การแปลการพินิจภายในผิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Introspection illusion)
ส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่น้ำขึ้นไปมักจะใช้เพื่อแสดงอุปมาของจิตเหนือสำนึกและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ส่วนที่โผล่ขึ้นเห็นได้ง่าย (จิตเหนือสำนึก) แต่ว่าเป็นส่วนที่มีรูปร่างขึ้นอยู่กับส่วนที่มองไม่เห็นที่ยิ่งใหญ่กว่า (จิตใต้สำนึก)

การแปลการพินิจภายในผิด[1] (อังกฤษ: introspection illusion) เป็นความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) ที่เราคิดอย่างผิด ๆ ว่า เรามีความเข้าใจโดยประจักษ์ โดยผ่านการพินิจภายใน (introspection) เกี่ยวกับเหตุเกิดของสภาวะจิตใจของเรา ในขณะที่ไม่เชื่อถือการพินิจภายในของผู้อื่น ในบางกรณี การแปลสิ่งเร้าผิดชนิดนี้ ทำให้เราอธิบายพฤติกรรมของตนเองอย่างมั่นใจแต่ผิดพลาด หรือทำให้พยากรณ์สภาวะหรือความรู้สึกทางจิตใจของตนในอนาคตที่ไม่ถูกต้อง

มีการตรวจสอบการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ในการทดลองทางจิตวิทยา ซึ่งเสนอการแปลการพินิจภายในผิดว่าเป็นเหตุของความเอนเอียง เมื่อเราเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มีการตีความผลงานทดลองเหล่านี้ว่า แทนที่จะให้ข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นเหตุของสภาวะจิตใจของตน การพินิจภายในเป็นกระบวนการสร้าง (construction) และอนุมาน (inference) เหตุของสภาวะจิตใจ เหมือนกับที่เราอนุมานสภาพจิตใจของคนอื่นจากพฤติกรรม[2]

เมื่อเราถือเอาอย่างผิด ๆ ว่า การพินิจภายในที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนที่ตรงกับความจริง ผลที่ได้อาจจะเป็นการปรากฏของการแแปลสิ่งเร้าผิดว่าเหนือกว่า (illusory superiority) ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น เราแต่ละคนจะคิดว่าเรามีความคิดที่เอนเอียงน้อยกว่าผู้อื่น และมีความคิดที่เห็นตามผู้อื่นน้อยกว่าคนอื่น และแม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะได้รับรายงานของการพินิจภายในของผู้อื่น ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ยังจะตัดสินว่า เป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ ในขณะที่ถือเอาการพินิจภายในของตนว่า เชื่อถือได้ แม้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ จะให้ความเข้าใจความกระจ่างชัดเกี่ยวกับผลงานวิจัยทางจิตวิทยาบางอย่าง แต่หลักฐานที่มีอยู่ไม่อาจจะบอกได้ว่า การพินิจภายในนั้นเชื่อถือได้ขนาดไหนในสถานการณ์ปกติ[3] การแก้ปัญหาความเอนเอียงที่เกิดจากการแปลสิ่งเร้าผิดประเภทนี้ อาจเป็นไปได้ด้วยการศึกษาเรื่องความเอนเอียง และเรื่องการเกิดขึ้นใต้จิตสำนึกของความเอนเอียง[4]

องค์ประกอบ[แก้]

นักวิชาการ (Emily Pronin) ที่บัญญัติใช้คำว่า "introspection illusion" เป็นครั้งแรกอธิบายว่า เป็นการแปลสิ่งเร้าผิดที่มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ[5]

  1. เราให้ความสำคัญกับหลักฐานที่มาจากการพินิจภายใน (introspection) เมื่อทำการประเมินตนเอง
  2. เราไม่ให้ความสำคัญกับหลักฐานที่มาจากการพินิจภายใน เมื่อทำการประเมินผู้อื่น
  3. เราไม่สนใจพฤติกรรมของตนเองเมื่อทำการประเมินตน (แต่ใส่ใจในพฤติกรรมของผู้อื่น เมื่อทำการประเมินผู้อื่น)
  4. เราให้ความสำคัญการพินิจภายในของตนมากกว่าของผู้อื่น และไม่ใช่เพียงว่า เป็นเพราะขาดข้อมูลเกี่ยวกับการพินิจภายในของผู้อื่น แต่เป็นเพราะคิดว่าการพินิจภายในของตนเท่านั้นเชื่อถือได้[6]

ความเชื่อถือไม่ได้ของการพินิจภายใน[แก้]

การพินิจภายในไม่ได้ให้ข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการจิตใต้สำนึก

แต่ควรจะพิจารณาว่า เป็นกระบวนการที่เราใช้ส่วนประกอบ (content) ของจิตใจเพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับตน (personal narrative)

ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสภาพจิตใต้สำนึกก็ได้

จากบทความ Self-Knowledge: Its Limits, Value, and Potential for Improvement (ความรู้ตน จุดจำกัด คุณค่า และโอกาสการพัฒนา)[7]

ในผลงานวิจัยปี ค.ศ. 1977 นักจิตวิทยาริชารด์ นิสเบ็ตต์ และทิมโมที วิลสัน คัดค้านความคิดว่า การพินิจภายในนั้นเข้าถึงกระบวนการจิตใจได้โดยตรง และเชื่อถือได้ ซึ่งกลายเป็นผลงานวิจัยที่มีการอ้างอิงกันมากที่สุดในงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจ[8][9] เป็นผลงานที่รายงานการทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองต้องอธิบายทางปากว่า ทำไมจึงมีความชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า มีความคิดอย่างนี้ได้อย่างไร โดยอาศัยข้อมูลจากงานเหล่านี้ และงานวิจัยเกี่ยวกับการอ้างเหตุ (attribution หรือ การบ่งชี้เหตุ) อื่น ๆ นักวิจัยทั้งสองสรุปว่า รายงานเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตใจของตนเป็นเรื่องกุขึ้น (confabulated) โดยรายงานว่า ผู้ร่วมการทดลอง "ไม่มีหรือแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทางประชาน (cognitive process) ในระดับสูงโดยการพินิจภายใน"[10] นักวิจัยแยกแยะระหว่าง ส่วนประกอบของจิตใจ (contents) เช่นความรู้สึก และกระบวนการของจิต (process) โดยอ้างว่า การพินิจภายในสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบของจิตได้ แต่กระบวนการนั้นเข้าถึงไม่ได้[8]

ผลงานวิจัยต่าง ๆ ยืนยันว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับการพินิจภายในที่มีสมรรถภาพจำกัด รูปแสดงประสาทสัมผัสของมนุษย์

แม้ว่าจะมีงานทดลองที่สืบมาจากงานของนิสเบ็ตต์และวิลสันมาบ้าง แต่ความยากลำบากในการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับข้อมูลที่เข้าถึงได้โดยการพินิจภายใน มีผลให้ไม่มีการพัฒนาด้านผลงานวิจัยในประเด็นนี้[9] งานปริทัศน์ที่ทำ 10 ปีให้หลังคัดค้านงานวิจัยดั้งเดิมนั้นหลายอย่าง รวมทั้งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนิยามของคำว่า "กระบวนการ" ที่ใช้ และเสนอว่า การทดสอบที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ ว่าการพินิจภายในสามารถให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับจิตใจได้ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก[3]

ในปี ค.ศ. 2002 วิลสันยอมรับว่า ข้ออ้างที่ได้ทำในปี ค.ศ. 1977 นั้นกว้างเกินไป[10] และได้เปลี่ยนมามีความเห็นว่า adaptive unconscious (กระบวนการจิตใต้สำนึก ที่เป็นการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม) เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุแห่งการรับรู้ (perception) และพฤติกรรม โดยมาก และเมื่อให้เรารายงานถึงกระบวนการทางจิตใจของเราเอง เราจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการที่เป็นไปใต้สำนึกของจิตใจเหล่านี้ได้[11] แต่แทนที่เราจะยอมรับว่า ไม่รู้ เรากับกุคำอธิบาย (confabulate) ที่พอเป็นไปได้ขึ้น และดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่าตนเองไม่รู้[12]

มีไอเดียทางปรัชญาบางอย่าง (eliminative materialism) ว่า มนุษย์อาจมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจของตน และว่า แนวคิดในเรื่องบางเรื่องเช่น "ความเชื่อ" หรือว่า "ความเจ็บปวด" จะปรากฏความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างไปจากที่คิดกันทุกวันนี้

นักจิตวิทยาเรียกการเดาอย่างผิด ๆ ที่เราใช้อธิบายกระบวนการความคิดของตนเองว่า "causal theories" (ทฤษฎีเหตุผล)[13] คือว่า คำอธิบายของเรา (ที่นักจิตวิทยาเรียกว่าทฤษฎีเหตุผล) เกี่ยวกับเหตุของการกระทำที่ทำแล้ว มักจะใช้เพียงเพื่อแก้ต่างพฤติกรรมของตน เพื่อบรรเทาความไม่ลงรอยกันทางประชาน (cognitive dissonance) ซึ่งก็หมายความว่า เราอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นเหตุจริง ๆ ของพฤติกรรมของตน แม้ว่ากำลังพยายามที่จะอธิบายอยู่ ผลก็คือ คำอธิบายที่เรามีมักจะเป็นไปเพื่อความรู้สึกที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตัวเราเท่านั้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ชายคนหนึ่งอาจจะมีการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศ เพราะว่าตนจริง ๆ แล้วอายว่า มีความรู้สึกชอบใจผู้ชายอื่น เขาอาจจะยอมรับความจริงนี้แม้ต่อตัวเองก็ไม่ได้ แต่อธิบายความเดียดฉันท์ของตนว่า เป็นเพราะว่าการรักร่วมเพศไม่เป็นธรรมชาติ

มีงานวิจัยที่วัดขอบเขตความแม่นยำของการพินิจภายใน โดยรวบรวมรายงานจากหญิงคนหนึ่งที่สมมุติชื่อว่า เมลานี่ เมลานี่จะพกวิทยุตามตัวตัวหนึ่ง ที่จะส่งเสียงโดยสุ่ม เพื่อให้เธอสังเกตว่า เธอกำลังรู้สึกและคิดอะไรอยู่ แต่เมื่อทำการวิเคราะห์รายงานของเธอแล้ว นักวิจัยกลับมีความคิดต่าง ๆ กันเกี่ยวกับผลที่ได้ เกี่ยวกับการตีความที่ถูกต้องของสิ่งที่เมลานี่อ้าง และเกี่ยวกับความแม่นยำของการพินิจภายในของเธอ หลังจากการถกเถียงที่ไม่ได้จบลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นักวิจัยทั้งสองมีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกัน คนหนึ่งมองในแง่ดี และอีกคนหนึ่งมองในแง่ร้าย ในประเด็นความแม่นยำของการพินิจภายใน[14]

องค์ประกอบของความแม่นยำ[แก้]

นิสเบ็ตต์และวิลสันมีสมมติฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความแม่นยำของการพินิจทางประชานภายในที่รายงานด้วยตนเอง คือ[8]

  • ความเข้าถึงได้ง่าย (Availability) คือ สิ่งเร้าที่ชัดเจน (เนื่องจากพึ่งเกิดขึ้นหรือว่าน่าจดจำ) ที่สามารถระลึกถึงได้ง่ายกว่า ก็จะได้รับพิจารณาว่าเป็นเหตุของการตอบสนองที่เกิดขึ้นหรือไม่
  • ความพอเป็นไปได้ (Plausibility) คือ สิ่งเร้าที่เราเห็นว่า มีโอกาสเพียงพอที่จะเป็นเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะมีอิทธิพลต่อการรายงานถึงสิ่งเร้านั้นว่าเป็นเหตุ
  • การย้ายออกไปตามเวลา (Removal in time) คือ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ยิ่งผ่านมาแล้วนานเท่าไร ก็จะเข้าถึงได้ยากขึ้น คือระลึกถึงได้อย่างแม่นยำน้อยลงเท่านั้น
  • กลไกการตัดสินใจ (Mechanics of judgment) มีองค์ประกอบทางการตัดสินใจที่เราไม่รู้ว่ามีอิทธิพลต่อเรา ทำให้การรายงานตนมีความคลาดเคลื่อน
  • สิ่งแวดล้อม (Context) การเพ่งเล็งใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของวัตถุ จะทำให้เขวไปจากการประเมินวัตถุนั้น ๆ และสามารถทำให้เราเชื่ออย่างผิด ๆ ว่า สิ่งแวดล้อมของวัตถุเป็นตัวแทนของวัตถุนั้น
  • การไม่เกิดขึ้นของเหตุการณ์ (Nonevents) คือ การไม่เกิดขึ้นของเหตุการณ์จะมีความชัดเจนน้อยกว่า แล้วเข้าถึงได้ยากมากกว่า ทำให้การไม่เกิดขึ้นของเหตุการณ์มีอิทธิพลน้อยมากต่อการรายงานตน
  • พฤติกรรม (ของผู้อื่น)ที่ไม่ใช้เสียง (Nonverbal behavior) คือ แม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับคนอื่นโดยพฤติกรรมที่ไม่ใช้เสียง แต่สมรรถภาพการสื่อสารที่ดีของคำพูด และความยากลำบากในการแปลพฤติกรรมอื่น ๆ ให้เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับคำพูด ทำให้มีการรายงานถึงพฤติกรรมเหล่านี้น้อยกว่า
  • ความแตกต่างกันระหว่างขนาดของเหตุและผล คือ ดูเหมือนว่า การสมมุติว่า เหตุที่มีขนาดหนึ่ง จะสามารถทำให้เกิดผลที่มีขนาดใกล้ ๆ กัน จะเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ดังนั้น เราอาจจะไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่มีขนาดต่างกัน (เช่นไม่สามารถเชื่อมโยงการเริ่มใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ว่าเป็นเหตุของความเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางซับซ้อนที่เป็นผลในสิ่งแวดล้อม)

ความไม่รู้ตัวในเรื่องความคลาดเคลื่อน[แก้]

นอกจากนั้นแล้ว นิสเบ็ตต์และวิลสันยังมีสมมติฐานที่อธิบายว่าทำไม่เราถึงไม่รู้ตัวถึงความคลาดเคลื่อนที่มีในการพินิจภายใน คือ[8]

  • ความสับสนระหว่างส่วนประกอบ (เช่นความรู้สึก) และกระบวนการของจิตใจ คือ เราปกติจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการที่เป็นเหตุของการตัดสินใจโดยตรง แต่จะสามารถระลึกถึงขั้นตอนในระหว่างอย่างหนึ่ง แต่ว่า ขั้นตอนที่ระลึกได้ก็ยังเป็นส่วนประกอบของจิตใจ ไม่ใช่กระบวนการ ความสับสนระหว่างส่วนประกอบและกระบวนการทางจิตใจทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของตนเอง (แต่ว่า มีการวิจารณ์นักวิจัยทั้งสองว่า ไม่ได้ให้คำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับความแตกต่างกัน ระหว่างส่วนประกอบและกระบวนการทางจิตใจ)
  • ความรู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาเฉพาะอย่างต่อสิ่งเร้าที่เคยมีมาก่อน คือ ความเชื่อว่า เรามีปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสิ่งเร้า (คือเรารู้ว่าสิ่งเร้าเช่นนี้ ปกติจะทำให้เกิดปฏิกิริยาในเราอย่างนี้ แต่ในเหตุการณ์มีความผิดปกติ) ซึ่งเป็นเรื่องที่พยากรณ์ไม่ได้โดยบุคคลอื่น ดูเหมือนจะสนับสนุนความสามารถในการพินิจภายในจริง ๆ แต่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและปฏิกิริยา (คือค่าความแปรปรวนร่วมเกี่ยวเชิงบวก) อาจจะไม่มีจริง ๆ และปฏิกิริยาที่ไม่สมกับค่าความแปรปรวนร่วมเกี่ยวเป็นเรื่องที่เกิดน้อยมาก เนื่องจากความแปรปรวนร่วมเกี่ยวที่มีเนื่องจากเหตุการณ์ผิดปกติ เป็นเรื่องที่มีน้อย
  • ความแตกต่างระหว่างการให้ทฤษฎีเหตุผลของวัฒนธรรมต่าง ๆ คือ ความแตกต่างกันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้เราให้ทฤษฎีเหตุผล (คือคำอธิบายเหตุของการกระทำของเรา) ต่าง ๆ กันในสิ่งเร้าแต่ละอย่าง ดังนั้น บุคคลภายนอกวัฒนธรรมของเราย่อมไม่สามารถที่จะแยกแยะเหตุของการกระทำเท่ากับบุคคลในวัฒนธรรมนั้น ๆ ทำให้บุคคลในวัฒนธรรมผู้ทำการพินิจภายในปรากฏเหมือนว่า ตนมีความสามารถในการเข้าใจกระบวนการตัดสินใจมากกว่าผู้อื่น
  • ความรู้เกี่ยวกับการใส่ใจและความตั้งใจ คือ เราอาจจะรู้ว่าตนไม่ได้ใส่ใจสิ่งเร้าหนึ่ง ๆ หรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะกระทำสิ่งหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ที่คนอื่นไม่มี ทำให้เหมือนกับเป็นการพินิจภายในที่ตรงกับความจริง แต่ว่า นักวิจัยทั้งสองให้ข้อสังเกตว่า ความจริงแล้ว ความรู้เช่นนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจผิด โดยเฉพาะในกรณีที่การใส่ใจ/ความตั้งใจนั้นไม่ได้มีอิทธิพลจริง ๆ อย่างที่เราคิด
  • ข้อมูลป้อนกลับที่มีไม่พอ คือ โดยธรรมชาติแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะคัดค้านความเป็นจริงของข้อมูลที่ได้จากการพินิจภายในในชีวิตประจำวัน เพราะว่าโดยปกติไม่สามารถทดสอบได้ และคนอื่น ๆ ก็มักจะไม่ตั้งความสงสัยในการพินิจภายในของเรา นอกจากนั้นแล้ว ถ้าทฤษฎีเหตุผลสามารถคัดค้านได้โดยความจริง เป็นเรื่องง่ายที่เราจะอ้างเหตุผลอื่น ๆ ว่า ทำไมหลักฐานความจริงที่มีอยู่ไม่ได้คัดค้านทฤษฎีของเราได้จริง ๆ
  • แรงจูงใจอื่น ๆ คือ การตั้งความสงสัยในสมรรถภาพของตนเองในการเข้าใจเหตุการกระทำของตน เป็นเหมือนกับถูกคนอื่นคุกคามข่มขู่อัตตาและความรู้สึกว่า เราสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยพิจารณาเรื่องนี้ แต่จะพิทักษ์ความเชื่อว่า เราสามารถทำการพินิจภายในที่ตรงกับความจริง

ความบอดต่อการเลือก[แก้]

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ได้แรงจูงใจจากงานของนิสเบ็ตต์และวิลสัน ได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ร่วมการทดลอง เกี่ยวกับความชอบใจของตนโดยใช้เทคนิคใหม่ คือ มีการให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปบุคคลสองรูป แล้วถามว่า คนไหนสวยหรือหล่อกว่า หลังจากนั้น ก็จะให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปที่ "เลือก" อย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง แล้วให้อธิบายเหตุการตัดสินเลือกรูปของตน แต่ว่า ในการทดลองส่วนหนึ่ง ผู้ทำการทดลองจริง ๆ แล้วจะให้ผู้ร่วมการทดลองดูรายละเอียดอีกทีของรูปที่ตนไม่ได้เลือก โดยสลับรูปที่อยู่ในมือโดยใช้เทคนิคของนักมายากล[15] ผู้ร่วมการทดลองโดยมากสังเกตไม่ได้ว่า รูปที่กำลังดูจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่รูปที่ตนเองเลือกไม่กี่วินาทีก่อน แต่ว่า ผู้ร่วมการทดลองเป็นจำนวนมากจะกุคำอธิบายว่า ทำไมถึงชอบใจรูปนั้น ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งกล่าวว่า "ผมชอบรูปนี้เพราะว่าผมชอบคนมีผมสีทอง" ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ตนเลือกเอารูปผู้หญิงมีผมสีเข้ม แต่ผู้ทำการทดลองยื่นรูปหญิงผมสีทองให้ (ว่าเป็นรูปที่เขาเลือก)[9] เพราะฉะนั้น คำอธิบายของผู้ร่วมการทดลองต้องเป็นเรื่องที่กุขึ้น เพราะว่า เป็นคำอธิบายการกระทำที่ความจริงแล้วตนไม่ได้ทำ[16]

แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองประมาณ 70% จะถูกหลอก คือไม่มีความสงสัยอะไรเลยว่าได้มีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้น แต่ว่า คำให้การของผู้ร่วมการทดลองที่ถูกหลอกร้อยละ 84 หลังจากผ่านการทดลองแล้วกลับบอกว่า ตนคิดว่าจะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนรูปอย่างนี้ได้ถ้าทำต่อหน้า นักวิจัยได้บัญญัติคำว่า "choice blindness" (ความบอดต่อการเลือก) ว่าหมายถึง ความล้มเหลวในการตรวจจับความไม่ตรงกัน (ระหว่างสิ่งที่ตนเลือก กับสิ่งที่กล่าวถึงในภายหลัง)[17]

งานทดลองที่ติดตามมาอีกงานหนึ่ง ให้คนที่กำลังช็อปปิ้งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชิมรสชาติของแยมสองอย่าง แล้วให้อธิบายว่าทำไมจึงเลือกแยมชนิดนั้นในขณะที่ชิมแยมที่ "เลือก" อีก ซึ่งผู้ทำการทดลองสับเปลี่ยน นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีอีกงานทดลองหนึ่งที่ทำโดยใช้การชิมชาอีกด้วย[18] และก็ยังมีงานทดลองแบบเดียวกับอีกงานหนึ่ง ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองเลือกวัตถุสองอย่างที่แสดงในสไลด์ของไมโครซอฟท์ พาวเวอร์พอยต์ แล้วให้อธิบายเหตุผลที่เลือก ทั้ง ๆ ที่ความจริงได้มีการสับเปลี่ยนสิ่งที่ตนเลือกแล้ว[19]

งานวิจัยอีกงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ก็ยังแสดงหลักฐานคัดค้านความคิดว่า ผู้ร่วมการทดลองสามารถเข้าใจโดยการพินิจภายในว่า ลักษณะอะไรในคนอื่นเป็นตัวดึงดูดความสนใจของตน คือนักวิจัยตรวจสอบรายงานของผู้ร่วมการทดลองว่า อะไรเป็นตัวดึงดูดความสนใจของตนในเพศตรงกันข้าม ผู้ชายมักจะรายงานว่า รูปร่างความสวยงามเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ผู้หญิงมักจะรายงานว่า ความสามารถในการหารายได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ว่า ผลจากรายงานไม่สามารถใช้พยากรณ์การเลือกคู่ออกเดตได้ และไม่สามารถพยากรณ์พฤติกรรมเกี่ยวกับคู่ที่เลือกหนึ่งเดือนหลังจากนั้น[20]

โดยสอดคล้องกับทฤษฎีความบอดต่อการเลือก นักวิจัยพบว่า เราสามารถถูกหลอกให้เชื่อได้ง่าย ๆ โดยใช้ตัวเตือนความจำที่ผิด ๆ ว่าเราได้เลือกอะไรสิ่งหนึ่งที่ความจริงแล้วไม่ได้เลือก มีผลเป็นการแสดง choice-supportive bias (ความเอนเอียงสนับสนุนการเลือก) ในความทรงจำไม่ว่าจะเชื่อว่าได้เลือกอะไร[21]

คำวิจารณ์[แก้]

ยังไม่ชัดเจนว่า การค้นพบเกี่ยวกับความบอดต่อการเลือกมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงหรือไม่ เพราะว่า เรามีเวลามากกว่าที่จะคิดถึงและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับใบหน้าที่เห็น (แทนที่จะเป็นรูป)[22] นักวิชาการท่านหนึ่งบ่งว่า

แม้ว่าทฤษฎี (คำอธิบาย) ที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของคำอธิบายเหตุการกระทำของเรา แต่ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบเดียวที่มีอิทธิพล เหมือนอย่างที่นิสเบ็ตต์และวิลสันได้ตั้งสมมติฐานไว้ตั้งแต่ต้น (คือ) ผู้กระทำจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่คนอื่นไม่มี รวมทั้งการเข้าถึงโดยการพินิจภายในในระดับหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งเร้าที่เป็นเหตุในประเด็น และเกี่ยวกับกระบวนการทางความคิด และมีข้อมูลที่ดีกว่า (คนอื่น) เกี่ยวกับความแปรปรวนร่วมเกี่ยวระหว่างสิ่งเร้า-ปฏิกิริยา ในเรื่องพฤติกรรมของตนเอง[23]

การเปลี่ยนทัศนคติ[แก้]

งานวิจัยที่ให้ผู้ร่วมการทดลองพินิจในภายในเพื่อหาเหตุ (ในการชอบ การเลือก หรือว่า การเชื่อ ในบางสิ่งบางอย่าง) บ่อยครั้งจะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันของทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ร่วมการทดลองที่ลดลงหลังจากการพินิจภายในนั้น[24] ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1984 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า ตนมีความสนใจเกี่ยวกับเกมปริศนาที่ได้รับในระดับไหน แต่ก่อนที่จะให้คะแนน มีการให้กลุ่มหนึ่งคิดถึงและเขียนเหตุผลที่ชอบหรือไม่ชอบเกมปริศนา ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ต้องทำ หลังจากนั้น ก็จะมีการบันทึกเวลาที่ผู้ร่วมการทดลองใช้เล่นแก้ปัญหาปริศนา ปรากฏว่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่ให้และเวลาที่เล่นของกลุ่มทดลอง มีระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมมาก[25]

งานทดลองที่ติดตามมาตรวจดูว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ๆ หรือไม่ คือ ในงานนี้ ผู้ร่วมการทดลองล้วนแต่มีแฟนที่ไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอแล้ว มีการให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า ตนเข้ากันได้ดีกับแฟนในระดับไหน มีการให้กลุ่มหนึ่งทำรายการเหตุผลว่าทำไมตนจึงมีความรู้สึกเช่นนั้น ๆ กับแฟน ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ต้องทำ อีกหกเดือนต่อมา มีการเช็คผู้ร่วมการทดลองว่ายังมีแฟนคนเดียวกันหรือไม่ กลุ่มที่มีการพินิจภายในมีความสอดคล้องกันระหว่างทัศนคติ-พฤติกรรม ซึ่งก็คือระดับสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่ให้และการมีแฟนคนเดียวกัน ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ผลงานทดลองแสดงว่า การพินิจภายในไม่ใช่เพียงแต่เป็นตัวพยากรณ์ที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ว่า การพินิจภายในเองอาจจะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ฉันแฟนนั้น[25]

ผู้ทำงานวิจัยมีทฤษฎีว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากผู้ร่วมการทดลองเปลี่ยนทัศนคติ เมื่อต้องอธิบายเหตุผลความรู้สึกของตน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ระดับสหสัมพันธ์ระหว่างองค์สองอย่างนี้ลดลง ผู้ทำงานวิจัยมีสมมติฐานว่า การเปลี่ยนทัศนคติเป็นผลจากองค์ประกอบหลายอย่างคือ

  • ความต้องการจะเลี่ยงความรู้สึกว่าเหลวไหลที่ไม่รู้แม้เพียงว่าทำไมตนจึงรู้สึกอย่างนี้
  • ความโน้มเอียงในการอ้างเหตุที่ต้องเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แม้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องความรู้สึกทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น
  • การไม่รู้จักความเอนเอียงทางจิตต่าง ๆ
  • และความเชื่อว่า เหตุผลที่ตนคิดต้องตรงกับทัศนคติที่ตนมี

สาระสำคัญก็คือ เราพยายามที่จะสร้างเหตุผลที่ดีเมื่อต้องอธิบายเหตุผล ซึ่งมักจะนำไปสู่การกล่อมตนเองว่า ตนจริง ๆ มีความเชื่อ (คือมีทัศนคติ) อีกอย่างหนึ่ง (ที่ไม่เข้ากับพฤติกรรม)[24]

ส่วนในงานทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองเลือกสิ่งของที่จะเก็บไว้ ปรากฏว่ารายงานถึงความพอใจต่อสิ่งของนั้นจะลดระดับหลังจากการเลือกนั้น ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ทัศนคติมีการเปลี่ยนไปเพียงชั่วคราว แต่จะกลับไปที่ระดับเดิมเมื่อเวลาผ่านไป[26] (คือการพินิจภายในมีผลเปลี่ยนทัศนคติหรือการแสดงความชอบใจในสิ่งนั้น แต่มีผลเพียงชั่วคราว ความชอบใจในสิ่งนั้นจะกลับไปที่จุดเดิม)

การพินิจความรู้สึกภายใน[แก้]

ตรงกันข้ามกับการพินิจภายในที่อาศัยเหตุผล เมื่อผู้ร่วมการทดลองทำการพินิจความรู้สึกภายใน ปรากฏกว่า ระดับสหสัมพันธ์ของทัศนคติ-พฤติกรรมจะเพิ่มขึ้น[24] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า การพินิจความรู้สึกภายใน ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่ก่อโทษมากกว่าประโยชน์ (คือไม่เป็น maladaptive)

ทฤษฎีเหตุผลที่ไม่อาศัยประสบการณ์[แก้]

ในผลงานวิจัยคลาสสิกของพวกเขา นิสเบ็ตต์และวิลสันเสนอว่า เรื่องกุที่เกิดจากการพินิจภายใน มาจากทฤษฎีเหตุผลที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์ (คือเป็นคำอธิบายที่ไม่ได้อาศัยประสบการณ์) ซึ่งพวกเขาเสนอแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ 4 อย่าง คือ[8]

  • กฎที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งในวัฒนธรรม (เช่น ให้หยุดเมื่อไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีแดง)
  • เหตุผลทางวัฒนธรรมที่ไม่ชัดแจ้ง (เช่นนักกีฬารับรองยี่ห้อ ๆ หนึ่งเพราะว่าได้รับจ้างให้ทำอย่างนั้น)
  • การสังเกตการณ์ที่มีเฉพาะตน ๆ ที่นำไปสู่การสร้างทฤษฎีความแปรปรวนร่วมเกี่ยว (เช่นถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ในเหตุการณ์นี้ ก็จะเป็นเพราะเหตุอย่างนี้)
  • ความคล้ายคลึงกันอะไรบางอย่างระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองที่เกิดขึ้น

นิสเบ็ตต์และวิลสันให้ข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลโดยอาศัยเหตุเหล่านี้ ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่ความคิดผิด ๆ แต่ว่า ความคิดผิด ๆ เกิดขึ้นเพราะว่า ไม่ได้ประยุกต์ใช้องค์เหล่านี้อย่างถูกต้องในคำอธิบายเหตุผล

ในการอธิบายความเอนเอียงต่าง ๆ[แก้]

มีนักวิชาการที่เสนอว่า ความเอนเอียงหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะการใส่ใจมากเกินไปต่อความตั้งใจที่มี ยกตัวอย่างเช่น โดยใส่ใจในความตั้งใจดีที่มีอยู่ในขณะนี้ เราอาจจะประเมินโอกาสที่จะทำผิดศีลธรรมต่ำเกินไป[27]

การสำนึกรู้ถึงความเอนเอียง[แก้]

มีปรากฏการณ์ที่รู้จักกันชัดเจนแล้วอย่างหนึ่งคือ bias blind spot (จุดบอดเรื่องความเอนเอียง) ที่เราประเมินตนเองว่า มีโอกาสที่จะมีความเอนเอียงน้อยกว่าคนอื่นในกลุ่มเดียวกัน มีนักวิชาการที่เสนอว่า ปรากฏการณ์นี้มีได้เพราะการแปลการพินิจภายในผิด[28] ในงานทดลองของนักวิชาการเหล่านั้น มีการให้ผู้ร่วมการทดลองทำการประเมินตนเองและผู้ร่วมการทดลองอื่น[29] ผู้ร่วมการทดลองปรากฏว่ามีความเอนเอียงปกติทั่ว ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น มีการให้คะแนนตนเองมากกว่าผู้อื่นในเรื่องคุณลักษณะต่าง ๆ (แสดงว่ามีความเอนเอียงประเภท illusory superiority) ต่อจากนั้น ผู้ทำการทดลองก็อธิบายเรื่องความเอนเอียงทางประชาน และถามผู้ร่วมการทดลองว่า การประเมินของผู้ร่วมการทดลองได้รับอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนเองว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อความเอนเอียงน้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองอื่น (ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีความเอนเอียงประเภท bias blind spot) และเมื่อต้องอธิบายเหตุผลการประเมินของตน ผู้ร่วมการทดลองใช้วิธีการประเมินที่ต่างกันเมื่อประเมินความเอนเอียงของตนเอง และเมื่อประเมินผู้อื่น[29]

นักวิจัยกลุ่มนี้ตีความว่า เมื่อเราจะประเมินว่าคนอื่นมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะสังเกตดูพฤติกรรมที่แสดงออก ในนัยตรงกันข้ามกัน เมื่อประเมินว่าเราเองมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะมองภายในตัวเรา สังเกตหาความคิดและความรู้สึกที่อาจมีแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความเอนเอียง แต่เนื่องจากว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ทำงานใต้จิตสำนึก ดังนั้น การพินิจภายในเช่นนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์ แต่ว่า เรามักจะเห็นความคิดความรู้สึกเหล่านั้นว่า เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่า ตนเองไม่เสี่ยงต่อความเอนเอียงซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่น[28]

จากนั้นนักวิจัยก็พยายามให้ข้อมูลผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการพินิจภายในของผู้อื่น คือ นักวิจัยอัดเสียงของผู้ร่วมการทดลองที่กล่าวเรื่องที่ตนคิดเมื่อกำลังประเมินตนเองว่า คำตอบที่ให้ในคำถามที่ผ่านมามีอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผลก็คือ แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเชื่อว่าตนเองมีโอกาสน้อยที่จะมีความเอนเอียง แต่ว่าการรายงานการพินิจภายในของตน กลับไม่มีอิทธิพลต่อผู้อื่นเมื่อผู้อื่นประเมินความเอนเอียงของบุคคลนั้น[29]

เมื่อถามว่า การมีความเอนเอียงมีลักษณะอย่างไร ผู้ร่วมการทดลองมักจะกำหนดความเอนเอียงโดยความคิดและแรงจูงใจที่ตนได้พินิจพิจารณา เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเอง แต่จะกำหนดโดยพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่น ส่วนในผู้ร่วมการทดลองที่มีการห้ามไม่ให้ใช้การพินิจภายใน การประเมินความเอนเอียงของตนจะตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น[29]

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีงานทดลองอื่น ๆ ที่แสดงว่า เราไม่สามารถสำนึกถึงความเอนเอียงที่เราเองมี เช่น ในงานทดลองของนิสเบ็ตต์และวิลสัน ซึ่งแสดงว่าเรามีความเอนเอียงในการที่จะเลือกสินค้าขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วางแสดงสินค้า เช่นการทดลองที่แสดงถุงเท้าพบว่า ผู้บริโภคมีความเอนเอียงที่จะเลือกถุงเท้าด้านขวาสุดมากกว่าถุงเท้าด้านซ้ายสุดเป็นอัตราส่วนถึง 4 ต่อ 1 แต่เมื่อมีการถามผู้บริโภคว่า ตนมีความเอนเอียงเช่นนี้หรือไม่ ผู้บริโภคจะบอกว่าไม่มี ซึ่งขัดกับข้อมูลที่ได้ในการทดลอง[8]: 243  ซึ่งอาจจะบ่งถึงการการพินิจภายในที่ไม่แสดงความคิดและแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดความเอนเอียง

การสำนึกรู้การปรับตัวคล้อยตามสังคม[แก้]

ในปี ค.ศ. 2007 มีงานวิจัยที่ศึกษาการกำหนดรู้การปรับตัวคล้อยตามสังคม (conformity) คือ ผู้ร่วมการทดลองรายงานว่า ตนเองสามารถอดทนต่อแรงกดดันในการปรับตัวให้คล้อยตามกับสังคมมากกว่าคนในกลุ่มเดียวกัน โดยสาระก็คือ ผู้ร่วมการทดลองเห็นตนเองว่า เป็นผู้เดียวในกลุ่มบุคคลที่ถูกชักจูงได้ง่าย การแปลการพินิจภายในผิดดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์นี้ เมื่อประเมินว่าคนอื่นเกิดการชักจูงเพราะแรงกดดันทางสังคมหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองจะพิจารณาแต่พฤติกรรมของบุคคลนั้น ยกตัวอย่างเช่น จะอธิบายความคิดเห็นทางการเมืองของคนอื่นว่า เป็นไปตามกลุ่มสังคมอย่างไร แต่ว่าเมื่อประเมินการปรับตัวคล้อยตามสังคมของตนเอง ผู้ร่วมการทดลองเห็นว่าการพินิจภายในของตนนั้นเชื่อถือได้ คือในใจของตนเอง ตนจะไม่พบเหตุจูงใจที่จะปรับตัว และดังนั้น ก็จะประเมินตนว่าไม่ได้รับอิทธิพลจากสังคม[30]

การสำนึกรู้การควบคุมตนเองและเจตจำนงเสรี[แก้]

ศาสตราจารย์จิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ดร. แดเนียล เว็กเนอร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอ้างว่า การแปลการพินิจภายในผิดมีผลต่อความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนย้ายวัตถุโดยใจ (psychokinesis)[31] เขาให้ข้อสังเกตว่า ในชีวิตประจำวันของเรา เจตนา (เช่นเพื่อที่จะเปิดไฟ) จะตามมาด้วยการกระทำ (เช่นการกดสวิตช์ไฟ) อย่างเชื่อถือได้ แต่ว่า กระบวนการที่เชื่อมต่อเหตุการณ์ทั้งสองความจริงแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยจิตเหนือสำนึก ดังนั้น แม้ว่าผู้ร่วมการทดลองอาจจะรู้สึกว่าตนได้ทำการพินิจเจตจำนงภายในของตนโดยตรง แต่ว่า จริง ๆ แล้ว ประสบการณ์ความรู้สึกว่าตนได้ทำการควบคุม ความจริงมาจากการอนุมานความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและการกระทำ นี้เป็นทฤษฎีที่เรียกว่า "apparent mental causation" (การมีใจเป็นเหตุให้เกิดผลโดยประจักษ์)[31] แต่ว่า กระบวนการที่ตรวจจับว่าตนเป็นเหตุของการกระทำหนึ่ง ๆ หรือไม่ ความจริงเชื่อถือไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว อาจทำให้เกิดการแปลสิ่งเร้าผิดว่าควบคุมได้ (illusion of control) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ภายนอกเกิดตาม หรือเกิดตรงกับ ความคิดของเรา ทั้ง ๆ ที่ความคิดนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเหตุให้เหตุการณ์ภายนอกนั้นเกิดขึ้น[31]

เพื่อเป็นหลักฐาน ดร. เว็กเนอร์ได้ยกชุดการทดลองเกี่ยวกับความคิดเชิงไสยศาสตร์ (magical thinking) ที่ผู้ร่วมการทดลองถูกหลอกให้คิดว่า ตนมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ภายนอก ในงานทดลองหนึ่ง ซึ่งให้ผู้ร่วมการทดลองดูนักกีฬาบาสเกตบอลทำการชู้ตลูกโทษ ถ้ามีการให้ผู้ร่วมการทดลองสร้างมโนภาพของนักกีฬาทำการชู้ตลูกโทษ ผู้ร่วมการทดลองจะรู้สึกว่าตนมีอิทธิพลต่อการชู้ตลูกโทษได้สำเร็จเพียงอาศัยความคิดนั้น[32]

ถ้าการแปลการพินิจภายในผิดมีผลให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยถึงเจตจำนงเสรีจริง ๆ เราก็ควรที่จะอ้างถึงเจตจำนงเสรีในตนเองมากกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากผลงานวิจัยสามงาน คือ

  • เมื่อถามนักศึกษามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการเลือกตัดสินใจในชีวิตของตนเองและของเพื่อนร่วมห้อง นักศึกษาพิจารณาว่า การเลือกตัดสินใจของตนเองนั้น พยากรณ์ได้ยากกว่า (เพราะความเสรีของเจตจำนง)
  • พนักงานร้านอาหารกล่าวถึงชีวิตของผู้ร่วมงานว่า มีกำหนดจำกัดมากกว่า (คือมีทางเลือกที่เป็นไปได้น้อยว่า) ของตนเอง
  • เมื่อชั่งอิทธิพลต่าง ๆ ต่อพฤติกรรม นักศึกษาให้ความสำคัญกับความต้องการและเจตจำนงสำหรับพฤติกรรมของตน แต่จะใช้ลักษณะนิสัยเพื่อพยากรณ์พฤติกรรมของผู้อื่น[33]

แต่ว่า ให้สังเกตว่า มีงานวิจัยที่วิจารณ์ความผิดพลาดของข้ออ้างที่ ดร. เว็กเนอร์ให้เกี่ยวกับความสำคัญของการแปลการพินิจภายในผิด ต่อความรู้สึกถึงเจตจำนงเสรี[34]

คำวิจารณ์[แก้]

มีงานวิจัยที่เสนอว่า ผู้ร่วมการทดลองสามารถประเมินเวลาในการตอบสนองของตนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแสดงถึงการรู้ "กระบวนการทางจิตใจ" ของตน แม้ว่า จะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความใส่ใจและทรัพยากรทางประชานอื่น ๆ สูง (คือไม่สามารถทำได้ถ้าถูกกวนสมาธิเมื่อต้องทำการประเมิน) นักวิจัยของงานนี้เชื่อว่า การประเมินที่แม่นยำเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การตีความที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ (post-hoc interpretation) เท่านั้น แต่อาจจะเป็นกระบวนการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่คนอื่นไม่มี (privileged information)[35][36] นอกจากนั้นแล้ว การฝึกสติ (Mindfulness traning) สามารถเพิ่มสมรรถภาพของการพินิจภายในได้ในสถานการณ์บางอย่าง[37][38][39]

งานของนิสเบ็ตต์และวิลสันยังได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการอื่น ๆ อีกหลายคนรวมทั้งนักจิตวิทยาทรงอิทธิพล ศ. ดร. เฮอร์เบิร์ต ไซมอน และ ศ. ดร. เค แอนเดอร์ส เอริคสัน[40]

การแก้ไขความเอนเอียง[แก้]

งานวิจัยที่ตรวจสอบผลของการให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความเอนเอียงใต้สำนึก ต่อการให้คะแนนตนเองว่าเสี่ยงต่อความเอีนเอียงแค่ไหน แสดงว่า ผู้ที่ได้รับข้อมูลจะไม่ปรากฏ bias blind spot (จุดบอดเรื่องความเอนเอียง) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งให้ความหวังว่า เมื่อทราบเรื่องความเอนเอียงใต้จิตสำนึกเช่นการแปลการพินิจภายในผิด เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ประกอบด้วยความเอนเอียงบางอย่าง หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ก็จะให้รู้ว่าตนนั้นมีความเอนเอียง แต่ว่า มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่มีผลที่ขัดแย้งกัน งานปริทัศน์งานหนึ่งเสนอว่า งานวิจัยที่เพียงแต่ให้คำเตือนว่า เรามีความเอนเอียงใต้จิตสำนึก จะไม่สามารถแก้ไขความเอนเอียงได้ ส่วนงานวิจัยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเอนเอียงและเน้นความเป็นไปใต้จิตสำนึกของความเอนเอียง จะสามารถแก้ความเอนเอียงได้ ดังนั้น ความรู้ว่า ความเอนเอียงสามารถเกิดขึ้นได้ใต้จิตสำนึก เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการแก้ปัญหาเรื่องความเอนเอียง[4]

นอกจากนั้นแล้ว วิลสันยังได้พยายามหาวิธีแก้การแปลการพินิจภายในผิด คือ ในหนังสือ Strangers to ourselves (การเป็นคนแปลกหน้าต่อตนเอง) เขาเสนอว่า การสังเกตพฤติกรรมของตนมากกว่าความคิด อาจจะเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหานี้[ต้องการอ้างอิง]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ illusion ว่า "การลวงตา, การแปลสิ่งเร้าผิด, มายา, ภาวะลวงตา" และของ introspection ว่า "การพินิจภายใน"
  2. Wilson 2002, p. 167
  3. 3.0 3.1 White, Peter A. (1988). "Knowing more about what we can tell: 'Introspective access' and causal report accuracy 10 years later". British Journal of Psychology. 79 (1): 13–45. doi:10.1111/j.2044-8295.1988.tb02271.x.
  4. 4.0 4.1 Pronin 2009, pp. 52–53
  5. Shermer, Michael (2007). The Mind of the Market: Compassionate Apes, Competitive Humans, and Other Tales from Evolutionary Economics. Times Books. p. 72. ISBN 978-0-8050-7832-9.
  6. Pronin 2009, p. 5
  7. Wilson, Timothy D.; Dunn, Elizabeth W. (2004). "Self-Knowledge: Its Limits, Value, and Potential for Improvement". Annual Review of Psychology. 55 (1): 493–518. doi:10.1146/annurev.psych.55.090902.141954. PMID 14744224.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Nisbett, Richard E.; Wilson, Timothy D. (1977). "Telling more than we can know: Verbal reports on mental processes". Psychological Review. 84 (3): 231–259. doi:10.1037/0033-295x.84.3.231. hdl:2027.42/92167. reprinted in David Lewis Hamilton, บ.ก. (2005). Social cognition: key readings. Psychology Press. ISBN 978-0-86377-591-8.
  9. 9.0 9.1 9.2 Johansson, P; Hall, L; Sikström, S; Tärning, B; Lind, A (2006). "How something can be said about telling more than we can know: On choice blindness and introspection" (PDF). Consciousness and Cognition. 15 (4): 673–692. doi:10.1016/j.concog.2006.09.004. PMID 17049881. S2CID 14863202. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-05.{{cite journal}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 Wilson 2002, pp. 104–106
  11. Wilson, Timothy D.; Dunn, Elizabeth W. (2004). "Self-Knowledge: Its Limits, Value, and Potential for Improvement". Annual Review of Psychology. 55 (1): 493–518. doi:10.1146/annurev.psych.55.090902.141954. PMID 14744224.
  12. Wilson, T. D.; Bar-Anan, Y (August 22, 2008). "The Unseen Mind". Science. 321 (5892): 1046–1047. doi:10.1126/science.1163029. PMID 18719269. S2CID 11434647.
  13. Aronson, Elliot; Wilson, Timothy D.; Akert, Robin M.; Sommers, Samuel R. (2015). Social Psychology (9th ed.). Pearson Education. p. 128. ISBN 9780133936544.
  14. Schwitzgebel and Hurlburt (2007). Describing Inner Experience?. MIT Press. ISBN 978-0-262-08366-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-12. สืบค้นเมื่อ 2011-03-17.
  15. Johansson, P; Hall, L; Sikström, S; Olsson, A (October 7, 2005). "Failure to Detect Mismatches Between Intention and Outcome in a Simple Decision Task" (PDF). Science. 310 (5745): 116–119. Bibcode:2005Sci...310..116J. doi:10.1126/science.1111709. PMID 16210542. S2CID 16249982. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2014.{{cite journal}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  16. Silver, Jonathan (2005-12-07). "Can't Face the Choice". Journal Watch Psychiatry. Massachusetts Medical Society. 2005 (1207): 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-07. สืบค้นเมื่อ 2009-07-02.
  17. Hall, Lars; Johansson, Petter; Sikström, Sverker; Tärning, Betty; Lind, Andreas (2008). "Reply to commentary by Moore and Haggard". Consciousness and Cognition. 15 (4): 697–699. doi:10.1016/j.concog.2006.10.001. S2CID 54399436.
  18. Hall, L.; Johansson, P.; Tärning, B.; Sikström, S.; Deutgen, T. (2010). "Magic at the marketplace: Choice blindness for the taste of jam and the smell of tea". Cognition. 117 (1): 54–61. doi:10.1016/j.cognition.2010.06.010. PMID 20637455. S2CID 14872715.
  19. Hall, Lars; Petter Johansson. "Using choice blindness to study decision making and introspection" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-07-02. In P. Gärdenfors & A. Wallin (Eds.) (2008). Cognition – A Smorgasbord. pp. 267-283.
  20. Eastwick, P. W.; Finkel, E. J. (February 2008). "Sex differences in mate preferences revisited: Do people know what they initially desire in a romantic partner?". Journal of Personality and Social Psychology. 94 (2): 245–264. doi:10.1037/0022-3514.94.2.245. PMID 18211175.
  21. Henkel, L; Mather, M (2007). "Memory attributions for choices: How beliefs shape our memories". Journal of Memory and Language. 57 (2): 163–176. doi:10.1016/j.jml.2006.08.012.
  22. Johansson, Petter; Hall, Lars; Sikstrom, Sverker (2008). "From Change Blindness to Choice Blindness". Psychologia. 51 (2): 142–155. doi:10.2117/psysoc.2008.142.
  23. Kaszniak, A. W. (2002). "How well can we know ourselves? — Further Exploration of Introspection". Psychology of Consciousness Class Notes. University of Arizona. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-04. สืบค้นเมื่อ 2015-03-20.
  24. 24.0 24.1 24.2 Wilson, Timothy D.; Dunn, Dana S.; Kraft, Dolores; Lisle, Douglas J. (1989). "Introspection, attitude change, and attitude-behavior consistency: The disruptive effects of explaining why we feel the way we do". Advances in Experimental Social Psychology. Vol. 22. pp. 287–343. doi:10.1016/S0065-2601(08)60311-1. ISBN 9780120152223.
  25. 25.0 25.1 Wilson, Timothy; D. Dunn; J. Bybee; D. Hyman; J. Rotondo (1984). "Effects of analyzing reasons on attitude-behavior consistency". Journal of Personality and Social Psychology. 47: 5–16. doi:10.1037/0022-3514.47.1.5.
  26. Wilson, Timothy; D. Lisle; J. Schooler; S. Hodges; K. Klaaren; S. LaFleur (1993). "Introspecting about reasons can reduce post-choice satisfaction". Personality and Social Psychology Bulletin. 19 (3): 331–339. doi:10.1177/0146167293193010. S2CID 145374820.
  27. Pronin, Emily (January 2007). "Perception and misperception of bias in human judgment". Trends in Cognitive Sciences. 11 (1): 37–43. doi:10.1016/j.tics.2006.11.001. PMID 17129749. S2CID 2754235.
  28. 28.0 28.1 Gilovich, Thomas; Nicholas Epley; Karlene Hanko (2005). "Shallow Thoughts About the Self: The Automatic Components of Self-Assessment". ใน Mark D. Alicke; David A. Dunning; Joachim I. Krueger (บ.ก.). The Self in Social Judgment. Studies in Self and Identity. New York: Psychology Press. p. 77. ISBN 978-1-84169-418-4.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 Pronin, Emily; Kugler, Matthew B. (July 2007). "Valuing thoughts, ignoring behavior: The introspection illusion as a source of the bias blind spot". Journal of Experimental Social Psychology. 43 (4): 565–578. doi:10.1016/j.jesp.2006.05.011.
  30. Pronin, E; Berger, J; Molouki, S (2007). "Alone in a Crowd of Sheep: Asymmetric Perceptions of Conformity and Their Roots in an Introspection Illusion". Journal of Personality and Social Psychology. 92 (4): 585–595. doi:10.1037/0022-3514.92.4.585. PMID 17469946.
  31. 31.0 31.1 31.2 Wegner, Daniel M. (2008). "Self is Magic" (PDF). ใน John Baer; James C. Kaufman; Roy F. Baumeister (บ.ก.). Are we free? Psychology and Free Will. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-518963-6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-01-20.
  32. Pronin, E; Wegner, D. M.; McCarthy, K; Rodriguez, S (2006). "Everyday Magical Powers: The Role of Apparent Mental Causation in the Overestimation of Personal Influence" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 91 (2): 218–231. CiteSeerX 10.1.1.405.3118. doi:10.1037/0022-3514.91.2.218. PMID 16881760. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-01-05. สืบค้นเมื่อ 2009-07-03.
  33. Pronin 2009, pp. 42–43
  34. e.g. criticism by H. Andersen in his paper with the title 'Two Causal Mistakes in Wegner's Illusion of Conscious Will' ; Also as a criticism, read "On the alleged illusion of conscious will' by Van Duijn and Sacha Bem. Other papers can be found).
  35. Sébastien, Marti; Sackur, Jérôme; Sigman, Mariano; Dehaene, Stanislas (2010). "Mapping introspection's blind spot: Reconstruction of dual-task phenomenology using quantified introspection". Cognition. 115 (2): 303–313.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  36. Guggisberg, Adrian G; Dalal, Sarang S; Schnider, Armin; Nagarajan, Srikantan S (2011). "The neural basis of event-time introspection". Consciousness and Cognition. 20 (4): 1899–1915.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  37. Djikic, Maja; Langer, Ellen J.; Fulton Stapleton, Sarah (June 2008). "Reducing Stereotyping Through Mindfulness: Effects on Automatic Stereotype-Activated Behaviors" (PDF). Journal of Adult Development. 15 (2): 106–111. doi:10.1007/s10804-008-9040-0. S2CID 53626094. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-07-29.
  38. Roberts-Wolfe, D; Sacchet, M. D.; Hastings, E; Roth, H; Britton, W (2012). "Mindfulness training alters emotional memory recall compared to active controls: Support for an emotional information processing model of mindfulness". Frontiers in Human Neuroscience. 6: 15. doi:10.3389/fnhum.2012.00015. PMC 3277910. PMID 22347856.
  39. Chiesa, Alberto; Calati, Raffaella; Serretti, Alessandro (April 2011). "Does mindfulness training improve cognitive abilities? A systematic review of neuropsychological findings" (PDF). Clinical Psychology Review. 31 (3): 449–464. doi:10.1016/j.cpr.2010.11.003. PMID 21183265. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-29. สืบค้นเมื่อ 2012-04-03.
  40. Ericsson, K. Anders; Simon, Herbert A. (May 1980). "Verbal reports as data". Psychological Review. 87 (3): 215–251. doi:10.1037/0033-295X.87.3.215.

แหล่งข้อมูล[แก้]

  • Pronin, Emily (2009). "The Introspection Illusion". ใน Mark P. Zanna (บ.ก.). Advances in Experimental Social Psychology. Vol. 41. Academic Press. pp. 1–67. doi:10.1016/S0065-2601(08)00401-2. ISBN 978-0-12-374472-2.
  • Wilson, Timothy D. (2002). Strangers to ourselves: discovering the adaptive unconscious. Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 978-0-674-00936-3.

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Goldman, Alvin I. (1993). "The Psychology of Folk Psychology". ใน Alvin I. Goldman (บ.ก.). Readings in philosophy and cognitive science (2 ed.). MIT Press. pp. 347–380. ISBN 978-0-262-57100-5.
  • Gopnik, Alison (1993). "How We Know Our Own Minds: The Illusion of First-person Knowledge of Intentionality". ใน Alvin I. Goldman (บ.ก.). Readings in philosophy and cognitive science (2 ed.). MIT Press. pp. 315–346. ISBN 978-0-262-57100-5.
  • Wilson, Timothy D. (2003). "Knowing When to Ask: Introspection and the Adaptive Unconscious". ใน Anthony Jack; Andreas Roepstorff (บ.ก.). Trusting the subject?: the use of introspective evidence in cognitive science. Imprint Academic. pp. 131–140. ISBN 978-0-907845-56-0.
  • Pronin, Emily; Gilovich, Thomas; Ross, Lee (2004). "Objectivity in the Eye of the Beholder: Divergent Perceptions of Bias in Self Versus Others". Psychological Review. 111 (3): 781–799. doi:10.1037/0033-295X.111.3.781. PMID 15250784.
  • Gibbs Jr., Raymond W. (2006). "Introspection and cognitive linguistics: Should we trust our own intuitions?". Annual Review of Cognitive Linguistics. 4 (1): 135–151. doi:10.1075/arcl.4.06gib.
  • Johansson, Petter; Hall, Lars; Sikström, Sverker (2008). "From change blindness to choice blindness" (PDF). Psychologia. 51 (2): 142–155. doi:10.2117/psysoc.2008.142. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-18.{{cite journal}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)