแก้วของอ็องรี มาติส มาทำเป็นจิตรกรรมและภาพพิมพ์ในลักษณะที่เป็นสิ่งพิมพ์อุตสาหกรรม ดูเหมือนสินค้าแบบประชานิยมในตลาด[13]

ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเขาเช่น ภาพ อะ-อาจจะ (M-Maybe) ซึ่งเป็นภาพสาวผมบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้า กำลังจ้องมองมาที่เรา หรืออาจจะกำลังมองผ่าน เหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ เธอสวมถุงมือสีขาว เอียงศีรษะมาทางซ้าย ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป และใช้สื่อถึงภาวะที่เศร้าหมองว่าทำไมเธอถึงต้องมารออยู่อย่างนี้[14]

  • แอนดี วอร์ฮอล ถือได้ว่าเป็นศิลปินชั้นนำระดับซูเปอร์สตาร์ของอเมริกาหรือของโลกเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบแล้ว วอร์ฮอลยังเป็นดาวสังคมของนครนิวยอร์กด้วย เรียกได้ว่าทั้งชีวิตและผลงานของเขาเป็น "ป็อป" มาก ๆ เลยทีเดียว ลักษณะเฉพาะตัวของวอร์ฮอลที่ทุกคนรู้จักดีคือ การทำงานจิตรกรรมด้วยเทคนิคการพิมพ์ฉลุลายผ้าฉลุ เทคนิคดังกล่าวเป็นวิธีการสร้างงานพิมพ์ในระดับอุตสาหกรรม มักจะใช้ในแวดวงโฆษณาขายสินค้า เช่น ทำโปสเตอร์ บิลบอร์ด และพิมพ์ลวดลายลงบนเสื้อยืด ในสมัยนั้นเทคนิคนี้ยังถือว่าเป็นของค่อนข้างใหม่ เขา ใช้เทคนิคอุตสาหกรรมนี้พิมพ์ภาพดารา นักร้อง และคนดังระดับตลาดมหาชน เช่น พิมพ์ภาพมาริลีน มอนโร, เอลิซาเบท เทย์เลอร์ และเอลวิส เพรสลีย์ บ้างก็พิมพ์ภาพผลงานจิตรกรรมระดับคลาสสิกที่ขึ้นหิ้งของโลก เช่น ภาพโมนาลิซา ภาพกำเนิดเทพีวีนัสฝีมือบอตตีเชลลี ภาพทั้งหมดนี้ วอร์ฮอลนำมาพิมพ์ด้วยสีฉูดฉาดเตะตาในจำนวนเยอะ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียงกันเป็นพรืดแบบสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตซ้ำได้ทีละมาก ๆ ตลาด[15]

มีผลงานที่เป็นที่รู้จักเช่น กระป๋องซุปแคมป์เบลล์ 1 (Campbell’s Soup 1) ธนบัตร 2 ดอลลาร์ 80 ใบ (ด้านหน้าและด้านหลัง) (80 Two Dollar Bills (Front and Rear)) เป็นต้น

  • แคลส โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) ศิลปินชาวอเมริกัน นำเสนอประติมากรรมขนาดใหญ่อันแปลกประหลาดตา และยังมีการทำประติมากรรมนุ่มนิ่ม (soft sculpture) ตัวอย่างเช่นการนำเอาลักษณะรูปร่างของอาหารซึ่งนิยมในสมัยนั้น เช่น แฮมเบอร์เกอร์ มาขยายขนาดและจำลองด้วยการใช้ผ้ายัดนุ่นคล้ายหมอนให้กลายเป็นแฮมเบอร์เกอร์ยักษ์ ผลงานของเขานั้นล้วนแต่สร้างความเร้าใจแก้ผู้พบเห็น

ผลงานที่เป็นที่รู้จักเช่น ตู้ใส่ขนม 1 (Pastry Case 1) เป็นการนำขนมอบที่แตกต่างกัน 9 ชนิด ทำจากผ้าใบหยาบ ๆ หรือผ้าฝ้ายชุบกับปูนปลาสเตอร์ จากนั้นนำไปวางลงบนโครงลวดดัด และลงสีเป็นขั้นตอนสุดท้าย

  • เจมส์ โรเซนควิสต์ (James Rosenquist) นำเสนอโดยการใช้ตราโฆษณาสินค้าขนาดใหญ่ และนำมาปรุงแต่งให้สลับซ้บซ้อนยิ่งขึ้น

มีผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น ภาพไม่มีชื่อ (โจน ครอว์ฟอร์ด) (Untitled (Joan Crawford)) เป็นภาพในเชิงล้อเลียนของโจน ครอว์ฟอร์ด ดาราภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่ โดยภาพของเธอมีลักษณะเหมือนการ์ตูนล้อเลียน เช่น ดวงตาที่กลมโตกับคิ้วโก่งได้รูป ขนตาปลอม ร้อยยิ้มที่กระด้าง ผมที่แข็งเป็นลอน แต่เดิมภาพนี้มีที่มาจากโฆษณาขายบุหรี่

  • ทอม เวสเซลมันน์ (Tom Wesselmann) แสดงออกทั้งด้วยการภาพจิตรกรรมและภาพปะติดซึ่งประกอบด้วยการใช้วัสดุผสานกันอย่างมีชั้นเชิง

ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น อ่างอาบน้ำ 3 (Bathtub 3) เป็นการผสมผสานระหว่างภาพเขียนและวัสดุจริง คือ ประตู ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ตะกร้าผ้า และม่านห้องน้ำ เทคนิคดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเป็นภาพลวงตามากยิ่งขึ้น หุ่นนิ่งหมายเลข 20 (Still Life No. 20) เป็นการการนำภาพเลียนแบบของโมนดรียานมาผสมผสานกับวัสดุจริง คือ ตู้ หลอดฟลูออเรสเซนซ์ ก๊อกน้ำ สบู่ และที่วางสบู่

  • Eduardo Paolozzi ในปี พ.ศ. 2492 ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีความสร้างสรรค์และหลักแหลมเป็นอย่างมาก ผลงานภาพตัดปะปกนิตยสารและโฆษณา รูปภาพอันดาษดื่นพบเห็นได้ทุกที่ทำให้เขาเกิดความสนใจ[16])
  • ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton; พ.ศ. 2465-2554) สร้างผลงาน "อะไรทำให้บ้านในวันนี้ดูต่างจากเมื่อก่อน, ช่างน่าอยู่เหลือเกิน?" (Just what is it that makes today's homes so different, so appealing?) เป็นภาพปะติดซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งของงานป็อปอาร์ต และเต็มไปด้วยการเสียดสี ด้วยการใช้ภาพร่างกายของชายและหญิงมาแต่งให้สวยงามแต่ไม่เป็นธรรมชาติ บรรยากาศภายในบ้านเต็มไปด้วยความทันสมัย และองค์ประกอบในภาพเป็นการรวบรวมสื่อทัศนศิลป์สมัยใหม่แทบทุกชนิด เช่น โปสเตอร์ตราสัญลักษณ์ของบริษัท ใบปิดภาพยนตร์
  • คีธ แฮริง (Keith Haring)
  • เรย์ จอห์นสัน (Ray Johnson)
  • เดริก โบเชียร์ (Derek Boshier)
  • เดวิด ฮ็อกนีย์ (David Hockney)
  • ปีเตอร์ เบลก (Peter Blake)
  • แอลลัน ดาร์แคนเจโล (Allan D’Arcangelo)
  • รอเบิร์ต อินดีแอนา (Robert Indiana)

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ศุภชัย สิงย์ยะบุศย์, รองศาสตราจารย์. ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก(ฉบับสมบูรณ์), กรุงเทพ: โรงพิมพ์สัมพันธ์กราฟิก, 2547; 215.
  2. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ). ป๊อปอาร์ต ;8-9.
  3. อารี สุทธิพันธุ์. ศิลปนิยม, 2516; 316
  4. อัศนีย์ ชูอรุณ และ เฉลิมศรี ชูอรุณ.แบบอย่างศิลปะตะวันตก, 2528; 144.
  5. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ).ป๊อปอาร์ต ;8-9.
  6. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ). ป๊อปอาร์ต ;28.
  7. Eric Shanes. Pop Art ;18.
  8. Eric Shanes. Pop Art ;18.
  9. อารีย์ สุทธิพันธ์. ศิลปะนิยม, 2516; 316-317.
  10. อัศนีย์ ชูอรุณ, 2528; 144
  11. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ). ป๊อปอาร์ต ;12.
  12. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ). ป๊อปอาร์ต ;9.
  13. Post-Modernism - ศิลปะป็อปอาร์ต (Pop Art)
  14. เคลาส์ ฮอนเนฟ, บุศยมาศ นันทวัน (แปล), ยูทา โกรเซนิค (บรรณาธิการ). ป๊อปอาร์ต ;52.
  15. Post-Modernism - ศิลปะป็อปอาร์ต (Pop Art)
  16. Pop Art ;17-18.