นกกาน้ำเล็ก
นกกาน้ำเล็ก | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Pelecaniformes |
วงศ์: | Phalacrocoracidae |
สกุล: | Microcarbo |
สปีชีส์: | M. niger |
ชื่อทวินาม | |
Microcarbo niger (Vieillot, 1817) | |
ชื่อพ้อง | |
|
นกกาน้ำเล็ก (อังกฤษ: Little cormorant, Javanese cormorant; ชื่อวิทยาศาสตร์: Microcarbo niger) เป็นนกชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกกาน้ำ (Phalacrocoracidae)
เป็นนกกาน้ำขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 51-56 เซนติเมตร น้ำหนัก 360-525 กรัม ความกว้างระหว่างปลายปีกทั้งสอง 90 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ขนตามลำตัวมีสีดำเหลือบน้ำเงิน ตรงปีกมีสีน้ำตาลปน บริเวณรอบตามีจุดสีขาวขนาดเล็ก ใต้คางมีสีครีม แต่ขนชุดนอกและในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกัน นอกฤดูผสมพันธุ์ ปากสีเนื้อแกมเทาหม่น ขนทั่วทั้งหัว, ลำคอ, ลำตัว ปีกและหางสีน้ำตาลแกมดำ แต่ขนบริเวณไหล่และปีกสีค่อนข้างเทา แต่ขอบขนสีดำ คางค่อนข้างขาว ในฤดูผสมพันธุ์ ปากสีค่อนข้างดำ หัว, ลำคอ, อก, ท้อง, สีข้างและขนคลุมใต้โคนหางเปลี่ยนเป็นสีดำเหลือบน้ำเงินและเขียว บนกระหม่อมขนคลุมหู และท้ายทอยมีลายริ้วสีขาว
พบกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรป, แอฟริกา และในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย, จีน, พม่า, อินโดจีน, มาเลเซีย, ชวา และในประเทศไทยพบทั่วไปทุกภาค จัดเป็นนกกาน้ำชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด[2]
อาศัยอยู่ตามหนองบึง, แม่น้ำ, ลำคลอง หรือท้องนา จับปลาขนาดเล็กจำพวกปลาตะเพียนกินเป็นอาหาร ส่วนใหญ่ชอบอยู่ตามลำพัง บางครั้งอาจพบอยู่รวมกันเป็นฝูงบ้าง ชอบดำน้ำไล่จับปลาเป็นอาหาร เมื่อขึ้นจากน้ำมักจะยืนกางปีกตากแดดให้ขนแห้ง
นกกาน้ำเล็กผสมพันธุ์ในราวเดือนกรกฎาคม ทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่รวมกันหลายรังบนต้นเดียวกัน ทำรังด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ ขัดสานไว้อย่างหยาบ ๆ และวางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย[3] [4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก IUCN (อังกฤษ)
- ↑ Harrison, Peter; Peterson, Roger Tory (1991). Seabirds: A Complete Guide to the Seabirds of the World (Helm Identification Guides) . Christopher Helm Publishers Ltd. ISBN 071363510X.
- ↑ "นกกาน้ำเล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-24. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Microcarbo niger ที่วิกิสปีชีส์