ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาฮินดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hindi language)
ภาษาฮินดี
हिन्दी, हिंदी ฮินดี
คำว่า ฮินดี ในอักษรเทวนาครี
ออกเสียง[ˈɦɪndiː]
ประเทศที่มีการพูดอินเดีย
ภูมิภาคเอเชียใต้
จำนวนผู้พูด480 ล้าน  (ไม่พบวันที่)
ตระกูลภาษา
รูปแบบก่อนหน้า
ระบบการเขียนอักษรเทวนาครี
อักษรละติน (ไม่เป็นทางการ)
อักษรเบรลล์เทวนาครี
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการ อินเดีย
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน แอฟริกาใต้
 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ผู้วางระเบียบCentral Hindi Directorate [1]
รหัสภาษา
ISO 639-1hi
ISO 639-2hin
ISO 639-3hin

ภาษาฮินดี เป็นภาษาที่พูด ส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียเหนือและกลาง เป็นภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน อยู่ในกลุ่มย่อย อินโด-อิเรเนียน มีวิวัฒนาการมาจากภาษาปรากฤต ในสาขา ของยุคกลาง และมีวิวัฒนาการทางอ้อมจากภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดีได้นำคำศัพท์ชั้นสูงส่วนใหญ่มาจากภาษาสันสกฤต นอกจากนี้ เนื่องจากอิทธิพลของชาวมุสลิมในอินเดียเหนือ ภาษาฮินดียังมีคำที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ และ ภาษาตุรกี เป็นจำนวนมาก และในที่สุดได้ก่อให้เกิดภาษาอูรดูขึ้น สำหรับภาษา"ฮินดีมาตรฐาน" หรือ "ฮินดีแท้" นั้น มีใช้เฉพาะการสื่อสารที่เป็นทางการ ขณะที่ภาษาซึ่งใช้ในชีวิตประจำวันในพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในภาษาถิ่นย่อย ของภาษาฮินดูสตานี

ในแง่ความสัมพันธ์ทางภาษาศาสตร์นั้น ภาษาฮินดีและภาษาอูรดู ถือว่าเป็นภาษาเดียวกัน แตกต่างตรงที่ ภาษาฮินดีนั้นเขียนด้วยอักษรเทวนาครี (Devanāgarī) ขณะที่ภาษาอูรดูนั้น เขียนด้วยอักษรเปอร์เซียและอาหรับ

ประวัติ

[แก้]

พัฒนาการของภาษาในอินเดียก่อนภาษาฮินดี

[แก้]

รูปภาษาโบราณของภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป ในอินเดียนั้น พบอยู่ในภาษาสันสกฤตพระเวท ต่อมาปาณินิได้ตั้งกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ และจัดให้อยู่ในลักษณะแบบแผน สมัยอารยะของภาษายุคกลาง (500 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 1000) เริ่มขึ้นหลังจากสมัยอารยะของภาษายุคโบราณ (1500-500 ปีก่อนคริสตกาล) ในระยะที่หนึ่งของยุคนี้ภาษาบาลีได้พัฒนาขึ้นมา ในระยะที่สองภาษาปรากฤตได้พัฒนาขึ้น ในระยะสุดท้ายนั้นเรียกว่าระยะของภาษาอัปภรัญศ์(เศารเสนี มาคธี มหาราษฏรี) ภาษาในอินเดียปัจจุบันพัฒนาขึ้นจากภาษาอัปภรัญศ์นี้เอง

เหตุที่มีต้นกำเนิดมาจากภาษาสันสกฤต ทำให้ในทางทฤษฎีของเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์ของภาษาในปัจจุบันเช่น ภาษาฮินดี ภาษามราฐี ภาษาคุชราต ภาษาเบงกอล เป็นต้น มีความคล้ายคลึงกันมาก และภาษาสันสกฤตยังมีอิทธิพลต่อภาษากลุ่มดราวิเดียนด้วย อันมีสาเหตุจากความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมและการติดต่อสัมพันธ์กันมานับศตวรรษ และจะเห็นได้ว่าภาษาอาหรับ ภาษาเปอร์เซีย และภาษาอังกฤษที่มาในรูปภาษาของผู้ปกครองนั้นมีอิทธิพลโดยทั่วไปต่อทุกภาษาในอินเดีย

การก่อตัวของภาษาฮินดี

[แก้]

ภาษาฮินดีในรูปมาตรฐาน พัฒนาออกมาจากภาษาขาริโพลี ภาษาขาริโพลีนั้นยอมรับกันว่าคือภาษาท้องถิ่นภาษาหนึ่งของกลุ่มภาษาฮินดีตะวันตก ซึ่งพูดอยู่ในบริเวณเมืองนิวเดลฮี เมรัฐ บิชเนาร์ และสฮารันปุร รูปวรรณกรรมที่สละสลวยในภาษาขาริโพลีนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาฮินดียุคใหม่ การใช้ภาษาขาริโพลีในสมัยโบราณ พบในศตวรรษที่ 10 ใช้อย่างแพร่หลาย และมีระบบในงานวรรณกรรมของอมีร ขุสโร (ค.ศ. 1253-1325) รูปหนึ่งของภาษาขาริโพลีที่พัฒนาออกมาในศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏในภาคใต้ เรียกว่า ภาษาทักขินี ในราชสำนักแห่งโมกุลนั้นใช้ภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ในขณะที่การใช้ภาษาผสมผสานระหว่างภาษาขาริโพลี กับ ภาษาเปอร์เซีย ของเหล่าทหารและประชาชนทำให้เกิดภาษาอูรดู

ภาษาและวรรณกรรมฮินดีพัฒนาขึ้นอย่างสำคัญในสมัยศตวรรษที่ 19 ในขบวนการเรียกร้องอิสรภาพ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของชนทั้งประเทศ จึงยอมรับภาษาฮินดีหรือฮินดุสตานีในรูปภาษาของการสื่อสารระหว่างประชาชน ผู้นำทั้งหลายได้ใช้ภาษาฮินดีเพื่อสร้างความเข้าใจแก่มวลชน

ก่อนหน้ายุคนี้ ในวรรณคดีภาษาฮินดีพบแต่วรรณกรรมประเภทร้อยกรองที่เขียนด้วย ภาษาพรัช และ ภาษาอวธี เท่านั้น แต่ในยุคนี้ ภารเตนดุ หริศจันดระ, อาจารยะ มหาวีร ประสาท ดวิเวดี, ดร.ศยามสุนดัร ดาส, เปรมจันด และประสาท เป็นต้น คือผู้จัดมาตรฐานให้แก่ภาษาฮินดีและแก่วรรณกรรมทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว

ภาษาฮินดีในฐานะภาษาประจำชาติ

[แก้]

ภาษาฮินดีในรูปที่ได้รับการจัดมาตรฐานในปัจจุบัน นอกจากใช้ในงานวรรณกรรมแล้ว ยังใช้ในด้านการศึกษา วิทยาการ เทคโนโลยี และการปกครอง ภาษาฮินดีในรูปดังกล่าวจึงมีการออกเสียง การเขียนและโครงสร้างไวยากรณ์ที่เป็นแบบอย่างมาตรฐาน และในกรอบของรูปมาตรฐานนี้จึงมีความแตกต่างจากภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดกันในประเทศ

ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2492 ภาษาฮินดีได้รับการยอมรับเป็นภาษาประจำชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดียส่วนที่ 17 หมวดที่ 1 มาตรา 343 บัญญัติให้ภาษาฮินดีเป็นภาษาประจำชาติและใช้อักษรเทวนาครี ในปัจจุบันภาษาฮินดีเป็นภาษาราชการของรัฐอุตตรประเทศ พิหาร มัธยประเทศ ราชสถาน หรยาณา หิมาจัลประเทศและกรุงเดลี สำหรับในรัฐปัญจาบ คุชราต มหาราษฏระ และหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ให้ภาษาฮินดีอยู่ในสถานะภาษาที่สอง

สำเนียงและการแพร่กระจายของภาษาฮินดี

[แก้]
บริเวณที่พูดภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่

ในสถานการณ์ของภาษาในประเทศอินเดียนั้น หนึ่งปัจเจกบุคคลสามารถพูดได้อย่างน้อยสองภาษาหรือหลายภาษา ก่อนอื่นในภูมิภาคที่พูดภาษาฮินดีนั้นในระดับต่างๆ พบภาษาพูด 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. ภาษาสันสกฤตและภาษาอาหรับในพิธีการทางศาสนา
  2. ภาษาฮินดี อังกฤษ และภาษาอูรดู ในการสื่อสารที่เป็นทางการ
  3. ภาษาพรัช ภาษาอวธี ภาษาโภชปุรี ภาษาราชสถาน เป็นต้น ในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการและในระดับครอบครัว
  4. ภาษากัลกะติยา ภาษาบัมบะอิยา ภาษาไฮดราบะดี เป็นต้น ในระดับภาษาชาวบ้านสำหรับการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นกันเอง

ผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาฮินดีแต่อาศัยอยู่ในภูมิภาคของภาษาฮินดี นอกจากการพูดภาษาแม่ของตนแล้ว อาจใช้ภาษาในลักษณะข้อที่ 2 และ 4 ประการเดียวกันนี้ผู้ที่พูดภาษาฮินดีแต่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ไม่พูดภาษาฮินดี โดยทั่วไปแล้วอาจใช้ภาษาในลักษณะข้อที่ 2, 3 และ 4

ในเขตภูมิภาคของภาษาฮินดีนั้น ภาษาฮินดีใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันมากที่สุด เขตภูมิภาคของภาษาฮินดีคือในรัฐอุตระประเทศ พิหาร หริยาณา มัธยะประเทศ ราชัสถาน นิวเดลฮี และแผ่ไปจนถึงหิมาจัลประเทศ ในรัฐต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ มีภาษาท้องถิ่นใช้สื่อสารในระดับไม่เป็นทางการอีกด้วย ภาษาท้องถิ่นของภาษาฮินดีที่กำลังกล่าวถึง แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้

  • ฮินดีตะวันตก ในกลุ่มนี้มี 5 ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาบรัช, ภาษาขรีโบลี, ภาษาหริยนวี (บางกะรู), ภาษาบุนเดลี และภาษากันเนาจี
  • ฮินดีตะวันออก ในกลุ่มนี้มี 3 ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาอวธี ภาษาบเฆลี ภาษาฉัตตีสครห์
  • ภาษาพิหาร ในกลุ่มนี้มี 3 ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาโภชปุรี ภาษามคธี ภาษาไมถิลี
  • ราชสถานี ในกลุ่มนี้มี ภาษาเมวรี ภาษามาร์วารี ภาษาหาเราตี ภาษาเมวาตี เป็นต้น
  • ปหารี ในกลุ่มนี้มี ภาษามัณฑิยาลี ภาษาคัรฮะวาลี ภาษากุมาอูนนี เป็นต้น

ภาษาฮินดีไม่เพียงใช้พูดแต่ในรัฐที่เจ้าของภาษาฮินดีอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังใช้พูดทั่วทั้งประเทศอินเดีย ภาษาหลักและภาษาท้องถิ่นของภูมิภาคที่ต่างๆ กันนั้นจึงปรากฏอิทธิพลในภาษาฮินดี ด้วยเหตุนี้สำเนียงการออกเสียง การเขียน โครงสร้างและการใช้ จึงทำให้ภาษาฮินดีเริ่มพัฒนารูปที่ต่างออกไปมากมาย และเกิดปัญหายุ่งยากในการทำความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ในความหลากหลายนั้น หากพิจารณาลักษณะการใช้ จุดประสงค์ และภูมิภาคแล้ว ไม่ว่าภาษาใดๆจะปรากฏความหลากหลายของรูปแบบให้เห็น ในประเด็นทางภูมิภาคจะพบภาษาท้องถิ่นมากมาย ในประเด็นของจุดประสงค์พบรูปแบบภาษาที่หลากหลาย เช่นภาษาที่ใช้ในการติดต่อธนาคาร ในการกีฬา ในธุรกิจการค้าหรือในกิจการต่างๆ ในส่วนของลักษณะการใช้นั้นแบ่งออกได้เป็นแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ภาษาที่ประชาชนทั่วไปใช้ในการติดต่อสื่อสารกันเองคือตัวอย่างของภาษาที่ไม่เป็นทางการซึ่งมีเป็นร้อยๆ ชนิด และโดยทั่วไปในเมืองต่างๆ ก็มีการผสมกับอิทธิพลจากภาษาพูดหรือภาษาท้องถิ่นของเมืองนั้นๆ เช่น ภาษาฮินดีแบบเมืองนิวเดลฮี ภาษาฮินดีแบบเมืองมุมไบ(บัมบะอิยา) ภาษาฮินดีแบบเมืองกัลกัตตา(กัลกะติยา) ภาษาฮินดีแบบเมืองไฮดราบัด(ไฮดราบะดี) เป็นต้น รูปแบบภาษาที่นำไปใช้โดยทั่วไปแล้วจึงอยู่ในขอบเขตของลักษณะการใช้ จุดประสงค์และเขตภูมิภาคดังกล่าวมา ดังนั้นเมื่อเราจะกล่าวถึงภาษาในระดับชาติของอินเดียซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรูปแบบที่แสดงความเป็นชาติแล้ว ภาษาในรูปที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นเรียกว่าภาษามาตรฐานหรือภาษาที่เป็นทางการ ภาษาฮินดีมาตรฐานก็ได้รับความพยายามกระทำให้ถึงซึ่งเกียรติยศอันนั้นด้วยกระบวนการจัดมาตรฐาน ภาษาฮินดีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในรูปแบบเดียวกันตั้งแต่เหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก ในประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างอินเดีย กระบวนการชำระและเปลี่ยนแปลงจึงยังคงดำเนินเรื่อยมาพร้อมๆ กับกาลเวลาที่ดำเนินไป เพื่อทำให้ภาษาฮินดีเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศอินเดียอีกทั้งทรงพละกำลังยิ่งขึ้น ทรงสิทธิโดยสมบูรณ์ และเป็นวิทยาการ

ไวยากรณ์

[แก้]

ไวยากรณ์ของภาษาฮินดีมีความซับซ้อนมากกว่าภาษาอังกฤษมาก การเรียงประโยคเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา ไม่มีคำบุพบทแต่ใช้คำปรบทแทน

เพศ

[แก้]

คำนามในภาษาฮินดีแบ่งเป็น 2 เพศ คือ บุรุษลึงค์ และสตรีลึงค์ การกำหนดเพศนี้ใช้กับนามที่ไม่มีชีวิตด้วย เสียงสระท้ายคำจะช่วยบอกเพศของคำ คำยืมจากภาษาสันสกฤตจะกำหนดเพศเช่นเดียวกับภาษาสันสกฤต คำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียจะถูกกำหนดเพศด้วย คำยืมจากภาษาอังกฤษมีการระบุเพศเหมือนกันแต่ไม่แน่นอน

คำถาม

[แก้]

คำสรรพนามแสดงคำถามโดยทั่วไปคือ ใคร (कौन) อะไร (क्या) ทำไม (क्यों) เมื่อใด (कब) ที่ไหน (कहां) อย่างไร (कैसे) มากเท่าใด (कितना) ชนิดใด (कैसा) คำว่า क्या ใช้เป็นตัวบ่งชี้คำถามในคำถามแบบใช่/ไม่ใช่ ได้ด้วย

สรรพนาม

[แก้]

คำสรรพนามทั้งสามบุรุษเป็นเพศเดียวกันหมด โดยการระบุเพศจะแสดงที่คำกริยา มีการกสำหรับคำสรรพนามสองการกคือประธานและความเป็นเจ้าของ คำสรรพนามบุรุษที่สองในภาษาฮินดี แบ่งตามระดับความสุภาพได้สามระดับคือ

  • आप เป็นทางการและแสดงความนับถือ ใช้เหมือนกันทั้งเอกพจน์และพหูพจน์
  • तुम ไม่เป็นทางการ ใช้กับผู้มีอายุหรือตำแหน่งต่ำกว่า
  • तूँ ไม่เป็นทางการอย่างมาก ใช้กับเพื่อนสนิท

ภาษาฮินดีไม่มีคำนำหน้านามอย่างคำว่า the ในภาษาอังกฤษ ส่วน a/an ภาษาฮินดีใช้คำว่า एकแทน

การเรียงคำ

[แก้]

การเรียงคำในประโยคเป็น ประธาน-กริยาวิเศษณ์-กรรมรองและคำขยาย-กรรมตรงและคำขยาย-คำแสดงคำถามหรือปฏิเสธ-กริยาและกริยาช่วย รูปปฏิเสธแสดงโดยการเติม नहीं(ไม่) ลงในประโยค หรือเติมคำนำหน้า ता ในบางการก คำคุณศัพท์มาก่อนคำนาม กริยาช่วยตามหลังกริยาหลัก

กาล

[แก้]

กาลในภาษาฮินดีได้แก่ ปัจจุบันกาลไม่สมบูรณ์ ใช้กับเหตุการณ์ทั่วไปหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่พูด ปัจจุบันกำลังกระทำ อดีตกาลกำลังกระทำ อดีตกาลไม่สมบูรณ์ อดีตกาลสัมบูรณ์ นอกจากนี้มีประโยคในรูปคำสั่ง มีเงื่อนไข หรือเหตุการณ์สมมติ โดยปกติแล้วกาลและรูปแบบต่างๆแสดงในรูปกริยาช่วย ส่วนกริยาหลักแสดงจำนวนและเพศของคำนาม

การก

[แก้]

ภาษาฮินดีมีการผันคำน้อย ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามในประโยคแสดงด้วยปรบท คำนามมีสามการกคือการกตรง ไม่ใช้ปรบท มักเป็นประธานของประโยค การกรองใช้กับนามที่มีปรบทต่างๆกัน นามบางคำมีการกเรียกขานด้วย คำคุณศัพท์จะผันไปในทิศทางเดียวกับคำนาม

อ้างอิง

[แก้]
  • แปลและเรียบเรียงจากบางส่วนของบทที่ 1 ในหนังสือภาษาฮินดีชื่อ Vyavharik Hindi Vyakaran aur Vartalab ผู้แต่ง Caturbhuj Sahay และ Arun caturvedi พิมพ์โดย Central Hindi Institute, Agra :1998

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]