เภสัชเวท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pharmacognosy)

เภสัชเวท (อังกฤษ: Pharmacognosy) เป็นศาสตร์ทางเภสัชศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับยาอันมีที่มาจากแหล่งธรรมชาติ เภสัชเวทสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของเภสัชเวทไว้ว่า "เป็นการศึกษาลักษณะทางกายภาพ, เคมี, ชีวเคมี และคุณสมบัติทางชีวภาพของยา, สารที่นำมาใช้เป็นยาที่มีที่มาจากธรรมชาติ และการวิจัยค้นพบยาใหม่จากแหล่งธรรมชาติ"[1] สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยาได้ภายหลังผ่านกระบวนการทางเภสัชกรรมเราเรียกว่า "เครื่องยา" โดยมีการจัดจำแนกตามคุณสมบัติของเครื่องยาตามวิธีการของศาสตร์ต่างๆ อาทิ เภสัชวิทยา, กลุ่มสารเคมี, การเรียงลำดับตามตัวอักษรละตินและภาษาอังกฤษ เป็นต้น

เภสัชเวทเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดศาสตร์หนึ่งของทางการแพทย์ และนับเป็นต้นกำเนิดของวิชาเภสัชศาสตร์ ในสมัยโบราณมีการใช้ยาจากธรรมชาติในการบำบัดรักษาเสียทั้งสิ้น ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งนำมาสู่การสังเคราะห์ยาจากสารเคมีทดแทนวิธีการทางธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีความนิยมการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น ทำให้เภสัชเวทเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบัน

เภสัชเวทยังครอบคลุมไปถึงการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์เช่น ไฟเบอร์, ยาง ในการศัลยกรรมรักษา และการใช้เพื่อควบคุมภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมถึงการใช้เป็นสารปรุงแต่งทางเภสัชกรรม, เครื่องสำอาง

ขอบเขตวิชา[แก้]

เภสัชเวทมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในหลายแขนง โดยเป็นศาสตร์ที่ประกอบด้วยความรู้ที่บูรณาการในหลากหลายวิชา เช่น ยาที่มาจากพืชนั้นมีความสัมพันธ์กับวิชาพฤกษศาสตร์และยาที่มาจากสัตว์มีความสัมพันธ์กับวิชาสัตววิทยา เป็นต้น นอกจากนี้เภสัชเวทยังอาศัยองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธาน, การสืบพันธุ์, พยาธิสภาพและพันธุศาสตร์ของพืช ศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นมีความสำคัญและจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนายา ปัจจุบันเคมีของพืชเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญที่กล่าวถึงหลากสารเคมีที่สะสมในพืชหรือสังเคราะห์โดยพืช

การศึกษาทางเภสัชเวทยังเป็นการศึกษาถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนการคัดแยกสารให้บริสุทธิ์, ลักษณะเฉพาะของสารจากธรรมชาติในทางเภสัชกรรม, การพัฒนาและการเก็บรักษายา โดยอาศัยความรู้ทางชีวเคมีร่วมผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆดังระบุข้างต้น นอกจากนี้เภสัชเวทยังเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญของวิชาทางเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ รวมถึงศาสตร์ทางอายุรเวทรวมถึงระบบอื่นๆในการรักษาทางการแพทย์ ดังนั้นเภสัชเวทจึงหมายรวมที่เป็นศาสตร์ในการพัฒนาเครื่องยา ผ่านการตั้งสูตรตำรับยาจนกระทั่งได้รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสม

ประวัติ[แก้]

บันทึกตำรับยาในกระดาษปาปิรุสคอลัมน์ที่ 40

เภสัชเวทเป็นสาขาวิชาที่เก่าแก่ที่สุดของเภสัชศาสตร์ และถือเป็นสาขาวิชาเริ่มแรกสาขาหนึ่งทางด้านการแพทย์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแต่ครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในลักษณะเป็นการแพทย์พื้นบ้าน โดยนำสมุนไพรอันมาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุนำมาผสมกันด้วยตำรับจนได้ผลิตภัณฑ์ยา วิธีการได้มาซึ่งความรู้ดังกล่าวประกอบไปด้วยการลองผิดลองถูก, การเลียนแบบการบริบาลของสัตว์ในธรรมชาติเมื่อได้รับอาการบาดเจ็บ และอาจเกิดเหตุค้นพบโดยบังเอิญ เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาหรือทดลองการใช้สมุนไพรในกลุ่มคนหรือชุมชนในการรักษาผู้ป่วยให้หายนั้นก็จะได้รับการยกย่องเป็น "หมอยา"[2] การศึกษาวิจัยทางเภสัชเวทมีหลักฐานเริ่มแรกในสมัยชาวสุเมเรียนและอัลคาเดียนแห่งอาณาจักรเมโสโปเตเมียเมื่อราว 3 ล้านปีก่อนคริตศักราช ซึ่งเป็นการศึกษายาที่ใช้ในการรักษาในแบบแผนโบราณ ในเวลาต่อมาในสมัยอียิปต์โบราณก็มีการพัฒนายาและสมุนไพรเช่นกันโดยบันทึกใน กระดาษปาปิรุส[3] นอกจากนี้ในอีกฟากหนึ่งของโลก ประเทศจีนมีบันทึกเภสัชตำรับและการใช้สมุนไพรจำนวนมากเช่นโสม, รูบาร์บ, โป๊ยกั้ก เป็นต้น[4]

จนกระทั่งในช่วงการไล่ล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ทำให้การศึกษาทางเภสัชเวทได้รับการพัฒนาไปด้วย ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โจฮันน์ อดัมและลินเนียสได้มีการนำเครื่องยามาพัฒนาเป็นเภสัชภัณฑ์ในรูปของผงยา, สารสกัด และยาทิงเจอร์ ทำให้การพัฒนายาเป็นที่ต้องการศึกษาและวิจัยมากขึ้น จนในปี ค.ศ. 1803 ถือเป็นยุคของสารประกอบบริสุทธิ์และเป็นยุคใหม่ของประวัติศาสตร์การแพทย์ โดยการสกัดสารเป็นตัวยาจากสมุนไพรต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ยาเบื่อ (Strychnine), ควินิน (Quinine), คาเฟอีน (Caffeine), นิโคติน (Nicotine), อะโทรปีน (Atropine), และโคเคน (Cocaine) แต่กระนั้นก็ไม่อาจทราบถึงสูตรโครงสร้างของสารดังกล่าวได้อย่างชัดเจนจนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ได้มีการบรรยายและระบุถึงลักษณะโครงสร้างของสารประกอบ

การจำแนกสาขาทางเภสัชเวทถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อกำหนดขอบข่ายของวิชาที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ซึ่งคำว่า "Pharmacognosy" ในภาษาอังกฤษนั้นมีที่มาจากคำในภาษากรีกอันได้แก่คำว่า "pharmakon" หมายถึง ยา และ "gnosco" หมายถึง "ความรู้" เภสัชเวทมีความคล้ายคลึงกับวิชาเคมีพฤกษศาสตร์และเคมีสมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองมีต้นกำเนิดเดียวกันคือการศึกษาจากสมุนไพร จนกระทั่งในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เภสัชเวทได้พัฒนาขึ้นจนเป็นการศึกษาในด้านพฤกศาสตร์เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะและการระบุตัวยา

เภสัชเวทมีการจำแนกสาขาวิชาย่อยออกเป็นอีกหลายสาขา ครอบคลุมด้านการค้า, การเก็บสมุนไพร, การเตรียมยา และการเก็บรักษายา ในการประชุมเภสัชเวทสมาคมแห่งประเทศอิตาลีครั้งที่ 9 ได้มีการกล่าวถึงการกลับมาใช้วิธีการพืชบำบัดอีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1998 มียอดการใช้จ่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในยุโรปเป็นรายได้รวมกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมาจากประเทศเยอรมนีมากที่สุดถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเหตุให้การวิจัยยาสมุนไพรชนิดใหม่ๆเป็นที่นิยมมากขึ้น

ปัจจุบัน การวิจัยยาชนิดใหม่ทางเภสัชเวทส่วนมาก เป็นการค้นพบยาจากอาณาจักรสัตว์ โดยเฉพาะการสกัดสารจำพวกฮอร์โมนและวิตามิน รวมถึงจุลินทรีย์ซึ่งได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งการวิจัยยาอีกด้วย

เครื่องยา[แก้]

ตัวอย่างเครื่องยาในขวด

เครื่องยา (Crude Drug) เป็นคำที่ใช้เรียกแหล่งที่มาของยาที่เป็นพืชหรือสัตว์ ซึ่งมักพบในรูปแบบที่ยังไม่สามารถนำไปใช้เป็นยาได้ ต่อมาคำว่า "เครื่องยา" ยังรวมไปถึงเภสัชภัณฑ์ที่มาจากแร่ธาตุก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในโครงสร้างแบบสารอินทรีย์ เช่น โคลิน, เบนโตไนต์ เป็นต้น[5] เครื่องยาเป็นคำที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่ไม่มีคุณประโยชน์ทางการรักษาจนกว่าจะผ่านกระบวนการทางเภสัชกรรมจนให้ผลผลิตที่มีคุณสมบัติทางการรักษา ในสมัยโบราณได้มีการจัดจำแนกเครื่องยาตามประเภทของสารว่าอยู่ในเซลล์ (cellular) หรือไม่อยู่ในเซลล์ (acellular) โดยพิจารณาจากโครงสร้างของเครื่องยาว่ามีโครงสร้างใดๆที่แสดงถึงเป็นผลิตผลจากพืชหรือไม่ หากมีโครงสร้างที่แสดงถึงที่มาจากพืชก็จะจัดเข้าจำพวกของสารอยู่ในเซลล์ แต่ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของเครื่องยาออกเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้ระบบการจัดจำแนกดังต่อไปนี้[6]

  • ระบบตามตัวอักษร ในระบบนี้ รายชื่อเครื่องยาจะถูกเรียงตามตัวอักษร
  • ระบบอนุกรมวิธานโดยแบ่งตามที่มาของเครื่องยาว่ามาจากสัตว์หรือพืช และใช้วิธีการจัดจำแนกในแบบอนุกรมวิธานคือ ไฟลัม, ชั้น, อันดับ, วงศ์ เป็นต้น
  • ระบบสัณฐานวิทยาว่าเครื่องยาที่ได้มานั้น เรานำมาจากส่วนใดของพืช เช่น ใบ, แก่นไม้, เนื้อไม้ เป็นต้น
  • ระบบเคมีว่าเครื่องยานั้นเป็นสารประเภทใด เช่น ไกลโคไซด์, แอลคาลอยด์, แทนนิส์, เรซิน เป็นต้น
  • ระบบเภสัชวิทยาศึกษาจากการออกฤทธิ์ของเครื่องยาว่าออกฤทธิ์ในระบบหรืออวัยวะส่วนใด เช่น การออกฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต, การออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • ระบบเคมีอนุกรมวิธานเป็นระบบบูรณาการระหว่างการจัดจำแนกพืชในทางอนุกรมวิธานและเครื่องยานั้นในระหว่างอยู่ในพืชและในรูปที่สกัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

มาตรฐานเครื่องยา[แก้]

การตรวจมาตรฐานของสมุนไพรในสมัยโบราณได้มีการจำแนกตามเป้าประสงค์ในการค้นหาคุณสมบัติของเครื่องยาเอง หรือการเสาะหาวิธีมาตรฐานที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภท คือ การตรวจดูมาตรฐานด้านโครงสร้าง คือ การตรวจดูสิ่งปลอมปนที่มากับเครื่องยา โดยสามารถกำจัดออกได้โดยใช้วิธีการฝัด การผ่านแร่ง หรือการใช้ลมเป่า อีกวิธีหนึ่งคือการวิเคราะห์เรื่องยา เพื่อหาสารสำคัญ และการตรวจมาตรฐานทางกายภาพ เช่น การหาค่าความถ่วงจำเพาะ ค่าความหนืด ค่าจุดหลอมเหลวและจุดเดือด เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการวิเคราะห์เครื่องยาโดยการพิจารณาการหาน้ำหนักที่หายไปเมื่อทำให้แห้ง, ปริมาณเถ้ารวม, ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด, การหาปริมาณสิ่งสกัด รวมถึงการวัดปริมาณน้ำมันหอมระเหย และการวัดปริมาณน้ำในเครื่องยา

ปัจจุบันสมุนไพรที่เข้าสู่กระบวนการผลิตยาจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบและต้องเป็นเครื่องยาที่ได้ถูกกำหนดโดยมาตรฐานเภสัชตำรับ เครื่องยาที่บรรจุในเภสัชตำรับปัจจุบัน จะเรียกว่า "Official Drugs" หรือเคยบรรจุแต่ได้คัดออกไปแล้วนั้นจะเรียกว่า "Official Drugs" และที่ไม่เคยได้รับการบรรจุในเภสัชตำรับเลยจะเรียกว่า "Nonoffcial Drugs" โดยเครื่องยาที่นำมาผลิตนั้นจำเป็นต้องบรรยายรายละเอียดของเครื่องยานั้นๆก่อนนำมาผลิตเรียกว่า "โมโนกราฟ"

การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยาเพื่อนำมาใช้ในการผลิตยาแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนสำคัญคือ การตรวจมาตรฐานของสมุนไพรก่อนการผลิต เช่น การตรวจสอบชนิด ชื่อ และส่วนที่มาใช้ในการผลิต สรรพคุณรรวมถึงสารสำคัญ สิ่งแปลกปลอม สิ่งปลอมปน การปนเปื้อน เป็นต้น และการตรวจสอบมาตรฐานของยาหลังการผลิต หรือการตรวจสอบยาสำเร็จรูป ประกอบด้วย การตรวจลักษณะภายนอก, การผันแปรของน้ำหนักยา การแตกและกระจายตัว การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น

การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสมุนไพร[แก้]

การนำสมุนไพรมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาจำเป็นต้องมีการพิสูจน์เอกลักษณ์ของวัตถุดิบดังกล่าวที่ได้มา เนื่องจากในธรรมชาติมีสมุนไพรมากมายหลากหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน การพิสูจน์เอกลักษณ์จะเป็นเครื่องยืนยันถึงชนิดพันธุ์สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้นว่าถูกต้อง และมีสารสำคัญในปริมาณเพียงพอต่อการนำมาผลิตเป็นยา การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสมุนไพรที่นิยมกระทำในปัจจุบันคือการตรวจมิญชวิทยาของสมุนไพร (Plant Histology) คือการศึกษาลักษณะของพืชอย่างละเอียดในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งนอกจากประโยชน์การพิสูจน์เอกลักษณ์แล้วนั้น ยังมีประโยชน์ในการตรวจหาสิ่งปลิมปนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังใช้วิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์โดยใช้เทคนิคทางโมเลกุล (Molecular Identification) ซึ่งมักใช้เมื่อสมุนไพรมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ยากต่อการตรวจสอบแม้วิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์ โดยอาศัยหลักการของเครื่องหมายทางพันธุกรรม (Genetic Marker) โดยนำเครื่องหมายดังกล่าวมาประยุกต์โดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA fingerprinting)

กลุ่มสารในยาสมุนไพร[แก้]

คาร์โบไฮเดรต[แก้]

พืชสะสมพลังงานในหลากหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งคือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งประกอบด้วยมอโนแซ็กคาไรด์และพอลิแซ็กคาไรด์ นอกจากนี้ยังมีสารผลิตภัณฑ์จากกระบวนการเผาผลาญของพืชได้แก่ สารในกลุ่มแอลกอฮอล์เช่น ซอร์บิทอล, เซลลูโลสในรูปของเมือก (mucilage) และยาง (gum) โดยคาร์โบไฮเดรตที่นำมาใช้ในการรักษาส่วนมากเป็นกลุ่มของพอลิแซ็กคาไรด์และกลุ่มของเมือกและยาง

พอลิแซ็กคาไรด์มีคุณสมบัติด้านการทำปฏิกิริยาต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น พอลิแซ็กคาไรด์ประกอบขึ้นจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลายๆโมเลกุลสร้างพันธะต่อกันจนเกิดเป็นสายยาว แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทคือแบบละลายน้ำได้และละลายน้ำไม่ได้ ซึ่งแป้งจากพืช, ยาง และเมือกล้วนเป็นสารจำพวกพอลิแซ็กคาไรด์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีสารจำพวกเซลลูโลสที่นำมาประยุกต์ใช้ด้านการรักษาเช่นคอตตอน, เรยอนบริสุทธิ์ ซึ่งนำมาใช้เป็นยาระบาย (bulk agent) เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก

ไกลโคไซด์[แก้]

ไกลโคไซด์เป็นโมเลกุลรูปแบบหนึ่งโดยเป็นการสร้างพันธะระหว่างส่วนของน้ำตาล (ไกลโคน) และส่วนที่ไม่ใช่น้ำตาล (อะไกลโคน) ไกลโคไซด์นับเป็นสารประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง โดยพืชส่วนมากจะเก็บสะสมสารประเภทไกลโคไซด์ในรูปไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่น (inactive) โดยสามารถกระตุ้นสารดังกล่าวได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสจากเอนไซม์[7] ซึ่งทำให้ส่วนของน้ำตาลหลุดไปทำให้สารดังกล่าวอยู่ในรูปสามารถทำปฏิกิริยาได้ (active)

นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่งประเภทของไกลโคไซด์ออกเป็นหลายประเภททั้งแบ่งตามส่วนที่เป็นน้ำตาล (ไกลโคน) โดยมีการจัดกลุ่มโดยใช้ชื่อเรียกตามชื่อของน้ำตาลนั้นๆ เช่น หากเป็นน้ำตาลฟรุกโตสจะเรียกชื่อสารไกลโคไซด์ดังกล่าวว่าฟรุกโตไซด์ หรือกรดกลูคูโรนิกจะเรียกชื่อสารว่ากลูคูโรไนด์เป็นต้น และการจัดแบ่งตามส่วนที่ไม่ใช่น้ำตาล (อะไกลโคน) แบ่งตามรูปแบบโครงสร้างของสารนั้นๆ เช่น แอลกอฮอล์ไกลโคไซด์, แอนธราควิโนนไกลโคไซด์, คูมารินส์, ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์, ฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์, ฟิโนลิกไกลโคไซด์, ซาโปนิน, คาร์ดิแอกไกลโคไซด์, ไธโอไกลโคไซด์

แอลกอฮอล์ไกลโคไซด์[แก้]

แอนธราควิโนนไกลโคไซด์[แก้]

แอนทราควิโนนไกลโคไซด์ (Anthraquinone Glycoside) เป็นสารในกลุ่มควิโนน โครงสร้างของสารประกอบด้วยวงเบนซีน 3 วงทำพันธะต่อกัน สามารถสังเคราะห์แอนธราควิโนนไกลโคไซด์เป็นสารในรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้ในทางเภสัชกรรมได้แก่ แอนธรานอล (Anthranol), ออกแซนโธรน (Oxanthrone) และ ไดแอนโธรน (Dianthrone) สารจำพวกแอนธราควิโนนไกลโคไซด์นำไปใช้ประโยชน์เป็นยาระบายโดยใช้ว่านหางจระเข้แห้ง, ใบมะขามแขก, ฝักคูน, ใบชุมเห็ดเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละต้นจะมีสารที่แตกต่างกันอาทิ เซ็นโนไซด์ซึ่งพบในใบมะขามแขก, อะโลอินในฝักคูน เป็นต้น[8]

คูมารินส์[แก้]

คูมารินส์ (coumarins) มีโครงสร้างหลักเป็น 2-α-benzopyrone พบในธรรมชาติทั้งรูปไกลโคไซด์และอะไกลโคน จัดเป็นสารจำพวกแลกโตนไกลโคไซด์ มีการจำแนกคูมารินส์ตามลักษณะโครงสร้างออกเป็น simple coumarins, furanocoumarins, pyrocoumarins, phenyl coumarins และ bicoumarins พบได้ทั้งในพืชและจุลินทรีย์ มีชีวสังเคราะห์ผ่านวิถีชิกิเมต สามารถทดสอบการเรืองแสงภายใต้แสงยูวี อนุพันธ์สังเคราะห์ของคูมารินส์มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยารักษาโรคด่างขาว แหล่งของสารคูมารินส์ เช่น เมล็ดพรรณผักกาด และ tonka bean [9]

ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์[แก้]

ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ (cyanogenic glycoside) เป็นสารจำพวกไกลโคไซด์ที่ให้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) จากปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์หลายชนิดเป็นอนุพันธ์ของแมนเดโลไนไตรล์ (mandelonitrile) โดยส่วนที่เป็นน้ำตาลอาจพบในรูปมอโนแซ็กคาไรด์หรือไดแซ็กคาไรด์

ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์และเอนไซม์ในการทำปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสนั้นถูกสร้างจากพืช หากแต่จัดเก็บในคนละส่วน จึงทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยากับพืช แต่หากเนื้อเยื่อพืชถูกทำลายและไซยาโนจินิกไกลโคไซด์และเอนไซม์เข้าทำปฏิริยากันก็อาจเกิดการปลดปล่อยกรดไฮโดรไซยานิกซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต นักพฤกษศาสตร์จึงเชื่อว่าเป็นกลไกหนึ่งของพืชที่ป้องกันการถูกทำลาย ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ถูกสะสมในปริมาณมากในพืชที่ยังอ่อนหรือส่วนที่ยังอ่อนของพืช เช่น ใบอ่อน หรือ ยอดอ่อน เป็นต้น

ไซยาโนจินิกไกลโคไซด์สามารถทดสอบได้โดยการสังเกตปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส และหากสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการทำปฏิกิริยาได้ไซยาไนด์ (CN-) โดยออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานการใช้ออกซิเจนของร่างกายทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน พบได้ใน Bitter Almond, Cherry-Laurel เป็นต้น

ฟลาโวนอยด์[แก้]

ซาโปนิน[แก้]

saponin เป็นสารกลุ่มไกลโคไซด์ที่มีสมบัติเป็นแอมฟิฟิล (amphiphile) สามารถละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน จะเกิดเป็นฟองเมื่อนำมาผสมกับสารละลายในน้ำ สารกลุ่มซาโปนินมักมีโครงสร้างเป็นไกลโคไซด์ชนิดไฮโดรฟิลิก (ละลายน้ำ) จับกับสารอนุพันธ์ไตรเทอร์พีนชนิดไลโพฟิลิก (ละลายในไขมัน) พบในพืชวงศ์เงาะ (Sapindaceae), วงศ์ก่วม (Aceraceae) และวงศ์ Hippocastanaceae นอกจากนี้ยังพบได้ทั่วไปในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วปากอ้า, ชะเอมเทศ, ผักโขม, มันมือเสือ, หน่อไม้ฝรั่ง, ชาและแอลแฟลฟา ซาโปนินสามารถพบได้ในรูปอื่น เช่น ไจพีโนไซด์ (gypenosides) ในเจี๋ยวกู่หลานและจินเซนโนไซด์ (ginsenosides) ในโสม แต่เดิมเชื่อว่าซาโปนินพบได้เฉพาะในพืช แต่ภายหลังมีการพบในสัตว์ทะเลด้วย

คาร์ดิแอกไกลโคไซด์[แก้]

ไธโอไกลโคไซด์[แก้]

แทนนิน[แก้]

ผงแทนนิน

แทนนินได้นำมาใช้ครั้งแรกในการฟอกหนังให้ได้หนังที่ดีและอ่อนนุ่ม จนกระทั่งได้มีการทดลองเพื่อศึกษาวิธีการฟอกหนังที่ดีจนนำมาสู่การค้นหาสารจำพวกแทนนินซึ่งมีรสฝาด ซึ่งเป็นสารประกอบจำนวกโพลีฟีนอล แทนนินจึงเป็นสารอินทรีย์จำพวกฟีนอลซึ่งมีสัณญานแบบไม่เป็นผลึก (amorphous)มีคุณสมบัติการทำให้เกิดสีและตกตะกอนกับเหล็กและโลหะอื่นๆ[10] โดยมีการจำแนกสารจำพวกแทนนินเป็น 2 ประเภทคือแทนนินแท้จริง (true tannin) และแทนนินเสมือน (pseudotannin) ตามน้ำหนักของโมเลกุล[11]

แทนนินนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ท้องเสีย รักษาโรคจากไวรัสและยาปฏิชีวนะ, การฟอกหนัง ย้อมอวน แห ให้ทนทานต่อสภาพที่เค็ม, นำมาใช้เป็นองค์ประกอบของกลิ่นและรสชาติในเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ ไวน์และเบียร์ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในการลดความหนืดของดินเหนียวในการขุดเจาะบ่อลึกๆ[10] ตัวอย่างพืชที่มีสารจำพวกแทนนินได้แก่ เบญกานี, กะเมีย (สีเสียดเทศ), โกฐน้ำเต้า เป็นต้น

เทอร์ปีนอยส์[แก้]

เทอร์ปีนอยส์เป็นสารในกลุ่มสารอินทรีย์ที่พบมากในพืชชั้นสูงและพบได้ในส่วนที่หลากหลายของพืช ตั้งแต่เมล็ด ลำต้น ดอก หรือใบ และพบในพืชชั้นต่ำบางชนิดเช่น รา มอส สาหร่าย เป็นต้น แม้แต่ในสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลก็ยังมีการค้นพบสารในกลุ่มนี้เช่นกัน เทอร์ปีนอยส์เกิดจากการเชื่อมต่อกันของไอโซปรีนตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไปทำให้เกิดความหลากหลายของเทอร์ปีนอยส์จนกระทั่ง L.Ruzicka ได้ตั้งกฎการเกิดสารจำพวกเทอร์ปีนอยส์ชื่อว่า "Biogenic Isoprene Rule"[12]

เทอร์ปีนอยส์เป็นสารที่มีชีวสังเคราะห์ผ่านวิธีอะซิเตต - กรดเมวาโลเนต และยังมีสารอีกกลุ่มที่มิได้ผ่านวิถีดังกล่าวซึ่งเรียกสารกลุ่มนี้ว่า "เมโรเทอร์ปีนอยส์" (Meroterpenoids) เช่น วิตามินเคและวิตามินอี เทอร์ปีนอยส์เป็นสารที่ประกอบด้วยส่วนของไฮโดรคาร์บอนในรูปสารประกอบออกซิไดซ์[13] มีการแบ่งประเภทของเทอร์ปีนอยส์ออกเป็นหลายประเภทตามจำนวนการเชื่อมต่อของไอโซปรีน เช่น มอโนเทอร์ปีนอยส์, ไดเทอร์ปีนอยส์, ไตรเทอร์ปีนอยส์ และเตตระเทอร์ปีนอยส์

น้ำมันหอมระเหย[แก้]

การนวดแผนไทย หนึ่งในประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยมีส่วนประกอบสำคัญของสารจำพวกโมโนเทอร์ปีนอยส์เป็นส่วนใหญ่[14] ซึ่งมีรูปแบบของสารกว่า 35 รูปแบบ น้ำมันหอมระเหยเป็นสารที่มีกลิ่น ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิปกติ เมื่อสกัดออกมาใหม่ๆ จะไม่มีสี เมื่อเก็บไว้นานจะมีสีคล้ำขึ้น มีคุณสมบัติสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของพืช เช่น ไล่แมลงรวมถึงศัตรูพืชต่างๆ ล่อให้เกิดการผสมเกสรของพืช เป็นต้น โดยพบอยู่ในพืชเพียงบางวงศ์เท่านั้น โดยพืชจะมีโครงสร้างพิเศษในการเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยไว้ เช่น วงศ์กะเพรา พบน้ำมันในรูปแกลนดูลาร์แฮร์ (glandular hair) หรือวงศ์พริกไทยที่อยู่ในรูปของต่อมเพิร์ล (pearl gland)

น้ำมันหอมระเหยมีองค์ประกอบทางเคมีสองส่วนคือส่วนเทอร์ปีนหรือเทอร์ปีนอยส์ และส่วนสารประกอบอะโรมาติก ทั้งนี้ยังได้มีการจัดจำแนกน้ำมันหอมระเหยเป็นโครงสร้างต่างๆ เช่น พวกที่มีโครงสร้างไฮโดรคาร์บอน, แอลกอฮอล์, แอลดีไฮด์ เป็นต้น ทั้งนี้ล้วนมีคุณสมบัติสำคัญคือการมีกลิ่นเฉพาะตัว, ความสามารถการละลายน้ำที่ไม่ดี และมีค่าดรรชนีหักเหสูงมาก

การสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาใช้งานมีวิธีการหลายรูปแบบ เช่น การกลั่น, การบีบอัด, การดูดกลั่น และการกลั่นปราศจากอากาศ การเลือกวิธีสกัดขึ้นอยู่กับรูปแบบและคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหย เช่นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยจำนวนมากนิยมใช้วิธีการบีบอัด แต่หากมีปริมาณน้อยและอยู่ในเซลล์พืชก็ควรใช้วิธีการดูดกลั่น เป็นต้น

น้ำมันหอมระเหยมีการนำไปใช้ในทางบำบัดที่เรียกว่า "สุคนธบำบัด" โดยให้น้ำมันหอมระเหยไปออกฤทธิ์ต่อร่างกายใน 3 วิธีคือ การออกฤทธิ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางเคมี, การออกฤทธิ์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นหลั่งสารเคมี และการออกฤทธิ์ทางจิตใจ โดยวิธีทางสุคนธบำบัดนั้นจะใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชเท่านั้น และมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ อีก ได้แก่ เครื่องสำอาง, การนวด และการสูดดมกลิ่น แต่ทั้งนี้ควรเจือจางด้วย carrier oil ก่อนการใช้และควรทดสอบการแพทย์ก่อนการใช้งาน

ยางไม้และสารประกอบ[แก้]

ยางไม้ (resin) เป็นสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอนที่หลั่งออกมาจากพืชหลายชนิด โดยเฉพาะพืชจำพวกสน

แอลคาลอยด์[แก้]

ยาจากเอนไซม์และโปรตีน[แก้]

ยาจากสิ่งมีชีวิตในทะเล[แก้]

การประยุกต์ใช้[แก้]

การตกแต่งทางศัลยกรรม[แก้]

ยาสมุนไพรและเครื่องสำอาง[แก้]

ภูมิคุ้มกันวิทยา[แก้]

เภสัชกรรมอายุรเวท[แก้]

สารปรุงแต่งทางธรรมชาติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เภสัชเวทสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกา เก็บถาวร 1998-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คำจำกัดความ เรียกข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553
  2. Scribd.com Pharmacognosy เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553
  3. (Part-1).ppt+history+of+pharmacognosy&cd=20&hl=th&ct=clnk&gl=th ksu.edu.sa[ลิงก์เสีย] Pharmacognosy-I PHG 251 เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553
  4. pharm.shams.edu.eg Medical Botany เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553
  5. DR.C.K.Kokate, Prof.A.P. Purohit, Prof.H.B. Gokhale. Pharmacognosy. Narali Prakashan; 2008.
  6. Dr.Showkat Rasool Mir. Pharmacognosy: Different Systems of Classification of Crude Drugs. Faculty of Pharmacy Jamia Handard;2007.
  7. Brito-Arias, Marco (2007). Synthesis and Characterization of Glycosides. Springer. ISBN 978-0-387-26251-2.
  8. รศ.ภญ.อิงอร มันทรานนท์. Quinone คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย;2551.
  9. อ.ภญ.ดร.วิชชุดา ธนกิจเจริญพัฒน์. Coumarins. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย;2551.
  10. 10.0 10.1 รศ.ภก.ดร.วิเชียร จงบุญประเสริฐ. สารฝาด (Tannins หรือ Polyphenols). คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย;2548.
  11. psu.ac.th เก็บถาวร 2007-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ใบฝรั่ง เรียกข้อมูลวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553
  12. L. Ruzicka. "The isoprene rule and the biogenesis of terpenic compounds" Journal Cellular and Molecular Life Sciences. 0ctober, 1953 (Volume 9, Number 10). Page 357 - 367.
  13. ผศ.ภก.สุรพงษ์ เก็งทอง. Terpenoids คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2550.
  14. [www.scisoc.or.th/stt/31/sec_f/paper/stt31_F0036.pdf scisoc.or.th] เรียกข้อมูลวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553